จากจุดเริ่มต้นเฟลซ้ำเฟลซ้อนในการทำธุรกิจขายถุงเท้า หลังโดนเจ้าอื่นตัดราคา ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์หรือ ‘บู้’ มือเบสสุดชิคจากวงดนตรี Slur ก็ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการก่อตั้ง ‘Rompboy’ แบรนด์แฟชั่นที่ถือกำเนิดจากความหลงใหลรองเท้าสนีกเกอร์ของตัวเองล้วนๆ “บางเดือนผมซื้อรองเท้า 30 คู่!” เจ้าตัวสารภาพ พร้อมกับตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแฟชั่นไทย

ในวันที่ไลน์รองเท้า Rompboy เข้าสู่เลข 4 กับคอลเล็กชันที่ได้รับกระเเสตอบรับท่วมท้นอย่าง ‘Black to Basic’ ซึ่งเปิดตัวด้วยไวรัลโฆษณา ‘39’ กำกับโดย เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่จุดกระแสก่อนเปิดขายจริง จนได้รับการพูดถึงกันอย่างกว้างขว้าง

บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ ปั้น Rompboy ให้ประสบความสำเร็จ และฮิตติดตลาดในช่วงระยะเวลาอันสั้นได้อย่างไร

“แค่ไซส์รองเท้า มึงยังไม่รู้เลย”

ถ้าคุณจำประโยคเด็ดนี้ในโฆษณา 39 ของ Rompboy ได้ The Momentum อยากบอกว่า หลังอ่านบทความนี้ คุณจะได้รู้เคล็ดลับความสำเร็จของเขา ซึ่งมากกว่าแค่ไซส์รองเท้าแน่นอน

ยืนหยัดบนความล้มเหลวซ้ำซ้อน

ด้วยความบ้าคลั่งอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ธนันต์ได้เริ่มต้นศึกษาเรื่องราวรองเท้าผ้าใบผ่านแบรนด์อินดี้ที่เจ้าตัวสะสมอย่างจริงจัง เมื่อพบว่าเสน่ห์ของรองเท้าคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากงานทำมือ ธนันต์จึงจับประเด็นดังกล่าวมาเริ่มต้นสร้างแบรนด์รองเท้าของตัวเอง

เมื่อความจริงเดินทางมาบรรจบกับความฝัน ธนันต์พบว่า การพัฒนาต้นแบบโมเดลรองเท้ากับโรงงานผิดพลาดมาตลอด แม้จะเข้าสู่ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของการส่งมอบงานแล้วก็ตาม

“ผมตัดสินใจโทรไปขอร้องคนทำแบบให้แก้ตามที่ผมบอกทุกรายละเอียดในครั้งที่ 4 ปรากฏว่าครั้งนี้เหมือนฟ้าผ่าลงมา นี่แหละรองเท้าแฮนด์เมดที่ผมต้องการ วันนั้นมันเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนในชีวิตผม เหมือนว่าฝันของผมดูจะเป็นไปได้แล้ว พอจะได้ขายจริง ผมไม่กลัวอะไรเลย เพราะคิดว่าถ้าของเราดีจริง ยังไงคนก็ต้องอยากได้

“ถ้าย้อนกลับไปวันนั้นแล้วครั้งที่ 4 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีก ผมคิดว่าช่างมัน ยังไงก็ต้องทำต่อไป มันมาถึงขนาดนี้แล้ว อย่างปัจจุบันก็มีต่างประเทศติดต่ออยากเอารองเท้าผมไปวางขาย แบรนด์คู่แข่งก็เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด ผมรู้สึกว่าตอนนั้นสิ่งที่เราได้ทำน่าจะเปลี่ยนมุมมองของวงการสนีกเกอร์และแฟชั่นไทยได้เหมือนกัน

“ผมไม่สนใจด้วยซ้ำว่าคนจะมองผมว่าทำเสื้อผ้าไม่เป็น ไม่มีความรู้ด้านนี้ ผมแค่อยากจะให้คนรอบตัวและสังคมได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ผมทำ”

