แม้ว่าการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ควันหลงที่ยังคุกรุ่นอยู่ก็คือ ความสงสัยของประชาคมโลกต่อประเด็นทิศทางเศรษฐกิจในปี 2017 ว่าจะดำเนินต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอนอย่างไร

โดยเฉพาะท่าทีของสองประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง ‘จีน’ กับ ‘อเมริกา’ ที่แทบจะสลับบทบาทกันในปีนี้

บนเวที ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า “จีนจะเปิดประตูสู่โลกและจะไม่ปิดประตูบานนี้ลง” (“China will keep its door wide open and not close it.”) ทั้งยังตอบโต้นโยบายการกีดกันทางการค้าและกระแสต้านโลกาภิวัตน์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างตรงไปตรงมา ตรงข้ามกับทรัมป์ซึ่งตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงทางการค้า TPP และยังเคยประกาศนโยบายทำสงครามการค้ากับจีน

ทำไมสีจิ้นผิงจึงใช้เวทีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกในการประกาศจุดยืนใหม่ เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงอะไร หรือจีนจะฉวยโอกาสนี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกคนใหม่ในระหว่างที่อเมริกาและยุโรปเร่งแก้ไขปัญหาภายในประเทศของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียอีกแรง

แล้วสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนที่หลายคนหวาดกลัวกันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ The Momentum ได้พูดคุยประเด็นนี้กับ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

Photo: Chaiwat Subprasom, Reuters/profile

 

จีนกับความก้าวหน้าครั้งใหม่บนเวทีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก

“ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ แต่เศรษฐกิจโลกก็เปรียบกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่คุณไม่สามารถว่ายหนีออกมาได้”

คือประโยคจากสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิง ที่กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกในทัศนะของผู้นำจีน ประธานาธิบดีจีนคนแรกที่ตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมนี้ และนี่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความก้าวหน้าใหม่ของจีน

ดร.นณริฏมองว่าการปรากฏตัวของสีจิ้นผิงคราวนี้ แสดงให้เห็นว่าจีนพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกคนใหม่

“จะเห็นได้ว่าจีนมีความพยายามมาโดยตลอด พยายามจะรื้อฟื้นนโยบาย One Belt, One Road หรือการนำเส้นทางสายไหมเก่ากลับมาปรับปรุงใหม่ในศตวรรษที่ 21 และพยายามที่จะตั้งธนาคาร AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) ขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มประเทศอาเซียน มีความพยายามที่จะร่วมมือกับรัฐบาลต่างๆ เช่น อาจจะมาร่วมมือกับไทยบ้าง สร้างรถไฟความเร็วสูง ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้มันแสดงให้เห็นว่าจีนมีทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้น เน้นความร่วมมือ จริงๆ เวลาที่แต่ละประเทศเขาออกมาประกาศจุดยืนในลักษณะนี้ แสดงว่าเขามั่นใจในศักยภาพของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เขาสบโอกาสในช่วงที่สหรัฐฯ มองแต่ตัวเอง และพยายามจะขึ้นมาแทน

“ทีนี้จะเห็นได้ว่าจีนทำข้อตกลงทางการค้ากับหลายประเทศค่อนข้างเยอะ แต่มันก็ยังเป็นคำถามอยู่จากการที่จีนบอกว่าจะมาสนับสนุนกระแสโลกาภิวัตน์บ้าง จีนจะทำได้ขนาดไหน เพราะต้องเข้าใจว่าจีนจะบอกว่าตัวเองเป็น Market Economy หรือเป็นเศรษฐกิจที่พยายามจะเปิดเสรี ภาครัฐไม่แทรกแซง แต่ในความเป็นจริงแล้วเนี่ย จีนก็ยังมีการแทรกแซงอยู่ค่อนข้างเยอะอยู่ดี”

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก

เมื่อ The Momentum ถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในขณะที่ทรัมป์เร่งแก้ปัญหาภายในประเทศ และจะสร้างผลกระทบตามมาอย่างไรบ้าง

