หนุ่มเชื้อชาติเกาหลีคว้าเหรียญทองให้กับชาติญี่ปุ่นในการแข่งขันวิ่งมาราธอน กีฬาโอลิมปิกปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน มันคือเหรียญแห่งชัยชนะที่นักวิ่งได้รับภายใต้ธงผิดผืน และภายใต้ชื่อที่ผิดความจริง
โซน คี ชุง วิ่งกระหืดกระหอบผ่านประตูมาราธอนในตอนเย็นของวันที่ 9 สิงหาคม 1936 แดดยังส่องสว่างและสาดแสงอุ่นเข้าไปในสนามกีฬา

โอลิมปิกของกรุงเบอร์ลิน เขาสวมเสื้อแข่งสีขาว กางเกงขาสั้นสีขาว และรองเท้าผ้าใบสีขาว ผู้ชมกว่า 100,000 คนพากันโบกมือให้กับเขา อีก 150 เมตร เขายังคงเร่งฝีเท้าวิ่งต่อไป กระทั่งลุถึงเส้นชัย เป็นผู้ชนะเหรียญทองโอลิมปิก เขายกแขนขึ้นกาง ขยับเท้าวิ่งต่อไป เปล่งเสียงร้องด้วยความปรีดา กระทั่งผู้ดูแลนำผ้าไปคลุมตัวให้เขา

อีก 45 นาทีต่อมา นักวิ่งมาราธอนสวมเสื้อยืดแขนยาวสีขาวประดับผืนธงชาติญี่ปุ่นตรงกลางอก ก้าวขึ้นแท่นเพื่อรับเหรียญภายใต้การเฝ้ามองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นักวิ่งได้รับช่อไม้โอ๊กและได้สวมมงกุฎใบโอ๊ก เสียงเพลงชาติญี่ปุ่นดังขึ้น พร้อมธงชาติญี่ปุ่นถูกชักขึ้นฟ้า แต่ระหว่างนั้น โซน คี ชุง กลับยืนก้มศีรษะ เพ่งสายตามองพื้น เขาพยายามใช้ช่อไม้โอ๊กในมือปิดบังธงชาติญี่ปุ่นบริเวณอกเสื้อ

บนแผ่นป้ายในสนามมีตัวอักษร: โซน คิเตะ, ญี่ปุ่น, 2:29:12, 2.

แต่นั่นไม่ใช่ประเทศของเขา และไม่ใช่ชื่อของเขาด้วย

นี่คือเรื่องราวของนักวิ่งผู้ยิ่งใหญ่ ที่ไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง

โซน คี ชุง เกิดเมื่อปี 1912 ทางตอนเหนือของประเทศเกาหลี หลังจากจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองดินแดนมาแล้ว 2 ปี โซนเติบโตขึ้นในย่านคนจน หารายได้เลี้ยงชีพจากการวิ่งส่งของ วันหนึ่งเขาสมัครลงแข่งขันวิ่งในกีฬาภูมิภาค ได้รับชัยชนะครั้งแรกที่กรุงโซล และถูกคัดตัวเข้าเรียนในโรงเรียนผู้ดี ‘ย็อนจ็อน’

ปี 1935 เขาเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อร่วมแข่งขันวิ่งในเกมเมจิ ที่จะคัดเลือกตัวนักกีฬาเพื่อส่งไปแข่งขันโอลิมปิกที่เบอร์ลิน โซน ขณะนั้นวัย 23 ปี เคยทำสถิติการวิ่งมาราธอนมาแล้วที่ 2:26:42 เขาและเพื่อนร่วมชาติเกาหลี-นาน ซุง ยอง ผ่านเกณฑ์คัดเลือก โควตา 2 ใน 3 ของทีมชาติญี่ปุ่นตกเป็นของชาวเกาหลี

