ชะตากรรมของโรงหนัง stand alone ในประเทศไทยนั้นไม่ต่างจากอาทิตย์อัสดง นั่นคือ ถ้าไม่โดนทุบทิ้งก็ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ตรงข้ามกับอินเดียซึ่งยังมีโรงหนัง stand alone มากมาย แต่ละโรงล้วนมีเอกลักษณ์น่าสนใจ รวมถึงมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

นั่นแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดูหนังในโรงซึ่งอินเดียยังแข็งแรงอยู่มาก เนื่องจากหนังถือเป็นสิ่งบันเทิงราคาถูก (ค่าตั๋วหนังส่วนใหญ่ราคาไม่เกิน 100 บาท) อีกทั้งยังตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้อย่างเต็มที่ ใครอยากได้แนวตลก ดราม่า โรแมนติก แอ็กชั่น มิวสิคัลร้องรำทำเพลง หนังบอลลีวูดเรื่องเดียวให้ได้ครบหมด

ในบรรดาโรงหนังอินเดียทั้งหมด โรงหนังที่โด่งดังและได้รับเสียงชื่นชมในด้านความสวยงามอลังการเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ Raj Mandir Cinema ที่เมืองไจปูร์ (Jaipur) รัฐราชสถาน

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าปัจจุบัน Raj Mandir เป็นมากกว่าโรงหนัง เพราะมันกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองไจปูร์ เป็นโรงหนังระดับ icon ของอินเดีย เป็นแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวมักจะไปเยี่ยมเยือน ทั้งเป็นโรงที่หนังฟอร์มใหญ่ใช้เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ และจัดงานอีเวนต์อีกหลายประเภท นอกจากนั้น ชื่อเสียงของมันยังโด่งดังไปทั่วโลก โดยล่าสุด Raj Mandir ติดอยู่ในรายชื่อ 10 อันดับ The World’s Most Enjoyable Movie Theaters ของเว็บไซต์ CNN

ด้วยสรรพคุณที่มีมากถึงขนาดนี้ ทำให้ผมซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ชอบสำรวจโรงหนังต่างแดน ต้องขีดเส้นใต้สามเส้นกำชับตัวเองว่าห้ามพลาดเป็นอันขาด!

จากข้อมูลที่สืบค้นมา ทำให้ทราบว่าโรงหนังแห่งนี้เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 1976 ด้านนอกเป็นตึกสีชมพูรูปร่างโค้ง และเต็มไปด้วยลายเส้นซิกแซกในสไตล์ Art Deco (มีหลายคนบอกว่าหน้าตาเหมือนขนมเค้ก) มีสโลแกนเขียนไว้หน้าโรงว่า ‘The Showplace of the Nation’ และ ‘Experience the Excellence’ ภายในมีทั้งหมด 1,200 ที่นั่ง ที่นั่งปกติราคา 110, 170 รูปี ที่นั่งพิเศษราคา 300, 400 รูปี (1 รูปีเท่ากับ 0.52 บาท) โรงหนังแห่งนี้ฉายเฉพาะหนังอินเดีย และไม่ต้องเช็กเวลาฉายล่วงหน้า เพราะรอบฉายเหมือนกันทุกวัน นั่นคือ 12.30, 15.30, 18.30, 21.30 โดยจะเปิดขายตั๋วครึ่งชั่วโมงก่อนหนังฉาย ช่องขายตั๋วมีการแยกเป็นช่องหญิง-ชาย และมีช่องขายตั๋วล่วงหน้าสำหรับผู้ที่กลัวว่าที่นั่งจะเต็ม (แม้จะมีมากถึง 1,200 ที่นั่ง แต่ก็มีเหตุการณ์ที่นั่งเต็มอยู่บ่อยครั้ง แถมเวลามีหนังดังมากๆ เข้าฉาย เช่น หนังของชาห์รุก ข่าน ก็เคยเกิดจลาจลแย่งกันซื้อตั๋วมาแล้ว)

พอเดินผ่านประตูเข้ามาด้านในก็พบกับห้องโถงใหญ่ซึ่งอลังการด้วยโคมไฟ พรม ผนัง ขั้นบันได แลดูคล้ายกับห้องเต้นรำในพระราชวัง เช่นเดียวกับด้านในห้องดูหนังซึ่งดูดีด้วยผ้าม่านสีแดงขนาดใหญ่ การใช้แสงสีแปลกตา การตกแต่งผนังและเพดานที่งดงาม ทำให้เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่าโรงหนังแห่งนี้ ‘ใหญ่มาก’ และ ‘หรูหรามาก’ ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด

ระหว่างรอหนังฉาย ผมมองสำรวจผู้ชมคนอื่นๆ พบว่ามีผู้ชมหลากหลายวัย ฐานะ และเชื้อชาติ ทั้งที่มากันทั้งครอบครัว มากับกลุ่มเพื่อน มาเป็นคู่ มาคนเดียว รวมถึงมีนักท่องเที่ยวทั้งแบ็กแพ็กและกรุ๊ปทัวร์มาดูด้วย พิสูจน์ให้เห็นว่าภาพยนตร์ถือเป็นมหรสพของคนทุกชนชั้นได้เป็นอย่างดี

หนังที่ผมกำลังจะดูคือเรื่อง Mubarakan โดยผมไม่ทราบเลยว่ามันเป็นหนังแนวไหน เนื้อเรื่องเป็นอย่างไร ได้คะแนนจากเว็บมะเขือเน่า* เท่าไร กะว่าเข้าไปดูแบบหัวโล่งๆ ไม่รู้อะไรเลยนี่แหละ เซอร์ไพรส์ดี

ปรากฏว่าเซอร์ไพรส์แรกที่ผมเจอคือหนังไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ!

