ในที่สุดก็มาถึงตอนสุดท้าย ที่จะมาว่ากันเต็มๆ ถึงแนวคิดการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินและโปรโมชันภาครัฐเพื่อลดหย่อนภาษี

หลังจากที่เราได้สำรวจระดับรายได้ และตรวจสอบรายการค่าลดหย่อนที่มีในปัจจุบันแล้ว สิ่งที่อยากให้ทำก่อนจะพิจารณาว่าจะซื้ออะไรเพื่อลดหย่อนภาษีดี ก็คือ การทดลองคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย ณ ปัจจุบันดูเสียก่อนครับ โดยให้ลองนำข้อมูลรายได้ และค่าลดหย่อนต่างๆ ที่มี ไปลงข้อมูลในแบบฟอร์มคำนวณภาษีของกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th

หรือถ้าจะเอาแบบสะดวก ดูง่าย เข้าใจง่าย ผมแนะนำแอปพลิเคชันที่ชื่อ iTax Pro ครับ เพราะแค่ลงข้อมูลรายได้และค่าลดหย่อนที่มีในปัจจุบัน แอปพลิเคชันนี้ก็จะคำนวณภาษีให้ และคำนวณให้ด้วยว่า เรายังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้จากกองทุน RMF และ LTF เท่าไหร่ ยังซื้อประกันชีวิตและประกันบำนาญได้อีกเท่าไหร่ รวมไปถึงโปรโมชันลดหย่อนภาษีของทางภาครัฐ ก็มีลงไว้ให้เรียบร้อยหมดแล้ว เรียกได้ว่าอัพเดตกันทันสมัยเลยทีเดียว

สิ่งที่อยากให้พิจารณาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ก็คือ ‘ความจำเป็น’

เมื่อดูว่าตัวเงินที่ต้องเสียภาษียังสูงอยู่ และอยากจะประหยัดภาษีมากขึ้น ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนการพิจารณาครับว่า เราจะใช้สิทธิลดหย่อนจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือโปรโมชันภาครัฐรายการใด ทั้งนี้สิ่งที่อยากให้พิจารณาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ก็คือ ‘ความจำเป็น’ ครับ

ในมุมมองส่วนตัวของผม ผมคิดว่าการจัดการความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญต่อชีวิตทางการเงินของคนเราในเฉพาะหน้า ลำดับถัดมาก็คือ การวางแผนเก็บเงินสำหรับเกษียณ ดังนั้นเวลามีคนสอบถามว่า ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวไหนดี ผมจึงมักแนะนำให้ดูความจำเป็นในเรื่องความเสี่ยงก่อน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เริ่มพิจารณากันที่ประกันชีวิตครับ

ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีนะครับ แต่ให้ซื้อเพราะมีความจำเป็น โดยพิจารณาจากภาระทางการเงินเป็นสำคัญ ลองถามตัวเองสิว่า หากวันนี้เราโชคร้ายจากไปก่อนเวลาอันควร คนในครอบครัวที่ต้องพึ่งพาการอุปการะทางการเงินจากเรานั้น จะมีชีวิตที่ตกระกำลำบากหรือไม่

ถ้าคุณเป็นคนที่ทรัพย์สินสะสมยังไม่มากพอจะจากไปในเวลานี้ การทำประกันชีวิตก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น โดยอาจประเมินทุนประกันจาก หนี้สิน + เงินยังชีพครอบครัวช่วงปรับตัว – ทรัพย์สิน – ทุนประกันที่มีอยู่เดิม (ถ้ามี)

ทั้งนี้เราควรเลือกแบบประกันให้เหมาะสมด้วย โดยหากมีเงินไม่มาก แต่อยากได้ความคุ้มครองเยอะ ก็ควรเลือกประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือ Whole Life ซึ่งเป็นประกันแบบที่ซื้อแล้วมั่นใจได้เลยว่า เบี้ยประกันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้แน่นอน เพราะความคุ้มครองในกรมธรรม์เกิน 10 ปีขึ้นไปแน่ๆ

