ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจำนวนไม่น้อยมุ่งหมาย ‘อยากรวยเร็ว’ แต่เมื่อนาฬิกาชีวิตเดินผ่านไป บางคนสมหวัง บางคนเบนสู่เป้าหมายอื่น และจำนวนไม่น้อยที่ไม่สมหวัง ยิ่งเมื่อผ่านไปอีกหลายโมงยาม คนเหล่านั้นสูงอายุขึ้น ความมุ่งมาด ‘อยากรวยเร็ว’ ก็อาจถดถอยลง กลายเป็นความ ‘ไม่อยากจนตอนแก่’ เข้ามาแทนที่

และที่สำคัญ โครงสร้างสังคมของไทยเปลี่ยนแปลงจากอดีตเป็นอย่างมาก จากที่เคยเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีลูกหลานคอยดูแลผู้สูงอายุยามแก่เฒ่า กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ลูกหลานมีเวลาดูแลผู้สูงอายุน้อยลง เป็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าในอนาคต ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตนเอง (รวมถึงเงินของตัวเอง) ในยามชรามากขึ้น
การออมเพื่อให้เพียงพอที่จะใช้ในยามชราตามเป้าหมาย ‘ไม่อยากจนตอนแก่’ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องเริ่มออมตั้งแต่อายุไม่มาก เพราะหากออมช้า จำนวนเงินที่ออมก็ต้องมากขึ้นเป็นเท่าตัว แม้ในหลายประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวและมีสวัสดิการจากภาครัฐสูงกว่าไทย ก็ยังประสบปัญหาดังกล่าว

ในสหรัฐอเมริกา จากงานศึกษาของ ชโลโม เบนาร์ตซี (Shlomo Benartzi) และ ริชาร์ด เทเลอร์ (Richard Thaler) พบว่าแรงงานที่เสี่ยงจะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับใช้หลังเกษียณ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี 1983 เป็น 53% ในปี 2010 และแรงงานอเมริกันชนประมาณครึ่งหนึ่ง ไม่มีสวัสดิการเพื่อการเกษียณอายุ (retirement plan)

สำหรับประเทศไทย เรามีประชากรที่มีงานทำทั้งสิ้น 39.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานในระบบประมาณ 14 ล้านคน คิดเป็น 35.81% ของแรงงานทั้งหมด ที่เหลือเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันในการทำงาน โดยที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่มีการออมภาคบังคับในรูปแบบกองทุนประกันสังคม และในภาคเอกชนบางส่วนมีสวัสดิการการออมภาคสมัครใจในรูปแบบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก

งานศึกษาของเบนาร์ตซีและเทเลอร์ชี้ให้เห็นว่าความเพียงพอของเงินสำหรับการใช้จ่ายยามเกษียณอายุนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทำได้ยาก เนื่องจากคนไม่น้อยมองว่าการออมเปรียบเสมือนการสูญเสียรายได้ แต่เบนาร์ตซีและเทเลอร์เชื่อว่าสามารถออกแบบกลไกเชิงจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนให้คนออมเงินมากขึ้น และพิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้ได้ผลจริง ซึ่งกลไกดังกล่าวก็น่าสนใจอย่างยิ่ง

กลไกที่ 1: การให้เข้าร่วมในระบบการออมโดยอัตโนมัติ (automatic enrollment) แนวคิดนี้มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่าคนส่วนใหญ่ออมเงินได้ยาก ทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนออมเงิน คือการจัดตั้งสวัสดิการสำหรับการออม และทำการหักเงินจากบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีเพื่อการออมทุกเดือน (คล้ายกับการหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของไทย) แต่การจัดตั้งสวัสดิการเพื่อการออมบางอย่าง เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เกิดจากความสมัครใจของลูกจ้าง-นายจ้าง กล่าวคือ คนทำงานจะสมัครเข้าร่วมสวัสดิการดังกล่าวหรือไม่ก็ได้