แต่เมื่อถึงเวลาเดินทางไปโอลิมปิกจริง ในเดือนมิถุนายน 1936 กลับมีนักวิ่งชาวญี่ปุ่น 2 คนร่วมทีมกับโซนและนาน พวกเขาเดินทางโดยรถไฟสายทรานไซบีเรีย ระยะทาง 10,000 กิโลเมตร เมื่อไปถึงสถานีรถไฟฟรีดริชชตัสเซ ในกรุงเบอร์ลิน มีทูตญี่ปุ่นไปรอรับ แต่กลับพูดจาตำหนิหนุ่มนักวิ่งจากเกาหลีทั้งสอง “แค่คำพูดคำแรกก็แสดงกิริยาน่ารังเกียจเสียแล้ว” โซนบันทึกไว้ในความทรงจำของเขา “เราอุตส่าห์เดินทางมาทั้งไกลทั้งเหนื่อย แล้วมาทักทายด้วยถ้อยคำแสดงความไม่เต็มใจแบบนี้ มันน่าโกรธจริงๆ”

สามสัปดาห์ก่อนกำหนดการแข่งกีฬาโอลิมปิก นักวิ่งทั้ง 4 ยังต้องลงแข่งขันกันเอง ระยะทาง 30 กิโลเมตร ส่วนหนึ่งเป็นเส้นทางวิ่งมาราธอนผ่านกรูเนวาลด์ นักวิ่งญี่ปุ่นพยายามซิกแซกโดยการวิ่งทางลัด แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถเอาชนะนานและโซนได้ ลายเซ็นที่เขาเขียนให้ใครต่อใคร โซนมักจะเขียนชื่อภาษาเกาหลีของเขา ด้านล่างเป็นชื่อประเทศเกาหลี ระหว่างการฝึกซ้อมเขายังปฏิเสธที่จะสวมเสื้อแข่งที่มีจุดแดงบนพื้นขาวอีกด้วย

ผมไม่ได้วิ่งเพื่อชาวญี่ปุ่น ผมวิ่งเพื่อตัวผมเอง และเพื่อประชาชนที่ถูกกดขี่ของผม

 

9 สิงหาคม 1936 เวลา 15.00 น. สนามกีฬาโอลิมปิกกรุงเบอร์ลิน นักวิ่งมาราธอนจำนวน 56 คนเข้าประจำที่ตรงจุดเริ่ม ธงสวัสติกะของนาซีโบกสะบัด เปลวเพลิงโอลิมปิกพวยพุ่ง นาซีสร้างสรรค์ขนบธรรมเนียมขึ้นใหม่ โดยให้มีการวิ่งถือคบไฟโอลิมปิกจากกรุงเอเธนส์ผ่านประเทศต่างๆ ในยุโรป เพื่อส่งต่อคบไฟมาจุดในพิธีเปิดการแข่งขันในสนาม

ที่จุดเริ่มการแข่งขันวิ่งมาราธอน คาร์ลอส ซาปาลา เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกปี 1932 ที่ลอส แองเจลิส วิ่งนำหน้าและเป็นนักวิ่งคนแรกที่ผ่านประตูมาราธอน บนเส้นทางมีคนดูมากกว่า 1 ล้านคน เส้นทางผ่านไมเฟลด์ ไปกรูเนวาลด์ ถึงอาวุส แล้ววกกลับ มีนักข่าวรายงานสดตลอดเส้นทาง ระหว่างที่วิ่งประกบข้างเออร์เนสต์ ฮาร์เปอร์ นักวิ่งทีมชาติอังกฤษ โซนต้องการที่จะเร่งความเร็ววิ่งแซง แต่เออร์เนสต์ร้องบอกเขาให้วิ่งช้าๆ

จนถึงระยะ 35 กิโลเมตร โซนแซงขึ้นวิ่งนำ ซาปาลาตกแถว ไม่ช้าโซนก็เริ่มมองเห็นสนามกีฬาโอลิมปิกในสายตา แสงแดดเดือนสิงหาคมฉายให้เห็นเงาของเขาทอดยาวไปบนหญ้าของไมเฟลด์ เขาวิ่งเลี้ยวเข้าสนาม ผู้ชมพากันลุกขึ้น เป็นที่ชัดเจนว่าเขาใช้เวลาวิ่งน้อยกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง โซนทำลายสถิติโอลิมปิก ส่วนนาน ซุง ยอง ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า นาน โชริว มาเป็นอันดับที่ 3 ตามหลังเออร์เนสต์ ฮาร์เปอร์

