Photo: Marko Djurica, Reuters/profile

ย้อนเวลากลับไปที่ พ.ศ. 2550 หนึ่งปีหลังจากมีรัฐประหารเกิดขี้น สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะของรัฐบาลสมัยนั้นที่มีชื่อว่า The Public Policy Development Office (PPDO) ได้มีการดำเนินการจัดการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับความสุขและนโยบายสาธารณะขึ้นมา เพื่อส่งเสริมในเรื่องความสุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเลย โดยทางด้านฝ่ายจัดการก็ได้เชิญผมมาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ต้องดำเนินการเชิญนักวิชาการจากต่างประเทศมาเป็น keynote speaker ของงาน

ผมตัดสินใจเชิญเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งที่รู้จักมาจากออสเตรเลีย เขามีชื่อว่า พอล ไฟร์จเตอร์ส (Paul Frijters) เป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ด้านความสุขจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์

ผมต้องขอบอกก่อนเลยว่า ในสมัยนั้นผมยังไม่ได้มีโอกาสที่จะได้รู้จักกับพอลเขาดีเท่าไหร่นัก มารู้ทีหลังว่าเขาเป็นคนดัตช์ที่พูดตรงมากๆ ในวันที่เขาต้องขึ้นไปพูดต่อหน้าคนเกือบ 500 กว่าคน (ซึ่งใน 500 กว่าคนนั้นมีรองนายก และคณะรัฐบาลใหญ่ๆ โตๆ อยู่กันหลายคน)

พอลได้ถามผมว่า “นิค (เขาเรียกผมว่านิค) ที่ผมต้องขึ้นไปพูดเนี่ย ผมพูดอะไรก็ได้ใช่ไหม”

เมื่อได้ยินดังนั้นผมก็เลยตอบพอลไปว่า “ได้” แล้วก็ไม่ได้คิดอะไรต่อไปจากนั้น

ไม่เกินสิบนาที ใจของผมก็หล่นไปที่ตาตุ่ม เพราะสิ่งที่พอลขึ้นไปพูดกับคนที่อยู่ในห้องประชุมทั้งหมดมีใจความดังนี้

“ผมรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมายืนอยู่ตรงนี้ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เศรษฐศาสตร์ความสุขเป็นวิชาที่แทบไม่มีใครให้ความสนใจเลย ไม่มีใครในสมัยนั้นเชื่อว่าเราสามารถวัดความสุขได้จริงๆ และที่เราสามารถใช้ข้อมูลความสุขเหล่านี้ในการออกแบบนโยบายสาธารณะต่างๆ ได้ หลายๆ ท่านในห้องประชุมห้องนี้ต่างก็รอวันนี้มาเป็นเวลานาน ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกดีใจเป็นพิเศษที่ได้มีส่วนร่วมในวันที่สำคัญวันนี้ ผมรู้สึกว่าผมได้มาอยู่ในที่ที่มีเพื่อนๆ ของผมอยู่ แต่เพื่อนจำเป็นต้องบอกความจริงกับเพื่อน ถึงแม้ว่าความจริงนั้นจะทำให้พวกคุณรู้สึกไม่สบายใจก็ตาม”

พอลหยุดพูดตรงนี้เป็นเวลา 2 วินาที เพื่อความเป็นดราม่าเล็กน้อย

“วิดีโอที่ทางคณะผู้จัดการประชุมได้เปิดให้พวกเราดูตอนเริ่มงานนั้นโชว์ให้เห็นคนจนๆ ในชนบทหลายคน แต่ละคนในวิดีโอนั้นดูมีความสุขกับชีวิตของเขา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน พวกเขามีความพอเพียงในชีวิต ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เขามีความสุขได้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยากจนทางด้านเศรษฐกิจก็ตาม เพราะฉะนั้นใจความสำคัญของวิดีโอก็คือ รัฐบาลไม่จำเป็นที่จะต้องออกนโยบายที่ทำให้คนในชนบทพวกนี้รวยขึ้น เพราะการรวยขึ้นจะทำให้เขาต้องสูญเสียความสัมพันธ์ดีๆ ที่เขามีกับคนในหมู่บ้านของเขา ซึ่งก็จะทำให้ความสุขของพวกเขาลดลงได้