เมื่อปราศจากการบังคับ คนวัยทำงานจำนวนหนึ่งอาจเลือกไม่สมัครเข้าร่วม เพราะไม่อยากถูกหักเงินทุกๆ เดือน หรือบางส่วนอาจเชื่อว่าการออมเงินเป็นเรื่องที่ควรทำตอนใกล้เกษียณ ซึ่งเป็นความเชื่อที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก

เมื่อทำแบบจำลองทางการเงินเพื่อการเกษียณอายุ จะพบว่าหากเราต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณ 10,000 บาทต่อเดือน หลังจากปรับผลของเงินเฟ้อแล้ว โดยที่อายุขัยเฉลี่ยของคนอยู่ที่ประมาณ 75 ปี หากเราเริ่มออมเมื่ออายุ 25 เราต้องออมเงินเดือนละประมาณ 5,368 บาทเท่ากันทุกเดือนจนถึงอายุ 60 ปี (สมมติฐานผลตอบแทนจากการออมที่ 5% ต่อปี) แต่ถ้าหากเราเริ่มออมเมื่ออายุ 35 ปี เราจะต้องออมเดือนละประมาณ 7,191 บาท และหากออมเมื่ออายุ 45 ปี จะต้องออมถึงเดือนละ 11,296 เท่ากันทุกเดือน แต่ถ้าหากเริ่มออมเมื่ออายุ 55 ปี จะต้องออมถึงเดือนละ 31,491 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากทีเดียว ทั้งนี้ยังไม่ต้องคิดไปถึงเรื่องที่ว่าเงิน 10,000 บาทต่อเดือนนั้นเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหรือไม่

เบนาร์ตซีและเทเลอร์เชื่อว่าการใช้กลไก automatic enrollment คือการทำให้คนวัยทำงานเข้าสู่สวัสดิการสำหรับการออมเพื่อการเกษียณไปก่อนแบบอัตโนมัติ แต่ถ้าผู้ใดพิจารณาแล้วไม่อยากเข้าร่วม ก็สามารถใช้สิทธิถอนตัว (opt-out) จากสวัสดิการดังกล่าวได้

ผลที่เกิดขึ้นคืออัตราการเข้าร่วมในสวัสดิการสำหรับการออมเพื่อเกษียณสูงขึ้นอย่างมาก โดยอัตราของการถอนตัวอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของกลไกนี้

กลไกที่ 2: กลไกการเลือกแบบแผนการลงทุนที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ (automatic investment)

แม้ว่าการใช้กลไก automatic enrollment จะช่วยให้คนวัยทำงานเริ่มออมเงินเร็วขึ้น แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการมีเงินในยามเกษียณอย่างพอเพียง เนื่องจากเงินออมในระยะยาวนั้นควรมีผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่เหมาะสมด้วย เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ และเป็นการเพิ่มค่าของเงินออมที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเรา

โดยปกติ เมื่อแรงงานเลือกที่จะเข้าสู่สวัสดิการสำหรับการออมเพื่อเกษียณ เงินออมที่หักจากเงินเดือนในแต่ละเดือนจะถูกนำไปลงทุนตามแผนการลงทุน (investment choice) ที่เลือกเอาไว้
ในปัจจุบัน หลายประเทศ รวมถึงไทย ผู้ออมเงินมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายกว่าเมื่อก่อนอย่างมาก เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงานต่างๆ จะมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายให้กับสมาชิกกองทุน (employees’ choice) ซึ่งทางเลือกที่ต่างกันนั้นสะท้อนถึงอัตราผลตอบแทนที่คาดการณ์และความเสี่ยงที่คาดการณ์ซึ่งแตกต่างกันไปด้วย

คนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลือกแผนการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีความกังวลว่าหากเลือกทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูง อาจจะประสบกับการขาดทุน แต่การตัดสินใจดังกล่าวก็แลกมาด้วยอัตราผลตอบแทนในระยะยาวที่น้อยลง โดยแบบจำลองทางการเงินเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ณ เงินตั้งต้นเท่ากัน แต่ผลตอบแทนต่อปีต่างกันเพียง 2% จะส่งผลให้ส่วนของเงินที่เพิ่มขึ้นต่างกันถึงเกือบเท่าตัวเมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี ตัวอย่างเช่น สมมติให้เงินลงทุนเริ่มต้นมีค่าเท่ากับ 100,000 บาท ที่อัตราผลตอบแทนแบบทบต้นที่ 6% เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี ค่าของเงินจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 220,714 บาท แต่หากปรับลดอัตราผลตอบแทนลงเหลือ 4% เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปีเท่ากัน ค่าของเงินจะเพิ่มขึ้นเพียง 119,112 บาท

