เป็นเรื่องน่าตลก แต่กลายเป็นเรื่องจริง เมื่อสาวสเปนคนหนึ่งยืนยันว่าตนเองเป็นลูกสาวของศิลปินชื่อดัง ซาลวาดอร์ ดาลี ซึ่งเสียชีวิตขณะอายุ 84 ปี และคำยืนยันที่เป็นคำร้องยื่นต่อศาลก็ผ่าน มีการอนุญาตให้ขุดรื้อศพของศิลปินมาพิสูจน์เสียด้วย

​ปิลาร์ อาเบล นักทำนายไพ่จากคาตาโลเนียวัย 61 ปี เชื่อว่าตนเองเป็นลูกสาวแท้ๆ ของ ซาลวาดอร์ ดาลี เนื่องจากแม่ของเธอเคยมีสัมพันธ์กับศิลปินเมื่อปี 1955 ขณะนั้นแม่ของเธอยังทำงานรับจ้างเป็นพี่เลี้ยงเด็กอยู่ในละแวกบ้านของเขาที่ปอร์ติญิกัต และแม้นางจะตั้งครรภ์กับดาลี แต่นางก็แต่งงานอยู่กินกับผู้ชายอีกคน ปิลาร์ อาเบล-ลูกสาว ฟังเรื่องเล่าจากผู้เป็นยายว่าใครคือพ่อที่แท้จริงของเธอ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอซักไซ้เรื่องนี้จากแม่ของเธออีกครั้ง

​ซาลวาดอร์ ดาลี และกาลา เอลูอาร์ด ดาลี (ชื่อเดิม เอเลนา ดมิตรีเอฟนา เดียโคโนวา) ภรรยาผู้ลี้ภัยจากรัสเซีย โยกย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านริมอ่าวในปอร์ติญิกัตในปี 1948 ภายหลังหนีจากการยึดครองฝรั่งเศสของนาซีเยอรมันไปอยู่อเมริกา ทว่าขณะนั้นสเปนยังอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโก ดาลีปรับเปลี่ยนตัวเองจากคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า แล้วเข้าสู่ความเชื่อแบบคาทอลิก ในปีถัดมา เขาได้รับเชิญให้เข้าพบพระสันตปะปาปิอุสที่ 12 เป็นการส่วนตัว หลังจากนั้น เขาก็สร้างผลงาน ‘The Madonna of Portilligat’ รวมทั้งชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางคริสต์ศาสนาออกมา

ดาลีกับภรรยา/Photo: rumbosdigital.com

​ปี 1955 คือห้วงเวลาที่ซาลวาดอร์ ดาลี ในวัย 51 ปี และอยู่ในยุคคลาสสิกของการทำงานศิลปะ ถูกกล่าวอ้างว่าแอบนอกใจภรรยาไปมีความสัมพันธ์ลับๆ กับหญิงอื่น แม้ไม่เป็นที่ปรากฏในประวัติ แต่ทว่าผลการตรวจดีเอ็นเอชั้นต้น จากเส้นผมที่ติดอยู่ในหน้ากากของศิลปินผู้ตาย เป็นหลักฐานเพียงพอให้ผู้อ้างตัวเป็นทายาทยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณา และตัดสินอนุญาตให้มีการพิสูจน์ศพอีกครั้ง เพื่อยืนยันและรับรองการเป็นผู้สืบทอดมรดกที่แท้จริง

​หากทุกอย่างคลี่คลาย และผลลัพธ์ออกมาว่าปิลาร์ อาเบล คือทายาทโดยสายเลือดแท้จริง มรดกส่วนหนึ่งของดาลี ศิลปินผู้เสียชีวิตในปี 1989 ที่ไม่มีทายาทสืบสกุลอย่างเป็นทางการ และเคยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้กับรัฐสเปน ก็จะตกเป็นของเธอ

​ทรัพย์สมบัติดังกล่าวมีมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านยูโร (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) นอกจากนั้น ทายาทตัวจริงยังจะได้ถือครองลิขสิทธิ์ผลงานทุกประเภทของดาลี รวมทั้งสิทธิ์ในการใช้นามสกุล ‘ดาลี’ ด้วยเช่นกัน

Photo: thedali.org

The Secret Life of Salvador Dali

+ ซาลวาดอร์ ดาลี กลัวตั๊กแตนอย่างฝังใจมาตั้งแต่วัยเด็ก ในหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง เขาเคยกล่าวถึงความกลัวแมลงที่ซ่อนอยู่ในจิตสำนึกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า “ผมอายุสามสิบเจ็ดปีแล้ว แต่ความกลัวตั๊กแตนที่เคยมีตั้งแต่สมัยเป็นเด็กยังไม่หายไปไหน ตรงกันข้าม ผมพูดได้เลยว่าความกลัวนั้นกลับพอกพูนมากขึ้นไปอีก ถึงวันนี้ก็ตาม ถ้าหากผมกำลังยืนอยู่บนหน้าผา แล้วเจ้าตั๊กแตนตัวใหญ่บินพุ่งมาหาผม ใช้ขาที่มีขนและหนามอ่อนเกาะเกี่ยวใบหน้าผมละก็ ผมยอมที่จะกระโดดหน้าผาลงไปตาย ดีกว่าต้องทนกับ ‘สิ่งน่ากลัว’ นี้”