แต่ถ้ามีประกันแล้ว หรือคุ้มครองความเสี่ยงไว้พอสมควรแล้วอยากซื้อเพิ่ม อันนี้ก็ต้องพิจารณาให้ดีครับ เพราะประกันชีวิตส่วนใหญ่ มีต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายทุกปี ดังนั้นหากอยากซื้อประกันชีวิตเพิ่มเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียว ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าปีหน้ามีเงินส่งเบี้ยหรือเปล่า

ความจำเป็นที่ต้องพิจารณาในลำดับถัดไปก็คือ เรามีแผนเกษียณหรือยัง แผนเกษียณในที่นี้หมายถึง เงินสะสมที่เราเตรียมไว้ให้ตัวเองในวันที่ต้องหยุดทำงาน ซึ่งเงินก้อนนี้คนส่วนใหญ่มักละเลยและมองข้าม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เร่งด่วน

ทั้งนี้คนเรามีเงินสะสมเพื่อการเกษียณที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกันอยู่แล้วพอสมควร อาทิ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินกองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน และเงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ

คำถามคือ เงินที่สะสมมานั้นพอใช้สำหรับเกษียณหรือไม่?

นี่คือคำถามสำคัญ ที่จะนำมาสู่การพิจารณาวางแผนเลือกซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ครับ แต่ก็อย่างที่พูดไปตั้งแต่ในตอนแรกว่า นี่ก็ปลายปีแล้ว วางแผนก็ไม่ทันแล้ว ดังนั้นอาจต้องตามน้ำพิจารณาซื้อตามสิทธิกันไปก่อน นัยว่าซื้อเยอะ ประหยัดภาษีได้เยอะ แล้วก็ได้สะสมเงินไว้เยอะๆ ไปด้วยในตัว หรือยึดหลักประหยัดภาษีแบบเร่งด่วนไปก่อน

ถ้าใช้หลักนี้ก็ต้องบอกว่า ซื้อกองทุน RMF หรือ LTF นั้นได้ผลทางภาษีไม่ต่างกันครับ นั่นคือ ซื้อไปเท่าไหร่ (ตามสิทธิ) ก็สามารถนำยอดเงินลงทุนไปหักลดหย่อนได้ทั้งหมด แต่ที่ต่างก็คือ เงื่อนไขการซื้อขาย และผลลัพธ์การลงทุนครับ

ในส่วนของเงื่อนไขการซื้อขาย กองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF คิดไม่ค่อยยุ่งยาก นั่นคือ ซื้อลงทุนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท นับการลงทุนเป็นก้อน ปีนี้เงินเยอะแบ่งเงินมาลงทุน ปีหน้ารายได้ลดลง ไม่มีเงิน ไม่ซื้อก็ได้ และเมื่อซื้อแล้วผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนไป 7 ปีปฏิทิน

ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF เงื่อนไขการซื้อยุ่งนิดหนึ่ง นั่นคือ ซื้อลงทุนได้ 15% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมในซีรีส์เกษียณทั้งหมด อันได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนเงินสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันแบบบำนาญ (แล้วแต่ใครมีอะไร) รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อเริ่มลงทุนใน RMF แล้ว จะต้องลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 55 ปี ลงทุนอย่างน้อยปีเว้นปี (ปีนี้ลงทุน ปีหน้าไม่ลง ปีถัดไปต้องลงทุน ไม่งั้นผิดเงื่อนไข) และซื้อขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ หรืออย่างน้อย 5,000 บาท

ฟังแล้ว RMF ยุ่งยากและนานกว่า LTF เยอะเลยใช่ไหมครับ (ฮา)

