การทำธุรกรรมทางการเงินในวันข้างหน้า ในวันที่เราไม่ต้องพกเงินสดให้กระเป๋าสตางค์ตุงกางเกงอีกต่อไป เราอาจมีแค่บัตรใบเดียว หรือใช้สมาร์ตโฟนเครื่องเดียวทำธุรกรรมทางการเงินในทุกรูปแบบ เด็กรุ่นหลังอาจไม่เคยเห็นหน้าตาของธนบัตรใบละ 20 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาทว่าเป็นอย่างไร และการหยิบจับธนบัตรขึ้นมาจ่ายเงินกลายเป็นเรื่องไม่ปกติเสียแล้ว

สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่เราได้ยินคนพูดถึงทุกวันบนหน้าหนังสือพิมพ์เซ็กชันธุรกิจ บนนิวฟีดส์ของนักการธนาคาร และทุกงานสัมมนาเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ทำให้เราต้องตื่นตัวและปรับตัวขนาดไหน ภาพใหญ่ของสังคมไทยพร้อมหรือยังกับสังคมไร้เงินสด ส่วนตัวเราพอจะเข้าใจมันมากน้อยแค่ไหน มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้างที่ใช้ได้ มาเรียนรู้กันในวันนี้เพื่อเตรียมพร้อมในวันข้างหน้า

 

ทำความเข้าใจสังคมไร้เงินสด

แนวคิดเรื่องสังคมไร้เงินสดมีการพูดกันเป็นครั้งแรกในวงการธนาคารช่วงยุค 1950s ว่าด้วยความสำคัญของเงินสดจะลดลง และถูกแทนที่ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และการโทรคมนาคมในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้นับแต่นั้นมา ระบบการชำระเงินของโลกได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการมุ่งไปใช้ e-Payment หรือบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดกันมากขึ้น

หนึ่งในเครื่องมือที่เราคุ้นเคย คือการใช้ ‘บัตรเดบิต’ ในการชำระเงิน พฤติกรรมของคนมีบัตรเดบิตนิยมนำไปกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อชำระค่าบริการและสินค้ามากกว่าที่จะรูดจ่ายกับร้านค้าโดยตรง นั่นเพราะความแพร่หลายของเครื่องรูดบัตรยังมีน้อย ส่วนหนึ่งกระจุกตัวอยู่ในโมเดิร์นเทรดและห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ แต่ไม่ค่อยเจอในร้านค้ารายย่อย เพราะทั้งต้นทุนการติดตั้งเครื่องรูดบัตรที่สูง และร้านค้ายังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเสียค่าธรรมเนียมที่ 1.5-2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อรายการ

อีกส่วนที่เกิดขึ้นและกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ได้แก่ การให้บริการ e-Wallet เช่น Apple Pay, Samsung Pay หรือถ้าในไทยก็อย่าง m-Pay, True Money และ Rabbit แต่จุดอ่อนของผู้ให้บริการเหล่านี้คือ มีลักษณะเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มลูกค้าของตัวเอง ทำให้การใช้งานค่อนข้างจะถูกจำกัด และอาจเกิดความสับสนในการใช้งาน ที่คนใช้ต้องคอยดูว่าร้านค้าหรือบริการนี้สามารถใช้ e-Wallet ของเจ้าไหนได้บ้าง

 

อีกด้านก็กังวลว่าเราจะสูญเสียความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมทางการเงินหรือไม่ เพราะธนาคารและหน่วยงานของรัฐจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้

มีการวิเคราะห์กันว่า ข้อดีของ e-Payment จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างรวดเร็ว และฟื้นตัวจากความซบเซาได้เร็วกว่าเดิม เพราะคนอาจจะตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายกว่าการถือเงินสด และยังมีข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องเส้นทางการเงิน รัฐสามารถตรวจสอบที่มาที่ไป รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีที่มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการลดต้นทุนที่แอบแฝงในการบริหารจัดการเงินสดของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยงต่อการสูญหาย การขนส่ง และการจัดเก็บรักษา อย่างที่สมาคมธนาคารไทยประมาณการณ์ว่า ระบบ e-Payment จะช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้มากกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี ไม่นับว่าต้นทุนในการพิมพ์ธนบัตรที่ใช้กระดาษอย่างดี ฉีกขาดยาก ราคากระดาษมีแต่จะสูงขึ้น

ขณะที่อีกด้านก็กังวลว่าเราจะสูญเสียความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมทางการเงินหรือไม่ เพราะธนาคารและหน่วยงานของรัฐจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้ รวมไปถึงความไม่มั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัยของระบบการเงินออนไลน์ต่างๆ

 

สังคมไร้เงินสดกับเมืองไทย

ถ้าดูตัวอย่างต่างประเทศ เช่นในยุโรป ที่เบลเยี่ยมมีการใช้จ่ายไร้เงินสดสูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสวีเดนก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศเหล่านี้เริ่มรื้อถอนตู้เอทีเอ็มออกจากพื้นที่ต่างๆ แล้ว เพราะการทำธุรกรรมหายไป และมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านเงินสดลดเหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