“แต่ผมอยากจะถามว่า ใครกันที่เป็นคนตัดสินใจในเรื่องของการงดการออกนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของคนจนๆ กลุ่มนั้น คนที่ไม่อยากให้คนจนๆ พวกนี้มีฐานะที่ดีขึ้น เพราะกลัวว่าเขาจะสุขน้อยลง ยอมที่จะลดความรวยของตัวเองหรือเปล่า

“ถ้าผมมองไปรอบๆ ห้องประชุมนี้ละก็ สิ่งที่ผมเห็นก็คือคนที่แต่งตัวดีๆ กันทั้งนั้น มีแล็ปท็อปรุ่นใหม่อยู่ตรงหน้า ได้พักโรงแรมหรูๆ ได้บินไปเที่ยวและทำงานต่างประเทศบ่อยๆ คุณรู้หรือเปล่าว่าพวกคุณกำลังขอให้คนจนๆ ในชนบทเหล่านี้ทำในสิ่งที่พวกคุณไม่ยอมที่จะทำเอง

“ถ้าพวกเราเลือกที่จะทำในสิ่งที่เราทำ ก็เพราะว่าเราอยากจะรวยขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวเราเองต่างก็รู้ว่าสาเหตุที่เราทำไปก็เพราะพวกเราล้วนมีความต้องการที่อยากจะมีฐานะที่ดีกว่าคนอื่นๆ ทั่วไปทั้งนั้น

“เพราะฉะนั้น ตัวเราเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบังคับให้คนจนๆ เหล่านี้ไม่ให้ทำอย่างที่เราทำ หรือไม่ให้มีอย่างที่เรามีเหมือนกัน”

ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความสุขของคนจนและคนรวยในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

หลังจากวันนั้นมาเกือบ 10 ปี งานวิจัยของพวกเราชาวเศรษฐศาสตร์ความสุข และเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้ให้คำตอบอะไรหลายๆ อย่างถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความสุขของคนจนและคนรวยในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งผมสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. ความจนไม่ได้ทำให้คนมีความสุขอย่างที่หลายคนคิด

ถึงแม้ว่างานวิจัยของพวกเราจะพบว่าเงินซื้อความสุขได้น้อยกว่าที่เราคิดไว้มาก แต่ถ้าเราเทียบความสุขของคนที่รวยกับความสุขของคนที่จนแล้วละก็ เราก็มักจะพบว่าค่าเฉลี่ยความสุขและความพึงพอใจในชีวิตของคนรวยจะมากกว่าคนที่จนเกือบทุกๆ ครั้ง และพวกเรายังพบว่าความทุกข์ที่ได้มาจากความยากจนที่อยู่ภายใต้ขีดของ poverty line นั้นมันช่างเป็นความทุกข์ที่หนักหนาสาหัสมาก และเป็นความทุกข์ที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะปรับตัวเพื่อให้สุขเหมือนก่อนที่จะจนได้

2. คนที่จนคือคนที่ขี้เกียจ ไม่จริงเสมอไป

มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความสุข ความยากจน และความเหลื่อมล้ำของคนอเมริกันและคนยุโรปพบว่า ความเหลื่อมล้ำมีผลกระทบด้านลบต่อความสุขของคนจนในยุโรปมาก แต่ว่าความเหลื่อมล้ำกลับแทบไม่มีผลกระทบต่อความสุขของคนจนในอเมริกาเลย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าคนจนในอเมริกาเชื่อว่า ถ้าพวกเขาพยายามจริงๆ ก็สามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นคนรวยในอนาคตได้ (American Dreams นั่นเอง) ขณะที่คนจนในยุโรปกลับเชื่อว่าคนที่จนนั้นไม่ได้จนเพราะขี้เกียจ และถึงแม้ว่าเขาจะพยายามยังไง ถ้าโชคไม่ช่วย หรือไม่มีใครที่จะช่วยอุปถัมภ์เขา เขาก็ไม่สามารถที่จะผลักดันให้ตัวเองรวยได้ในอนาคต