​+ ดาลีมีพี่ชายคนหนึ่งที่พ่อของเขาตั้งชื่อให้ว่า ‘ซาลวาดอร์’ แต่พี่ชายของเขาเสียชีวิตด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบก่อนที่ดาลีจะลืมตาดูโลกได้ 9 เดือน ชื่อซาลวาดอร์จึงสืบทอดมาถึงเขา เรื่องพี่ชายที่ตายไปตั้งแต่วัยเด็ก กลายเป็นปมฝังใจของดาลีที่เขาเปิดเผยในวัยชราว่าชีวิตของเขามีซาลวาดอร์อยู่ 2 คนมาโดยตลอด นั่นคือซาลวาดอร์ ดาลี-ตัวเขาที่มีชีวิตอยู่ และซาลวาดอร์ ดาลี-พี่ชายที่เสียชีวิตไปนานแล้ว

​+ ในวัย 18 ปี ดาลีลุ่มหลง ถึงขั้นตกหลุมรักนักศึกษารุ่นพี่ชื่อ เฟเดริโก การ์เซีย ลอร์กา กวีจากแคว้นกรานาดา ทั้งสองรู้จักกันในปี 1923 ระหว่างเรียนและใช้ชีวิตอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยซาน แฟร์นันโด ในแมดริด มีหลักฐานเป็นจดหมายที่พวกเขาส่งถึงกัน ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ยอดรัก’ ปี 1926 การ์เซีย ลอร์กา เคยเขียนบทกวี ‘Ode to Salvador Dali’ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Revista de Occidente รำพันชื่นชมในตัวจิตรกร ส่วนดาลีนั้นมีทั้งงานประพันธ์และรูปโฉมของกวีเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานภาพยาวนานกว่า 30 ปี ซาลวาดอร์ ดาลี บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างเขากับการ์เซีย ลอร์กา ด้วยตนเองว่าเป็นอะไรที่ ‘เร้าใจและเศร้าใจ’ ในเวลาเดียวกัน

+ ปี 1929 ซาลวาดอร์ ดาลี ขยายการสร้างสรรค์งานศิลปะของตนเองเข้าสู่โลกภาพยนตร์ เขามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับผู้กำกับฯ ลุยส์ บูญวยล์ 2 เรื่อง คือ An Andalusian Dog และ The Golden Age (1930) ผลงานศิลปะของดาลีปรากฏอยู่ในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา รวมถึงชิ้นงานเด่นใน Spellbound (1945) ของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก

+ ในหนังสือ Lorca-Dali, El amor que no dudo ser (ลอร์คา-ดาลี, ความรักที่เป็นไปไม่ได้) ของเอียน กิบสัน วิเคราะห์ถึงทัศนคติของผู้กำกับฯ ลุยส์ บูญวยล์ ที่มีต่อดาลีและการ์เซีย ลอร์กา ว่าดาลีเป็นผู้ชายจิตใจดี ผิดกับการ์เซีย ลอร์กา ที่เลวทราม ชื่อภาพยนตร์ An Andalusian Dog ของบูญวยล์จึงหมายความถึงกวีผู้นี้

Lobster Telephone ผลงานยุคเซอร์เรียลิสม์ของดาลี/Photo: Reuters/Toby Melville

​+ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ดาลีและภรรยา-กาลา อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา (1942-1948) ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของดาลี อย่างแรกคือ Metropolitan Museum of Modern of Art ในนิวยอร์ก ยื่นข้อเสนอให้เขาจัดแสดงงานศิลปะตามมุมมองความคิดของเขาเอง ต่อด้วยการเขียนและตีพิมพ์ผลงานอัตชีวประวัติของตนเอง The Secret Life of Salvador Dali (ต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศส) และยังเป็นช่วงที่ความสนใจของดาลีก้าวพ้นเซอร์เรียลิสม์ไปสู่ยุคคลาสสิกของเขา

​+ ซาลวาดอร์ ดาลี ซื้อปราสาทปูโบลใกล้เมืองฟิเกราสให้กับกาลา เรื่องตลกก็คือ เขาต้องแจ้งล่วงหน้าและต้องขออนุญาตทุกครั้ง ก่อนที่จะเดินทางไปที่นั่น

​+ วันที่ 10 มิถุนายน 1982 กาลาเสียชีวิต และในเดือนถัดมา ดาลีได้รับการแต่งตั้งยศฐาเป็นขุนนาง Marques de Pubol I Figueras โดยกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส

​+ เดือนพฤษภาคม 1983 ซาลวาดอร์ ดาลี เขียนภาพผลงานชิ้นสุดท้าย ‘The Swallow’s Tail’

​+ 23 มกราคม 1989 ดาลีเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวภายในทอร์เร กาลาที หอคอยพิพิธภัณฑ์ในฟิเกราส ตามคำขอของเขาก่อนตาย ศพได้รับการอาบยาและรัดห่อไว้ด้วยผ้า เพื่อสามารถเก็บรักษาศพไว้ได้นานอย่างน้อย 300 ปี และบรรจุไว้ในแท่นหินที่คลุมด้วยโดมกระจกภายในพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้ถูกวางไว้เคียงข้างศพของกาลาที่ใต้แท่นหินในปราสาทปูโบล

+ ซาลวาดอร์ ดาลี เกิดและเสียชีวิตในเมืองฟิเกราส

 

ภาพประกอบ: Reuters/Sergei Karpukhin

 

อ้างอิง:
www.bunte.de
www.welt.de
www.biography.com
‘Salvador Dali: Facetten eines Jahrhundertkuenstler’ / Lisa Puyplat, Adrian La Salvia, Herbert Heinzelmann / Koenigshausen & Neumann
‘Das geheime Leben’ (The Secret Life of Salvador Dali’ / Salvador Dali / Schirmer Mosel
‘Lorca-Dali, El amor que no pudo ser’ / Ian Gibson / Plaza y Janes

 

Tags: , , , , , , , , ,