หากมองมาที่เอเชีย ประเทศที่เราเห็นชัดที่สุดและสัมผัสได้นั่นคือประเทศจีน เพราะตัวเลขการขยายตัวของ e-Payment เป็นไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันราวๆ 60 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริโภคชาวจีนใช้จ่ายผ่านช่องทาง e-Payment เป็นหลัก โดยมีสองผู้เล่นรายใหญ่อย่าง อาลีเพย์ (Ali Pay) และ วีแชทเพย์ (WeChat Pay) ซึ่งตอนนี้ถ้าเราไปตามหัวเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ จะเห็นว่าร้านค้าหลายรายมีอาลีเพย์ไว้ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนกันแล้ว

กลับมาที่เมืองไทย หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment เพื่อปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของระบบธนาคารในประเทศ และได้เปิดตัวบริการโอนเงินและรับเงินที่เรียกว่าพร้อมเพย์ (Prompt Pay) อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนโดยใช้แค่เลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ทำธุรกรรมทางเงินกับธนาคารได้

หลังจากนำร่องพร้อมเพย์ให้คนทั่วไปคุ้นเคยกับระบบการใช้งานแล้ว เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 60 ที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดตัวมาตรฐาน QR Code กลางของประเทศ เพื่อการชำระเงินแบบง่ายๆ แค่สแกนจากสมาร์ตโฟน

 

ทำไมต้อง QR Code

QR Code ย่อมาจาก Quick Response Code เป็นลักษณะของรหัสเก็บข้อมูลส่วนตัวทางการเงินของเรา ซึ่งพัฒนามาจากบาร์โค้ด แต่ทันสมัยกว่า ใช้งานง่ายและเก็บข้อมูลได้มากขึ้น มีเพียงสมาร์ตโฟนเครื่องเดียวเป็นตัวสแกนอ่าน QR Code ในการชำระเงิน ไม่ต้องควักเงินสด ไม่มีการถามชื่อนามสกุล เบอร์บัญชี หรือแม้แต่เบอร์โทรศัพท์มือถือ

ขณะที่แนวโน้มการใช้สมาร์ตโฟนในเมืองไทยก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของเมืองไทยมีมากถึง 44 ล้านราย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยหวังว่า QR Code จะเป็นเครื่องมือยกระดับและผลักดันประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเหมือนหลายประเทศชั้นนำทั่วโลก

สำหรับข้อดีของการมี QR Code แบบมาตรฐานเดียวนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการชำระเงินในประเทศไทย ทำให้ประชาชนและร้านค้าเข้าถึงได้ง่าย เพิ่มช่องทางการชำระเงินให้มีความสะดวก ความปลอดภัย ให้ความเป็นส่วนตัว และนำไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินได้หลากหลาย

ความง่ายอีกอย่างของการชำระเงินผ่าน QR Code คือร้านค้าสามารถไปขอ QR Code ได้ที่สาขาของธนาคาร ยิ่งเป็นลูกค้าของธนาคารอยู่แล้วและมีบัญชีที่ผูกพร้อมเพย์ไว้ ก็แค่นำบัตรประชาชนไปแสดง ก็จะได้ QR Code มาตั้งไว้ที่ร้านแบบฟรีๆ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

ข้อดีของการมี QR Code แบบมาตรฐานเดียวนั้น จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการชำระเงินในประเทศไทย ทำให้ประชาชนและร้านค้าเข้าถึงได้ง่าย

เมื่อมีที่สแกน QR Code แล้ว เวลามีคนมาซื้อของ ก็เพียงแค่ให้สแกนเพื่อจ่ายเงิน แล้วเงินก้อนนั้นจะถูกโอนเข้าสู่บัญชีของร้านค้าทันที ส่วนฝั่งผู้ใช้บริการ นอกจากสมาร์ตโฟนแล้ว ต้องมีบัญชีอินเทอร์เน็ตที่ผูกไว้กับพร้อมเพย์ บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตก็ได้ และอย่าลืมโหลดแอปพลิเคชันของธนาคารไว้ด้วย ที่สำคัญ การโอนเงินต่างธนาคารก็ไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท นั่นจึงทำให้ QR Code เหมาะกับร้านค้ารายเล็ก วินมอเตอร์ไซค์ รถสามล้อ เป็นต้น

 

เมื่อแบงก์แย่งชิงลูกค้าไร้เงินสด

ในกลุ่มห้าธนาคารใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และออมสิน ก็ตื่นตัวกับระบบการชำระเงินผ่าน QR Code โดยเข้าร่วมโครงการ Regulatory Sandbox (โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีขึ้นเพื่อกำกับดูแลและทดสอบระบบให้เกิดความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ใช้งาน

