ประเดิมปี 2560 กันด้วยข่าวล่ามาแรงของบริษัท อุ๊คบี จำกัด หรือ Ookbee สตาร์ทอัพที่คร่ำหวอดในไทย ได้ประกาศปิดการระดมทุนรอบล่าสุด ด้วยจำนวน 19 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้บริษัท เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ Tencent บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีน มาร่วมลงทุน พร้อมกับเปิดบริษัทใหม่ในชื่อ ‘Ookbee U’

วันที่ 4 มกราคม 2560 หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี จำกัด ได้ประกาศความร่วมมือกับเทนเซ็นต์อย่างเป็นทางการ และกล่าวเน้นว่าการร่วมทุนครั้งนี้เป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ของบริษัท และมีจุดประสงค์เพื่อสร้างและขยายธุรกิจคอนเทนต์ที่เน้นให้ผู้ใช้ร่วมสร้างสรรค์ (User-Generated Content หรือ UGC) ในไทย ตลอดจนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ณัฐวุฒิยังตั้งเป้าว่าภายในปี 2562 หรืออีก 2 ปี Ookbee U จะมีคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์โดยผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านชิ้น!

แน่นอนว่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 681 ล้านบาท ไม่ใช่มูลค่าที่น้อยเลยสำหรับการร่วมทุนในธุรกิจสายคอนเทนต์ และเทนเซ็นต์นับเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบริษัทลูกอย่าง บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์กับทางอุ๊คบีอยู่แล้ว ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ในช่วงปลายปี 2559

The Momentum ได้พูดคุยกับ หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ถึงที่มาที่ไปของความร่วมมือระหว่างสองบริษัทสายคอนเทนต์ที่น่าจับตามองในปัจจุบัน

การร่วมทุนครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร? เราจะได้เห็นรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ใหม่ๆ อีกหรือไม่ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างเทนเซ็นต์จะผงาดขึ้นมาในตลาดคอนเทนต์ออนไลน์ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เร็วๆ นี้?

Photo: Natavudh Moo Pungcharoenpong, facebook

จับตาความเคลื่อนไหวของเทนเซ็นต์ในไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซและสตาร์ทอัพในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นสมรภูมิที่เหล่านักลงทุนต่างชาติ หรือแม้แต่ ‘ยักษ์ใหญ่’ เข้ามาชิงชัยกัน

ปี 2559 นอกจากอาลีบาบาจะเข้ามาซื้อลาซาด้าแล้ว เทนเซ็นต์ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีนที่ทรงอิทธิพลไม่แพ้กัน ได้เข้าถือหุ้นของ บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด 100% และเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) หรือ Tencent Thailand

ยิ่งไปกว่านั้น เทนเซ็นต์ยังเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) สูงสุดในเอเชียอีกด้วย โดยมีผลิตภัณฑ์และบริการในเครืออย่าง WeChat, JOOX แอปพลิเคชันเกม และบริการออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมหาศาล

การร่วมทุนครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเทนเซ็นต์มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำของตลาดนี้อย่างแท้จริง ดังที่ กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ เคยกล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินงานของบริษัทในปี 2560 ว่าจะลงทุนในสตาร์ทอัพไทย เพื่อหนุนการสร้างบริการด้านคอนเทนต์ (Content Service) และระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อคอนเทนต์แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง หรือหนังสือ (อ่านบทความเกี่ยวกับเทนเซ็นต์ได้ใน 5 ประเด็นต้องจับตา! เมื่อ Tencent Thailand เตรียมรุกตลาดคอนเทนต์ไทยปี 2017)

ขณะที่อุ๊คบีเป็นสตาร์ทอัพที่น่าจับตามองในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม UGC ที่มาแรงในไทย มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมคอนเทนต์หลากหลาย ไม่แพ้คู่แข่งไทย-เทศ บวกกับโมเดลธุรกิจที่ต่างไปจากธุรกิจสื่อเก่าแทบสิ้นเชิง

จึงไม่แปลกที่นักลงทุนรายใหญ่จะอยากร่วมลงทุนและผลักดันให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดนี้

“เนื่องจากเราเป็นสตาร์ทอัพ มันก็ต้องขยายสเกล ต้องระดมทุน เพราะว่าจะมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เราจะเลือกนักลงทุนที่เป็นพาร์ตเนอร์ด้วย คือนอกจากจะเป็นนักลงทุนแล้ว ต้องมีประสบการณ์ทางธุรกิจและตัวคอนเทนต์ประเภทเดียวกันกับที่เราทำอยู่ตอนนี้ ซึ่ง Digital Content Provider เจ้าที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้ก็น่าจะเป็นเทนเซ็นต์ ขณะที่เฟซบุ๊กจะเน้นพวกโซเชียลเน็ตเวิร์ก กูเกิลก็เรื่องเสิร์ช” ณัฐวุฒิกล่าว

