จากความพยายามของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เสนอให้รัฐไทยควบคุมโซเชียลมีเดียอย่างเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ กสทช. ก็แสดงความต้องการให้ Facebook และ YouTube จดทะเบียนในฐานะผู้ประกอบการแพร่ภาพและเสียงออนไลน์ หรือย้อนหลังไปกว่านั้นก็มีข้อเสนอเรื่อง Single Gateway ที่ดูเหมือนจะถูกต้านจนต้องถอยไปตั้งหลัก ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีข้อมูลบางประเภทอันไม่พึงปรารถนาในสายตาภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้แย้งว่าเมืองไทยในยุค คสช. ยังมีเสรีภาพในโลกออนไลน์อยู่มากพอสมควร ไม่ได้มีการปิดกั้นข้อมูลขนานใหญ่หรือห้ามคนไทยใช้บริการออนไลน์บางเจ้าอย่างสิ้นเชิงเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศจีน

เหตุการณ์เหล่านี้ชวนให้นึกถึงประเด็นหนึ่งที่น่าคิดอย่างยิ่งในยุคสมัยปัจจุบัน นั่นคือบทบาทของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโลกออนไลน์ที่มีต่อการเมืองแบบเผด็จการ

 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวข้องและมีผลต่อการเมืองอย่างไร?

คำถามนี้เป็นหัวข้อที่มีการศึกษาในทางวิชาการกันมายาวนาน เมื่อ 20-30 กว่าปีก่อน โลกวิชาการก็เคยตื่นเต้นกับคำว่าโลกาภิวัตน์ ตื่นตาตื่นใจกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทำให้การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่งทำได้อย่างรวดเร็ว เป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่ทำให้ระยะทางไม่ใช่อุปสรรคของการติดต่อสื่อสารอีกต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจทางด้านรัฐศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากปรากฏการณ์ครั้งนั้นก็คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ได้เป็นกระแสคลื่นที่มีพลังมากอย่างที่บางคนคาดการณ์ไว้ คำว่ามีพลังในที่นี้หมายถึงว่ามีนักวิชาการบางกระแสพยากรณ์ไว้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาลดบทบาทของรัฐลงอย่างมาก รัฐจะกลายเป็นสิ่งที่เทอะทะล้าสมัย ในขณะที่เอกชนจะปรับตัวเข้าสู่ยุคไฮเทคได้ดีกว่า ยุคที่รัฐจะเป็นผู้นำหรือผู้กำหนดทุกอย่างนั้นสิ้นสุดลงแล้ว แต่ความจริงกลับกลายเป็นว่ารัฐต่างหากที่ยังรักษาสถานะของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ถึงจะปรับตัวช้าไปบ้าง แต่ในที่สุดรัฐก็หยิบเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองได้ ขณะที่ภาคเอกชนและสังคมกลับอ่อนเปลี้ยจากพิษภัยทางเศรษฐกิจจนรัฐต้องเข้าไปโอบอุ้ม ดังที่เห็นกันในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008

เวลาผ่านไป โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็เป็นความเปลี่ยนแปลงอีกขั้นของเทคโนโลยี แม้ว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามานานพอสมควร แต่โซเชียลมีเดียทำให้มนุษย์เราใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าแค่ติดต่อสื่อสาร เราใช้เครื่องมือพวกนี้สร้างสังคมอีกแบบขึ้นมา ทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กันได้ต่อเนื่องมากขึ้น มีกิจกรรมทำร่วมกัน และในทางการเมืองก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการรณรงค์หาเสียง การเผยแพร่ข่าวสาร ไปจนถึงการปั่นกระแสต่างๆ นั้นเกิดขึ้นอย่างง่ายดายในโลกโซเชียล

ในช่วงแรก กระแสโซเชียลมีเดียเป็นที่จับตามองอยู่ไม่น้อยว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสั่นคลอนอำนาจของผู้นำเผด็จการทั้งหลายในโลกนี้ได้ โดยเฉพาะในสายตาของผู้ที่เชื่อมั่นในพลังของประชาชนว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้จริง ก็มักมีความคิดว่าโลกออนไลน์เป็นโลกที่รัฐคุมไม่ได้ ถึงจะพยายามมากเท่าใดก็เป็นไปไม่ได้ที่อำนาจรัฐจะสอดส่องเข้าไปทุกซอกทุกมุมของอินเทอร์เน็ต ดังนั้น โซเชียลมีเดียจะเป็นโอกาสที่เอื้อให้ประชาชนเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกลัวอำนาจรัฐมาคุกคาม และที่สำคัญคือการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในหลายประเทศในโลกอาหรับที่เรียกกันว่าเหตุการณ์อาหรับสปริง ก็ดูเหมือนเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีถึงความสำคัญของโลกออนไลน์ เพราะประชาชนผู้ประท้วงในครั้งนั้นใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งข่าวและนัดแนะเคลื่อนไหวต่างๆ