ดร.นณริฏ ตอบว่า หากเปรียบเทียบขนาดของจีดีพี จีนแซงหน้าอเมริกาไปแล้ว

“จริงๆ กระแสโลกก่อนหน้านี้เป็นไปในทิศทางของการค้าเสรีภายใต้โลกาภิวัตน์ โดยมีสหรัฐฯ เป็นโต้โผใหญ่ ซึ่งไปไกลกว่าด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว มันครอบคลุมประเด็นสังคม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ มันเป็น Agenda ที่ทำเพื่อคนทั้งโลก แต่ขณะเดียวกันมันมีอีกกระแสหนึ่งที่จีนพยายามจะรุกล้ำอธิปไตย หรือเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ทีนี้ถ้าถามว่าจีนจะขึ้นมาคุมอำนาจทางเศรษฐกิจแบบไหน มันก็ยังไม่แน่ชัด ส่วนหนึ่งที่เรารู้ก็คือ จีนจะผลักดันธุรกิจที่มีศักยภาพและข้อได้เปรียบอยู่แล้วไปในลักษณะแรก เช่น ผลักดันนักธุรกิจอย่าง แจ็ก หม่า ไปลงทุนในต่างประเทศ แต่มันก็มีความเสี่ยงอยู่ การขึ้นมามีอำนาจของจีนมันจะต่างจากอเมริกาตรงที่ว่าอเมริกาช่วงก่อนทรัมป์ เขาจะเน้นความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาสังคมโลก ปัญหาสิทธิมนุษยชน แต่ส่วนตัวผม ผมมองว่าจีนไม่ได้มอง World Order (กฎระเบียบโลก) เป็นหลัก เขามองผลประโยชน์ของประเทศเขามากกว่า เพียงแต่ว่าเขาอยู่ใน position ที่ดีกว่าทรัมป์ ประชาชนของเขาอยู่ในฐานะที่ยากจน ค่าแรงที่ต่ำกว่ามันก็ได้เปรียบอยู่แล้วในการทำธุรกิจ และพยายามเจาะตลาดในส่วนของประเทศอื่นๆ เช่น ถ้าเกิดเม็กซิโกมีปัญหากับอเมริกา จีนก็จะหาทางเข้ามาแย่งตลาด”

Photo: Jason Lee, Reuters/profile

 

อเมริกาหันหลัง แล้วประเทศอื่นต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นไหม

ดร.นณริฏอธิบายว่า ภาพรวมของการค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงตามสภาพเศรษฐกิจโลก ประเทศอื่นอาจพึ่งจีนได้ แต่ไม่ใช่ทางออกในระยะยาว

“ถามว่าไปพึ่งจีนได้ไหม ธุรกิจบางตัวมันไปได้ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็น final product หมายถึงว่าเป็นสินค้าที่คนจีนบริโภค เพราะว่าจีนกำลังจะปรับเปลี่ยนจากการเน้นการผลิตมาสู่การบริโภคของประชากรในประเทศ และถ้าดูจากสถิติจะพบว่าคนจีนก่อหนี้ไม่มาก เขายังมีเงินในกระเป๋าที่สามารถเอามาจับจ่ายใช้สอยได้เยอะ”

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ประเทศจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกมีอัตราการเติบโตคงที่ราว 6.7% ในปี 2016 เท่ากับว่าเติบโตช้าสุดในรอบ 26 ปี

จึงเป็นไปได้ว่าจีนก็ต้องเจอศึกหนักจากภายในเช่นกัน

ดร.นณริฏมองประเด็นนี้ว่าเป็นเรื่องปกติของประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

“ต้องเข้าใจก่อนว่าเศรษฐกิจมันเหมือนกับการปีนเขา ยิ่งสูงยิ่งปีนยาก ตอนที่เศรษฐกิจจีนโตกว่า 10% เมื่อหลายปีก่อนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าเศรษฐกิจจีนมันยังไม่โตมาก อย่างไทยเราก็เคยโตถึง 7-8% นี่คือในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 แต่ตอนหลังเราโตแค่ 3-4% เท่านั้นเอง มันเป็นเรื่องปกติ เพราะการพัฒนาส่วนง่ายๆ ที่ทำได้ก่อนก็ทำไปแล้ว ส่วนที่เหลือมันก็ยิ่งทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงเรื่อยๆ แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ จากสถิติที่ผ่านมา การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระดับ 6.5% ก็ถือว่าค่อนข้างดีแล้ว

“ทีนี้ถามว่านโยบายที่สีจิ้นผิงกำลังจะทำคืออะไร คำตอบก็คือว่าเขาพยายามที่จะปรับเปลี่ยน (diversify) เพราะเขาไม่สามารถพึ่งพาเฉพาะการผลิตแบบเดิมได้เพราะค่าแรงจะโตตามไปด้วย มันมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สินค้าบางอย่างที่เคยผลิตแล้วได้เปรียบ ก็อาจจะเสียเปรียบ เขาเลยต้องใช้กลยุทธ์ใหม่ เช่น การไปประชุมที่ดาวอสแล้วบอกว่าเขาพร้อมผลักดันบางธุรกิจแล้ว หรือการสร้างรถไฟขนส่งสินค้าไปยังลอนดอน หนีไปด้านการบริการแบบเดียวกันกับประเทศอื่นทำ หรือเน้นการขนส่งสินค้า เทคโนโลยีดิจิทัล และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ”

เมื่อเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในกระแสธารที่ไม่แน่นอน แล้วไทยควรปรับตัวอย่างไร

เมื่ออเมริกาหันหลัง แต่จีนพร้อมจะเดินหน้า ประเทศไทยควรจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรกับความไม่แน่นอนเหล่านี้

ในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0’ พร้อมอธิบายว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ ‘โลกใหม่’ ที่เรียกว่า VUCA (Volatile, Uncertain, Complex และ Ambiguous) ซึ่งความซับซ้อนมากขึ้นทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จึงเป็นวาระสำคัญที่ไทยจะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับสภาวะโลกใหม่

โดย ดร.วิรไท มองว่าถ้าหลายนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำไปปฏิบัติจริง ก็จะมีนัยต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น นโยบายกีดกันทางการค้า หรือนโยบายไม่ยอมรับจีนเดียว

ขณะที่ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร มีความคิดเห็นว่าเป็นความท้าทายที่รับมือได้ยากยิ่ง

“ตอนนี้มันรับมือได้ยากมาก เพราะผลกระทบมันเกิดจากประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ และกรณี Brexit ด้วย ทางออกที่ผมคิดว่าหลายๆ ประเทศน่าจะทำกันอยู่แล้วคือการเปิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งในปัจจุบันเราก็ยังเจาะได้อย่างค่อนข้างจำกัดนะครับ ผมคิดว่าตลาดอย่างอินเดีย หรือทวีปแอฟริกา ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ไทยควรจะมองมากขึ้น นี่คือทางเลือกหนึ่ง นอกจากนี้เราจะต้องหันมามองเศรษฐกิจข้างในบ้าง ทำยังไงเราถึงจะพัฒนาภาคบริการให้เข้มแข็งได้ หรือแม้แต่สามารถลดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงได้”

Photo: Aly Song, Reuters/profile

 

อเมริกา-จีน สงครามการค้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

มาถึงประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายกังวลว่า สุดท้ายแล้วความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีนจะลุกลามไปสู่สงครามการค้าหรือไม่

แม้ว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะกล่าวชัดเจนในเวทีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกว่าจะไม่เกิดสงครามทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนอย่างแน่นอน พร้อมกับย้ำว่าจะไม่มีผู้ใดเป็นผู้ชนะในสงครามนี้

แต่ท่าทีของสองผู้นำโลกที่ยากเกินจะคาดเดาก็ไม่อาจทำให้ประชาคมโลกวางใจในเรื่องนี้ได้

ดร.นณริฏกล่าวว่าทุกฝ่ายจะต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นสูงในรูปแบบดังต่อไปนี้

“สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่สหรัฐฯ จะหาเหตุผลอะไรก็ได้ที่ทำให้จีนถูกโจมตี เช่น กล่าวหาว่าจีนเป็นตัวการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (currency manipulator) หรือเป็นคนที่สนับสนุนธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย แทนที่ธุรกิจจะแข่งขันกันอย่างเสรี รัฐก็ไปแทรกแซงทำให้ธุรกิจจีนได้เปรียบ ไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ อย่างนี้คือการโจมตีจีนฝ่ายเดียว และส่งผลทำให้สินค้าของจีนจะต้องถูกภาษีเพิ่มสูงขึ้น นี่เป็นแนวโน้มหนึ่ง

“นอกจากนี้ เป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจจะไปโจมตีประเทศคู่ค้าทุกประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภท หรือกีดกันสินค้าจากจีน หรือไม่ก็จะหาวิธีกีดกันสินค้าจากจีน โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เช่น สินค้าที่มีส่วนในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ผมเชื่อว่าเกิดแน่นอนนะครับ เพราะทรัมป์มีท่าทีว่าจะดำเนินตามนโยบายที่กล่าวไว้ เช่น การสร้างกำแพงเพื่อป้องกันชาวเม็กซิกันอพยพเข้ามา ทั้งนี้ผลกระทบที่ตามมามันขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำมันแย่ขนาดไหน เพราะมันอาจจะทำให้ประเทศอื่นมีมาตรการตอบโต้ สหรัฐฯ อาจจะต้องเจอกระแสต่อต้านจากหลายๆ ประเทศ หรือแม้แต่จากเวทีการประชุมในดาวอสที่จีนเข้าไปผูกสัมพันธ์ด้วย”

แม้ว่านี่จะเป็นเพียงทัศนะหนึ่งต่อประเด็นร้อนที่โลกกำลังจับตา และยังไม่มีคำตอบเผยออกมาแน่ชัดว่าแนวโน้มเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เมื่อไหร่

ก็ได้แต่หวังว่าเราจะผ่านพ้นกับความท้าทายเหล่านี้ไปได้ในท้ายที่สุด

อ้างอิง:

– ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0” โดยดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 – https://www.weforum.org/agenda/2017/01/full-text-of-xi-jinping-keynote-at-the-world-economic-forum

http://www.reuters.com/article/us-china-economy-gdp-idUSKBN1520FG

http://www.reuters.com/article/us-china-economy-gdp-idUSKBN15406C

Tags: , ,