ในส่วนของผลลัพธ์การลงทุนนั้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ก็มีนโยบายการลงทุนไม่ยุ่งยาก นั่นคือ เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ส่วนจะเลือกหุ้นกลุ่มไหนอย่างไรก็จะมีอธิบายไว้ ในขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF นั้น แต่ละกองก็มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งตราสารหนี้​ (พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้) หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์​ ฯลฯ ซึ่งตรงนี้ผมแนะนำให้ผู้ลงทุนทำการศึกษาและเข้าใจการลงทุนให้ดีก่อนเลือกซื้อ (ไม่ใช่รู้แค่นโยบายนะ) เพราะมันมีผลต่อเงินลงทุนและพอร์ตเกษียณของเราอย่างมาก อย่าสักแต่มักง่ายอะไรก็ได้ ให้ได้ค่าลดหย่อน ​ณ​ จุดนี้ต้องบอกเลยว่า เวลากองทุนพวกนี้ขาดทุนในบางจังหวะ เงินภาษีที่คุณได้คืนมาชดเชยการขาดทุนไม่ได้เลยครับ

ภาษีเป็นหน้าที่ ศึกษาและทำความเข้าใจกันให้ดี จับหลักคิดให้ถูกต้อง
ใช้สิทธิลดหย่อนบนฐานคิดเอาความจำเป็นเป็นที่ตั้ง
บริหารภาษีให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินทั้งความเสี่ยงและการเกษียณ

อีกเรื่องก็คือ การซื้อโปรโมชันภาครัฐในช่วงปลายปี ทั้งโปรฯ ท่องเที่ยวทั่วไทยและช้อปช่วยชาติ ตรงนี้อยากให้ทำความเข้าใจกัน เพราะยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่า เมื่อเที่ยวแล้วช้อปแล้วจะได้ลดหย่อนทั้งจำนวนที่กินใช้ไป ซึ่งไม่ใช่นะครับ มันเป็นแค่ค่าลดหย่อนเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีฐานรายภาษีสูงสุด 20% และคุณใช้จ่ายในโปรฯ ช้อปช่วยชาติไป 15,000 บาท เต็มพิกัด แบบนี้คุณก็จะสามารถนำยอดเงิน (พร้อมใบกำกับภาษี) มาหักลดหย่อนได้ 15,000 บาท และอาจได้รับเงินคืนภาษีสูงสุดที่ 20% x 15,000 บาท หรือ 3,000 บาท ไม่ใช่ว่าเป็นของฟรี ซื้อ 15,000 แล้วจะได้คืน 15,000 จากรัฐบาลเป็นของขวัญปีใหม่ มีคนคิดและเข้าใจอย่างนี้จริงๆ นะครับ ไม่ได้ตลก!

ที่สำคัญคือ ถ้าคุณไม่ได้มีความจำเป็นต้องเร่งกินเร่งใช้ ก็แนะนำให้ใช้โปรฯ นี้ในแบบพอเหมาะพอสมครับ อย่าจัดหนักจัดเต็มกันมาก ถ้าของนั้นมีความจำเป็นหรือมีโปรแกรมจะท่องเที่ยวกับครอบครัวอยู่แล้ว โปรฯ นี้ก็จะสอดรับกับความต้องการและทำให้เราได้ประโยชน์สองต่อ

แต่ถ้าไม่ เราไม่ได้มีความจำเป็นต้องกินต้องใช้ หรือถ้าใช้ถ้าจ่ายแล้วต้องรูดบัตรเครดิต แถมยังไม่มีปัญญาใช้คืนเขาเต็มจำนวนในเดือนถัดไป แบบนี้สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็อาจไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับคุณเลยครับ ส่วนใครที่มีตังค์เยอะ ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน แล้วอยากกินอยากใช้ อันนั้นก็ตามสบายครับ

ภาษีเป็นหน้าที่ ศึกษาและทำความเข้าใจกันให้ดี จับหลักคิดให้ถูกต้อง ใช้สิทธิลดหย่อนบนฐานคิดเอาความจำเป็นเป็นที่ตั้ง บริหารภาษีให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินทั้งความเสี่ยงและการเกษียณ

ขอให้ทุกคนบริหารภาษีกันอย่างมีความสุขครับ

ภาพประกอบ: NOLA NOLEE

Tags: ,