แต่ก็เช่นเดียวกับที่ผ่านมา บางครั้งเทคโนโลยีก็ไม่ใช่สิ่งที่มีพลังมากเกินกว่ารัฐจะรับมือได้เสมอไป ในปัจจุบัน ระบอบเผด็จการก็ปรับตัวเข้าสู่ยุคของโซเชียลมีเดียได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจกล่าวได้ว่าเผด็จการทุกวันนี้ไม่ได้เกรงกลัวพลังของโลกโซเชียล แต่ต้องการฉกฉวยเอาพลังของโซเชียลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองให้ได้มากที่สุด

จากความเชื่อเดิมๆ ที่ว่ารัฐจะเพลี่ยงพล้ำต่ออินเทอร์เน็ต เพราะอำนาจรัฐย่อมไม่มีทางควบคุมปิดกั้นโลกออนไลน์ได้อย่างหมดจด ปัจจุบันดูเหมือนว่าระบอบเผด็จการก็เรียนรู้และมองเห็นเช่นเดียวกันว่าตนไม่สามารถคุมอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีรัฐบาลของบางประเทศ (อย่างจีน) ที่พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือขึ้นมาควบคุมโลกออนไลน์ และสร้างบริการออนไลน์แบบจีนๆ ให้ประชาชนใช้แทนบริการของต่างประเทศ แต่การทำอย่างที่รัฐบาลจีนทำต้องอาศัยทั้งค่าใช้จ่าย ทรัพยากร และความทุ่มเทอย่างสูง ไม่ใช่ว่าประเทศอื่นจะทำตามจีนได้ง่ายๆ

 

เมื่อรัฐบาลเผด็จการเล็งเห็นว่าตนไม่สามารถควบคุมอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด แล้วพวกเขาทำอย่างไร?

เซวา กันนิตสกี (Seva Gunitsky) นักวิชาการเชื้อสายรัสเซีย กล่าวไว้ว่าเผด็จการไม่ได้ต้องการจัดการกับความเสรีของอินเทอร์เน็ตด้วยการปิดกั้นเสมอไป แต่มีกลยุทธ์อื่นๆ ที่ใช้รับมือกับโลกออนไลน์อย่างแยบยลกว่านั้น พวกเขารู้ว่าการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเป็นการฝืนกระแสโลก เสี่ยงต่อการถูกประณาม และสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน ดังนั้น รัฐบาลเผด็จการจึงเรียนรู้ที่จะใช้โลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ซึ่งก็ทำได้หลายรูปแบบ เช่น ในช่วงของกระแสอาหรับสปริง รัฐบาลบาห์เรนซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีการลุกฮือของประชาชน ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข่าวโจมตีกลุ่มผู้ประท้วง และพยายามระดมผู้คนให้สนับสนุนรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลซีเรียก็ระดมผู้สนับสนุนของตนเข้าไปเขียนข้อความโจมตีกลุ่มผู้ต่อต้านตามเพจเฟซบุ๊กต่างๆ

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลเผด็จการอาจไม่ได้ใช้โลกออนไลน์เพื่อปล่อยข่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว แต่โลกออนไลน์ยังช่วยให้เผด็จการประเมินกระแสสังคมได้อีกด้วย บางครั้งเราอาจเห็นว่าเผด็จการปล่อยให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบนโลกออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลก็อาจนำคำวิจารณ์เหล่านี้ไปเป็นข้อมูลประกอบการปกครองและการบริหารประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเผด็จการจะเชื่อมั่นในความเสรีของอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง ถ้าใครแสดงความเห็นที่เผด็จการคิดว่า ‘ล้ำเส้น’ มากเกินไปก็อาจจะโดนเล่นงานในภายหลังได้ หรือบางครั้งเผด็จการก็อาจปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่สักระยะหนึ่ง ไม่ใช่เพราะใจดีหรือไร้น้ำยา แต่เพราะต้องการสืบข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สรุปได้สั้นๆ ว่าบางครั้งเรามัวแต่ให้ความสนใจกับการที่รัฐบาลเผด็จการพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ต เพราะคิดว่าเผด็จการย่อมต้องการปิดกั้นข่าวสารข้อมูล แต่อาจลืมคิดไปว่าในอีกด้านหนึ่ง โลกออนไลน์ที่ดูเหมือนจะยังมีเสรีภาพบางอย่างอยู่บ้าง อนุญาตให้ประชาชนวิจารณ์และตั้งคำถามต่อรัฐบาลได้บ้าง หรือยังเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลบางอย่างได้ แท้จริงแล้วอาจเป็นความตั้งใจของรัฐบาลเผด็จการที่ต้องการใช้โลกออนไลน์ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองก็ได้

Tags: , , , , , , , , , , ,