ขณะที่คุณเปิดมาเจอบทความชิ้นนี้ นักกีฬา eSports 10 คน จากสองทีมไทย กำลังอยู่ในสนามแข่งขันรายการ ‘Throne of Glory’ ที่ประเทศเวียดนาม พวกเขาเป็นสองทีมที่ชนะการแข่งขันในรายการ ‘RoV: Road to Glory’ และได้สิทธิ์ไปร่วมแข่งขันในรายการที่ใหญ่ที่สุดของเกม RoV ในเวลานี้ แต่กว่าจะได้รับสิทธิ์นั้น พวกเขาต้องผ่านการชิงชัยของผู้เล่นกว่าหมื่นคน จากสองพันกว่าทีมในรอบคัดตัว

Realm of Valor หรือ RoV เป็นเกมแนว MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) บนสมาร์ตโฟน ที่นำเข้าโดยค่ายเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Garena Online (Thailand) มีวิธีการเล่นแบบเดียวกับเกม LOL (League of Legends) หรือเกม HON ที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาก่อนหน้า โดยแบ่งผู้เล่นเป็นสองฝั่ง ฝั่งละ 5 คน และแต่ละฝั่งจะเลือกฮีโร่มาทำลายป้อมปราการของอีกฝั่ง ซึ่งในการเล่น คนในทีมจะต้องทำงานร่วมกันแบบรู้จังหวะ และมีการวางแผนเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม มีไอเทมให้เลือกซื้อ โดยใช้เวลาในการเล่นต่อเกมเพียงราวๆ 10 นาที

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมในปีที่ผ่านมา เกม RoV มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 7.5 ล้านคน หลังการเปิดตัวไปไม่นาน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเสน่ห์ของเกมที่สนุก เล่นง่าย สามารถเล่นได้ทุกที่เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ เหมาะกับทั้งผู้เล่นเกมมือใหม่ไปจนถึงมืออาชีพ ทั้งยังเป็นหนึ่งในเกมที่อยู่ในรายการของ eSports ที่จัดให้มีการแข่งขันอย่างจริงจัง มีเงินรางวัลเช่นเดียวกับการกีฬาประเภทอื่นๆ ทำให้เป้าหมายของผู้เล่น RoV ส่วนหนึ่งไม่ได้หยุดอยู่ที่การเล่นเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่เป็นการเล่นเพื่อให้ตัวเองได้เข้าไปอยู่ในทัวร์นาเมนต์ของการแข่งขันในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง

eSports ในมุมของผู้ให้บริการ

eSports ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาชิงเหรียญอย่างเป็นทางการในเอเชียนเกมส์ 2022 แต่สำหรับเมืองไทย eSports ยังเป็นที่จับตาของการกีฬาแห่งประเทศไทยอยู่ว่าสมควรจะรับรองให้เป็นกีฬาประเภทหนึ่งแล้วหรือยัง ด้วยเหตุผลว่าสังคมยังไม่มีความพร้อมและไม่มีระบบเข้มแข็งพอที่จะไม่ให้ eSports ส่งผลให้ปัญหาเด็กติดเกมขยายวงมากขึ้น ขณะที่เด็กไทยก็ให้ความสนใจวงการ eSports มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในงาน ‘Garena Star League’ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีจำนวนเด็กไทยเข้าชมงานมากกว่า 180,000 คน

อัลเลน ซู ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรธุรกิจเกม บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด มีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “ผมคิดว่าเราต้องมองสองโลก โลกหนึ่งคือโลกในวงการที่มีทั้งคนทำธุรกิจเกม คนเล่นเกม คนทำสินค้าและบริการเกี่ยวกับเกม กับโลกของคนทั่วไปที่จะไม่เข้าใจว่าอีสปอร์ตคืออะไร ทั้งๆ ที่อีสปอร์ตมีมานานแล้ว คนอาจเข้าใจผิดและมองว่าอีสปอร์ตเป็นสิ่งพิเศษ แต่ผมอยากให้มองว่าอีสปอร์ตเป็นแค่กีฬาประเภทหนึ่งที่คนไทยอาจไม่ค่อยรู้จัก เหมือนที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักกีฬาประเภทอื่นๆ อย่างฮอกกี้น้ำแข็ง เพราะมันไม่ได้อยู่ในชีวิตของเรา”

