ปัจจุบันนี้หลายฝ่ายยอมรับตรงกันว่า ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของเมืองไทยคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือแม้ว่าเราจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ผลพลอยได้ของความเจริญนี้ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มต่างๆ อย่างไม่เท่ากัน ยังคงมีช่องว่างที่กว้างมากระหว่างคนที่มีฐานะร่ำรวยกับคนที่ยากจน ซึ่งปัญหาเช่นนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีผลสะเทือนทางการเมืองเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน กล่าวได้ว่าสภาพความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่าทศวรรษในเมืองไทยนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่มากทีเดียว

แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) เป็นหนึ่งในแนวคิดทางการเมืองที่เสนอแนะแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมและยุติธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งหากเรายังต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังแล้ว ก็น่าจะเป็นการดีที่เราจะได้พิจารณาแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยในฐานะองค์ความรู้อย่างหนึ่งที่จะช่วยเสริมมุมมองและความรู้ความเข้าใจของเรา รวมถึงเรียนรู้จากประสบการณ์ของโลกตะวันตกที่น่าจะบอกอะไรเราได้พอสมควรจากที่พวกเขาได้สัมผัสกับสังคมนิยมประชาธิปไตยมาก่อน

สภาพความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่าทศวรรษในเมืองไทยนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่มากทีเดียว

ลักษณะเด่นๆ ของแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย

สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) เป็นแนวคิดทางการเมืองที่ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างมากในแถบยุโรปตะวันตกในช่วงต้นและกลางศตวรรษที่ 20 โดยเป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการผลิตแบบอุตสาหกรรม เพราะถึงแม้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับการทำงานของทุนและพลังของตลาดนั้นก็ได้สร้างความไม่เท่าเทียมและทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างชนชั้นในสังคม

เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ถึงแม้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยจะมีจุดหมายหลักเพื่อหาทางบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่เสียเปรียบในระบบทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกันแนวคิดนี้ก็มีลักษณะประนีประนอม กล่าวคือไม่ได้ต้องการล้มล้างระบบทุนนิยมลงอย่างสิ้นเชิง แต่ต้องการให้ทุนนิยมทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวมมากขึ้น และกระจายผลพลอยได้ของทุนนิยมให้ทั่วถึงแก่ทุกคนมากขึ้น

แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ถูกนำมาประยุกต์ปฏิบัติโดยพรรคการเมืองในหลายประเทศ ซึ่งพรรคการเมืองเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค และสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จึงย่อมทำให้สิ่งที่พรรคการเมืองเหล่านี้ได้ทำไปนั้นมีลักษณะต่างกันไปด้วย ประสบการณ์ที่แตกต่างกันของพรรคการเมืองที่ประกาศตัวว่าเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นทำให้ตัวแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยเองมีลักษณะหลากหลายขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นคำว่าสังคมนิยมประชาธิปไตยจึงกลายเป็นคำที่ไม่ได้มีนิยามเคร่งครัดตายตัวมากนัก  แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังพอจะกล่าวถึงลักษณะเด่นของสังคมนิยมประชาธิปไตยได้บางประการ

แนวคิดนี้มีลักษณะประนีประนอม ไม่ได้ต้องการล้มล้างระบบทุนนิยมลงอย่างสิ้นเชิง แต่ต้องการให้ทุนนิยมทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวมมากขึ้น

ประการแรก สังคมนิยมประชาธิปไตยต้องการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อพยายามบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในแง่นี้ สังคมนิยมประชาธิปไตยจึงแตกต่างจากแนวคิดสังคมนิยมแบบอื่นที่ไม่เชื่อว่าการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะทำได้ในกลไกประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่ระบบทุนนิยมและชนชั้นนายทุนใช้กดขี่ชนชั้นอื่นเท่านั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือสังคมนิยมประชาธิปไตยไม่ใช่แนวคิดสุดโต่ง และไม่ได้เรียกร้องให้มีการปฏิวัติโค่นล้มระบบทุนนิยม ดังนั้นพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยจึงยึดมั่นในแนวทางการเคลื่อนไหวตามกลไกประชาธิปไตยเป็นหลัก

ประการที่สอง สังคมนิยมประชาธิปไตยเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบทุนนิยม สามารถทำได้โดยการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจและกำหนดนโยบายบางประการขึ้นเพื่อควบคุมการทำงานของทุนและตลาด แนวนโยบายหลัก ๆ ของพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยจึงมักเน้นให้รัฐมีบทบาทแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจอย่างมาก และเชื่อว่ารัฐจะต้องดำเนินนโยบายทางสังคมในเชิงคุ้มครองสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน เช่น รัฐต้องอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาและการรักษาพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในบางประเทศยังชูนโยบายการยึดเอากิจการหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาเป็นของรัฐ เพราะเชื่อว่ารัฐมีความสามารถมากพอในการจัดสรรทรัพยากรให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม

ความสำเร็จ ความตกต่ำ และการปรับตัวของสังคมนิยมประชาธิปไตย

ในยุโรปตะวันตก กล่าวได้ว่าแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงประมาณทศวรรษ 1950-1960 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในยุโรปเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามครั้งที่ 2 แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยเสื่อมความนิยมลง เพราะความสำเร็จของสังคมนิยมประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง เพื่อให้รัฐมีงบประมาณมากพอจะใช้จ่ายเพื่อแทรกแซงเศรษฐกิจและอุดหนุนนโยบายด้านสวัสดิการ

ปัญหาในช่วงนั้นทำให้สังคมนิยมประชาธิปไตยถูกมองว่าไร้น้ำยา ไม่สามารถหาทางออกจากภาวะวิกฤตดังกล่าวได้  ในขณะเดียวกันกระแสความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ก็ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลมากขึ้น โดยความคิดแบบนี้เชื่อว่ารัฐต้องลดบทบาทต่างๆ ลงและปล่อยให้ระบบตลาดได้ทำงานอย่างเสรี

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจมาเยือนโลกตะวันตกอีกครั้งในช่วงปี 2008 เราก็เห็นแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยกลับมาเป็นที่พูดถึงมากอีกครั้ง

การเสื่อมถอยของแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ทำให้พรรคการเมืองแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อดึงดูดคะแนนเสียง เห็นได้จากการเปลี่ยนแนวคิดมายอมรับการทำงานของระบบตลาดเสรีมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือพรรคแรงงานของอังกฤษภายใต้การนำของโทนี แบลร์ (Tony Blair) ในทศวรรษ 1990 และ 2000 ที่ละทิ้งแนวนโยบายดั้งเดิมหลายประการ โดยเฉพาะการประกาศว่าพรรคจะไม่พยายามยึดเอากิจการขนาดใหญ่ต่างๆ มาเป็นของรัฐอีกต่อไป แต่เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจมาเยือนโลกตะวันตกอีกครั้งในช่วงปี 2008 เราก็เห็นแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยกลับมาเป็นที่พูดถึงมากอีกครั้ง ผู้คนจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่าทุนนิยมที่เสรีเกินไปก็สร้างปัญหาได้มากเช่นกัน กระแสการหันกลับมาสนใจสังคมนิยมประชาธิปไตยอีกครั้งนี้ ทำให้หัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษคนปัจจุบัน คือเจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) ถึงกับประกาศอย่างมั่นใจว่าบัดนี้พรรคของเขาหันกลับมาชูนโยบายที่เคยตกยุคไปแล้วอย่างการนำกิจการขนาดใหญ่มาเป็นของรัฐ

สำหรับประเทศไทยเองนั้น แนวคิดสังคมประชาธิปไตยเป็นที่พูดถึงอยู่เรื่อยๆ ในวงวิชาการและนักกิจกรรม ตั้งแต่ยุคที่พรรคไทยรักไทยมีอำนาจและออกนโยบายช่วยเหลือคนรายได้น้อย ก็มีเสียงเรียกร้องอยู่บ้างในช่วงนั้นว่าทางพรรคควรจะไปไกลกว่านั้น โดยควรจะมุ่งมั่นสร้างรัฐสวัสดิการอย่างจริงจังไปเลย แต่เสียงเหล่านี้ก็แทบไม่มีพลังที่จะสร้างผลกระทบอะไรเป็นวงกว้างได้

ในท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่ทางเลือกในการเมืองไทยมีน้อยลงทุกที ผู้มีอำนาจและชนชั้นนำไทยในปัจจุบันต่างพร้อมใจกันตีกรอบและขีดเส้นทางให้คนไทยเดินตามสิ่งที่กำหนดไว้ การจะพูดถึงทางเลือกใหม่ๆ ในแวดวงการเมืองไทยนั้นก็แทบจะกลายเป็นแค่ความฝันไปแล้ว แต่อย่างน้อยหากเรายังคิดจะแก้ปัญหาอันมากมายของประเทศเรานี้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย การมีแนวคิดและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของประเทศในแบบต่างๆ ให้ถกเถียงกันได้บ้างก็น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เราพอจะยังทำกันได้

Tags: , , , , ,