ข่าวการยื่นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ยังไม่ทันซา ทางสภาเศรษฐกิจโลกก็หยิบยกประเด็นเรื่องหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนคนขึ้นมาถกเถียงบนเวทีเสวนากันอย่างเข้มข้น โดยทางสภาเศรษฐกิจโลกคาดการณ์ว่า 5 ล้านอาชีพทั่วโลกจะสูญหายไปก่อนปี 2020 เช่น อาชีพธุรการในออฟฟิศ ผู้ใช้แรงงานหนัก สืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม

ถึงแม้จะยังไม่มีใครฟันธงว่าปัญญาประดิษฐ์จะวิวัฒนาการไปถึงจุดไหน แต่หลายฝ่ายกำลังหารือกันเกี่ยวกับแผนการรับมือกับเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Photo: Edgar Su, Reuters/profile

จากรายงาน ‘THE FUTURE OF EMPLOYMENT: HOW SUSCEPTIBLE ARE JOBS TO COMPUTERISATION?’ (ปี 2013) โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่าระบบอัตโนมัติมีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่แรงงานคนในสหรัฐอเมริกาภายใน 10-20 ปี โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานประมาณ 700 อาชีพ หรือคิดเป็น 40% ของการจ้างงานทั้งประเทศ

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า 3 อาชีพที่คาดว่าจะเสี่ยงตกงานมากที่สุดในอเมริกา คือ เจ้าหน้าที่สินเชื่อ (98%) พนักงานต้อนรับและประชาสัมพันธ์ (96%) ผู้ช่วยทนายความ (94%)

กระทั่งศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ทฤษฎี และนักจักรวาลวิทยา เคยเตือนว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะช่วยประหยัดเงินในระยะแรก แต่ในระยะยาวจะเป็นตัวเร่งให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมโลกในปัจจุบันยิ่งลุกลามและขยายในวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว

“อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มต่างๆ จะเอื้อให้คนกลุ่มเล็กๆ ทำกำไรมหาศาล โดยว่าจ้างคนเพียงหยิบมือ มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือความก้าวหน้าที่ย้อนกลับมาทำลายสังคมเช่นกัน”

Photo: Michaela Rehle, Reuters/profile

ดูเหมือนว่าสิ่งที่ฮอว์กิงกังวลจะใกล้เป็นจริงมากขึ้นไปทุกที รายงานว่าด้วยเรื่องอนาคตของอาชีพและแรงงานยุคใหม่ ‘TECHNOLOGY AT WORK v2.0’ (ปี 2016) จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ Citi GPS: Global Perspectives & Solutions บ่งชี้ว่า 47% ของอาชีพในอเมริกาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงนี้ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำจะต้องเร่งปรับรูปแบบเศรษฐกิจและพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสูง

 

ประเทศที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกหุ่นยนต์แย่งงาน

  • กลุ่มประเทศสมาชิก OECD 57%
  • สหราชอาณาจักร 45%
  • สหรัฐอเมริกา 47%
  • จีน 77%
  • ไทย 72%
  • ไนจีเรีย 65%
  • อาร์เจนตินา 65%
  • อเมริกาใต้ 67%
  • อินเดีย 69%
  • เอธิโอเปีย 85%

ที่มา: World Bank Development Report (2016)

มีใครบ้างที่คิดว่าหุ่นยนต์จะแย่งงานมนุษย์ 

  • สตีเฟน ฮอว์กิง

“อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มต่างๆ จะเอื้อให้คนกลุ่มเล็กๆ ทำกำไรมหาศาล โดยว่าจ้างคนเพียงหยิบมือ มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือความก้าวหน้าที่ย้อนกลับมาทำลายสังคมเช่นกัน”

  • อีลอน มัสก์

“เราควรจะระวังเรื่องปัญญาประดิษฐ์กันให้มากๆ ถ้าจะให้เดา ผมว่านี่คือภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเราในขณะนี้ และมันก็น่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ”

  • บิล เกตส์

“เครื่องจักรจะทำงานหลายๆ อย่างให้เรา และมันก็ไม่ได้ฉลาดล้ำ ถ้าเราจัดการวางแผนให้ดี ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม 20-30 ปีให้หลัง เครื่องจักรจะพัฒนาความฉลาดขึ้นไปถึงจุดที่น่าเป็นห่วง ผมเห็นด้วยกับ อีลอน มัสก์ และคนอื่นๆ ในเรื่องนี้ และไม่เข้าใจว่าทำไมคนบางกลุ่มจึงไม่กังวลเรื่องนี้”

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
     – http://www.recode.net/2015/1/28/11558204/bill-gates-worries-about-machines-gaining-super-intelligence
– http://www.oxfordmartin.ox.ac.uk/downloads/reports/Citi_GPS_Technology_Work_2.pdf
– https://www.bloomberg.com/graphics/infographics/job-automation-threatens-workforce.html
– http://www.oxfordmartin.ox.ac.uk/downloads/reports/Citi_GPS_Technology_Work_2.pdf
– https://www.weforum.org/agenda/2016/12/stephen-hawking-this-will-be-the-impact-of-automation-and-ai-on-jobs

Tags: