“บ้านเสนาติดโซลาร์รูฟทุกหลัง เราติดให้เลย เหมือนติดปั๊มน้ำ”

ประโยคนี้ถ้าได้ยินกันในมหกรรมบ้านที่จัดตามศูนย์ประชุมต่างๆ ก็ต้องคิดว่าเป็นเรื่อง ‘ขายของ’ แต่เมื่อประโยคนี้เป็นเสียงสะท้อนบนโต๊ะเสวนาเรื่อง ‘สู่การเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป: เราจะอยู่กับ disruptive technology อย่างไร’ จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากปาก ดร.ยุ้ย – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ในฐานะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่มาแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากการทำให้บ้านในโครงการใหม่ของเสนาทุกหลังเป็นบ้านโซลาร์ ในขณะเดียวกัน เธอมีตำแหน่งเป็นกรรมการฝ่ายการเงินและกรรมการสภาสถาบันของทีดีอาร์ไอ

คำกล่าวนี้จึงดูมีตรรกะและน้ำหนักน่าคิดเกินกว่ากลยุทธ์การขายทั่วไป

การเสวนาครั้งนี้มีขึ้นหลังจากมีกระแสว่า การไฟฟ้าจะเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าสำรองจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือที่เรียกว่า ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ประเภทใช้เองในบ้านพักอาศัยทั่วประเทศ

อัตราค่าไฟฟ้าสำรองที่ว่านี้ พูดให้เห็นภาพก็คือเงินชดเชยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพราะรายได้ของ กฟผ. ลดลงเนื่องจากคนติดโซลาร์ผลิตไฟใช้เองกันมากขึ้น แต่ กฟผ. ยังต้องแบกรับค่า ‘โสหุ้ย’ หรือต้นทุนในการดูแลระบบ รวมถึงการผลิตไฟฟ้าสำรองเพื่อรองรับ ‘พีกไฟฟ้า’ หรือการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ที่มักเกิดขึ้นในตอนกลางคืน

แม้โฆษกของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกมาปัดปฏิเสธกระแสข่าวในทันที และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา กกพ. แถลงว่าการจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำรองนั้นจะเน้นเก็บกับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ที่ไม่ใช่กลุ่มโซลาร์รูฟท็อปก็ตาม

The Momentum ขอพาคุณไปพูดคุยกับ ‘ดร.ยุ้ย’ ถึงที่มาที่ไปว่าเหตุใด ‘เสนา’ จึงมั่นใจและ ‘กล้า’ ที่จะใส่โซลาร์ไว้ในสมการบ้าน และอะไรคือแนวคิดของที่อยู่อาศัยสำหรับอนาคตที่เธอมองเห็น

แต่ก่อนอื่น คงต้องถามว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ความรู้เรื่องโซลาร์เป็นศูนย์อย่างเธอ หันมาเอาจริงได้ขนาดนี้

“เนื่องจากตอนน้ำท่วมปี ’54 เราเข้าไปดูแลลูกบ้าน ทั้งในโครงการที่กำลังขายและโครงการที่ขายไปนานแล้ว จัดทีมเอาเรือมาห้าสิบลำ เข้าไปดูแล เราเจอคนตาย เจอจระเข้ ทำให้เห็นว่าภาระน้ำท่วมนี่มันแย่มาก และแย่กับคนที่ลำบากที่สุดอยู่แล้ว เพราะคนมีสตางค์ พอน้ำท่วมก็ขับรถไปอยู่พัทยาได้ แต่คนที่ลำบากที่สุด คนที่บ้านราคาถูกที่สุด เขาไปไหนไม่ได้ เขาต้องมารับเคราะห์จากอุทกภัยที่ไม่ได้เกิดจากเขา พอปลายปีนั้นก็กลับมาคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง

“ในฐานะคนคนหนึ่ง ก็ถามตัวเองว่าจะทำอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกได้ ยุ้ยคิดว่าเรากลับไปเปลี่ยนไม่ให้โลกร้อนไม่ได้ เราเปลี่ยนต้นเหตุไม่ได้ก็จริง แต่เราทำดีที่สุดในจุดที่เรายืนอยู่ได้เสมอ นี่คือสิ่งที่เชื่อมาโดยตลอด เราแก้ต้นเหตุไม่ได้ แต่เราทำให้เรื่องนี้ดีขึ้นได้จากจุดที่เรายืนอยู่ ในมิติของนักธุรกิจก็ต้องคิดว่ามันเป็นเทรนด์ ถ้าเราทำสิ่งที่อยู่ในเทรนด์ คนน่าจะชอบ”​