“ในฐานะผู้ให้บริการ เราได้ผลักดันกีฬาอีสปอร์ตมานานแล้ว เพราะเราเป็นศูนย์กลางของอีสปอร์ต สำหรับผู้เล่น เราพยายามสร้างเวทีและสร้างโอกาสให้เขาได้รับอะไรที่มีมูลค่า ซึ่งไม่ใช่เงินอย่างเดียว เพราะเวลาเล่นเกมคือเวลาที่มีความหมายสำหรับเขา ในส่วนของเราก็ต้องทำคอนเทนต์ของเกมให้ดี พัฒนาเกมอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าวัตถุประสงค์ในการเล่นเกมของเขาจะเป็นอะไร เขาจะต้องมีความสุขจากการเล่นเกมด้วย สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญมากในเมืองไทยก็คือ ในประเทศอื่น คนที่เล่นเกมอาจมองที่เรื่องแพ้ชนะ เรื่องของการแข่งขัน แต่ที่เมืองไทย การเล่นเกมเป็นกิจกรรมในกลุ่มเพื่อน เป็นทีมเวิร์ก

“เราพยายามจัดการแข่งขันให้คนที่มีฝีมือสามารถสร้างรายได้จากจุดนี้ และพัฒนาให้อีสปอร์ตไปได้ไกลมากกว่านี้ เป็นโชว์เคสให้สังคมได้เห็นว่าอีสปอร์ตกับเกมมิ่งของไทยพัฒนาไปถึงไหนแล้ว อย่างล่าสุด เราจัดงาน Garena Star League ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ก็เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคุณภาพไม่แพ้ต่างประเทศ

“ที่ผมพูดตลอดคืออยากให้ผู้ใหญ่ ไม่ว่ารัฐบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย มองเราว่าเป็นช่องทางที่ดีในการสื่อสารกับวัยรุ่น เด็กไทยเล่นเกมกันเยอะ หากเข้าถึงพวกเขาได้ เราก็สามารถถ่ายทอดสิ่งดีๆ ให้กับเด็กได้ เรามองว่านี่เป็นหน้าที่ของการีนาด้วยเหมือนกัน แต่ที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นเป้าหมายของเราและฝันของเด็กๆ คือเราพยายามพิสูจน์ให้คนทั่วไปเห็นว่าคนที่เล่นเกมเหล่านี้เป็นมืออาชีพจริงๆ พวกเขาคือ professional eSports player”

สำหรับเกม RoV สนาม ‘Throne of Glory’ ที่เวียดนาม คือเวทีที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้ และพร้อมจะเติบโตมากกว่านี้ด้วยจำนวนผู้เล่นที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยในอนาคตจะมีการเพิ่มประเภทการแข่งขัน เช่น การแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย การแข่งขันทีมผู้หญิง ไปจนถึงทีมโปร

“เราอยากให้ทุกคน ไม่ว่าจะมีทักษะระดับไหน ก็สามารถแข่งขันได้ อย่างผมที่เรียกว่าเป็น Casual Gamer เล่นแค่อาทิตย์ละสองสามเกม ก็มีสนามให้แข่งได้ ตอนนี้เราพยายามสร้างระบบให้มั่นคงก่อน เพราะการแข่งขันอีสปอร์ตของ MOBA ยังเป็นสิ่งใหม่ เรายังไม่รู้ว่าเขาจะพัฒนาได้ถึงจุดไหน แต่เราพยายามทำระบบที่ชัดเจน พัฒนาให้เป็นโปรลีกที่มีเจ้าของทีม มีผู้สนับสนุนแต่ละทีม มีทัวร์นาเมนต์ให้แข่งขัน นั่นเป็นเป้าหมายของเรา”

 

Monori Bacon และ Black Forest สองทีมไทยในสังเวียนเกมระดับอินเตอร์ฯ

Monori Bacon คือทีมชนะเลิศจากรายการ ‘Road to Glory’ ที่ได้เดินทางไปแข่งขันในรายการ ‘Throne of Glory’ ที่ประเทศเวียดนาม พวกเขามีสมาชิกในทีมทั้งหมด 6 คน ซึ่งจะมีหนึ่งคนเป็นผู้เล่นสำรอง ทั้งหมดนี้รู้จักกันจากการเล่นเกม LOL เมื่อต้องฟอร์มทีมสำหรับแข่ง RoV การรวมตัวจึงเกิดขึ้น พวกเขาใช้เวลาช่วงกลางคืนในการฝึกซ้อมร่วมกัน สองในหกนั้นมีภัทร ภัทรภิรมย์ หรือ Cherie (ชื่อที่ใช้ในการเล่นเกม) ซึ่งเคยผ่านการแข่งขันระดับอินเตอร์ที่สิงคโปร์มาแล้ว

“เป้าหมายของผมในวงการนี้คือผมอยากเป็นแชมป์โลก ผมเคยแข่งเกม LOL กับต่างประเทศมาแล้ว การจะเล่นให้เก่งต้องฝึกฝนให้บ่อย ผิดพลาดจุดไหนก็ปรับปรุง ถ้าเริ่มต้นก็เปิดคลิปของคนที่เคยเล่นเอาไว้ดู อย่างผมชอบดูของคนเล่นไต้หวัน แต่ส่วนมากจะเป็นการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง มันขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินนะผมว่า”

