ผมเคยร่วมสัมภาษณ์ ดีเตอร์ แรมส์ (Dieter Rams) มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือที่ฮ่องกง และครั้งต่อมาที่กรุงเทพฯ ทั้งสองครั้งเป็นการสัมภาษณ์รวมที่ต้องถามพร้อมตัวแทนจากสื่ออื่น

“คุณออกแบบของมาหลายอย่างแล้วในชีวิตนี้ ถ้ามีโอกาสได้กลับไปทำงานออกแบบอีกครั้ง คุณอยากจะออกแบบอะไรมากที่สุด?”

ผมถามแรมส์ครั้งสัมภาษณ์ที่ฮ่องกงในงาน Business of Design Week 2011

แรมส์ตอบกลับมาว่า เขาอยากออกแบบปั๊มน้ำมัน

ดีเตอร์ แรมส์ เริ่มเรียนสถาปัตยกรรมและอินทีเรียร์ที่ Wiesbaden School of Art ประเทศเยอรมนี ช่วงหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปี หลังเรียนจบเมื่อปี 1953 เขาเริ่มประกอบวิชาชีพครั้งแรกกับสถาปนิกที่ชื่อ คาร์ล-อ็อตโต อาเปล (Karl-Otto Apel) ที่แฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมนี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เยอรมนีกำลังสร้างเมืองกลับมาใหม่หลังจากแพ้สงคราม ทำให้เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับสำนักงานสถาปนิกจากอเมริกันอย่าง Skidmore, Owings & Merrill (SOM)

หลังจากทำงานกับอาเปลไม่นาน เขาก็เปลี่ยนงานไปเป็นสถาปนิกและนักออกแบบภายในให้กับบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ Braun เมื่อปี 1955 พอทำงานได้สักพักใหญ่ๆ เขาก็ได้โปรโมตเป็น Chief Design Officer ดูแลงานออกแบบอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 1961 และก็อยู่ในตำแหน่งนี้มาจนถึงปี 1995

เขายอมรับว่างานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะงานของสถาปนิกเยอรมันที่ต้องหนีภัยผู้ให้การสนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์ (Fascist) ไปอยู่ที่อเมริกาอย่างเช่น Mies van der Rohe และ Walter Gropius ส่งอิทธิพลไปถึงการทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นอย่างมาก การได้ทำงานกับสถาปนิกอย่าง SOM และอาเปล ก็ทำให้เขาเรียนรู้ถึงความใส่ใจในรายละเอียดทุกๆ ขั้นตอนการออกแบบ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในขั้นตอนการทำโมเดล และโปรโตไทป์เป็นอย่างมาก

ผลงานออกแบบของแรมส์ มีตั้งแต่วิทยุ เครื่องอัดเสียง ที่โกนหนวด เครื่องทำกาแฟ นาฬิกาปลุก ที่เป่าผม เครื่องคิดเลข เครื่องเล่นแผ่นเสียง ฯลฯ ที่ทำให้กับ Braun รวมทั้งงานออกแบบเฟอร์​นิเจอร์ให้กับ Vitsœ

และเป็นที่รู้กันดีว่า เพราะผลงานของแรมส์นี่แหละที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ โจนาธาน ไอฟ์ (Jonathan Ive) ของ Apple ให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาหน้าตาไม่ต่างจากสิ่งที่แรมส์ทำไว้ตั้งแต่ปี 1950 แม้ว่าคนส่วนมากมักจะชอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ที่เขาออกแบบให้ Braun กับสิ่งที่ Apple ออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุทรานซิสเตอร์รุ่น 1955 หรือ 1965 แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยมองว่า Apple เลียนแบบงานของเขา แต่ถือว่านี่คือการยกย่องกันต่างหาก

ในภาพยนตร์สารคดี Objectified (2008) ของ แกรี ฮัสต์วิต (Gary Hustwit) เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทุกวันนี้เราทำสิ่งที่ไม่จำเป็นออกสู่ท้องตลาดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่งานออกแบบผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรม โฆษณาและอีกหลายต่อหลายอย่าง