เทรนด์ที่ว่านี้คืออะไร

รักษ์โลก ไม่ให้เกิดอุทกภัย เพราะตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องโซลาร์เลย มาคิดว่าในต่างประเทศมีบ้านกรีนมานาน กรุงเทพฯ เองก็มีอยู่ ซึ่งบ้านกรีนของเราส่วนใหญ่จะเป็นเช่นว่า ปลูกต้นไม้บังแดด ทำให้บ้านเย็น จะได้เปิดแอร์น้อย ก็คิดว่าเทรนด์เรื่องกรีนมันน่าจะจริงจังขึ้นได้ คิดเองเออเองเลยตอนนั้น ก็เลยเริ่มศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยเก่าก็แบบนี้ เลยติดต่อมหาวิทยาลัยที่น่าจะเก่งที่สุดทางด้านนี้ คือมหาวิทยาลัยเกษตรฯ เขาก็อธิบายให้ฟังว่ามีแบบตั้งรับกับเชิงรุก ตั้งรับก็คือทำอย่างไรให้ใช้แอร์น้อย อีกอันคือเชิงรุก อย่างการผลิตไฟฟ้าใช้เองที่มาจากพลังงานสะอาด โลกเราที่อุณหภูมิสูงขึ้น เกิดภาวะโลกร้อน เกิดอุทกภัยเยอะๆ ก็เนื่องจากมลภาวะ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าแบบที่ใช้พลังงานฟอสซิลหรือถ่านหิน พลังงานสะอาดจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาทางหนึ่ง เราก็มาศึกษาเพิ่ม มันเป็นโลกอีกใบหนึ่งเลย คราวนี้ก็เริ่มจริงจัง บินไปดูงานหลายที่มาก

จากนั้นก็มาดูว่าเป็นเชิงพาณิชย์ได้ไหม มีข้อเสียหรือเปล่า ศึกษาข้อดีข้อเสีย ไปจนถึงการดูแลรักษา ซึ่งพบว่าค่อนข้างต่ำ ตอนนั้นเมืองไทยมีโซลาร์ฟาร์มเยอะแล้ว การติดโซลาร์ในบ้าน มี แต่ไม่เยอะ ยิ่งแบบ whole sale ที่เราทำ ยังไม่มีเลย

เราเปลี่ยนต้นเหตุไม่ได้ก็จริง แต่เราทำดีที่สุดในจุดที่เรายืนอยู่ได้เสมอ

ทำไมบ้านเสนาจึงติด ‘โซลาร์เหมือนปั๊มน้ำ’ ติดให้เลย ไม่ถามลูกค้าก่อน

จากประสบการณ์การขายของ ส่วนใหญ่ถ้าให้ลูกค้าเลือก ตัวอย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ ถามว่าเอาหรือไม่เอา ร้อยละ 90 ไม่เอา ขอเป็นส่วนลดเงินสด ขอไปเลือกเอง ทำให้คิดว่านับประสาอะไรกับของที่เข้าใจยากอย่างโซลาร์ เขาจะเลือกไหม เลยรู้สึกว่าถ้าจะให้ เราต้องมั่นใจก่อนว่าดีจริงนะ ว่าเราจะดูแลได้ เมื่อมั่นใจแล้ว เราให้เลยดีกว่า และหลายเรื่องจะจัดการง่ายขึ้น เพราะการติดนั้น กฎระเบียบหลังบ้านเยอะมาก ล้านแปดเรื่อง พอตัดสินใจแล้ว เราทำหมดเลยกว่า 30 โครงการของบริษัท

