ข่าวการค้นพบดาวฤกษ์ TRAPPIST-1 ที่มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดพอๆ กับโลกโคจรอยู่ 7 ดวงนับเป็นการสร้างความหวังใหม่ให้กับมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะคนที่เบื่อหน่ายโลกใบนี้เต็มทนที่อาจคิดไปไกลถึงขนาดที่ว่าจะย้ายบ้านไปอยู่ดาวดวงใหม่ให้รู้แล้วรู้รอด

แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากโลกถึง 40 ปีแสง ถึงแม้จะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการอยู่อาศัยแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่ายังห่างไกลเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถเดินทางไปถึงในเร็ววันนี้ ซึ่งหากเดินทางด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน เราอาจต้องใช้เวลานับล้านปีกว่าที่จะเดินทางไปถึง และดาวอังคารที่อยู่ภายในระบบสุริยะเดียวกับเราอาจเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากกว่า

ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ใช่ว่าคนเราจะหยุดฝันกันง่ายๆ แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่มนุษย์เราจะย้ายไปอยู่ดาวอื่น ดาวดวงไหนที่เราควรย้ายไปอยู่ แล้วคนไทยล่ะจะมีสิทธิ์เป็นผู้บุกเบิกดาวดวงใหม่เช่นเดียวกับชาวโลกหรือไม่?

The Momentum พยายามค้นหาคำตอบในเรื่องนี้ก่อนที่คุณจะลงมือเก็บกระเป๋าแล้วบอกลาโลกนี้ไปตลอดกาล

ทำไมมนุษย์ต้องย้ายไปอยู่ดาวดวงอื่น

แน่นอนว่าหลายคนเกิดอาการเบื่อโลก และเบื่อหน่ายสภาพความเป็นจริงทางการเมืองที่กำลังเผชิญอยู่ ดูอย่างผลสำรวจล่าสุดของ SurveyMonkey ที่ชาวอเมริกันจำนวน 29% ระบุว่าพวกเขาต้องการจะย้ายไปอยู่อาศัยในดาวดวงใดดวงหนึ่งในจำนวนดาว 7 ดวงที่ นาซาเพิ่งค้นพบ เนื่องจากต้องการหลีกหนีอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะยังคงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อไป

นอกจากนี้ 22% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุด้วยว่า มนุษย์น่าจะสามารถเดินทางไปถึง TRAPPIST-1 ได้ภายในปี 2050 ขณะที่ 24% เชื่อว่าจะไม่มีวันนั้น ติดตามผลสำรวจเพิ่มเติมได้ที่ www.surveymonkey.com

แต่ถ้าแค่ ‘เบื่อโลก’ ยังเป็นเหตุผลที่น้อยเกินไปหน่อย ก่อนหน้านี้ สตีเฟน ฮอว์กิง ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นักฟิสิกส์ทฤษฎี และนักจักรวาลวิทยา ยังเคยออกมาเตือนมวลมนุษยชาติบนเวที Oxford Union มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2016 ว่า

“โอกาสที่โลกจะพบจุดจบนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอีก 1,000 ปี หรือ 10,000 ปีข้างหน้า

“ก่อนเวลานั้นจะมาถึง เราควรแยกย้ายกันออกไปสำรวจดวงดาวอื่นๆ เพื่อที่ว่าเมื่อโลกถึงคราวอวสาน ก็จะยังไม่ใช่จุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์”

เช่นเดียวกับ อีลอน มัสก์ ที่เคยให้เหตุผลไว้ในบทความ How (and Why) SpaceX Will Colonize Mars โดยเปรียบโลกใบนี้เป็นเหมือนฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่ ขณะที่เผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนโลกเปรียบเสมือนไฟล์เอกสารที่บรรจุอยู่ในฮาร์ดดิสก์นั้น เมื่อฮาร์ดดิสก์มีความเสี่ยงที่จะเสียหาย (ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสียหายมาแล้ว 5 ครั้ง โดยอ้างอิงตามทฤษฎีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ – 5 Extinctions) ทางเดียวที่จะเก็บไฟล์ข้อมูลของเผ่าพันธุ์มนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกเอาไว้ได้คือ การย้ายไปสู่ฮาร์ดดิสก์ตัวใหม่ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาต้องพัฒนาโครงการ SpaceX เพื่อจะได้ขนส่งมนุษย์ไปเหยียบพื้นผิวดาวอังคารได้ทีละมากๆ และหวังจะสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวอังคาร

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยกับ The Momentum ว่าเหตุผลที่มนุษย์ต้องเสาะแสวงหาที่อยู่อาศัยเป็นดาวดวงใหม่ อาจเป็นเพราะนี่คือดีเอ็นเอที่ฝังอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน

“ถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่เราต้องย้ายบ้านไปอยู่ดาวดวงใหม่ มันอาจจะไม่สำคัญในระยะสั้นนะครับ แต่มนุษย์ก็เป็นอย่างนี้แหละ นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ สมัยก่อนเจงกิสข่านก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องเดินทางไปยึดยุโรปให้ได้ หรือ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาอเมริกาเพื่ออะไร ทำไมมนุษย์จะต้องไต่ภูเขาเอเวอเรสต์ให้ได้ มันเป็นเรื่องของความท้าทาย เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องเดินทางหาที่ใหม่ๆ ขยายเผ่าพันธุ์ ผมว่ามันฝังอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์

“แต่นี่คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เจริญ แล้วก็อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบันไม่ใช่เหรอครับ?”

แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะมีคนที่เห็นด้วยทุกคน เพราะ โรนัลด์ เจ. การาน จูเนียร์ (Ronald J. Garan Jr.) อดีตนักบินอวกาศสังกัดนาซา ที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS กลับเห็นต่างว่ามนุษย์ไม่ควรทิ้งโลกไปใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่น

“ผมคิดว่าเราควรสำรวจดาวดวงอื่นๆ แต่ผมไม่คิดว่าเราควรทิ้งโลกเพื่อไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคาร เพราะมันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลยที่เราจะทิ้งดาวดวงนี้เพื่อไปอยู่อาศัยในดาวที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยอย่างดาวอังคาร อย่างแรกเลยคือ ถ้าเรายังไม่สามารถแม้แต่จะ ‘terraform’ (การปรับสภาพดาวให้มีลักษณะที่มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้ด้วยการปรับบรรยากาศ อุณหภูมิ สภาพพื้นผิว ระบบนิเวศให้มีลักษณะคล้ายโลก) โลกของเราเองด้วยการควบคุมสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการอยู่อาศัย แล้วอะไรทำให้เราคิดว่าเราจะสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ดาวดวงอื่นได้ ถ้าเราสามารถพัฒนาศักยภาพในการ terraform เพื่อสร้างบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมบนดาวดวงอื่นได้

“แล้วทำไมเราถึงจะไม่ใช้ศักยภาพนั้นกับโลกที่เป็นบ้านของเราล่ะ?”

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ดาวดวงไหนที่มนุษย์ควรย้ายไปอยู่

ถึงแม้ความคิดเห็นจะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน แต่ถึงวันนี้มนุษย์ก็ยังพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะค้นคว้าหาดาวดวงใหม่ที่จะย้ายเผ่าพันธุ์ไปอยู่อาศัยได้ แล้วดาวดวงไหนมีความเป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้ ดร.ศรัณย์ ให้ความเห็นว่าดาวอังคารน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด

“ในระยะใกล้หลายประเทศเริ่มมีแผนแล้วนะครับว่าจะส่งมนุษย์ไปที่ดาวอังคารก่อน ส่วนเป้าหมายระยะกลางคือ การสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร เพราะฉะนั้นดาวอังคารน่าจะเป็นเป้าหมายแรก เพราะมันมีสภาพที่ไม่โหดร้ายทารุณจนเกินไปนัก และนักวิทยาศาสตร์ก็คิดถึงขนาดจะทำ terraforming หรือทำอย่างไรให้บรรยากาศของดาวอังคารหนาแน่นขึ้น และมีความอบอุ่นมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องอีกยาวไกล เพราะดาวอังคารก็ไม่ได้มีขนาดเล็กๆ แต่การส่งมนุษย์ไปไกลจากระบบสุริยะยังคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ แต่ดาวอังคารอาจจะไป-กลับได้ภายใน 2 ปี

