หากถามว่าเฟซบุ๊กเจอกระแสต่อต้านเรื่องไหนหนักสุด คงต้องยกให้กับประเด็น ‘ข่าวปลอม’ ที่สร้างความวุ่นวายตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไล่มาจนถึงกรณีข่าวปลอมนิวเคลียร์ที่เกือบจุดชนวนสงครามระหว่างปากีสถานกับอิสราเอล แม้แต่ประเทศไทยก็เจอข่าวระเบิดปลอมในกรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว

จริงอยู่ที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ออกมาตรการรับมือกับข่าวปลอม โดยเพิ่มระบบแจ้งเตือนข่าวปลอมของเฟซบุ๊กและร่วมมือกับบริษัทตรวจสอบข้อมูลชั้นนำ อาทิ Snopes, PolitiFact และ AP

แต่บรรดาสำนักข่าวต่างประเทศ นักวิชาการ และผู้ใช้เฟซบุ๊กบางกลุ่มมองว่าประเด็นนี้ลุกลามบานปลายเกินกว่าจะจบลงง่ายๆ

ล่าสุด (16 ก.พ.) เจ้าพ่อเฟซบุ๊กได้ประกาศจุดยืนต่อการจัดการกับข่าวปลอมอีกครั้งในคำแถลงการณ์ที่เขาโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการสำคัญที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ ‘การสร้างสังคมระดับโลก’

และนี่คือประเด็นที่เราสนใจว่าเฟซบุ๊กจะทำอะไรต่อนับจากนี้

ในสังคมแห่งเสรีภาพ ประชาชนต้องมีอำนาจในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง
แม้ว่าสิ่งที่เขาคิดจะผิดก็ตาม

จัดการกับข่าวปลอมและฟองสบู่จากการกรองข้อมูล

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ประกาศวิสัยทัศน์ระยะยาวที่จะสร้างสังคมโลกที่ผู้คนแชร์ไอเดียและความคิดกันได้ ที่สำคัญต้องเป็นสังคมที่รู้ทันข่าวสารด้วย

เขายอมรับว่าข่าวปลอมและตัวกรองข้อมูลที่อาจทำให้คนรับสารด้านเดียวไม่ใช่ปัญหาที่แก้ง่ายเลย แต่ก็จะจัดการกับข่าวปลอม (fake news) ข่าวลวง (hoaxes) และลดความสำคัญของข่าวที่บิดเบือนเนื้อหาและเน้นกระตุ้นความรู้สึก หรือแบ่งแยกความคิดแบบสุดขั้ว ซึ่งทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิด พร้อมกับตั้งเป้าว่าพยายามจะเสนอข้อมูลข่าวสารในแง่มุมที่กว้างขึ้นกว่าเดิม

มาร์กชี้แจงว่าเฟซบุ๊กกำลังหาทางเพิ่มมาตรการจัดการกับข่าวลวงที่นอกเหนือไปจากวิธีกำจัดสแปม แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะแยกความแตกต่างว่าเรื่องไหนเป็นข่าวลวง เนื้อหาเสียดสี หรือการแสดงความคิดเห็นกันแน่ ขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้ปิดกั้นเสรีภาพของผู้ใช้งาน

อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กไม่มีมาตรการแบนเนื้อหาที่ผิด แต่จะเน้นนำเสนอข้อมูลในมุมอื่นๆ แทน รวมทั้งใช้ระบบแจ้งเตือนข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือนด้วยการแปะข้อความ ‘Disputed’ เช่นเดิม ซึ่งมาร์กเชื่อว่าเป็นการเคารพสิทธิ์การรับข่าวสารและให้คนอ่านใช้วิจารณญาณในการตัดสินเอง

“ในสังคมแห่งเสรีภาพ ประชาชนต้องมีอำนาจในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง แม้ว่าสิ่งที่เขาคิดจะผิดก็ตาม”

จะเห็นได้ว่าผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กยังคงยืนยันจุดยืนเดิมไม่เปลี่ยน จากบทสัมภาษณ์ล่าสุดในเว็บไซต์ record.net ที่กล่าวว่า “ถ้าผมเสกข่าวสารข้อมูลที่บิดเบือนให้หายไปหมดได้ ผมก็จะทำ แต่คนก็จะพยายามหาเหตุผลหรือข้อเท็จจริงมาสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองเชื่ออยู่ดี”

ที่แปลกก็คือ เฟซบุ๊กเคยประกาศความร่วมมือกับเยอรมนีและฝรั่งเศสในการตรวจสอบและจัดการปัญหาข่าวปลอม เพื่อป้องกันความเสี่ยงข่าวในช่วงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ แต่การแถลงการณ์ครั้งนี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กลับไม่เอ่ยถึงการดำเนินมาตรการทางกฎหมายแต่อย่างใด ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าเขาแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ยอมทำ ทางเว็บไซต์ Mirror ถึงกับพาดหัวข่าวว่า “เฟซบุ๊กไม่ต้องการหยุดแพร่ข่าวปลอม แค่แปะป้ายให้ชัดเจนขึ้น”