การติดโซลาร์ทำให้ต้นทุนและราคาบ้านสูงกว่าชาวบ้านไหม

แน่นอนอยู่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้หรอก คือบ้านไม่จำเป็นต้องมีโซลาร์ ชาวบ้านเขาก็ขายกันได้ทั่วประเทศ อยู่ๆ เราเอาโซลาร์มาติด มันทำคุณประโยชน์ได้แบบนี้ อายุการใช้งาน 25 ปี ถึงอย่างไรก็เป็นเงิน แสดงว่าต้นทุนของเราจะสูงกว่าชาวบ้านใช่ไหม ทีนี้สิ่งที่เราต้องทำคืออะไร คือการคิดให้โซลาร์เป็นส่วนหนึ่งของบ้านตั้งแต่ต้น และทำให้ราคาบ้านอยู่ในเซกเมนต์เดิม

สมมติราคาบ้านจาก 4 ล้านเป็น 5 ล้าน คนจะผ่อนต้องมีเงินเดือนมากกว่ากัน 1-2 หมื่น จากพนักงานบริษัทต้องขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน นี่คนละเซกเมนต์แล้วนะ ดังนั้น ต้องคิดเรื่องโซลาร์ตั้งแต่ต้น ราคาอาจเพิ่มนิดหน่อย แต่ต้องอยู่ในเซกเมนต์เดิม แล้วเอาเรื่องสเกลเข้ามาช่วย เพราะโซลาร์นั้นซื้อร้อยกับซื้อสิบ ราคาต่างกันมาก ฉะนั้น คิดแต่แรก เพื่อให้อยู่ในเซกเมนต์เดิม แล้วเอาสเกลเข้าช่วย แบบนี้จึงขายได้เหมือนกับติดปั๊มน้ำ

โซลาร์นั้นซื้อร้อยกับซื้อสิบ ราคาต่างกันมาก ฉะนั้น คิดแต่แรก
เพื่อให้อยู่ในเซกเมนต์เดิม แล้วเอาสเกลเข้าช่วย แบบนี้จึงขายได้เหมือนกับติดปั๊มน้ำ

นั่นหมายความว่าราคาของโซลาร์จะรวมอยู่ในบ้านตั้งแต่ต้น ผ่อนบ้านก็เท่ากับผ่อนโซลาร์ไปด้วย

นี่เป็นหัวใจเลย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ทีแรกลูกน้องบอกว่าอยากให้ลูกค้าเลือกเอง มาติดทีหลังได้ไหม ก็เกิดคำถามว่าแล้วลูกค้าจะซื้อของชิ้นนี้อย่างไร ตอนโน้นราคาขายปลีก ถ้าจะติดขนาด 3 กิโลวัตต์ คือ 210,000 บาท ถ้าเราขายบ้าน 4 ล้าน ลูกค้ากู้ได้ 95 เปอร์เซ็นต์ แล้วเงินอีกสองแสนกว่า ลูกค้ากู้ได้ไหม หรือต้องควักกระเป๋าตัวเองซื้อ ลูกค้าต้องกู้ได้นะ

ดูความดั้นด้นนะคะ เราติดต่อแบงก์ใหญ่มาคุยเลย 5 แบงก์ แบงก์ไม่รู้จักของแบบนี้เลย เขาบอกว่าจะกู้ได้ต้องมีราคาประเมิน แต่บริษัทประเมินส่วนใหญ่ไม่เคยประเมินโซลาร์ เขาก็ประเมินไม่ได้ ยุ้ยก็ไม่ยอม โทร.ไปหานายกสมาคมผู้ประเมิน ขอพบเลย เขาบอกว่าไม่มีประสบการณ์ ยุ้ยก็บอกว่ายุ้ยสอนให้ คือเขาประเมินไม่ได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลความรู้เรื่องโซลาร์ ยุ้ยก็จัดอบรม มีผู้ประเมิน 200 กว่าคนมาฟัง แต่สุดท้ายราคาประเมินที่ให้ก็ยังไม่สูง แล้วถ้าคุณจะกู้เงินไปซื้อโซลาร์ ก็จะกลายเป็นวงเงินแบบเงินกู้ส่วนบุคคล ซึ่งดอกเบี้ยสูงมาก แบบนี้ก็ไม่ตอบโจทย์

ทำอย่างไรล่ะคะ ยุ้ยก็ไปศึกษาเทรนด์ในต่างประเทศ แล้วก็พบว่ากู้พร้อมบ้านดีที่สุด นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องติดพร้อมบ้าน เพื่อจะให้ลูกค้าได้โซลาร์ในราคาและดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด

ดร.ยุ้ย - เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

กฎระเบียบการยื่นขอติดตั้งแผงโซลาร์ในที่อยู่อาศัยดูเหมือนยุ่งยาก ถ้าคิดจากตรรกะง่ายๆ ทำไมรองน้ำฝนใช้ไม่ต้องแจ้งการประปาฯ ทำไมติดโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแดดต้องแจ้งการไฟฟ้าฯ

พูดแบบเราเข้าใจเขานะ หนึ่ง-การไฟฟ้าฯ ตั้งมาร้อยกว่าปี เป็นผู้ผลิต เป็นคนขายอย่างเดียว ที่ผ่านมาเวลาปลูกบ้าน เราต้องเดินไปบอกเขาว่าบ้านของเราขนาดเท่าไร ต้องการใช้ไฟเท่าไร เขาก็จะประมาณการได้ว่าต้องผลิตไฟฟ้าเท่าไรไว้ขายพวกเรา นี่คือวิธีการทำงานของพวกเขามาตลอดร้อยกว่าปี

วันดีคืนดีก็มีคนบอกว่าฉันจะติดโซลาร์ใช้เอง ซึ่งต้องบอกว่ามันกเฬวรากมาก เช่นว่าวันนี้คุณอยู่บ้านแล้วมีแดด คุณก็ใช้ไฟจากโซลาร์ แต่บางวันอยู่บ้านแต่ฝนตก ก็ต้องใช้ไฟหลวง ฉะนั้นในแง่ของการไฟฟ้าฯ เขาก็ต้องมีไฟสำรองเหมือนเขาต้องมาจัดการโลกใบใหม่ นี่คิดในแง่เข้าใจ ซึ่งก็ต้องพยายามไปด้วยกัน สอง-เขาต้องการแน่ใจก่อนว่าอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าที่เราใช้นั้น compatible กับเขาไหม และเขาจะไม่มีทางรู้ ถ้าคนติดไม่ไปขอ ฉะนั้น การไปขอไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ขั้นตอนยากหรือง่ายนั้นเป็นอีกเรื่อง

ปัญหาของการไฟฟ้าฯ ขณะนี้เหมือนอยู่ที่การผลิตไฟฟ้าสำรองเพื่อรับมือ ‘พีกไฟฟ้า’ สรุปแล้วคนหันมาใช้โซลาร์ไม่ได้ช่วยอะไรเลยหรือ

ในมิติรักษ์โลก แน่นอน เราช่วย เพราะเราซื้อไฟจากหลวงน้อยลง เขาก็จะผลิตไฟฟ้าน้อยลง ซึ่งเดิมไฟตัวนี้สกปรก เพราะผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหิน แต่ตอนนี้เขาก็มาทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน นี่เป็นนโยบายหลักจากกระทรวงพลังงานว่าควรรับซื้อไฟสะอาด เดี๋ยวนี้ไฟฟ้าที่มาตามบ้านก็พูดยากว่ามาจากที่ไหน เพราะแหล่งที่มาก็หลายๆ อันรวมกัน

ในมิติที่สอง เขาบอกว่ารู้ไหม ปกติที่เขาผลิตและขายไฟคนเดียว เดิมต้นทุนอาจเป็น 3 บาท ตอนนี้อาจกลายเป็น 4 บาท เราก็พอจะเข้าใจเขา แต่ประเด็นคือถ้าคิดแบบนี้ มันจะกลายเป็น vicious cycle (วงจรอุบาทว์) ถามว่าคนติดโซลาร์เพราะอะไร พูดตรงๆ นะ รักษ์โลกนั้นเรื่องหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ต้องการประหยัดไฟ เพราะติดโซลาร์เสียเงินรอบเดียว คือตอนซื้อแผงมาติด แต่หลังจากนั้นพระอาทิตย์ทำงานเอง ฉะนั้น ถ้าคุณบอกว่ายิ่งคนติดโซลาร์เยอะ ต้นทุนของการไฟฟ้าฯ เพิ่มขึ้น ค่าไฟจะแพงขึ้น คนก็จะยิ่งอยากติดโซลาร์ใหญ่เลย

สมมติในประเทศไทยมีคนติดโซลาร์อยู่ 5% ค่าไฟต้นทุนเท่ากับ 3 บาท แล้วอยู่ๆ คนติดโซลาร์เพิ่มขึ้นเป็น 10% ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาท มันจะยิ่งทำให้โซลาร์น่าสนใจขึ้นไปอีก และคนก็จะติดเพิ่มขึ้น เพราะอะไร เพราะค่าไฟคุณแพงขึ้น แล้วคุณจะบอกว่าตายแล้ว คนติดโซลาร์เพิ่มขึ้นเป็น 20% ถ้าอย่างนั้นค่าไฟจะต้องแพงขึ้นเป็น 5 บาท มันก็จะหนักเข้าไปใหญ่ และเขาจะทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันขัดกับนโยบายของกระทรวงพลังงานเรื่องไฟสะอาด

รักษ์โลกนั้นเรื่องหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ต้องการประหยัดไฟ ติดโซลาร์เสียเงินรอบเดียว คือตอนซื้อแผงมาติด แต่หลังจากนั้นพระอาทิตย์ทำงานเอง

การขึ้นค่าไฟแบบนั้นเหมือนกับบอกว่าคนติดโซลาร์เป็นตัวปัญหา

ใช่ค่ะ ทำให้เกิดการพูดคุยว่าให้เก็บจากคนอื่น เช่น จากเอกชนที่ทำสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าฯ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้โซลาร์ เพื่อให้คนเล็กๆ ไม่ต้องจ่าย แต่ส่วนตัวก็ยังมองว่ามันไม่ใช่ทางออก คุณห้ามเทรนด์นี้ไม่ได้หรอก เพราะอะไรรู้ไหมคะ เพราะแผงโซลาร์ถูกลงทุกวัน

แสดงว่าเป้าหมายและนโยบายของกระทรวงพลังงานไม่ชัดเจนหรือเปล่า

ยุ้ยไม่ใช่ policy guru คงให้ความเห็นเรื่องนี้ไม่ได้ แต่บอกได้ว่าวันนี้เราไม่น่าจะอยู่ในจุดของการที่ไม่พยายามทำให้เกิด solar welcome และบรรยากาศการเกิดโซลาร์ต้องมาจากฝ่ายกำกับดูแล (Regulator) สิ่งที่พยายามบอกเขาคือ โซลาร์หนึ่งชุดมีแผง อินเวอร์เตอร์ ชุดติดตั้ง แล้วก็สายไฟ ต้นทุน 75 เปอร์เซ็นต์มาจากแผงและอินเวอร์เตอร์ ทั้งสองอย่างนี้เป็น globally trade ซื้อจากต่างชาติ ไม่ใช่ของไทย ฉะนั้น คำถามคือเมื่อโลกใช้เยอะขึ้น เราห้ามราคาลงไม่ได้ แต่ กฟผ. ทำให้ต้นทุนโซลาร์บ้านเราแพงกว่าทุกที่ในโลกได้ โดยการทำให้ค่ากำกับดูแลแพง ตัวอย่างเช่น เราจะติดโซลาร์ซึ่งถูกลงมาก แต่ถ้า กฟผ. บอกว่าค่ากำกับดูแลคือสามแสน แบบนี้โซลาร์ก็ไม่เกิดแล้ว

ตอนนี้หลายเรื่องก็ดีขึ้นมาก แต่จากฟากผู้ใช้ เราก็รู้สึกว่าอยากให้มันเร็วกว่านี้ ง่ายกว่านี้ อยากให้ต้นทุนต่ำกว่านี้ เพราะค่าแผงทุกวันนี้มันถูกมาก สี่ปีหลังนี้ถูกลงมาร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลายเป็นว่าเรามาเสียเวลาเสียเงินกับเรื่องพวกนี้ซะมาก

รถยนต์ไฟฟ้าเหมือนเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังมา เพราะเหตุนี้หรือเปล่า บ้านเสนาจึงมีสถานีชาร์จไฟ (EVStation)

ไม่แน่ใจว่าควรให้สัมภาษณ์ไหม เพราะตั้งแต่ทำมา มีคนใช้อยู่สองคน คือรถยุ้ยเอง เพราะอะไรรู้ไหมคะ เพราะลูกบ้านไม่มีรถไฟฟ้า