ทำไมต้องเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีน? น่าจะเป็นคำถามที่หลายๆ คนอยากรู้คำตอบ

“ต้องมองว่าตอนนี้ประเทศจีนเป็นประเทศที่กำลังขยายออก หมายถึงธุรกิจเขาเองก็แข็งแรง ถ้ามองบริษัทคอนเทนต์ที่เป็นเนื้อหาประเภทเดียวกับที่อุ๊คบีทำ เทนเซ็นต์ก็เป็นผู้ให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราก็เลยมองว่าน่าจะเหมาะ ถ้ามองในภาพใหญ่อย่างอาลีบาบาก็มาซื้อลาซาด้า คือระบบนิเวศในเมืองจีนเขาจะแข็งแรง และเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้ามา ก่อนหน้าก็มีญี่ปุ่น แต่จีนจะแข็งแรงกว่าเยอะ ในขณะที่คอนเทนต์หรือบริการของฝั่งอเมริกามันอาจจะไม่ตรงกับสไตล์คนเอเชีย บริษัทที่เรารู้จัก เช่น กูเกิล แอปเปิ้ล เฟซบุ๊ก จะเป็นสายเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้อยู่ในฝั่งคอนเทนต์ หรือจะมีมาแบบ Netflix ซึ่งไม่ได้ตรงกับสิ่งที่อุ๊คบีทำ

“ด้วยประสบการณ์ของเทนเซ็นต์ เรามั่นใจว่าพวกเขาเป็นคู่ค้าที่แข็งแกร่งของอุ๊คบี โดยเรามีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับเทนเซ็นต์ ในการศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์ของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศจีนและตลาดอื่นๆ เพื่อหาความร่วมมือในการพัฒนาและทำตลาดร่วมกันในอนาคต โดยคุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ Tencent Thailand, คุณ Grace Yun Xia ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกลยุทธ์องค์กรและการลงทุนของ Tencent, คุณ Yu Wu ผู้บริหารกลุ่ม Tencent Online Media จะเข้ามาร่วมเป็นกรรมการใน Ookbee U ร่วมกับคุณคิมห์ สิริทวีชัย Portfolio Manager จาก INTOUCH Holdings และผมกับทีมผู้ก่อตั้งอุ๊คบี”

ตั้ง Ookbee U เจาะตลาด UGC ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ณัฐวุฒิอธิบายว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุ๊คบีได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจจากการให้บริการอี-บุ๊กส์ มาให้บริการระบบชุมชนออนไลน์ของสื่อบันเทิงในรูปแบบดิจิทัล (Digital Entertainment) และเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อศิลปิน นักวาดการ์ตูน นักดนตรี นักเขียน นักคิด เข้ากับผู้บริโภคหลายล้านคน เพราะเห็นว่าผู้บริโภคปัจจุบัน นอกจากต้องการบริโภคข้อมูลออนไลน์แล้ว ยังอยากมีส่วนร่วมในการนำเสนอเนื้อหาของตนเองในหลากหลายรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ของตนเองมากขึ้น

สาเหตุที่ณัฐวุฒิต้องการตั้งบริษัทใหม่ Ookbee U โดยแยกจากอุ๊คบี ก็เพื่อที่จะดูแลธุรกิจด้าน UGC โดยเฉพาะ เน้นเนื้อหาที่ครอบคลุมทุกรูปแบบ ตั้งแต่การฟัง การอ่าน การดู และการแชร์

โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ คือ

  1. การ์ตูน: Ookbee Comics
  2. เพลงและดนตรี: Fungjai – ฟังใจ มิวสิกสตรีมมิงของเหล่าคอดนตรีนอกกระแส
  3. ความคิดเห็น/ประสบการณ์: Storylog แพลตฟอร์ม UGC สำหรับนักคิด นักเขียน บล็อกเกอร์
  4. งานเขียน/นิยาย:
    – ธัญวลัย – คอมมูนิตี้ออนไลน์สำหรับนักเขียนนิยายทุกประเภท
    – Fictionlog แพลตฟอร์มการอ่าน-การเขียนนิยายออนไลน์ ที่กลายมาเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าจับตามองสำหรับวงการนิยาย-วรรณกรรมไทยร่วมสมัย