โลกออนไลน์ต้องปลอดภัย

เรารู้กันอยู่แล้วว่าเฟซบุ๊กกำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองและมันก็ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จากการเรียนรู้ข้อมูลในโลกออนไลน์

จากแถลงการณ์ล่าสุด เฟซบุ๊กกำลังวางแผนนำ AI เข้ามาเสริมทัพด้านการดูแลความปลอดภัยเพื่อป้องกันภัยคุกคามหลายรูปแบบที่ทวีความรุนแรงและคาดเดายากในปัจจุบัน ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันอันตราย การให้ความช่วยเหลือในช่วงวิกฤต และการฟื้นฟูหลังวิกฤต โดยมุ่งเป้าไปยังการป้องกันการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ การฆ่าตัวตาย และการก่อการร้าย

ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กเคยพัฒนาระบบเตือนภัยมาแล้ว เช่น Safety Check ที่ผู้ใช้งานสามารถแจ้งให้ทุกคนรู้ว่าตัวเองปลอดภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคยทำระบบแจ้งเตือนเมื่อมีคนพยายามจะฆ่าตัวตาย หลังจากเคยมีคนโพสต์หรือ Live การฆ่าตัวตาย

มาร์กชี้แจงว่าเฟซบุ๊กกำลังหาวิธีใช้ AI ตรวจสอบและแยกแยะข่าวเกี่ยวกับการก่อการร้ายและโฆษณาชวนเชื่อของการก่อการร้าย เพื่อไม่ให้เฟซบุ๊กตกเป็นเครื่องมือในทางที่ผิด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กเองก็เคยพลาดมาแล้วจากการเปิดระบบ Safety Check เพราะระบบอัลกอริทึมดันไปพบข่าวปลอมเกี่ยวกับเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ (ซึ่งเป็นข่าวเก่า) ทำให้คนตื่นตกใจกันไม่น้อย จึงต้องจับตามองกันต่อไปว่าเฟซบุ๊กจะแก้ปัญหาทั้งข่าวปลอมและระบบป้องกันความปลอดภัยยังไง

Photo: Mark Zuckerberg, Facebook/Profile

สร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใคร

ขณะที่กระแสหันขวากำลังสะพัดไปทั่วโลก และนโยบายไม่เอาผู้ลี้ภัยของทรัมป์ทำให้ซิลิคอนวัลเลย์ตกที่นั่งลำบาก จึงไม่แปลกที่สื่อจะจับตาท่าทีของบริษัทเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลในอเมริกามากเป็นพิเศษ

นอกจากความปลอดภัย การเข้าถึงข่าวสาร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้ว เป้าหมายระยะยาวของเฟซบุ๊กก็คือ การสร้างสังคมที่ครอบคลุมทุกคน (Inclusive Community)

อาจเพราะทั้งมาร์กและทีมงานเองเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมา เช่น กรณีบัญชีของนักเขียนคนหนึ่งที่โพสต์ภาพเด็กเปลือยที่วิ่งหนีในสงครามเวียดนามถูกแบน เนื่องจากเฟซบุ๊กมีกฎห้ามโพสต์ภาพเปลือย อีกทั้งระบบเข้าใจว่าเป็นเนื้อหาที่มีข้อความเกลียดชัง นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังพบว่ากฎบางอย่างที่เคยกำหนดใช้เฉพาะในภูมิภาคหรือบางประเทศอาจไม่ได้เวิร์กสำหรับทุกคน เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมและบรรทัดฐานของสังคมในวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว คนที่อยู่ในสังคมเดียวกันก็ยังมีมุมมองและค่านิยมต่างกัน

‘กฎของโลกเก่า’ จึงใช้ไม่ได้กับ ‘โลกใหม่’ อีกต่อไป

เฟซบุ๊กจึงต้องทำการบ้านหนักขึ้นที่จะพัฒนา AI ให้เข้าใจบริบทความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็นเฟซบุ๊กปรับระบบใหม่ให้ผู้ใช้ตั้งค่าเลือกประเภทข้อมูลเนื้อหาที่ต้องการเข้าถึงได้เองในเร็วๆ นี้

อันที่จริงคำแถลงการณ์เหล่านี้อาจเป็นทั้งคำขอโทษ คำแก้ตัว บวกกับความมุ่งมั่นใหม่หลังจากผ่านการเรียนรู้ความผิดพลาดที่ผ่านมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเฟซบุ๊กไม่ยอมหยุดอยู่แค่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กแน่อน

อ่านคำแถลงการณ์ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กที่นี่ Building Global Community 

อ้างอิง:

Tags: , ,