ระหว่างพิธีมอบเหรียญรางวัล ผู้ชมเพ่งสายตาไปที่โซน ธงชาติญี่ปุ่นกำลังถูกชักขึ้น แต่โซนกลับก้มหน้า ช่างภาพในสนามบันทึกภาพชั่วขณะนั้นไว้ได้ รวมทั้งเลนี รีเฟนชทาห์ล-ผู้กำกับฯ หญิงเยอรมัน ก็พุ่งความสนใจไปที่โซน เธอยังตั้งคำถามในภายหลังด้วยว่า ทำไมเขาจึงดูไม่ยินดีปรีดา

“เป็นครั้งแรกที่ผมตระหนักถึงธงชาติและเพลงชาติญี่ปุ่น” โซนเขียนบันทึกในเวลาต่อมา “มันคือชัยชนะของผม แต่ธงผืนนั้นหมายความว่าอะไร และการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองผู้คนและประเทศของผมหมายความว่าอะไร ผมไม่ได้วิ่งเพื่อชาวญี่ปุ่น ผมวิ่งเพื่อตัวผมเอง และเพื่อประชาชนที่ถูกกดขี่ของผม”

ชัยชนะทำให้โซนกลายเป็นที่ถามถึง ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเชิญเขาไปร่วมงานเลี้ยงที่เชินเนแบร์ก ส่วนที่สถานทูตญี่ปุ่นไม่ปรากฏตัวทั้งโซนและนาน ในญี่ปุ่น โซนกลายเป็นวีรบุรุษ บนแผ่นป้ายเกียรติยศในสนามกีฬาโอลิมปิกกรุงเบอร์ลิน ตราบถึงทุกวันนี้ยังมีชื่อประเทศญี่ปุ่นต่อท้ายชื่อของโซน หนังสือพิมพ์ทั่วโลกพากันรายงานข่าว ในกรุงโซลก็เช่นกัน นักข่าวเกาหลีรับรู้ได้จากภาพถ่ายสีหน้าและแววตาของโซนบนแท่นรับเหรียญรางวัล

หนังสือพิมพ์เกาหลีอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น ถึงกระนั้นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Dong-A Ilbo ในกรุงโซลยังแสดงความกล้าหาญ ด้วยการลบธงชาติญี่ปุ่นบนอกเสื้อของโซนออกจากภาพ ส่งผลให้ญี่ปุ่นสั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว บรรณาธิการลีและทีมงานของเขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำซอแดมุน และถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ

เมื่อนักวิ่งเหรียญทองเดินทางถึงโตเกียว มีการฉลองต้อนรับเขาอย่างเอิกเกริก แต่แล้วโซนแอบหนีกลับไปกรุงโซล ปีสุดท้ายที่โรงเรียนมัธยมฯ ย็อนจ็อน เขาต้องห่างไกลจากกิจกรรมสาธารณะต่างๆ และถูกเฝ้าติดตามจากหน่วยราชการลับ ทางการของเกาหลีให้คำแนะนำว่า เขาควรไปศึกษาต่อในญี่ปุ่น โซนรู้สึกคล้ายชีวิตเข้าสู่ช่วงมืดมน “แรงกดดันสูงมาก จนผมรู้สึกอยากคืนชัยชนะที่ได้มา” เขาเขียนระบายความรู้สึกในบันทึก

โซนปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการเกาหลี และเข้าศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเมจิในกรุงโตเกียว มีเงื่อนไขข้อหนึ่งที่เขาต้องยอมรับคือ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันใดๆ

 

ไม่ช้าจักรวรรดิญี่ปุ่นก็รุกคืบเข้ารุกรานจีนแผ่นดินใหญ่ ในเดือนกันยายน 1939 เยอรมนีเดินทัพเข้าโปแลนด์ ชายชาวเกาหลีถูกเกณฑ์ตัวหรือไม่ก็ถูกบังคับเข้าสู่อุตสาหกรรมสงคราม ส่วนผู้หญิงก็ถูกบังคับไปเป็นเครื่องบำบัดความใคร่ในซ่องแนวหน้า สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงหลังจากญี่ปุ่นถูกระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ฮิโรชิมะ และนางาซากิ หลัง 35 ปี ธงชาติเกาหลีกลับมาโบกสะบัดอีกครั้งเหนือกรุงโซล

