“หุ่นยนต์จะแย่งงานมนุษย์หรือไม่”

“ขอโทษด้วย แต่ผมคิดว่าใช่”

สำหรับคนที่พลาดงาน Creativities Unfold หรือ CU 2016 ทีมงาน The Momentum ได้สรุปการบรรยายของวิทยากรชื่อดังมาให้เรียบร้อยแล้ว โดยปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Exit สู่ความจริงรูปแบบใหม่”

จากการบรรยายในวันที่ 29 ตุลาคม 2559 ดร.สเตฟาน เวสส์ (Stefan Wess) ซีอีโอบริษัท Empolis Information Management บริษัทไอทีชื่อดังจากเยอรมนี ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้พูดถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

Photo: Creativities Unfold 2016, TCDC

1. ความฝันวัยเด็ก

ดร.สเตฟานใฝ่ฝันจะสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเล่นเกมชนะเขาได้ตั้งแต่เด็กๆ แต่เขาก็ล้มเหลว เพราะเทคโนโลยีในอดีตยังไม่ตอบโจทย์ในเวลานั้น เขายังกล่าวอีกว่า กว่า AI จะสามารถรู้คิดและเอาชนะแชมป์หมากรุกโลกได้นั้นใช้เวลากว่า 40 ปี จากที่ Marvin Minsky ผู้บุกเบิกวงการ AI เคยคาดการณ์ไว้

2. ความฝันยังคงอยู่

แม้จะล้มเหลว แต่ดร.สเตฟานยังเชื่อในความฝันของเขาต่อ ซึ่งการพัฒนาใหม่ๆ ของคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่เขาฝันนั้นเป็นไปได้ เช่น IBM Watson ที่เอาชนะคนได้ในเกม Jeopardy ซึ่งถือเป็นการท้าทายครั้งใหญ่ของ IBM และการเกิด Deep Learning ในปี 2012 หรือการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ดียิ่งกว่าเดิมนับจากนั้นมา

ดร.สเตฟานกล่าวว่า จริงๆ แล้วเทคโนโลยี AI กำลังอยู่ในกระเป๋าของเราแล้ว ในรูปแบบสมาร์ตโฟนนั่นเอง! จะเห็นได้ว่าทั้ง Microsoft และ Apple ต่างก็พัฒนา Personal Assistant บนสมาร์ตโฟน โดยมีพื้นฐานมาจาก Deep Learning เช่นกัน ปัจจุบัน iOS รุ่นล่าสุดของไอโฟนสามารถค้นหาภาพในอัลบั้มตามคำสั่งของเราทันที

3. ยุคแห่งจักรกลอัจฉริยะ หรือ Smart Machine

ทั่วโลกได้เห็นและพูดถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น รถยนต์ไร้คนขับและคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดขึ้น สามารถแปลงรูปและเสียงเป็นตัวหนังสือได้

ดร.สเตฟานยังเล่าถึงการทำงานร่วมกับบริษัท NVIDIA พัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ชื่อ BB8 ที่สามารถประมวลผลภาพจากกล้องแบบเรียลไทม์ได้เร็วขึ้น 20 เท่า นอกจากนี้ยังเรียนรู้ที่จะผ่านสิ่งกีดขวางและขับขี่ในเวลากลางคืนได้อย่างปลอดภัย

แต่ความก้าวหน้าของ AI ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า หากเราสามารถพัฒนา AI เต็มรูปแบบแล้ว หาก AI เรียนรู้และพัฒนาได้ด้วยตัวของมันเอง เราจะควบคุมมันอย่างไร หรือนี่คืออวสานของมนุษยชาติ? ไม่ว่าจะเป็น Elon Musk, Bill Gates, Steve Wozniak ซึ่งดร.สเตฟานสรุปว่า ความก้าวหน้าของ AI มาพร้อมกับโอกาสและความเสี่ยง

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกคนพูดถึง ‘จริยธรรม’ ของ AI กันอย่างกว้างขวาง ดร.สเตฟานได้ยกตัวอย่างโปรเจกต์ของ MIT ‘Moral Machine’ ที่หาคำตอบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากรถยนต์ไร้คนขับต้องตัดสินใจในขณะที่มันกำลังจะพุ่งชนคนข้ามถนน มันจะตัดสินใจอย่างไรระหว่างการชนผู้หญิงและเด็กๆ หรือว่าคนชรา

4. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution)

ดร.สเตฟานสรุปว่า AI จะพาเราก้าวไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หุ่นยนต์จะไม่ได้ทำงานแค่ในโรงงานอีกต่อไป แต่จะอยู่ในบ้านของเรา และในโรงพยาบาล และนี่คือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามการคาดการณ์ของ World Economics Forum

ทุกคนจะสร้างอุตสาหกรรมของตัวเอง รูปแบบธุรกิจจะพลิกโฉมด้วยนาโนเทคโนโลยี การพิมพ์สามมิติ และเทคโนโลยีอัตโนมัติ

แล้วก็มาถึงคำถามยอดฮิตที่ว่า หุ่นยนต์จะแย่งงานมนุษย์หรือไม่?

“ขอโทษด้วย แต่ผมคิดว่าใช่” ดร.สเตฟานตอบ

ความก้าวหน้าของ AI และหุ่นยนต์จะทำให้เราช่วยประหยัดการว่าจ้างแรงงานไปได้มากถึง 90% จากรายงานของ Deloitte แต่เขาก็กล่าวอย่างมีความหวังต่อว่าความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นี่แหละจะเป็นกุญแจสำคัญในยุคที่ AI เฟื่องฟู

ดร.สเตฟานกล่าวต่อว่า มันเป็นโจทย์ที่เราจะต้องหาทางออกต่อไปว่าเราจะลดความเสี่ยงเหล่านี้ยังไง และเล่าว่าทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ก็ได้มีแผนรับมือกับปัญญาประดิษฐ์แล้วเช่นกัน

“ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ทั้งโอกาสและความเสี่ยง ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราตัดสินใจจะเดินหน้าต่อไปหรือหยุดอยู่เท่านี้”

ดร.สเตฟานหยุดเล็กน้อย ก่อนพูดต่อ “แต่ผมเลือกอยู่กับความฝันต่อไปดีกว่า เพราะผมคิดว่า AI สามารถช่วยเราคิดค้นวิธีการรักษาโรคได้ ซึ่งนั่นคือโอกาสที่เราจะมีชีวิตยาวนานขึ้น”

“ถ้าหุ่นยนต์ทำงานบางอย่างแทนเราได้ เราก็จะมีเวลาสร้างสรรค์สิ่งที่เราชอบมากขึ้น”

ดร.สเตฟานยังทิ้งท้ายคำถามอีกมากมาย และที่โดนใจหลายคนก็คือ เมื่อหุ่นยนต์ทำงานแทนเราแล้ว มันต้องจ่ายภาษีด้วยไหม หรือถ้าเราได้เงินจากการที่หุ่นยนต์ทำงานให้เรา สังคมจะเปลี่ยนไปยังไง

ผู้เข้าร่วมงานยังตั้งคำถามที่น่าสนใจมากมาย เช่น จุดอ่อนของ AI คืออะไร ดร.สเตฟานตอบว่า AI สามารถให้คำแนะนำเวลาเราช้อปปิ้งได้ก็จริง แต่มันค่อนข้างจะลำเอียง และถ้าคุณเชื่อสิ่งที่มันแนะนำทุกครั้ง ทุกคนก็มีแนวโน้มที่จะซื้อแต่ของที่เหมือนๆ กัน ที่สำคัญ AI สามารถเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีของมนุษย์ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น AI ก็จะไม่มีทางพัฒนาไปในทางที่ดีกว่าพฤติกรรมของมนุษย์ได้

เมื่อการบรรยายจบลง The Momentum ได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงานคนหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า AI จะแย่งงานเราหรือไม่

“ผมว่ามันน่ากลัวมากนะ” พิเศษ วีรังคบุตร กล่าวกับ The Momentum “ผมว่าศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของเราก็คือ สิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง แต่ผมว่าคนจะสามารถหาทางเอาตัวรอดได้ หาทางออกได้ มันเป็นสัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์ แต่เราก็ต้องปฏิวัติวิธีคิดของตัวเองด้วย ผมว่าท้ายที่สุดแล้วมนุษย์จะกลับมา Bounce Back และหาทางออกให้กับมนุษยชาติได้ในที่สุด”