เรียกได้ว่าเป็นปีที่บริษัทต่างชาติขยับตัวเข้ามารุกตลาดในไทยหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ Uber ที่เพิ่งเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ UberEATS บริการจัดส่งอาหารในกรุงเทพฯ หวังเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคคนเมืองที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วเป็นหลัก โดยจับมือกับร้านอาหารชั้นนำกว่า 100 ร้าน อาทิ ร้านอาหารไทยครัวอัปษร, อิปปุโดะ ราเมน, แดเนียล ไทยเกอร์, แอพเพีย (Appia) ร้านอาหารอิตาเลียนโฮมเมดสไตล์โรมันแท้ และร็อกเก็ต คอฟฟี่บาร์ ร้านอาหารคาเฟ่สไตล์สแกนดิเนเวียนสุดฮิป

น่าสนใจว่าทำไม Uber ซึ่งเป็นธุรกิจระดับโลกที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดรายหนึ่งในกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy ทั้งยังเน้นกลุ่มธุรกิจบริการรถร่วมเดินทางมาโดยตลอด จึงหันมาจับตลาดเดลิเวอรีอาหารในไทย

การเดินเกมกลยุทธ์ครั้งนี้จะก่อให้เกิดกระแสพลิกโฉมในอุตสาหกรรมธุรกิจร้านอาหารด้วยหรือไม่?

Photo: Uber ประเทศไทย

UberEATS กับการเจาะตลาดธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร

อันที่จริง Uber พยายามขยายโมเดลธุรกิจให้ครอบคลุมบริการทั้งคนและสินค้าประเภทอื่นมาโดยตลอด ซึ่งอาหารสดเป็นสิ่งที่ Uber พิจารณาเป็นอันดับต้นๆ ในปี 2557 Uber เคยเปิดให้บริการจัดส่งอาหารแบบ on-demand โดยใช้ชื่อว่า UberFRESH ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น UberEATS และเริ่มให้บริการที่โทรอนโตเป็นแห่งแรกในปีถัดมา นับเป็นครั้งแรกที่ Uber แตกไลน์ผลิตภัณฑ์แยกออกมาจากแอปพลิเคชันบริการรถร่วมเดินทางมาเป็นบริการจัดส่งอาหารโดยตรง และสร้างโมเดลธุรกิจที่เชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร กลุ่มผู้ให้บริการเดลิเวอรี และผู้บริโภคเข้าด้วยกัน

หลายคนอาจมองว่า Uber ลงเล่นเกมนี้ช้าเกินไปหน่อย หากมองภาพรวมในระดับโลกแล้ว ตลาดนี้เต็มไปด้วยคู่แข่งรายใหญ่ที่มีกลุ่มลูกค้าและเงินทุนอยู่แล้วอย่างเช่น GrubHub บริการเดลิเวอรีอาหารในอเมริกา, Just Eat ในสหราชอาณาจักร ขณะที่ Foodpanda เน้นเจาะตลาดเอเชีย แต่ Uber เองก็ได้เงินทุนจากการระดมทุนแต่ละรอบเยอะเช่นกัน และเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารยังมีช่องโหว่อยู่ จึงเน้นจับมือกับธุรกิจร้านอาหารระดับโลคอลเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภควงกว้าง และชูจุดเด่นของ Uber ที่สามารถเดินทางจัดส่งอาหารจากร้านอาหารในบริเวณใกล้เคียงภายใน 10 นาที โดยที่ผู้ใช้สามารถติดตามผลได้ตลอดตั้งแต่วินาทีที่สั่งออร์เดอร์ จนถึงตอนที่ได้รับสินค้า

กลายเป็นว่า UberEATS สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว อาทิ บาร์เซโลนา อัมสเตอร์ดัม และดูไบ ในปัจจุบัน UberEATS เปิดให้บริการใน 57 เมือง จาก 20 ประเทศ ขณะที่กรุงเทพฯ จัดเป็นเมืองที่ 5 ที่ UberEATS เข้ามาเจาะตลาดในเอเชียต่อจากสิงคโปร์ โตเกียว ฮ่องกง และไทเป

Photo: Uber ประเทศไทย

ศึกธุรกิจเดลิเวอรีอาหารในไทย ใครจะเป็น Killer ในเกมนี้

ในงานแถลงข่าวเปิดตัว UberEATS ที่จัดขึ้นในวันที่ 17 มกราคม 2560 อัลเลน เพนน์ (Allen Penn) ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ UberEATS กล่าวว่าสาเหตุที่ UberEATS สนใจทำตลาดในประเทศไทย เพราะเป็นตลาดที่ขึ้นชื่อด้านวัฒนธรรมอาหารอยู่แล้ว และอาหารไทยก็ได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้ใช้บริการ UberEATS ในต่างประเทศ โดย UberEATS จะเข้ามาตอบโจทย์ช่องว่างในตลาด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงผู้บริโภคกับร้านอาหารท้องถิ่นและร้านอาหารใหม่ๆ