โซนรอดพ้นจากสงคราม และเริ่มทำงานหลังเรียนจบ เขาเดินทางกลับไปทำงานเป็นพนักงานธนาคารที่กรุงโซล แต่งงาน และมีลูก 2 คน ทว่าไม่กี่ปีถัดมาภรรยาของเขาก็เสียชีวิต จากนั้นก็แม่ของเขา โซนแต่งงานใหม่ แต่ชีวิตคู่ล้มเหลว รวมทั้งงานอาชีพในฐานะเจ้าของกิจการ

หลังสงคราม โซน คี ชุง ได้รับการยอมรับในฐานะนักวิ่งมาราธอนเจ้าของเหรียญทองชาติเกาหลี เขาเริ่มหันมาเป็นเทรนเนอร์ ฝึกอบรมนักวิ่งรุ่นใหม่ ซึ่งหลายคนได้รับชัยชนะจากการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่บอสตัน หลังสงครามเกาหลียุติลง โซนได้รับเชิญจากที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในปี 1956 เขากลับไปที่กรุงเบอร์ลินอีกครั้ง “มันเหมือนภาพย้อนอดีตในหนังเลย กับเส้นทาง 42.195 กิโลเมตรที่ผมวิ่งพร้อมๆ กับธงชาติญี่ปุ่นบนอกเสื้อ”

การไปเยือนกรุงเบอร์ลินครั้งนั้นเขาได้พบกับเลนี รีเฟนชทาห์ล ผู้หญิงเยอรมันที่บันทึกภาพความทรงจำของเขาไว้ทั้งหมด ทั้งสองติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายหลังจากนั้นนานนับสิบๆ ปี และมีโอกาสได้พบกันครั้งหนึ่งที่บ้านของเธอในการ์มิช-พาร์เทนเคียร์เช และอีกครั้งในมิวนิก ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1972 รีเฟนชทาห์ลตัดต่อหนังโอลิมปิกของเธอเป็นเวอร์ชันขนาดสั้นมอบให้กับเขา

โซน คี ชุง อายุ 90 ปีตอนเขาเสียชีวิตในปี 2002 ด้วยโรคปอดอักเสบ หลังจากปี 1936 เขาไม่มีโอกาสได้ลงแข่งขันที่ไหนอีกเลย มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่เขาวิ่งในที่สาธารณะ คือช่วงกีฬาโอลิมปิกปี 1988 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ

วันที่ 17 กันยายน 1988 งานพิธีเปิดจัดขึ้นที่สนามกีฬาโอลิมปิกกรุงโซล การปราศรัยของประธานจัดงานสิ้นสุดลง ผืนธงโอลิมปิกชักขึ้นยอดเสา นกพิราบสีขาวถูกปล่อยให้โบยบิน เครื่องบิน 5 ลำขับวนและพ่นสีเป็นวงกลมสัญลักษณ์โอลิมปิกบนท้องฟ้า

มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งเข้ามาในสนาม อีกครั้งหนึ่งที่เขาสวมเสื้อกีฬาสีขาว กางเกงขาสั้นสีขาว ถุงเท้าสีขาวในรองเท้าสีขาว มือข้างขวา-ที่สวมถุงมือสีขาว-ของเขาถือคบไฟ เส้นผมของเขาก็สีขาวเช่นกัน แต่ครั้งนี้ฝีก้าววิ่งของเขาสั้นกว่าเมื่อ 52 ปีก่อน เขายกแขนขึ้นสูง กวัดแกว่งคบไฟไปมาท่ามกลางเสียงปรบมือของผู้คนในสนาม

ผู้สื่อข่าวหลายชาติหลายภาษาบรรยายเกี่ยวกับนักวิ่งถือคบไฟ – โซน คี ชุง นักวิ่งมาราธอนเหรียญทองโอลิมปิกปี 1936 รับช่วงถือคบไฟในระยะ 100 เมตรสุดท้าย ในที่สุดเขาก็มาถึงแล้ว

Tags: , , ,