ถ้าอย่างนั้นต้องถามคนสร้างว่าสร้างไว้ทำไม

สร้างเพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาควรซื้อรถไฟฟ้า (ยิ้มกว้าง) สร้างให้เป็น demand-pull กระตุ้นให้เกิดความต้องการ ยุ้ยคิดว่าเรื่องรถไฟฟ้ามันเหมือนยาสีฟันกับแปรงสีฟัน complimentary goods สินค้าที่ต้องใช้ด้วยกัน เหมือนรถกับน้ำมัน น้ำมันแพง การเดินทางด้วยรถก็แพงขึ้น แม้ว่าราคารถจะถูกลง รถไฟฟ้าก็เรื่องเดียวกัน ต่อให้ทำรถไฟฟ้าให้ดี ราคาดี แต่ไม่มีสถานีให้ชาร์จ มันก็ไม่เกิด แต่ถ้าคนรู้สึกว่ายาสีฟันมีเต็มประเทศแล้ว แปรงสีฟันจะซื้ออะไรก็ได้ ฉะนั้น ช่วงนี้สำคัญว่าเราต้องส่งเสริมให้มันกว้างขวางขึ้น

แล้วที่เห็นในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่บ้านโซลาร์ แต่เขาติดที่ชาร์จไฟสำหรับชาร์จรถที่บ้านเลย ฉะนั้น โครงการของเรา Niche รุ่นใหม่ทุกโครงการมีโซลาร์เป็นส่วนกลาง บ้านแนวราบทุกที่ติดโซลาร์ และมีสถานีอีวี กลางวันชาร์จไฟจากโซลาร์ กลางคืนชาร์จจากไฟหลวง

คุณห้ามเทรนด์นี้ไม่ได้หรอก เพราะแผงโซลาร์ถูกลงทุกวัน
แต่เกิดการไฟฟ้าฯ บอกว่าค่ากำกับดูแลคือสามแสน แบบนี้โซลาร์ก็ไม่เกิดแล้ว

เมื่อพูดถึงที่อยู่อาศัยสำหรับอนาคต คิดว่าอะไรน่าทำหรือจำเป็นต้องทำ

คำว่าที่อยู่อาศัย เมื่อใส่คำว่าอนาคตลงไป ปกติคือการเอาเทรนด์มาใส่ เทรนด์ที่เรามองเห็น เอาไปปะในที่อยู่อาศัยที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็น ที่เห็นมี 3-4 เทรนด์ แน่นอน เทรนด์หนึ่งคือ ageing คนจะอายุยืนขึ้น อันที่สองคือเรื่องกรีนที่กำลังทำอยู่ และคิดว่ามันจะไปมากกว่านี้อีก อีกสองเรื่องที่เข้ามาแล้ว และจะมาเป็นส่วนผสม คือเรื่อง IT ทั้งหลาย ซึ่งมันจะกลายเป็น new normal เรื่องที่สี่คือ health โดยเรื่องสุขภาพและสูงวัยอาจจะเป็นซับเซ็ตของกันและกัน ยุ้ยคิดว่าบ้านในอนาคตจะมีกลิ่นอายที่มุ่งเน้นไปในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

คนอื่นอาจเห็นต่างไปนะคะ แต่ที่เสนา เวลาดีไซน์บ้าน ยุ้ยจะบอกลูกน้องว่าอย่ามาขายยุ้ยว่าเราจะทำบ้านไอที เพราะยุ้ยรู้สึกว่าบ้านไอทีคือ new normal มันคือการเอาไอทีเข้ามาช่วยให้บ้านอยู่อาศัยได้สะดวกขึ้น มันจะเป็นบ้านที่ปกติไปเรื่อยๆ และไม่ใช่ว่าดีเวลลอปเปอร์จะสร้างความต่างได้เอง ดีเวลอปเปอร์ทำอะไร ก็ไปซื้อของที่เป็นไอทีเข้ามาใส่ ดีเวลอปเปอร์ไม่ใช่คนออกแบบ ถูกไหมคะ เราไปซื้อของมาใส่ ในฐานะดีเวลอปเปอร์ ยุ้ยจะพยายามมองถึงสิ่งที่เราทำจริงๆ เช่น เอากรีนเข้ามาใส่ และไม่ใช่เอาโซลาร์มาแปะใส่บ้านแล้วจบ มันต้องมีทั้งตั้งรับและเชิงรุกในเวลาเดียวกัน ดีไซน์อย่างไรให้บ้านประหยัดไฟด้วย และมีโซลาร์

อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเห็น คือวิธีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ๆ เช่น อาจจะมี lease home มากขึ้น ซื้อแล้วขายคืนได้ หรือว่า Reverse Mortgage ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโลก แต่บางประเทศทำแล้วไม่เวิร์ก มองง่ายๆ คือการตึ๊งบ้านเก่า การซื้อบ้านแบบปกติคือคุณก็เอาบ้านไปตึ๊งกับแบงก์ เอาเงินแบงก์มาจ่ายดีเวลลอปเปอร์ บ้านนี้คุณเป็นเจ้าของ แต่หลังโฉนดติดจำนองธนาคาร คราวนี้ถึงจุดหนึ่ง เมื่อเป็นไทแล้ว ถ้าคุณอยากได้เงินรายเดือนมาใช้ คุณก็เอาบ้านไปตึ๊ง เอา mortgage ไป reverse กับธนาคาร คุณก็ได้เงินรายเดือน

รัฐบาลเริ่มมีนโยบายนี้แล้ว แต่ยังคงเน้นกลุ่มวัยเกษียณ

ปกติแล้วรัฐจะทำให้กับคนที่อายุเกิน 50-60 ปี ทุกที่ในโลกจะคล้ายกัน คือไม่มีที่ไหนเกิดได้โดยไม่มีรัฐช่วย แล้วทำไมรัฐต้องช่วย ถ้าเป็นการซื้อบ้านปกติและคนซื้อยังมีแรงที่จะซื้อ รัฐก็จะช่วยคนที่จำเป็นต้องช่วย คือเอาบ้านไปค้ำประกัน ตึ๊งกลับมาเป็นเงิน ฉะนั้น ในช่วงเริ่มต้นเราน่าจะเห็นแบบนี้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อคนธรรมดาอย่างเราเดินเข้าไปหาธนาคารแล้วมีตัวเลือกของธุรกรรม ถ้าเป็นอย่างนี้เมื่อไรก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบำนาญ ถ้าธนาคารพาณิชย์มองเห็นว่าบ้านหลังนี้ควรทำเมื่อไร และจะได้กำไร เช่น อาจทำเมื่อบ้านปลอดจำนอง ยุ้ยซื้อบ้านตอนอายุ 25 ตอนอายุ 40 ก็อาจปลอดจำนองแล้ว ก็เอาไปตึ๊งกลับได้ ไม่จำเป็นต้องรอเกษียณหรือเป็นบำนาญ ยุ้ยคิดว่าเป็นเรื่องดีที่คนจะมีเงินรายเดือนจากบ้านหลังนี้ และตัวเองก็ยังอาศัยอยู่ได้ด้วย แทนที่จะเอาไปปล่อยเช่า

คุณเป็นแม่ (สังเกตจากรูปลูกสาวในห้องทำงาน)

(เธอชูสองนิ้วแทนคำตอบ)

อยากเห็นเมืองแบบไหนสำหรับลูกเรา

(ปกติเธอตอบเร็ว แต่เรื่องนี้เธอพิงตัวกับพนักเก้าอี้ก่อนตอบ) มองสองเรื่องค่ะ เมืองที่เห็นกับสังคม เมืองที่อยากเห็นคือเมืองที่มลภาวะน้อยๆ และอยากให้ลูกโตมาในสังคมที่ดี คอร์รัปชันน้อย เป็นสังคมที่อาชญากรรมน้อย แน่นอนว่า education ก็สำคัญ อยากให้เขาโตมาในสังคมที่ให้ความสำคัญกับ education ที่ถูกต้อง

เป็นอาจารย์มา 20 ปีได้ เห็นมาตลอดว่าเด็กของเราไม่แพ้ใคร แต่มีเยอะมากที่เข้าเรียนปริญญาตรีโดยไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร

หมายถึงการปลูกฝังคุณค่าที่ถูกต้อง

คำว่า education นี่กว้างนะคะ คิดว่า education ทุกรูปแบบมีความสำคัญ ไม่จำเป็นต้องจบมหาวิทยาลัยเท่านั้น อาชีวะและพาณิชย์ล้วนมีค่า สมมติว่าเราอยู่ในประเทศที่มีแต่คนจบมหาวิทยาลัย คนยอมเรียนวิชาที่ไม่ได้ชอบเพื่อให้ได้ชื่อว่าจบมหาวิทยาลัย แต่ไม่ยอมเรียนอาชีวะ แล้วใครจะเป็นช่าง มีแต่คนอยากนั่งในห้องแอร์ แต่ไม่มีใครอยากเป็นช่าง ยุ้ยเป็นนักเรียนทุน เป็นอาจารย์มา 20 ปีได้ เห็นมาตลอดว่าเด็กของเราไม่แพ้ใคร แต่มีเยอะมากที่เข้าเรียนปริญญาตรีโดยไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร การเลือกคณะหรือเลือกมหาวิทยาลัยไม่ควรเป็นแฟชัน เพราะคุณจะต้องเรียนตั้งสี่ปี และรัฐก็เสียเงินมาอุดหนุนตั้งเยอะแยะ มันน่าเสียดายถ้าคนที่มาเรียนไม่ได้อยากเรียนสิ่งนั้นจริงๆ ฉะนั้น เราควรทำให้ระบบการศึกษาของเราเต็มไปด้วยการตัดสินใจที่ถูกต้อง

หนังโฆษณาล่าสุดของเสนา เด็กๆ ดูจะชอบกันมาก ‘แนนซี่’ ในเรื่องมีที่มาอย่างไร

เสนาเป็นธุรกิจครอบครัว พ่อ (ธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์) เป็นคนทำมาก่อน ยุ้ยเป็นรุ่นสอง พ่อเป็นคนขายลอดช่องที่ตลาดบางรัก ขายตั้งแต่ถ้วยละสลึง สำหรับธุรกิจบ้าน แกเริ่มจากโครงการเล็กๆ สิบห้อง พ่อกับแม่ทำทุกอย่างเลย จนกระทั่งเราเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งหนึ่งที่เราเป็นคือเราจะบริการลูกค้าแบบบ้านๆ นิดหนึ่ง
ตอนนี้เรามี 37 โครงการ จึงคิดว่าต้องทำแบรนดิ้ง และยุ้ยบอกโจทย์ว่าแบรนดิ้งต้องมาจากสิ่งที่เราเป็นจริงๆ คนที่มารับงานเขาก็ไปเซอร์เวย์ ทำโฟกัสกรุ๊ปลูกบ้าน และมาเล่าว่าบ้านเสนาโครงการหนึ่ง เจ้าหน้าที่ช่วยเลี้ยงลูกให้ลูกบ้านด้วย ประมาณว่าลูกบ้านจะไปธุระ เลยเอาลูกมาฝาก ไม่ได้เปิดรับเลี้ยง แต่หมายความว่าเมื่อลูกค้ามาขอความช่วยเหลือ เราจะไม่ปฏิเสธโดยบอกว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ฉัน จึงเป็นที่มาของแบรนดิ้ง ‘หัวคิดและหัวใจ’ แล้วเอาเรื่องนี้มาทำเป็นทีวีคอมเมอเชียลชื่อ ‘เสาวลักษณ์’ พอปีที่สองก็เป็น ‘แนนซี่’ เพื่อให้เห็นบุคลิกของเราที่บริการแบบเอ็กซ์ตรีม ยอมทำบ้าๆ บอๆ เพื่อลูกบ้าน
ถ้าไปที่โครงการของเรา เราจะมีลอดช่องแจกลูกค้า ส่วนหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าถามว่าทำไมต้องแจกลอดช่อง อีกส่วนหนึ่งเพราะอยากให้พนักงานทุกคนรู้ว่า เราโตมาจากคนขายลอดช่อง

FACT BOX:

  • ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ จบการศึกษาด้านการเงินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอไปศึกษาต่อในหลักสูตร M.B.A. (Finance and Accounting) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และได้ทุนศึกษาต่อ M.A. (Economics) ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ (Claremont Graduate University) กระทั่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกในสาขาเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเดียวกัน เมื่อปี 2545 กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ
  • สำหรับผู้มีคำถามว่าโซลาร์รูฟติดแล้วคุ้มไหม ราคาจับต้องได้แค่ไหน และอื่นๆ ติดตามอ่านได้ใน บ้านโซลาร์ อยู่เย็น คุ้มยาว โดย ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์
Tags: , , , , , , , ,