“เท่าที่เห็นในระบบสุริยะ ดาวอังคารอาจไม่ได้เหมาะสมที่สุดที่จะอยู่อาศัย แต่มันก็มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ทารุณนัก ยกตัวอย่างดาวศุกร์มันก็สุกไปเลย เพราะว่ามีอุณหภูมิ 400 องศาเซลเซียส ส่งอะไรไปก็ละลายหมด แล้วบรรยากาศก็เป็นกรดซัลฟูริกรุนแรง ที่อื่นที่น่าสนใจก็มี เช่น ดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี แต่ดาวพฤหัสฯ ก็ปล่อยรังสีออกมาเยอะพอสมควร เพราะมีสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง ในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมด 8 ดวงในระบบสุริยะ ดาวอังคารจึงมีสภาวะที่เป็นไปได้มากที่สุดที่เราจะส่งมนุษย์ลงไป”

ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้รัฐบาลและเอกชนทั่วโลกหลายองค์กรวางแผนจะขนส่งมนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร ไม่ว่าจะเป็นโครงการ SpaceX ของ อีลอน มัสก์ ที่ตั้งใจจะส่งมนุษย์เดินทางไปยังดาวอังคารทีละมากๆ โครงการ Mars One องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของเนเธอร์แลนด์ ที่ตั้งใจจะส่งมนุษย์กลุ่มแรกไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารภายในปี 2032

หรือล่าสุดรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เพิ่งประกาศในงาน World Government Summit ครั้งที่ 5 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า พวกเขาวางแผนจะส่งมนุษย์ 600,000 คน ไปตั้งรกรากที่ดาวอังคาร โดยตั้งเป้าไว้ว่าโครงการนี้จะต้องประสบความสำเร็จภายในปี 2117 หรือ 100 ปีนับจากนี้!

“โครงการ The Mars 2117 คือโครงการระยะยาว เป้าหมายแรกของเราคือการพัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อที่ลูกหลานของเราจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้และขยายขอบเขตของการวิจัยค้นคว้าในอนาคต”

“สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการสำรวจอวกาศระดับโลก และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ” เจ้าชายชีกห์ฮัมเดน บิน มูฮัมหมัด บิน ราชิด อัล มักทูม (Sheikh Hamdan Bin Mohammed Bin Rashid Al Maktoum) แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มนุษย์เรากำลังพยายามทำความรู้จักกับดาวอังคารให้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยยานอวกาศไร้คนบังคับหลายสิบลำที่โคจรรอบๆ ดาวอังคาร และยานสำรวจภาคพื้นดิน ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งข้อมูลกลับมายังโลกในทุกๆ วัน ทำให้เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถไปใช้ชีวิตบนดาวอังคารได้ภายในชั่วชีวิตของเรานี่เอง

Photo: flickr.com

คนไทยจะมีโอกาสไปเหยียบดาวอังคารบ้างหรือเปล่า

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่คนไทยจะกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่ได้ไปเหยียบดาวอังคาร ดร.ศรัณย์ ตอบว่า

“นั่นสิ ผมก็อยากถามคำถามนี้เหมือนกัน คงต้องถามรัฐบาลว่าจะสนับสนุนกันไหม ผมว่าเราน่าจะเริ่มจากการสร้างอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศได้แล้ว ซึ่งความรู้ที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้จะช่วยให้เราพัฒนางานทางด้านวิศวกรรมได้มหาศาล แต่เราก็ยังไม่มีแผนการ”

ทรัพยากร เงิน ความสามารถของบุคลากร หลายคนอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้คือข้อจำกัดที่ทำให้คนไทยไปไม่ถึงดาวดวงไหนๆ แต่ ดร.ศรัณย์กลับเห็นต่าง

