วันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ จะไม่ใช่แค่วันวาเลนไทน์เหมือนปีก่อนๆ อีกต่อไป เมื่อบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำของโลกจะส่งเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยเชื้อชนิดนี้มีชื่อว่า สแตฟิโลคอกคัส ออเรียส ชนิดที่ดื้อยาเมธิซิลิน (Methicillin-Resistant Staphylococcus Aureus หรือ MRSA)

เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นต้นเหตุของโรคติดเชื้อมากมายที่พบได้บ่อย ทั้งบริเวณผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งทางเดินอาหาร ปัญหาใหญ่คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อชนิดนี้ยากต่อการรักษามาก เพราะมันดื้อยาปฏิชีวนะที่ทุกวันนี้ใช้กันอยู่ นอกจากนี้มันยังแพร่จากสัตว์มาสู่คนได้ด้วย ที่สำคัญเชื้อร้ายนี้ได้ทำให้ชาวอเมริกันติดเชื้อแล้ว 90,000 คน และคร่าชีวิตชาวอเมริกันไปกว่า 20,000 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าเชื้อเอชไอวีเสียอีก

กล่าวได้ว่านักวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงยิ่งเพื่อจะหยุดยั้งมัน ซึ่งความพยายามนั้นรวมไปถึงการขนส่งเชื้อโรคชนิดนี้ไปยังอวกาศครั้งนี้ด้วย

แล้วนักวิทยาศาสตร์ส่งเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงนี้ขึ้นสู่อวกาศทำไม?

คำตอบคือ เพื่อศึกษาว่าแบคทีเรียชนิดนี้มีการกลายพันธุ์ภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงอย่างไร จากนั้นทีมนักวิจัยจะสร้างแบบจำลองเพื่อทำนายและคิดค้นหายาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับเชื้อไว้ล่วงหน้า!

ทำไมนักวิจัยจึงทำเช่นนั้นได้?

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบว่าแบคทีเรียในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเติบโต แบ่งตัว และกลายพันธุ์ เหมือนแบคทีเรียบนโลก แต่ทั้งหมดเกิดในอัตราที่เร็วขึ้น พูดง่ายๆ ว่ามันกลายพันธุ์เร็วขึ้นเมื่ออยู่ในอวกาศ

สาเหตุเพราะสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงทำให้กระบวนการทางเคมีต่างๆ ในเซลล์แบคทีเรียเกิดอย่างรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งการอยู่ในอวกาศอาจทำให้แบคทีเรียได้รับรังสีจากอวกาศมากกว่าบนพื้นโลก (ซึ่งมีสนามแม่เหล็กห่อหุ้ม) ซึ่งจะส่งผลให้ยีนเกิดการกลายพันธุ์ได้เร็วขึ้น

ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 1999 มีการศึกษาพบว่ายีนของเชื้อแบคทีเรียชนิด E. coli มีอัตราการกลายพันธุ์สูงขึ้น ส่วนลักษณะการกลายพันธุ์นั้นขึ้นกับเงื่อนไขต่างๆ และในปี ค.ศ. 2000 การทดลองบนสถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซียพบว่า ยีนของแบคทีเรียที่อยู่ในสถานีอวกาศเพียง 40 วัน จะมีอัตราการกลายพันธุ์สูงกว่าแบคทีเรียที่อยู่บนโลกมากถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตามนักวิจัยไม่ได้รู้แบบแม่นยำเป๊ะๆ หรอกว่าแบคทีเรียในสถานีอวกาศจะกลายพันธุ์เหมือนแบคทีเรียบนโลกแค่ไหน แต่ถ้าใช่ มันก็เปรียบเหมือนการมองเห็นตาเดินของคู่แข่งล่วงหน้าในเกมหมากรุก เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะได้วางแผนรับมือได้ทันท่วงที ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการรอให้เชื้อบนโลกกลายพันธุ์จนเกิดชนิดใหม่ก่อนที่แพทย์จะคิดค้นการรักษาได้

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
อ้างอิง:

Tags: , ,