ส่วนประเทศไทยของเรานั้น คนจนส่วนใหญ่ก็อาจจะมีความคิดคล้ายๆ กันกับคนจนในยุโรปที่ว่าถึงแม้จะพยายามแค่ไหน ถ้าโชคไม่ช่วยหรือไม่มีเส้น ก็คงจะไม่สามารถไต่เต้าไปได้ไกลในสังคม

แต่ปัญหาก็คือคนที่รวยส่วนใหญ่มักจะมีความคิดที่คล้ายๆ กันเกือบทุกประเทศ ว่าสาเหตุที่เขารวยนั้นส่วนใหญ่มาจากความสามารถของเขาทั้งนั้น ไม่ได้มาจากโชคเลย ซึ่งถ้าคนรวยๆ เหล่านี้ไม่มีความสามารถในการเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ พวกเขาก็คงจะไม่มีทางเข้าใจได้ว่า สำหรับคนที่จนในประเทศ สาเหตุที่เขาจนนั้นอาจจะมีตัวแปรหลายอย่างที่อาจจะไม่ได้อยู่ภายใต้ความควบคุมของเขา อย่างเช่นโชค เป็นต้น

3. ชีวิตลำเค็ญส่งผลให้คนจนมองความสุขระยะสั้น

นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด แดน กิลเบิร์ต (Dan Gilbert) เคยกล่าวเอาไว้ว่า “คุณไม่สามารถที่จะจินตนาการถึงความสุขในอนาคตได้ ถ้าคุณกำลังยุ่งอยู่กับความรู้สึกที่ไม่ดีในปัจจุบัน”

ความยากจนถือเป็นสถานภาพที่เรียกได้ว่าใช้เวลา (หรือ occupy) อยู่ในหัวของคนที่ยากจนเยอะที่สุดในแต่ละวัน

“วันนี้จะหาอะไรกินดี” “พรุ่งนี้ลูกจะมีเงินไปโรงเรียนไหม” เป็นต้น

การที่คนเราต้องใช้เวลาเป็นจำนวนมากในแต่ละวันเป็นห่วงเรื่องเงินนั้น จะก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Cognitive Load เกิดขึ้น ซึ่งเวลาที่เกิด Cognitive Load ขึ้นมาในสมองนั้น พฤติกรรมของเราส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล (ทั้งนี้เป็นเพราะว่าสมองส่วนทางด้านเหตุผลของเรากำลังถูกใช้งานอย่างหนักจากการเกิดของ Cognitive Load)

และด้วยเหตุผลที่ว่าอารมณ์เป็นตัวผลักดันพฤติกรรมผลัดวันประกันพรุ่ง หรือการ ‘สุขตอนนี้ดีกว่าสุขตอนหน้า’ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่คนยากจนส่วนใหญ่เลือกจะหาความสุขใส่ตัวก่อนออมไว้เพื่ออนาคต

สรุปก็คืองานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้ทำให้เรารับรู้และเข้าใจถึงตัวแปรความสุขและพฤติกรรมต่างๆ นานาของทั้งคนที่จนและคนที่รวยมากขึ้นกว่าสมัยก่อนเยอะ

คำถามก็คือว่าจะมีใครคนไหนบ้างรับฟังและนำข้อมูลเหล่านี้ไปหาหนทางแก้ไขปัญหานี้ในสังคมเท่านั้นเอง

 

อ่านเพิ่มเติม:
– Alesina, A., Di Tella, R. and MacCulloch, R., 2004. ‘Inequality and Happiness: Are Europeans and Americans Different?’. Journal of Public Economics, 88(9), pp. 2009-2042.
– Clark, A.E., D’ambrosio, C. and Ghislandi, S., forthcoming. ‘Adaptation to Poverty in Long-Run Panel Data’. Review of Economics and Statistics.
– Clark, A.E., Frijters, P. and Shields, M.A., 2008. ‘Relative Income, Happiness, and Utility: An Explanation for the Easterlin Paradox and Other Puzzles’. Journal of Economic literature, 46(1), pp. 95-144.
– Gilbert, D., 2009. ‘Stumbling on Happiness’. Vintage Canada.