“ผมไม่สนใจด้วยซ้ำว่าคนจะมองผมว่าทำเสื้อผ้าไม่เป็น
ไม่มีความรู้ด้านนี้ สนใจแค่อยากจะให้คนรอบตัวหรือสังคม
ได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ผมทำ”

ไร้หน้าร้าน ทีเซอร์เปิดตัว ไวรัลโฆษณา: วิธีทำการตลาดแบบศิลปิน

หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยคือเหตุใด Rompboy ถึงไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ธนันต์บอกกับเราว่า เขายังใหม่กับวงการนี้ จึงไม่ต้องการแบกรับค่าใช้จ่าย ประกอบกับไม่อยากยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ วันหนึ่งข้างหน้าคุณอาจจะได้เห็น Rompboy วางขายที่ร้านขายยาทั่วประเทศ หรือร้านหมูทอดเจ๊จงก็เป็นได้! เพราะเขาเชื่อว่า Rompboy ก็เป็นเหมือนสัญญาณ 4G ที่ไปได้ทุกที่

“ผมไม่รู้เรื่องหลักการทำการตลาดเลยนะ สิ่งที่ผมทำทั้งหมดคือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอาวิธีการทำงานแบบวงดนตรีมาลิงก์กับการทำธุรกิจ คือเราจะต้องไม่ผิดคอนเซปต์ตัวเองทั้ง Slur และ Rompboy ผมนำวิชามารของการโปรโมตแบบศิลปินมาใช้ ทั้งการยิงทีเซอร์ ปล่อยคลิปเปิดตัว ผมไม่รู้ว่าได้ผลไหม แต่มันสนุกดี

“ต้องยอมรับจริงๆ ว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางในการขายของไปแล้ว มันคือช่องทางในการแจ้งเกิดที่ดี ซึ่งเราไม่ต้องใช้งบประมาณสูง วิธีการบริโภคสื่อทุกวันนี้ของคนทั่วไปก็แทบจะกลายเป็นโซเชียลฯ แบบ 100% ผมค้นพบว่าการขายของบนโซเชียลฯ เป็นช่องทางอินเทอร์แอ็กทีฟแบบบ้านๆ ที่ได้ผลมาก เพราะคนไทยจะไม่ชอบอะไรยุ่งยาก อยากจะมีปฏิสัมพันธ์แบบรวดเร็วที่สุด ไม่ต้องมานั่งลงทะเบียนอะไรทั้งนั้น”

“ผมนำวิชามารของการโปรโมตแบบศิลปินมาใช้
ทั้งการยิงทีเซอร์ ปล่อยคลิปเปิดตัว
ผมไม่รู้ว่าได้ผลไหม แต่มันสนุกดี”

เน้นเจาะตลาดนิช รักษาดีมานด์ให้สูงกว่าซัพพลายเสมอ

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้ใครต่างถวิลหาทุกคอลเล็กชันของ Rompboy คือสินค้ามีจำนวนจำกัด หมดแล้วคือหมดเลย ไม่มีการผลิตเพิ่ม นอกจากนี้ด้วยเอกลักษณ์ของงานทำมือ รองเท้าทุกคู่จึงมีความแตกต่างกันในเเง่ของรายละเอียด ซึ่งใครหลายคนอาจจะมองว่ามันคือ ‘ตำหนิ’ แต่ธนันต์และแฟนที่รักรองเท้ากลับมองว่ามันคือ ‘เสน่ห์’

