ต่อจากตอนที่แล้ว ผมถามคุณบอยว่า “คิดว่ากระเป๋า BOYY จะขายที่เมืองไทยได้ไหม?”

คุณบอยตอบว่า ตอนแรกไม่ได้คิดจะขายกระเป๋าในเมืองไทย เพราะว่าตอนนั้นไม่มีใครทำกระเป๋าแบรนด์ไทยขาย ยังไม่มีดีไซเนอร์รุ่นใหม่แบบตอนนี้ ตอนนั้นมีแต่คนใช้กระเป๋า LV, Gucci, Prada อะไรพวกนี้

จนกระทั่งได้มีโอกาสไปวางขายในร้าน Cloud9 ซึ่งเป็นร้านมัลติแบรนด์ที่เกษรพลาซ่า พอไปวางตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะขายได้ แต่ทำไปทำมาขายหมดตลอด พอมีคอลเล็กชันใหม่ก็มีลูกค้ามาถามหาตลอด จากจุดนั้นในที่สุดก็ตัดสินใจเปิดช็อปที่เซ็นทรัล ชิดลม

ปัจจุบัน BOYY มีช็อปทั้งหมด 4 แห่ง คือ โคเปนเฮเกน, เซ็นทรัล ชิดลม, เซ็นทรัล ลาดพร้าว และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

ผมถามคุณบอยต่อว่า รู้สึกยังไงที่ตอนนี้กระเป๋า BOYY เป็นกระเป๋าที่คนเดินแถวทองหล่อถือเยอะพอๆ กับกระเป๋า Hermès และต้องยอมรับว่าจริงๆ แบรนด์ไทยในสายตาคนไทยยังเป็นที่ยอมรับยาก โดยเฉพาะกับกระเป๋าแบรนด์หรูนี่ต้องถือว่าโหดและหินมาก

คุณบอยบอกว่า ถ้าให้คิดคงจะเป็นเพราะว่าคนไทยอยากสนับสนุนความสำเร็จของคนไทย พอเขารู้สึกว่าเราได้ไปขายสินค้าในต่างประเทศ คนไทยที่เป็นลูกค้าก็รู้สึกภูมิใจและอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เพราะความเป็นคนไทยด้วยกัน

แต่คุณบอยย้ำว่าไม่ว่าจะเคยไปขายต่างประเทศมา หรือมีเซเลบริตี้ถือมาแค่ไหน สุดท้ายมันจะกลับมาจบที่คุณภาพของงานดีไซน์ และคุณภาพของสินค้าว่า ‘ใช่’ ไหม  ต่อให้ไปขายต่างประเทศมา แต่คุณภาพไม่ดีจริง ของไม่ดีจริง ยังไงคนก็ไม่ซื้ออยู่ดี

ตอนนี้กระเป๋าที่ขายดีที่สุดของ BOYY คือ Bobby และตามมาด้วย Karl ซึ่งทั้งสองอยู่ในคอลเล็กชันเดียวกัน

โดยกระเป๋าคอลเล็กชันนี้ออกแบบมาจากถุงช้อปปิ้งที่คุณบอยเห็นตอนนั่งอยู่ในร้านกาแฟที่โคเปนเฮเกน พอเห็นถุงช้อปปิ้งนี้เพียงแค่หางตาก็รู้เลยว่า รูปทรงนี้มันใช่ จากนั้นคุณบอยวิ่งออกไปตามหาถุงช้อปปิ้งใบนี้ และกลายมาเป็นแพตเทิร์นของ คอลเล็กชันอันโด่งดังของกระเป๋า BOYY

ผมนั่งคุยต่อถึงเรื่องที่ยากที่สุดที่เคยเจอ

คุณบอยเล่าให้ฟังว่าเรื่องที่ยากที่สุดคือ เรื่องเกี่ยวกับการผลิต ซึ่งมีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน เอาเรื่องแรกคือ ความเข้าใจผิดของคน หลายคนจะชอบคิดว่าผลิตที่เมืองไทยแล้วต้นทุนถูก ซึ่งไม่จริงเลย การเลือกผลิตที่เมืองไทยไม่เกี่ยวกับต้นทุน แต่เพราะคุณบอยและคุณ Jessie ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ และคุณ Jessie ก็เป็นคนคุมการผลิตเอง และเป็นคนประเภทที่อยากไปดูโรงงานแทบทุกวัน ดังนั้นการใช้โรงงานผลิตที่เมืองไทยจึงมีเหตุผลมากกว่าไปใช้โรงงานผลิตที่อิตาลี

แต่เมื่อต้องนำเข้าหนัง อะไหล่ และของจิปาถะ จากอิตาลีมาไทย พอรวมค่าขนส่ง ภาษี และค่าจิปาถะต่างๆ แล้ว เอาเข้าจริงต้นทุนการผลิตที่ประเทศไทยแทบไม่ต่างจากไปผลิตที่ประเทศอิตาลีเลย

ปัญหาหลักๆ อีกเรื่องของการผลิตที่เจอคือ บางครั้งเรามีความคิดที่ล้ำหน้าและแหวกแนวมากๆ แต่การผลิตและเทคนิคของโรงงานอาจจะยังตามไม่ทัน หรือบางทีเขาก็อาจจะคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ บางทีอะไรที่เขาบอกว่าเขาทำไม่ได้ เราก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันทำได้ ซึ่งหลายครั้งมันก็ทำได้จริงๆ

