ว่ากันว่าคนเราแม้จะมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน แต่หากมีวิธีคิดและปฏิบัติที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เส้นทางชีวิตของพวกเขาก็จะเริ่มเบนออกห่างจากกัน เป็นสัดส่วนกับจำนวนรอบของเข็มนาฬิกาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป

ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ความแตกต่างก็จะยิ่งชัดเจนมากเท่านั้น

ต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงของลูกศิษย์ของผมสองคนที่เริ่มทำงานด้วยทุนในชีวิตที่เท่ากัน แต่มีองศาทางการเงินที่แตกต่าง

นายเอ – ใช้ชีวิตของตัวเองเต็มพิกัด จับจ่ายเพื่อความสุขอย่างเต็มที่ เขาใช้สลิปเงินเดือนเปิดบัตรเครดิต 2 ใบ และสินเชื่อส่วนบุคคลอีก 1 รายการ ตั้งแต่สามเดือนแรกที่เริ่มต้นทำงาน

เวลาผ่านไป 1 ปี เอแทบไม่มีเงินเหลือเก็บ โชคยังดีอยู่บ้างที่บริษัทช่วยหักเก็บเงินสะสมไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ทุกเดือน ไม่อย่างนั้นเงินออมของเขาก็คงจะมีแต่ความว่างเปล่า

นายบี – ตั้งปณิธานกับตัวเองว่า จะเก็บเงินให้ได้วันละ 80 บาทเพื่อสะสมไว้เผื่อใช้ฉุกเฉินและลงทุน เมื่อทำงานได้ครบ 6 เดือน เขาใช้สลิปเงินเดือนกู้ซื้อคอนโดขนาดย่อมราคา 300,000 บาท 3 หลัง เพื่อปล่อยให้เช่า ได้ส่วนต่างค่าเช่ากับเงินผ่อนเล็กๆ 3,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นรายได้ของตัวเอง

1 ปี ผ่านไป บีมีเงินเก็บครึ่งแสน พร้อมกับทรัพย์สินให้เช่าอีก 3 แห่ง

ผ่านพ้นปีที่ 5 ของการทำงาน แม้เงินเดือนจะเพิ่มขึ้น แต่เอก็ยังไม่มีเงินเก็บเหมือนเดิม บัตรทุกใบแทบเต็มวงเงิน จนต้องเปิดบัตรเพิ่ม แถมยังใช้โบนัสที่ได้ปลายปีดาวน์รถยนต์คันแรกให้ตัวเอง ทันทีที่ได้โปรโมชันจากรัฐบาลในยุคนั้น

ในขณะที่บีมีทั้งเงินเก็บจากเงินเดือน โบนัส และส่วนต่างค่าเช่าร่วมๆ 400,000 บาท ในปลายปีที่ 5 นี้ บีตัดสินใจขายคอนโดทั้ง 3 ห้อง ได้กำไรจากส่วนต่างมาสมทบเพื่อลงทุนอีกเกือบ 300,000 บาท

ด้วยตัวเลขในสลิปเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น และเครดิตทางการเงินที่สั่งสมมา 5 ปี สร้างโอกาสให้บีลงทุนรอบใหม่อีกครั้งด้วยโมเดลเดิม แต่มูลค่าของทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เขาใช้สลิปเงินเดือนกู้ซื้อบ้านเช่า 2 หลัง ราคาหลังละ 1 ล้านบาทเศษ เก็บค่าเช่าหักค่าผ่อนชำระธนาคารได้กำไรรวม 10,000 บาทต่อเดือน โดยที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนของตัวเองเลย

นอกจากนี้เงิน 80 บาทต่อวัน ที่ดูเหมือนเล็กน้อย ปัจจุบันเขาหักเก็บเพิ่มเป็น 100 บาทต่อวัน และนำไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไว้ทุกเดือน โดยตั้งใจว่าจะใช้เป็นกองทุนสำหรับเกษียณอายุของตัวเอง

จากจุดเริ่มต้นเดียวกัน ทรัพยากรเท่ากัน แค่การใช้ชีวิตที่ต่างกัน พาวิถีชีวิตทางการเงินของทั้งคู่เบนออกห่างจากกันอย่างสิ้นเชิง ที่น่าสนใจคือ อีก 5 ปีต่อจากนี้ เรื่องราวของทั้งสองคนจะเป็นอย่างไร?

เรื่องเล่าในชีวิตจริงข้างต้นคือเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของวิธีคิด หรือ Mindset ทางการเงินได้เป็นอย่างดี คนที่มีความรู้ทางการเงิน มีวิธีคิดที่ถูกต้อง รู้จักอดทนรอคอยความสำเร็จ ย่อมได้รับผลลัพธ์ในบั้นปลายที่น่าชื่นใจด้วยกันทั้งสิ้น ในขณะที่คนซึ่งมีวิธีคิดทางการเงินสะเปะสะปะ อยากรวย แต่รักสบาย ชิงใช้ชีวิตเหมือนคนรวยไปเสียก่อน ก็คงยากที่จะทำได้เหมือนกับที่บีทำ

ทุกครั้งที่เดินสายไปบรรยายให้กับน้องๆ ว่าที่บัณฑิตใหม่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ผมมักจะบอกกับพวกเขาเสมอว่า “การใช้จ่ายเงินใน 10 ปีแรกของชีวิตการทำงาน คือตัวกำหนดอนาคตทางการเงินของคนเรา”

ถ้า 10 ปีที่ว่านี้ ผ่านไปด้วยความว่างเปล่า ไม่ได้สะสมอะไรให้ตัวเองเลย ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถในงาน ประสบการณ์ หรือความมั่งคั่ง คุณก็คงเดาชีวิตตัวเองในอีก 40-50 ปี ได้ไม่ยาก

ตรงกันข้าม หากน้องๆ ใช้ช่วงเวลาสำคัญนี้ สร้างความรู้ สั่งสมประสบการณ์ และสะสมความมั่งคั่งไว้เป็นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ชีวิตของน้องก็จะได้รับรางวัลที่คุ้มค่า และควรคู่กับความตั้งใจและความพยายามดีๆ กับชีวิต

เริ่มให้ถูกต้อง ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ก้าวเดินด้วยความอดทน การตัดสินเรื่องใดๆ ในชีวิต ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์และเมื่อน้องเดินมาไกลมากพอ น้องจะเริ่มเห็นองศาที่แตกต่าง

เมื่อถึงวันนั้น น้องจะขอบคุณตัวเองที่คิดและเดินถูกต้องตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

Tags: , , , ,