“มันเป็นคอนเซปต์ของเราเลยนะว่าจะนิชกับตลาดรองเท้าอย่างไร เหมือนเรามองหาจุดยืนว่ารองเท้าผ้าใบที่เราทำ มันจะให้คุณค่าอะไรกับตัวเอง จนทำให้คนอยากใส่มันมากๆ ซึ่งคนก็คงไม่อยากใส่รองเท้าที่เหมือนๆ กัน เขาคงอยากได้อะไรที่มีความเป็นลิมิเต็ด อย่างรองเท้าของเราบางคู่ก็อาจจะมีป้ายกลับหัว ขอบยางไม่เท่ากัน ถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่ก็จะต้องถูกโวยไปแล้ว แต่ลูกค้าผมพีกมากๆ เพราะเขาจะอยากได้กันหมด เพราะมีคู่เดียวในโลก

“อย่างเรื่องราคา ผมเชื่อว่าราคารองเท้าของเราค่อนข้างสมเหตุสมผล (ราวๆ 2,000-3,000 บาท) เพราะตอนที่เริ่มทำรองเท้า ผมศึกษาจากรองเท้าที่หาซื้อในสโตร์ไม่ได้แล้ว อย่าง Converse ยุค 60’s-70’s ซึ่งมีราคาประมาณ 20,000 บาทไปจนถึง 50,000 บาท ประกอบกับผมจะไม่ทำโปรโมชันลดราคารองเท้าเหมือนคอลเล็กชันแรกที่เคยทำเด็ดขาด เพราะคุณปิ๊น Carnival บอกผมว่า ของที่มีคุณค่าไม่ควรมีโปรโมชัน เพราะจะเป็นการลดมูลค่าสินค้า

“ที่สำคัญผมเชื่อว่าในยุคนี้ การทำรองเท้าที่มีสมดุลที่ดีควรดึงให้ดีมานด์มีปริมาณ 100% ส่วนซัพพลายห้ามเกิน 30% ในยุคนี้ทุกอย่างมันมาเร็วไปเร็ว ไม่ควรทำแช่ ทำอะไรให้พอดีๆ กับช่วงนั้นจะดีที่สุด”

“ในยุคนี้ทุกอย่างมันมาเร็วไปเร็ว ไม่ควรทำแช่
ทำอะไรให้พอดีๆ กับช่วงนั้นจะดีที่สุด”

บันไดประสบการณ์ หนทางสู่เป้าหมายที่แท้จริง

สิ่งหนึ่งที่ธนันต์เชื่อถือตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจแล้วพบแต่ความผิดหวังแบบต่อเนื่อง นั่นคือการที่เขาได้เดินขึ้นบันไดแห่งประสบการณ์ ไม่ว่าจะดีหรือแย่ ทุกครั้งที่เขาเริ่มต้นทำอะไร เขาย่อมได้ประสบการณ์จากมัน

“ผมคิดว่าทุกครั้งที่ผมผิดหวัง ผมก็ยังอยากจะทดลองอะไรใหม่ๆ กับคนไทยอยู่ ทุกครั้งที่ผมทำงาน ผมจึงเชื่อเสมอว่าของของผมมันมีคุณค่าอะไรบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงวงการแฟชั่นบ้านเรา ทุกสิ่งที่ผมทำ ไม่ว่าจะเจ๊งหรือดี ไม่มีอะไรแย่ เพราะมันคือประสบการณ์ ผมจะต้องได้ขึ้นบันไดแห่งประสบการณ์ทุกวัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะล้มเหลวอย่างไร สุดท้ายผมก็ยังจะเดินต่อไป”

ธนันต์กล่าวทิ้งท้ายด้วยแววตาเป็นประกายไว้ว่า “ปีหน้าผมจะบ้าระห่ำกว่านี้เยอะ”

“ทุกสิ่งที่ผมทำไม่ว่าจะเจ๊งหรือดี ไม่มีอะไรแย่
เพราะมันคือประสบการณ์
ผมจะต้องได้ขึ้นบันไดแห่งประสบการณ์ทุกวัน”

 

DID YOU KNOW?

หากคุณพลาดคอลเลคชั่นรองเท้าล่าสุดของ Rompboy อย่าง ‘Black to Basic’ เราแนะนำให้คุณติดตามวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้บนช่องทางออนไลน์ให้ดี, ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.facebook.com/rompboybkk/