เราคุยกันต่อถึงอีกประเด็นว่า เวลาพูดว่าเป็นแบรนด์ไทย คนไทยจำนวนหนึ่งจะพูดว่าทำไมเป็นแบรนด์ไทยแล้วขายแพงจัง จะขายแพงเท่าแบรนด์นอกเลยเหรอ ผมถามว่าถ้าคุณบอยพูดเรื่องนี้กับคนไทยได้ อยากพูดอะไร

คุณบอยบอกว่า ไม่อยากพูดอะไรเลย ให้สินค้าเป็นตัวพูดเองดีกว่า

ถ้าของมันดีจริง มันขายได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ถ้าลูกค้าเป็นคนที่ใช้ของดีอยู่แล้ว ไม่ต้องบอกอะไรเลย เขาจะรู้ได้ด้วยตัวเองเลยว่าของมันดีหรือไม่ดี

เพราะเอาจริงๆ ของที่คุณบอยทำดีกว่าของนอกอีก

คุณบอยมั่นใจว่าคุณภาพหนังที่เอามาใช้ทำกระเป๋านั้นเทียบเท่าหรือดีกว่าแบรนด์ดังๆ ระดับโลก เพราะแบรนด์ดังๆ ต่างก็ใช้หนังจากโรงฟอกหนังจากอิตาลี ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่โรงเช่นเดียวกับที่กระเป๋า BOYY ใช้เช่นกัน

ส่วนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ นักออกแบบเมืองไทยก็เชื่อว่าไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน

เรื่องที่ประเทศไทยอาจจะสู้ได้ลำบากหน่อย คือระบบสนับสนุนอย่างอื่น เช่น  เทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักร ซึ่งอาจจะสู้ที่อิตาลีไม่ได้ แต่ก็พอจะมีวิธีแก้ไขกันได้

คุณบอยเล่าถึงก้าวต่อไปของแบรนด์ BOYY ซึ่งตอนนี้จะเน้นไปที่การเปิดช็อปแบบสแตนด์อโลนในต่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนเข้าใจแบรนด์มากขึ้น อยากให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตามแต่ละเมืองที่ไปตั้งอยู่ ขอเป็นร้านเล็กๆ ก็ได้ แต่ขอให้ไปอยู่ในที่ที่น่าสนใจ และเป็นร้านที่แสดงถึงตัวตนของแบรนด์จริงๆ

ผมปิดท้ายด้วยคำถามที่ผมอยากรู้มากว่า กลัวไหมว่าถ้าออกคอลเล็กชันใหม่แล้วจะไม่ดังเท่าเดิม

คุณบอยหัวเราะนิดหน่อยแล้วตอบว่า ตอนนี้ได้เริ่มทำคอลเล็กชันใหม่แล้ว และจะไม่อยู่ในกรอบความคิดที่ว่า คอลเล็กชันเดิมขายดีมาก จนเราไม่กล้าจะดีไซน์อะไรที่ฉีกไปจากอันนี้แล้ว คือจริงๆ มันไม่ต้องดีไซน์ใหม่ก็ได้ เพราะกระเป๋ามันมีอายุของมัน ถ้ามันขายดีแบบ Bobby กับ Karl แล้ว มันจะมีอายุได้ 8-10 ปี

และมันก็ทำให้คุณบอยรู้สึกว่า เขาจะต้องทำให้เจ๋งกว่าเดิมให้ได้

ตอนนี้คุณบอยรอวันที่จะได้ปล่อยคอลเล็กชันใหม่ออกมา

ขอให้มันเป็นอะไรที่ไม่มีใครเคยเห็น จะดังกว่าเดิมหรือดังไม่ได้เท่าเดิมก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำก็พอแล้ว

สายตาที่แสดงความมุ่งมั่นของคุณบอย ทำให้ผมรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะคนจำนวนมากจะกลัวเวลาทำของใหม่ออกมาว่า ของใหม่จะดังสู้ของเก่าไม่ได้ แต่คุณบอยไม่มีความกลัวเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย เธอดูตื่นเต้นมากที่จะได้ออก คอลเล็กชันใหม่โดยไม่สนใจว่ามันจะดังน้อยหรือมากกว่าของเก่า

เวลาชั่วโมงเศษๆ ที่เราได้นั่งคุยกันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมได้สัมผัสถึงแพสชัน อันแรงกล้า ความมุ่งมั่น อดทน ไม่ย่อท้อต่อปัญหา และที่สำคัญที่สุดคือ ความรักในสิ่งที่เธอทำอยู่

จึงไม่แปลกที่กระเป๋า BOYY จะประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการแฟชั่นอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในตอนนี้ครับ

ติดตามเรื่องราวความสำเร็จของกระเป๋าฝีมือดีไซน์เนอร์คนไทย ตอนที่ 1 ได้ที่ ถอดรหัสความสำเร็จของกระเป๋า BOYY (ตอนที่ 1/2)

ภาพประกอบ: Lovesyrup

Tags: , ,