ตอนที่แล้วผมเล่าถึงหลักคิดในการวางแผนภาษี รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเพื่อลดหย่อนภาษีกันไปแล้ว ในตอนนี้ผมอยากจะพูดถึงเรื่องสิทธิลดหย่อนที่เราพึงมีพึงได้กันก่อนว่า เท่าที่มี ยังไม่ต้องซื้อหาอะไรมาลดหย่อนเพิ่มนั้น เราเสียภาษีในระดับที่โอเคหรือยัง

ทั้งนี้เพราะในการวางแผนภาษีนั้น คนเราไม่จำเป็นต้องลดหย่อนกันจนถึงขั้นไม่ต้องเสียภาษี หรือภาษีกลายเป็นศูนย์หรอก แค่ในระดับพอใจ และตามความจำเป็น ก็น่าจะโอเคแล้ว

เอาล่ะ ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าสิทธิลดหย่อนภาษีใกล้ๆ ตัว ที่คนทั่วไปมักจะมีกันอยู่แล้วคืออะไรบ้าง

สำหรับการหักลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีรายได้นั้นมีประเด็นเล็กน้อย นั่นคือ ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวและคู่สมรส คนละ 30,000 บาท ตรงนี้เป็นสิทธิที่ได้เลย ไม่ต้องออกแรง แม้จะน้อยไปนิดก็เถอะนะ เรื่องลดหย่อนส่วนตัวไม่น่าจะเป็นปัญหา แค่เอาไปหักลบเงินได้พึงประเมินของเราก็กลายเป็นเงินได้สุทธิได้เลย แต่สำหรับการหักลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีรายได้นั้นมีประเด็นเล็กน้อย นั่นคือ ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ อยู่กินกันเฉยๆ ไม่นับนะครับ
สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีเงินได้ทั้งคู่ โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้แยกยื่นนะครับ ซึ่งหากแยกยื่นก็จะใช้ได้เฉพาะสิทธิลดหย่อนส่วนตัวเท่านั้น ใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสไม่ได้ แต่โดยรวมจะประหยัดภาษีได้มากกว่าครับ

2. ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 15,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรนี้หักลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน กรณีที่กำลังศึกษาอยู่ก็หักเพิ่มได้อีกคนละ 2,000 บาท (จะพอเรียนไหมนั่น) กรณีคู่สมรสมีรายได้ทั้งคู่และแยกยื่นภาษี ก็จะหักได้ฝ่ายละ 15,000 บาทต่อบุตร 1 คน และเพิ่มอีก 2,000 บาท กรณีบุตรยังศึกษาอยู่ หรือพูดให้ง่ายคือ ได้ลดหย่อนฝ่ายละ 17,000 บาท สำหรับบุตร 1 คนนั่นเอง

กรณีที่พ่อแม่มีลูกหลายคน ลูกทุกคนจะใช้สิทธิลดหย่อนนี้ไม่ได้ พูดให้ง่ายคือต้องแบ่งกัน เจรจากันให้ดีว่าใครจะใช้สิทธิค่าลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ ใครจะใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูแม่ เพราะยื่นซ้ำซ้อนกันไม่ได้ ไม่งั้นอดทั้งหมด

3. ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท สิทธินี้มักถูกเรียกถูกแซวกันว่าเป็น ‘ค่าลดหย่อนลูกกตัญญู’ (ทั้งที่จริงๆ อาจไม่เคยเลี้ยงดูพ่อแม่เลยก็ตาม​… ฮา) แต่ก็ใช่ว่ามีพ่อแม่แล้วจะลดหย่อนได้เลย เพราะมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ พ่อแม่ของผู้มีเงินได้ต้องมีอายุเกิน 60 ปี และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ในกรณีนี้ ผู้มีเงินได้สามารถยื่นหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ลย.03) เพื่อรับสิทธิลดหย่อนคนละ 30,000 บาท ซึ่งถ้าเลี้ยงดูทั้งพ่อและแม่ก็จะได้ลดหย่อนเป็น 60,000 บาท ประเด็นที่มักจะมีปัญหาบ่อยๆ สำหรับสิทธิลดหย่อนนี้ก็คือ กรณีที่พ่อแม่มีลูกหลายคน ลูกทุกคนจะใช้สิทธิลดหย่อนนี้ไม่ได้ พูดให้ง่ายคือต้องแบ่งกัน เจรจากันให้ดีว่าใครจะใช้สิทธิค่าลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ ใครจะใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูแม่ เพราะยื่นซ้ำซ้อนกันไม่ได้ ไม่งั้นอดทั้งหมด