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลไกการเลือกแบบแผนการลงทุนที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติจึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้คนวัยทำงานเลือกแผนการลงทุนได้สอดคล้องกับระยะเวลาการทำงานและระดับการรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้เหมาะสมมากขึ้น กล่าวคือจะมีตัวเลือกอัตโนมัติ (default choice) ซึ่งออกแบบมาแล้วว่าเหมาะสมกับตัวผู้ออม อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนอย่างอัตโนมัติเมื่อปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไป เช่น เมื่อผู้ออมอายุน้อยก็จะมีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอยู่ในตัวเลือกอัตโนมัติมาก และค่อยๆ ปรับลดลงเมื่อผู้ออมอายุมากขึ้น ซึ่งจะรับความเสี่ยงได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม default choice เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ออมเท่านั้น ซึ่งพวกเขามีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเลือกที่ตนเองคิดว่าเหมาะสม ซึ่งอาจเสี่ยงมากกว่าหรือน้อยกว่า default choice ก็ได้

กลไกที่ 3: กลไกการปรับอัตราส่วนการออมโดยอัตโนมัติ (automatic escalation)

แม้ว่าจะมีกลไก automatic enrollment และ automatic investment แล้ว แต่เนื่องจากในช่วงแรกของการทำงาน คนทำงานหนุ่มสาวมักได้ค่าจ้างไม่มาก จึงมักเลือกสัดส่วนการออมเงิน (saving rate) ในระดับต่ำ เพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น ในกรณีของไทย คนวัยทำงานในภาคเอกชนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเลือกได้ว่าจะออมเงินในสัดส่วนตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน ซึ่งคนทำงานหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยเลือกออมเงินในสัดส่วนที่น้อย คือไม่เกิน 5% ของเงินเดือน และสิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อคนหนุ่มสาวเหล่านั้นมีรายได้มากขึ้น แต่สัดส่วนการออมเงินโดยเฉลี่ยกลับไม่ได้เพิ่ม โดยสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณครึ่งหนึ่งยังคงมีสัดส่วนการออมเงินโดยเฉลี่ยไม่เกิน 5% เช่นกัน

กลไก automatic escalation จึงถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้คนทำงานมีสัดส่วนของเงินออมมากขึ้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่จะใช้ยามเกษียณ โดยปรับสัดส่วนการออมเงินเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อคนทำงานได้รับเงินเดือนมากขึ้น และปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอัตราการส่งเงินออมเข้ากองทุนแตะระดับสูงสุดที่กำหนดไว้

ทั้งสามกลไกถูกนำไปปรับใช้แล้วในหลายประเทศ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในแง่ที่ทำให้คนทำงานมีเงินออมเพิ่มขึ้นสำหรับใช้ในยามเกษียณ

ในกรณีของไทย การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง และสำหรับโครงสร้างของไทย การทำให้ไทยเป็นประเทศที่ ‘แก่ก่อนรวย’ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

 

แต่หากคนวัยทำงานตระหนักในเรื่องนี้ และนำทั้งสามกลไกข้างต้นมาปรับใช้ให้เหมาะสม อย่างน้อยที่สุด เราจะสามารถปรับเปลี่ยนสถานะของเราให้ ‘แก่ไปไม่จน’ ได้

 

ภาพประกอบ: Jaruwat Normrubporn

 

FACT BOX:

รับชมและรับฟังแนวคิดเกี่ยวกับการออมของ ชโลโม เบนาร์ตซี บนเวที TED Talks ได้ที่นี่

Tags: , , , , , , ,