งานออกแบบยุคนี้กลายเป็นสิ่งที่เอาไว้เชิดหน้าชูตาไลฟ์สไตล์ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง ทั้งๆ ที่พวกเราควรใส่ใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม การนำกลับมาใช้ใหม่กันมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะบุคคล แต่มันควรเป็นความใส่ใจของเมืองทั้งเมือง เราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าโลกนี้จะเป็นอย่างไร แต่นี่ควรเป็นความรับผิดชอบของคนที่เป็นนักออกแบบ

ช่วงท้ายๆ ของการให้สัมภาษณ์ เขาพูดเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าสามารถกลับมาเกิดใหม่ได้อีกครั้ง เขาคงไม่อยากเป็นนักออกแบบอีกแล้ว เพราะเขาเชื่อว่า ในอนาคตเราจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีของหลายสิ่งเท่ากับการให้ความสำคัญในการใส่ใจว่า เราจะอยู่ที่ไหน และอยู่กันแบบใดมากกว่า และนี่คงเป็นแรงกระตุ้นบางอย่างให้ฮัสต์วิตคิดจะทำภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาที่ใช้ชื่อว่า Rams ที่ว่าด้วยชีวิตความเป็นมาและผลงานของดีเตอร์ แรมส์

ในวัย 84 ปี ดีเตอร์ แรมส์ จะแสดงเป็นตัวเขาเองในหนังสารคดีเรื่องนี้ และอย่างช้าที่สุด ในเดือนตุลาคมปี 2017 พวกเราจะได้ชมหนังสารคดีเรื่อง Rams พร้อมๆ กับตัวเขาในวัย 85 ปี หลังจากที่โปรเจกต์นี้ได้รับการระดมทุนผ่าน Kickstarter โดยใช้เวลาเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น ก็ได้ยอดทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยอดเงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้เอาไว้ใช้แค่การทำหนังเรื่องนี้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังถูกแบ่งไปใช้ในการเก็บรักษาผลงานต่างๆ ของแรมส์อีกด้วย

ถ้าพูดถึง ดีเตอร์ แรมส์ ยังไงก็ต้องไม่ลืมที่จะพูดถึง ‘กฎ 10 ข้อของงานออกแบบที่ดี’ ที่เขาคิดขึ้นมาหลังจากที่ถามตัวเองอยู่เสมอว่า งานออกแบบของเขานั้นดีแล้วหรือยัง กฎทั้ง 10 ข้อถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค 70s และมันก็น่าสนใจไม่น้อยตรงที่เวลาผ่านไปหลายสิบปีขนาดนี้แล้ว ดูเหมือนว่านักออกแบบ โดยเฉพาะนักออกแบบอุตสาหกรรมก็ยังคงเชื่อถือและยึดมั่นในกฎทั้ง 10 ข้อนี้อยู่เสมอมา

‘Good design is as little design as possible’

คือกฎข้อที่ 10 ที่มักจะได้รับการกล่าวซ้ำอยู่บ่อยครั้งกว่าข้ออื่น มันเป็นประโยคที่ฟังดูดี ติดหู เหมาะจะเอามาพูดซ้ำ และดูจะไปได้ดีกับงานออกแบบของนักออกแบบหลายๆ คนในปัจจุบันนี้

สำหรับผมแล้ว ที่ชอบมากที่สุดจาก 10 ข้อนี้ ก็คือข้อที่ 6 ‘Good design is honest’

แรมส์ให้เหตุผลสนับสนุนข้อนี้เอาไว้ว่า งานออกแบบที่ดีคืองานออกแบบที่ซื่อสัตย์ ต้องไม่ทำให้มันดูเวอร์เกินความเป็นจริง ต้องไม่หลอกล่อหรือชี้นำให้ผู้ใช้งานคิดไปว่ามันมีดีมากกว่าสิ่งที่มันมีจริงๆ

และนี่คือสิ่งที่ผมสนใจจะเขียนถึงงานออกแบบ/นักออกแบบที่คิดว่ามีคุณสมบัติในกฎข้อที่ 6 ของงานออกแบบที่ดีของ ดีเตอร์ แรมส์ ให้ผู้อ่านทุกท่านได้ตามอ่านกันทุกเดือนที่นี่

Tags: , , , , ,