อีกกรณีคือ กรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้ เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อแม่คู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาทอีกด้วย

4. ค่าลดหย่อน ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ 60,000 บาท หลักในเบื้องต้น ตัวผู้พิการหรือทุพพลภาพต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท และผู้ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีชื่อระบุเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ หรือใบรับรองแพทย์ และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพอย่างถูกต้องชัดเจน

5. ค่าลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท อันนี้หักตามที่จ่ายสมทบเข้าไปจริง โดยจะมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 9,000 บาท เพราะอัตราการหักเงินสมทบคิดจาก 5% ของเงินได้ ซึ่งมีเพดานเงินได้สูงสุดที่ 15,000 บาท โดยในตอนท้ายปลายปี ทางบริษัทก็จะมีสรุปข้อมูลนี้ให้กับพนักงานทุกคนอยู่แล้ว

6. เงินออมภาคบังคับของที่ทำงานตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งได้แก่ 1) เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับพนักงานบริษัทเอกชน 2) เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการ และ 3) เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และในปัจจุบันเพิ่มเงินสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติเข้ามาด้วย สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบงานประจำ

ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนหักสะสมเงินไว้ออมเพื่อการเกษียณเท่าไหร่ ซึ่งในเบื้องต้นแต่ละองค์กรก็จะมีกติกาบังคับเป็นอัตราการหักออมขั้นพื้นฐาน แต่ในปัจจุบันผู้มีเงินได้เองสามารถกำหนดได้แล้วนะครับว่าจะหักออมเท่าไหร่ จะออมเพิ่มหรือไม่อย่างไร

เช่นในกรณีของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่มีเงื่อนไขหักเงินสะสมเข้ากองทุน 3% ของรายได้ โดยนายจ้าง (รัฐบาล) จะสมทบให้อีก 3% ในกรณีนี้เราสามารถเพิ่มอัตราเงินสะสมในส่วนเราเองเป็น 15% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดเลยก็ได้ (อันนี้แล้วแต่แผนเกษียณของแต่ละคน) ซึ่งก็จะทำให้เก็บออมเงินได้เพิ่มขึ้น และหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นด้วยครับ

7. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

พูดให้ง่ายๆ ก็คือ ดอกเบี้ยบ้านนั่นแหละ ที่จัดให้ดอกเบี้ยบ้านอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เพราะคิดว่าคงไม่มีใครมาซื้อบ้านหวังสิทธิลดหย่อน และคงไม่มีประเภทมาเร่งซื้อกันปลายปีเพื่อคว้าสิทธินี้ (เอ๊ะ! หรือว่ามี)

สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยนี้ ทางสถาบันการเงินที่เราใช้บริการ ก็จะมีการสรุปตัวเลขแจ้งเราเป็นประจำทุกปีในช่วงส่งท้ายปลายปี เพื่อมาใช้ในการหักลดหย่อน

เบี้ยประกันชีวิตที่มีสิทธิหักลดหย่อนได้ก็คือ ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนคืนไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าเบี้ยประกันชีวิตเท่านั้น

8. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เงื่อนไขเล็กๆ แต่ยาวนานของเบี้ยประกันชีวิตที่มีสิทธิหักลดหย่อนได้ก็คือ ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนคืนไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าเบี้ยประกันชีวิตเท่านั้น ค่าเบี้ยประกันความคุ้มครองอื่น อาทิ คุ้มครองสุขภาพ หรือคุ้มครองอุบัติเหตุไม่สามารถหักลดหย่อนได้

ผมคิดว่าถ้าเราไล่เรียงค่าลดหย่อนที่พึงมีในปัจจุบันเป็นพื้นฐานได้ ก็น่าจะทำให้เราเห็นภาษีที่จะต้องจ่ายได้อย่างชัดเจนขึ้น แล้วค่อยมาจัดสรรกันว่า จะซื้อหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้เพิ่มเติม และที่สำคัญก็คือ ควรมีหลักคิดในการซื้อ ไม่ใช่ว่าซื้อเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงอย่างเดียว เพราะเราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการวางแผนการเงินในภาพรวมได้ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนรับมือความเสี่ยงทางการเงิน รวมไปถึงการวางแผนเกษียณ

ซึ่งทั้งหมดเราจะคุยกันในลดหย่อนภาษีภาคสุดท้าย ในสัปดาห์หน้าครับ

ติดตามแนวทางการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ที่ ลดหย่อนภาษี ฉบับไตรภาค (1)
ภาพประกอบ: NOLA NOLEE

Tags: ,