“เรามีเงินแน่นอน เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ได้ใช้เงินเยอะ ผมจะบอกให้ว่าอินเดียส่งยานขนาดเล็กๆ เท่ากับโต๊ะ 1 ตัว เพื่อไปสำรวจและโคจรรอบๆ ดาวอังคารเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รู้ไหมเขาใช้งบประมาณเท่าไร งบประมาณทั้งหมดของโครงการนี้น้อยกว่าสร้างหนังฮอลลีวูด 1 เรื่องอีกนะครับ คือประมาณ 2 พันล้านบาท ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น งบประมาณนี้จะเท่าๆ กับราคาที่เราสร้างมอเตอร์เวย์แค่ 4 กิโลเมตรเท่านั้น เพราะตอนนี้เราใช้เงินสร้างมอเตอร์เวย์กิโลเมตรละ 500-600 ล้านบาท เขาทำได้ แล้วคนเขาก็เก่งขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้บอกว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ให้ผมส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคารให้ได้เหมือนที่อินเดียทำ ผมว่าใช้เงินอย่างมากก็ไม่เกิน 1,500 ล้านบาท พอๆ กับสร้างมอเตอร์เวย์ประมาณ 3 กิโลเมตร แค่สะพานลอยข้ามทางแยกในกรุงเทพฯ 1 แห่งก็พันล้านแล้วนะครับ”

ส่วนความสามารถของบุคลากร ดร.ศรัณย์ มองว่า วิศวกรไทยไม่ได้เก่งน้อยกว่าวิศวกรชาติอื่นๆ แต่ที่ผ่านมาพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่

“รัฐบาลต้องเป็นคนเริ่มนะครับ เรื่องเหล่านี้จะปล่อยให้เอกชนทำเองไม่ได้ เพราะเขาต้องคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุนเป็นหลัก แต่รัฐต้องคิดถึงการลงทุนเพื่อจะสร้างคนให้เก่งที่สุด เพื่อต่อไปเขาจะสามารถช่วยสร้างนวัตกรรมต่างๆ ได้อีกมากมาย”

ส่วนถ้าใครคาดหวังว่าจะมี อีลอน มัสก์ เมืองไทยที่จะมาพลิกโฉมโครงการสำรวจอวกาศของโลก คงต้องรอนานหน่อย เพราะ ดร.ศรัณย์ มองว่าสภาพแวดล้อมในประเทศขณะนี้ไม่ได้เอื้อให้เกิด อีลอน มัสก์ คนใหม่ได้ง่ายๆ

“ถ้าจะมี อีลอน มัสก์ เมืองไทย ตอนนี้เขาคงต้องย้ายไปอยู่อเมริกา เพราะอาจจะมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้เขาสร้างนวัตกรรมได้ง่ายกว่าที่เมืองไทย สมมติวันนี้ผมมีไอเดียที่จะสร้างอุปกรณ์ประหลาดๆ ขึ้นมาสักอัน ผมมองไปทางไหนก็ไม่มี supply chain อยู่ในเมืองไทยเลย ผมไปตั้งบริษัทที่อเมริกาไม่ดีกว่าเหรอครับ

“อย่าง อีลอน มัสก์ เองก็ไม่ใช่คนอเมริกันนะครับ เขาเป็นคนแอฟริกาใต้ที่ย้ายไปโตในแคนาดา แต่สุดท้ายเขาก็ต้องย้ายไปอยู่อเมริกาอยู่ดี เพราะสภาพแวดล้อมที่นั่นเอื้อต่อความคิดเขามากกว่า แล้วเราจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นเหรอครับ ถ้าไม่อยากปล่อยให้เป็นแบบนั้น รัฐบาลต้องพยายามสร้างคนสิครับ เหมือนที่เกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย แม้แต่ไต้หวัน หรือสิงคโปร์กำลังทำ ทุกวันนี้เรามัวแต่เถียงกันเรื่องอะไรก็ไม่รู้”

เอาเป็นว่าใครที่ฝันอยากไปตั้งรกรากบนดาวดวงใหม่คงต้องรอนานกันสักหน่อย ยิ่งถ้าเป็นคนไทยอาจจะต้องรอให้ชาวโลกคนอื่นๆ เขาบุกเบิกกันไปก่อน ส่วนคนไทยอย่างเราค่อยตามไปก็ยังไม่สาย

จริงไหม?

อ้างอิง:

Tags: , ,