“บริษัท อุ๊คบี เราเรียกมันว่าเป็นคอนเทนต์ที่มาจากมืออาชีพ (professional) เพราะอุ๊คบีมันเกิดมาจากการเอาหนังสือ นิตยสารมาเผยแพร่ในรูปแบบอีบุ๊ก จนช่วงปีหลังๆ เราขยายมาฝั่งคอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้ใช้งานเยอะขึ้น มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าเขาเป็นมืออาชีพหรือว่าเป็นผู้ใช้งาน จริงๆ แล้วบริษัทใหม่จะมีคอนเทนต์ที่ผู้ใช้งานเป็นทั้งคนใช้ (consume) และผลิต (create) ขึ้นมาด้วย ในขณะที่ตัวอุ๊คบีก็ยังเป็นคอนเทนต์ที่มาจากมืออาชีพเหมือนเดิม ก็จะแยกเป็น 2 ธุรกิจออกมา”

แล้วอุ๊คบีมีวิธีรับมือกับคู่แข่งรายอื่นๆ ที่เข้ามาในตลาดนี้อย่างไร ในยุคที่สื่อเก่าในไทยเปลี่ยนมาทำคอนเทนต์ออนไลน์กันยกใหญ่ ขณะที่คนทั่วไปและเหล่าอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ก็สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีคุณภาพ หรือมีแฟนๆ ติดตามไม่น้อยไปกว่ามืออาชีพ

ณัฐวุฒิจึงบอกกับเราว่าสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจนี้ให้รอด ก็คือการสร้างคอมมูนิตี้และ engagement ในกลุ่มผู้ใช้งาน ที่สำคัญ ต้องคอยปรับตัวให้ทัน

“จริงๆ ต้องมองว่ามันจะมีคู่แข่งที่คล้ายๆ กันในธุรกิจแต่ละขา (vertical) ส่วนของการ์ตูน นอกจาก Ookbee Comics ของเรา ก็มี LINE WEBTOON ของ LINE และ Comico เว็บอ่านการ์ตูนของเกาหลี ส่วนเพลงในบ้านเราอาจจะมีทั้งสื่อเก่า (Traditional Media) และแอปพลิเคชันฟังเพลงใหม่ๆ เช่น JOOX ของเทนเซ็นต์ ซึ่งเรากลายเป็นพาร์ตเนอร์

“เพราะฉะนั้นคู่แข่งก็จะมีทุก vertical แต่ปัจจุบัน เรามองจำนวนคนที่ engage กับเรา และเวลาที่เขาใช้อยู่กับเรามากกว่า ไม่ได้ไปแข่งกับคู่แข่งตรงๆ แต่เราทำให้เขาใช้เวลาอยู่กับเรา สิ่งสำคัญคือ การสร้าง engagement กับผู้ใช้งาน และทำให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง ทั้งผู้ใช้งานและผู้สร้างคอนเทนต์ เพราะคนที่เคยอ่าน เคยฟังเพลงมาเยอะ ก็อยากจะลองเขียน ลองทำเพลงเองบ้าง

“จริงๆ แพลตฟอร์มพวกนี้มีอยู่เต็มไปหมดครับ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องหาพาร์ตเนอร์ดีๆ ไปดูคอนเทนต์ในต่างประเทศว่าเขามีวิธี engage กับผู้ใช้งานอย่างไร แล้วพยายามเอามาประยุกต์ใช้กับประเทศเรา”

เตรียมสร้างคอนเทนต์กว่า 1 ล้านชิ้น สู่การเป็นผู้นำในอาเซียน

เป็นไปได้ว่าการจับมือกับบริษัทใหญ่ที่มีทั้งทุน ประสบการณ์การทำงาน และผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ อาจทำให้การพิชิตตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลเกินเอื้อมเลย

นั่นหมายความว่า เราจะได้เห็นคอนเทนต์กว่า 1 ล้านชิ้นจาก Ookbee U ภายในปี 2562?

“ตอนนี้เราก็มีหลายแสนชิ้นแล้วนะครับ สองแสนชิ้น รวมทั้งเพลง การ์ตูน หลายอย่าง แต่ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า น่าจะถึงอยู่แล้ว

“ถ้าถามว่าจะเป็นผู้นำในตลาดนี้ไหม เราก็ตั้งใจว่าอยากให้เป็นแบบนั้นนะครับ แต่ต้องมองว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นวันแรก เราเพิ่งเริ่ม บริการหลายๆ ตัว เรายังไม่รู้จะเก็บตังค์ยังไงด้วยซ้ำ ยังอยู่ในช่วงที่พยายามจะสร้าง engagement กับคน KPI ก็คือดูแค่คนมาใช้กี่คน วันละกี่นาที บางตัวที่มีรายได้แล้วเราก็เห็นการเติบโต ผมเชื่อว่าถ้าเราติดตามมันไปสักครึ่งปี ก็คงจะพอเห็นภาพว่ามันจะไปในทิศทางไหน แต่แน่นอนว่าเราอยากให้มันเป็นผู้นำในด้านนี้อยู่แล้ว”

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
Tags: , , , , , , , , , , ,