ทางด้านพาร์ตเนอร์อย่างร้านอาหารครัวอัปษรกล่าวว่า การร่วมมือกับ UberEATS จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคนี้ที่ไม่สามารถเดินทางมารับประทานอาหารที่ร้านได้ และต้องการความสะดวกรวดเร็วเป็นหลัก ทางฝ่ายเจ้าของร้าน แดเนียล ไทยเกอร์ อธิบายว่า บริการนี้จะเข้ามาช่วยให้ร้านสามารถต้องการตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินทางไกล และลดอุปสรรคของธุรกิจร้านอาหารแบบฟู้ดทรักที่มีเวลาเดินทางจำกัด

และเอาเข้าจริง แม้ว่า UberEATS จะเลือกจับมือกับพาร์ตเนอร์ในตลาดบน เน้นมาตรฐานและคุณภาพของอาหารเป็นหลัก แต่ใช่ว่าร้านที่เน้นขายประสบการณ์นั่งรับประทานในร้านเป็นหลักจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ใช้บริการเดลิเวอรีได้

Photo: mxphone.net

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันทางธุรกิจเดลิเวอรีอาหารในไทย ณ เวลานี้ ยังคงเป็นเกมของผู้เล่นที่ครองตลาดมาก่อน อย่างเช่น Lalamove ผู้นำด้านแอปพลิเคชันให้บริการขนส่งสินค้าจากเยอรมนีที่เปิดตัวบริการ LINE MAN ร่วมกับ LINE และสามารถเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้างได้ค่อนข้างเยอะ

หากไม่นับยอดผู้ใช้ LINE ในไทยซึ่งมีมากกว่า 33 ล้านราย (ปี 2558) LINE MAN เน้นเจาะกลุ่มร้านอาหารทั่วไปที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมทั้งในกรุงเทพฯ  และต่างจังหวัด บวกกับมีพันธมิตรที่น่าสนใจอย่าง Wongnai ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการรีวิวร้านอาหารเป็นทุนเดิมเข้ามาช่วยทำคอนเทนต์และโปรโมชัน ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเห็นโฆษณาบ่อยขึ้นและนำไปสู่การตัดสินใจซื้อนั่นเอง

The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับ ยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอของวงในว่า LINE MAN มีแผนรับมือกับการบุกตลาดบริการจัดส่งอาหารของผู้เล่นระดับโลกอย่าง UberEATS ยังไง

“ยังไม่มีครับ” เขากล่าว

“การที่ UberEATS เข้ามาในตลาดนี้น่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้นแน่ๆ อย่างน้อยเขาต้องทำโปรโมชันจัดส่งฟรีบ้างอยู่แล้ว แต่เราให้ความสำคัญกับการวางโมเดลธุรกิจให้เติบโตและอยู่ได้ในระยะยาวมากกว่า”

ยอดอธิบายว่า LINE MAN มีความโดดเด่นตรงที่เป็นการร่วมมือกันของ 3 กลุ่มธุรกิจ ที่มีจุดแข็งไม่เหมือนใคร ทั้ง LINE ที่มีผู้ใช้บริการในไทยมากที่สุด มาตรฐานการบริการของ Lalamove ขณะที่ Wongnai จะดูแลติดต่อประสานงานกับร้านอาหารที่เข้าร่วมทั้งหมด

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ยอดยืนยันว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา LINE MAN เติบโตอย่างรวดเร็ว และโตขึ้นทุกๆ เดือน เดือนละหลายสิบเปอร์เซ็นต์

“เรามองว่าตอนนี้เรายืนอยู่ใน position ที่ดี และคิดว่าเป็นอันดับหนึ่งในตลาดนี้ ดังนั้นเราไม่หันไปมองข้างหลังหรอกครับ เรามองไปข้างหน้ามากกว่า”

Photo: Foodpanda

นอกเหนือจาก LINE MAN คู่แข่งสำคัญอีกรายที่ต้องจับตามองก็คือ Foodpanda ถึงจะไม่ป๊อปมากนัก แต่ก็ถือเป็นธุรกิจระดับโลกที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดของบริการส่งอาหารออนไลน์ และยังเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านอาหารมากถึง 40,000 แห่ง

หลังจากที่บริษัท Delivery Hero คู่แข่งธุรกิจบริการเดลิเวอรีรายใหญ่ของเยอรมนีเข้าซื้อกิจการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ Foodpanda ประกาศขยายตลาดเพิ่มอีก 20 ประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชีย

ที่สำคัญเมื่อปลายปี Foodpanda เพิ่งประกาศร่วมมือกับ Grab ขยายบริการเดลิเวอรีอาหารในกรุงเทพฯ แบบเต็มสูบ

นี่จึงเป็นศึกหนักสำหรับ UberEATS ที่จะต้องรับมือให้ได้

อ้างอิง:

Tags: , , , ,