ส่วนมุก-ภาพิมล อิทธิเกษม หรือ Miffy ผู้หญิงคนเดียวในทีม Monori Bacon เป็นตัวจริงที่ถอยตัวเองออกมาเป็นตัวสำรอง และช่วยทำงานประสานด้านต่างๆ ให้กับทีม เพราะช่วงหลังเธอต้องให้เวลากับการเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรมากขึ้น

“สำหรับมุก เกมคือกีฬาอย่างหนึ่ง เมื่อก่อนที่บ้านไม่สนับสนุน มองว่าเราเล่นแต่เกม ไม่ทำอย่างอื่นเลย เรากลับมาจากโรงเรียนก็เล่นเกมก่อน แล้วค่อยทำการบ้าน สลับเวลานิดหน่อย เขาก็จะมองว่าเล่นเกมอีกแล้ว แต่พอโตขึ้น เรามีวุฒิภาวะ แบ่งเวลาได้ พอมีรายได้เข้ามาจากการเล่นเกม เขาก็ยอมรับ ปัญหาที่มุกเจอคือคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นผู้หญิง ไม่น่าจะเล่นเก่ง เราก็พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น”

รายได้จากเกมที่ว่า มาจากเงินรางวัลในการแข่งขัน และ Stream ที่มีรายได้จากจำนวนคนดู และหากเล่นจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ก็จะมีรายได้จากการขอให้ช่วยโปรโมตอะไรต่างๆ ตามมา

ด้วยผลงานที่ทำมาได้ดีก่อนหน้า ทำให้ Monori Bacon ได้สิทธิ์เข้าไปยืนรอในรอบ 16 ทีมสุดท้ายของ ‘Road to Glory’ ส่วน Black Forest ฝ่าผ่านนักกีฬากว่า 2,000 ทีม มาจนถึงรอบตัดเชือก และมีชื่อเข้าไปร่วมแข่งขัน ‘Throne of Glory’ เป็นทีมที่สอง

เต้-ปิยะลาภ อึ๊งประเสริฐ หรือ Coupe กับ โม-อังกูร เกิดสกุล หรือ Lazcio รู้จักกันมาแล้วก่อนหน้าจากการเล่นเกมอื่น เมื่อตั้งเป้าว่าจะลงแข่งขันเพราะอยากเป็นหนึ่งในสองทีมที่ได้ไปแข่ง ‘Throne of Glory’ เขาจึงชักชวนผู้เล่นคนอื่นๆ มาร่วมทีม ซึ่งทุกคนล้วนรู้จักกันผ่านเกมออนไลน์

“ทีมเรามีทั้งคนที่เรียนและทำงาน เราก็ใช้เวลาประมาณสองทุ่มถึงเที่ยงคืนในการซ้อม สี่ชั่วโมงนี่ถือว่าน้อยนะครับ ในต่างประเทศเขาซ้อมกันเป็นสิบชั่วโมง เป็นฟูลไทม์เหมือนทำงานประจำเลย เราซ้อมเพื่อพัฒนาตัวเอง เล่นกันเป็นทีม แก้ไขจุดบกพร่อง ต้องพยายามให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะในทีมมีห้าคน ต้องใช้ความเข้าใจกันค่อนข้างสูง” ปิยะลาภซึ่งได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในการเล่นเกมตั้งแต่เด็ก เล่าให้เราฟัง เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนของเด็กไทยที่ไม่ได้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงเกมอิเล็กทรอนิกส์ ต่างจากอังกูรและอีกหลายๆ คน ที่ถูกมองจากผู้ใหญ่ว่าการเล่นเกมเป็นเรื่องไร้สาระ

“เราต้องแบ่งเวลา แยกแยะหน้าที่ให้ออกว่าต้องทำอะไรบ้าง แล้วทำหน้าที่นั้นให้เสร็จ เมื่อก่อนตอนอายุสิบสามสิบสี่ผมโดนตีทุกวัน แต่ผมก็เล่นทุกวันเหมือนกัน แต่พอได้ไปแข่งให้เขาเห็นบ่อยๆ ผู้ใหญ่ก็เริ่มยอมรับ”

ไม่ว่าผลการแข่งขันบนเวทีใหญ่ครั้งนี้จะออกมาอย่างไร พวกเขาซึ่งเคยถูกติดตราประทับว่าเป็นเด็กติดเกม ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงการเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ พวกเขาต้องมีวินัยและฝึกฝนอย่างจริงจัง เพื่อที่จะเรียกตัวเองได้ว่าเป็นนักกีฬา eSports อย่างเต็มตัวในวันหนึ่งข้างหน้า

 

Tags: , , , , , , , , , , , ,