ในยุคที่คนรุ่นใหม่ หรือ ‘คนรุ่นมิลเลนเนียล’ มีบทบาทสำคัญในสนามการทำงาน ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละองค์กรจึงต้องมีการปรับตัวและวางแผนเพื่อรับมือกับแนวทางการสรรหาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ของแต่ละแผนกในองค์กร เนื่องจากคนรุ่นมิลเลนเนียลมีแนวคิดและทัศนคติที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจคนรุ่นต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรในยุคนี้มาก

 

รายได้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก

ข้อมูลจาก jobsDB.com ระบุว่า ‘รายได้’ ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการเลือกสมัครงาน แต่ ‘วิถีชีวิต’ ระหว่างการทำงานก็มีผลต่อการพิจารณาเช่นกัน เช่น สำนักงานตั้งอยู่บริเวณไหน เดินทางไปทำงานอย่างไร ใช้เวลาเดินทางมากน้อยแค่ไหน และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นอย่างไร

การศึกษาพฤติกรรมของคน Gen Y และ Gen Z ที่กำลังเข้าสู่ตลาดงาน เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการพิจารณาเลือกงาน พบว่า

1. มีความคาดหวังต่อสถานที่ทำงานว่าจะต้องทันสมัย เช่น มีอาหารหรือห้องพักผ่อนให้กับพนักงาน

2. องค์กรต้องมีสวัสดิการที่ดึงดูดใจ เช่น โบนัสที่เหมาะสม มีการฝึกอบรมหรือการสัมมนาให้กับพนักงาน กำหนดแนวทางการพัฒนาและการเติบโตในหน้าที่การงานอย่างชัดเจน

3. องค์กรควรมีทัศนคติแและแนวคิดต่ออาชีพ เช่น มีสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน ช่วงเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น และไม่มีช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน

4. มีวิธีการทำงานร่วมกัน โดยเข้าใจคุณลักษณะของทุกเจนอย่างลึกซึ้ง ใช้การสื่อสารเพื่อลดช่องว่างระหว่างเจน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา

 

บทบาทของเทคโนโลยีต่อการหางานและสมัครงาน

ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลของแต่ละองค์กรจะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมและแนวทางการหางานของคนเจนต่างๆ เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพิ่มโอกาสในการรับคนที่มีศักยภาพเข้ามาทำงานในองค์กร ดังนี้

  • ผู้หางานไม่ได้มีเพียงกลุ่มที่ตั้งใจหางาน หรือคนที่ว่างเว้นจากการหางานมานานและไม่คิดจะหางาน แต่ยังมีกลุ่มที่ไม่ได้ตั้งใจหางาน แต่หากมีโอกาสดีๆ เข้ามาก็ยินดีรับไว้
  • เงินเดือน/ค่าตอบแทนไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จูงใจผู้หางาน จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเขียนประกาศงานอย่างไรให้มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมที่สุด
  • การเติบโตของการใช้สมาร์ทโฟน ทำให้ต้องหาวิธีการสื่อสารหรือการสร้างความสัมพันธ์กับผู้หางานระหว่างการเดินทาง
  • ช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นช่องทางหลักในการสรรหาคน

 

สำหรับแนวโน้มการหางานในปัจจุบัน การสำรวจในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 พบว่า 65% ของผู้ประกอบการใช้เว็บไซต์หางานเป็นช่องทางหลักในการหาผู้สมัครงาน และ 74% ของผู้หางาน ค้นหาและสมัครงานผ่านเว็บไซต์หางาน ซึ่งช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 ช่องทาง ได้แก่ สื่อออนไลน์ (74%) ติดต่อผู้ประกอบการโดยตรง (34%) และการบอกต่อ (26%)

สำหรับพฤติกรรมการหางานในปัจจุบัน ผู้หางานส่วนใหญ่หางานและเลือกสมัครงานผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ส่วนตัวอีกต่อไป โดยหางานผ่านโทรศัพท์มือถือ 67% คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 33% และสมัครงานผ่านโทรศัพท์มือถือ 51% ขณะที่สมัครงานผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 49%

นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในปัจจุบันว่า “Internet of Things (IoTs) จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งการสื่อสารในองค์กร การสรรหาพนักงาน รวมถึงวิธีการทำงานและสถานที่ทำงาน ที่เห็นอย่างได้ชัดเจนคือการเติบโตของ digital workplace การเติบโตของ mobile technology รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงจาก work-life balance เป็น weisuretime ซึ่งรูปแบบการทำงานดังกล่าวจะไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างโลกการทำงานและโลกส่วนตัว”

 

ในมุมของผู้หางาน Gen Y และ Gen Z ก็จำเป็นต้องสำรวจตัวเอง รวมถึงทำความรู้จักองค์กรแต่ละประเภทว่าเราเหมาะที่จะทำงานในองค์กรแบบไหน เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจก่อนสมัครงานหรือตอบรับเข้าทำงาน องค์กรที่เป็นตลาดงานในปัจจุบันแบ่งได้ดังนี้

 

องค์กรแบบ Startups

สำหรับเด็กจบใหม่และคนในยุคนี้ ถ้าชอบความเป็นอิสระและกล้าได้กล้าเสีย องค์กรแบบนี้อาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะเหมาะกับคนที่ต้องการเวทีในการแสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ส่วนคนที่มีประสบการณ์แล้ว องค์กรแบบนี้เหมาะกับคนที่สนใจในการให้คำปรึกษาเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งถ้าเลือกที่จะเติบโตไปกับองค์กร ก็ต้องพร้อมเผชิญกับปัญหา ทำงานได้หลายหน้าที่ และทำงานไม่เป็นเวลา

 

องค์กรแบบ SMEs

สามารถทำงานและเติบโตไปพร้อมกับองค์กรได้คล้ายกับ Startups แต่จะมีเวลาทำงานที่แน่นอน เนื่องจากโครงสร้างองค์กรแบบนี้เป็นระบบมากขึ้น มีทีมงานมากขึ้น จึงกระจายงานได้ จัดสมดุลชีวิตกับการทำงานได้มากกว่า รวมถึงอาจมีโอกาสก้าวหน้าในสายงาน เพราะเป็นองค์กรขนาดเล็ก คนทำงานไม่เยอะ การแข่งขันจึงมีน้อย

 

องค์กรขนาดใหญ่

หากต้องการความมั่นคงด้านการเงินและความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ชัดเจน องค์กรแบบนี้ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ในบางครั้งคุณอาจรู้สึกเหมือนเป็นปลาตัวเล็กในบ่อใหญ่ คุณจะได้รับบทบาทหน้าที่ในการทำงานชัดเจน แต่อิสระในการสร้างสรรค์งานอาจจะมีไม่มาก เพราะข้อบังคับต่างๆ นานา แต่องค์กรแบบนี้ย่อมให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ดีที่สุด

 

องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร

เหมาะกับคนที่รักการบริการและมีจิตกุศล เพราะองค์กรมุ่งเน้นการทำงานเพื่อสังคมมากกว่าการหาผลกำไร รูปแบบการทำงานมักมีขอบเขตกว้าง ตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็กไปจนถึงหน่วยงานขนาดใหญ่ ขณะที่ทุกตำแหน่งมีความสำคัญทัดเทียมกัน โดยไม่เกี่ยวกับอายุงาน

 

การสำรวจตัวเองว่าเหมาะกับองค์กรแบบไหน ย่อมเป็นตัวช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่ความสอดคล้องของเนื้องานในตำแหน่งนั้นๆ และศักยภาพส่วนบุคคลย่อมมีความสำคัญที่สุด เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการรับเข้าทำงาน และส่งผลต่อการเลือกสมัครงานของผู้หางานเช่นกัน เพราะการทำงานที่เหมาะกับตัวเองโดยไม่ประเมินตัวเองต่ำหรือสูงเกินไป ย่อมมีประสิทธิภาพ ดีต่อใจและการเติบโต มากกว่าทำงานที่ตัวเองไม่ถนัด เพราะไม่อย่างนั้น ชีวิตการทำงานอาจจะยากแบบ ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ และผู้จ้างก็อาจต้องกุมขมับ เพราะไม่ได้ put the right man in the right job

 

 

Tags: , , , , , , , ,