ตอนแรกก็กังวลว่าจะดูหนังรู้เรื่องหรือเปล่า ซึ่งปรากฏว่ารู้เรื่อง เพราะหนังมีเนื้อหาเข้าใจง่าย เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มคู่แฝดที่ต่างกันคนละขั้ว แต่ต้องเผชิญชะตากรรมอันวุ่นวายไม่ต่างกัน คือถูกจับคลุมถุงชนและตามหารักแท้ นอกจากนั้น ตัวละครยังดูแล้วรู้เลยว่าคนนี้เป็นพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวปล่อยมุข ที่ล้วนมีแอ็กติ้งชัดทุกมุมกล้องว่ากำลังรัก โกรธ เกลียด ทำให้ผมติดตามหนังได้อย่างเพลิดเพลิน แม้จะฟังตัวละครในเรื่องคุยกันไม่เข้าใจ

หนังบอลลีวูดนั้นมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนหนังชาติไหน ใครที่คุ้นเคยกับการดูหนังฮอลลีวูดหรือหนังชาติอื่นมาตลอดอาจต้องปรับจูนตัวเองเสียหน่อย ด้วยความที่หนังบอลลีวูดส่วนใหญ่ยาวเกือบ 3 ชั่วโมง ใส่องค์ประกอบต่างๆ แบบครบเครื่อง เน้นเล่นใหญ่และอลังการ โชว์ความตระการตาเต็มที่ มีซีนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลักเต็มไปหมด คนที่ไม่คุ้นชินอาจรู้สึกหงุดหงิดว่าจะใส่ฉากนั้นฉากนี้มาทำไม แต่ถ้าใครปรับตัวเข้ากับสุนทรียะดังกล่าวได้แล้ว ก็จะพบว่านี่แหละสุดยอดความบันเทิง และอาจหลงมันจนโงหัวไม่ขึ้น (แบบเพื่อนผมที่ทุกวันนี้ติดตามดูหนังอินเดียที่เมเจอร์เอกมัยแทบทุกเรื่อง) นอกจากนั้น บางคนอาจยังติดภาพว่าฉากเต้นในหนังบอลลีวูดจะต้องออกมาเชย แต่ที่จริงมันถูกอัปเกรดให้ออกมาดูดีและอลังการแบบสุดยอด จนคนทำ MV หรือคอนเสิร์ตที่เกาหลีหรือฮอลลีวูดยังต้องเรียกตัวทีมงานบอลลีวูดไปช่วยควบคุมอยู่บ่อยๆ

นอกจากดูหนัง การนั่งมองผู้ชมรอบข้างก็ถือเป็นความบันเทิงอีกมิติ เพราะผู้ชมที่นี่มีอารมณ์ร่วมกับหนังแบบเต็มที่ ทั้งหัวเราะเสียงดัง ปรบมือ โห่ร้อง ตะโกนคุยกัน จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นที่ไทยคงมีคนต่อว่า ไม่ก็โดนไล่ออกนอกโรงไปแล้ว แต่ที่นี่ถือเป็นเรื่องปกติ ถือเป็นการดูหนังที่สนุกครบรสทั้งในและนอกจอ
เมื่อหนังกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม จอหนังก็ดับลงเสียงั้น ไม่ใช่ว่าจอเสีย แต่เป็นช่วง intermission (หนังหนังอินเดียยาวมาก จึงต้องมีการพักครึ่งทุกเรื่อง) ผู้คนต่างออกจากโรงไปยังห้องโถงใหญ่เพื่อถ่ายรูปกันอย่างคึกคัก บางคนถ่ายรูปเสร็จแล้วก็กลับออกไปเลย ทำนองว่ามาเพื่อให้ได้สัมผัสบรรยากาศโรงหนังมากกว่าจะมาดูหนัง

เวลา 3 ชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว และด้วยค่าตั๋วราคาไม่ถึง 100 บาท ต้องถือว่าคุ้มแสนคุ้ม เมื่อเทียบกับโรงและจอหนังสุดอลังการ กับหนังที่สนุกและยาวถึงขนาดนี้ นอกจากนั้น มันยังไม่ใช่แค่การดูหนัง แต่มันเป็นประสบการณ์ทางภาพยนตร์ที่ต่อให้ 4Dx หรือ IMAX ก็ให้คุณเท่านี้ไม่ได้
หลังจากดูหนังจบ ผมคิดถึงโรงหนัง stand alone ที่บ้านเกิดซึ่งถูกทุบทิ้งไปแล้ว และจินตนาการไปว่าหากมีไทม์แมชชีน ผมอยากจะย้อนเวลากลับไปนั่งดูหนังในโรงนั้นอีกสักครั้ง

 

*หมายถึงเว็บไซต์ rottentomatoes.com
ภาพ: บดินทร์ เทพรัตน์, ปรัชญา ประมูล และเรวดี งามลุน

FACT BOX:

  • ใครที่สนใจอยากดูหนังบอลลีวูด สามารถรับชมได้ที่เมเจอร์ซีเนเพล็กซ์ สุขุมวิท เซ็นทรัล พระราม 3 เซ็นทรัล พัทยา หนังทุกเรื่องเป็นหนังใหม่ที่เข้าฉายพร้อมอินเดีย
  • ปัจจุบัน การเดินทางสู่ไจปูร์ง่ายขึ้น ด้วยสายการบินโลว์คอสต์อย่าง Thaismile และ Air Asia (กำลังจะเปิดเส้นทางเร็วๆ นี้) รวมถึงสายการบินของอินเดียอีกมากมาย นอกจากนั้นยังสามารถนั่งรถไฟหรือรถบัสจากเมืองเดลีไปได้ โดยใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง
Tags: , , , , ,