ทั้งก่อนหน้าและหลังออก Regulatory Sandbox ธนาคารแต่ละแห่งต่างก็ช่วงชิงฐานลูกค้ากันอย่างหนักหน่วง เช่น ธนาคารกรุงเทพที่ทดลองชำระเงินผ่าน QR Code ในย่านตลาดละลายทรัพย์และตามตลาดในหัวเมืองใหญ่ เช่นที่เชียงใหม่และขอนแก่น ขณะที่กสิกรไทยก็เปิดตัวบริการ K Plus บุกแหล่งช้อปปิ้งสำคัญเช่น สยามสแควร์ ตลาดนัดจตุจักร และแพลตตินัม ประตูน้ำ

ขณะที่ไทยพาณิชย์เปิดตัวแคมเปญ SCB Easy Pay พร้อมกับคาแรกเตอร์ ‘แม่มณี’ เพื่อสร้างการจดจำและเป็นจุดเด่นในการให้ร้านค้าหันมาใช้บริการชำระเงินผ่าน QR Code กับทางธนาคารมากขึ้น พร้อมเลือกเดินลุยแหล่งตลาดสำคัญเช่น ตลาดนัดจตุจักร แพลตตินัม สยามสแควร์ รวมทั้งวินมอเตอร์ไซค์ และรถแท็กซี่ ขณะที่ในโซนหัวเมืองต่างจังหวัดก็เลือกจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เช่น หาดใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ขณะนี้ภาพรวมของระบบการชำระเงินผ่าน QR Code ค่อนข้างพร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางธนาคารหรือร้านค้า เหลือแต่ทางผู้ใช้งานที่จะยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปล่า

“ปีหน้าเป็นปีที่วัดดวงเลยว่าจะมีการใช้แค่ไหน จะเห็นว่าโมเดลธุรกิจมันพร้อมอยู่แล้ว แบงก์มีระบบที่พร้อม มีร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นแสนราย อยู่ที่คนใช้ว่าจะพร้อมแค่ไหน คือมันเกิดแน่ แต่สเกลไหนไม่รู้ เหมือนกับปลูกต้นไม้ อยู่ในอากาศดี มีปุ๋ยดี แต่ต้องลุ้นว่าต้นไม้จะงอกหรือไม่”

ปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์มีร้านค้าที่เข้าร่วมการระบบการชำระเงินผ่าน QR Code อยู่ราวๆ 50,000 ราย คาดว่าสิ้นปีจะมีถึง 200,000 ราย ขณะที่ในปีหน้าตั้งเป้าไปถึง 700,000 ราย อะไรคือเหตุผลที่หลายแบงก์ต่างช่วงชิงลูกค้าให้หันมาใช้ระบบการชำระเงินผ่าน QR Code

“แบงก์อยากได้บัญชีหลักจากร้านค้า ถ้าได้มา เงินฝากสูงขึ้นแน่นอน แล้วมันจะกลายเป็น Big Data ที่สำคัญ เราจะเห็นการทำธุรกรรมของเขา เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ลูกค้าได้ง่ายขึ้น สามารถชวนเขาขยายบริการทางการเงิน เช่น การกู้เงิน การซื้อกองทุน เป็นต้น” ธนาให้ความเห็น

ขณะที่เสียงจากพ่อค้าแม่ค้า อย่าง ‘จุ้ย’ ร้านขายโทรศัพท์มือถือในตลาดมาลิน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านค้าที่รับจ่ายเงินผ่าน QR Code ก็ให้ความเห็นว่า “ใช้งานง่าย สะดวกสบายมาก โอนเงินไปบัญชีอื่นก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เราก็ชอบตรงนี้ ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องขับรถไปแบงก์ เสียเวลา เสียค่าน้ำมัน ประหยัดรวดเร็ว เงินเข้าออก เราก็รู้หมด”

สอดคล้องกับ กัณณิกา บัวจีน ผู้จัดการศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง “เราก็เริ่มทดลองใช้ และกำลังปรับตัว ก็รู้สึกว่ารวดเร็วขึ้น ไม่ต้องถือเงินสดไปธนาคารทุกวัน มีความปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนหลายอย่าง แล้วไม่ต้องเสียเวลาให้พนักงานเดินทางไปธนาคาร”

“ทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้ลูกค้าไม่ค่อยอยากถือเงินสด เราก็ไม่เสียโอกาสในทางธุรกิจ แต่คนไทยตอนนี้อาจยังชินกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากกว่า แต่เชื่อว่าในอนาคต คนรุ่นใหม่จะจ่ายเงินผ่าน QR Code ได้คล่องมากขึ้น”

ต้องจับตาดูว่า รูปแบบการชำระเงินผ่าน QR Code จะเป็นเครื่องมือให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดได้เร็วมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยๆ ภายในปีสองปีนี้ คงจะเริ่มเห็นแนวโน้มพฤติกรรมการชำระเงินมากขึ้น อยู่ที่คนใช้งานอย่างเราๆ ว่าพร้อมจะปรับตัวให้ทันโลกหรือยัง

 

 

ภาพประกอบบทความหน้าแรกโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

Tags: , , , , ,