จากนักเขียนสำนวนฉวัดเฉวียน ผู้ปลุกกระแสเรื่องสั้น ‘โพสต์โมเดิร์น’ ในไทย แม้อาจโดยไม่ตั้งใจ และแอบชังในนิยาม แต่คำนี้ก็โบกโบยในวงการวรรณกรรมอยู่พักใหญ่ๆ

จากนักเขียนหนุ่มวัย 29 ปีผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2545 หลังจากเข้าวงการนักเขียนได้ไม่นาน แน่นอนว่าในตอนนั้นเขาคงได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับรางวัลที่ได้ และการคาดการณ์อนาคตในฐานะนักเขียนที่ประสบความสำเร็จเร็วเกินคาด

ในวันนี้ ปราบดา หยุ่น ในวัย 44 ปี ได้รับรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ ‘ผู้ธำรงไว้ซึ่งศิลปะ’ ในสาขาวรรณศิลป์ สิ่งที่เราอยากชวนคุยมากที่สุดกลับเป็นการมองย้อนอดีตสำรวจดูตัวตนของเขาในหน้ากระดาษนับพันที่ประกอบร่างให้เขาเป็น ‘ปราบดา หยุ่น’ ในสายตาของนักอ่านปัจจุบัน และมุมมองที่ทำให้เขายังธำรงความเป็นนักเขียนไว้ในตัว

วัยหนุ่ม

วัยเปลี่ยน งานเขียนเปลี่ยน หากให้รีวิวผลงานตัวเองกว่า 15 ปีมานี้ ปราบดาคิดว่าเขามีแรงขับในการเขียนน้อยลงกว่าเก่า

“เราคิดว่ายุคแรกๆ สนุกกว่า มีความเป็นคนหนุ่ม ความเป็นคนไม่แคร์โลก อยากจะบอกอะไรก็บอก ไม่ค่อยรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมอะไรเท่าไหร่ (ยิ้ม) ไม่รู้และไม่สนใจด้วย เราคิดว่าตอนยุคแรกๆ เป็นยุคที่รู้สึกฟรีมากในการนำเสนอเนื้อหา หรือมุมมองเกี่ยวกับโลกหรือสังคม”

สาเหตุส่วนหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะปราบดาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่มัธยมปลายจนจบปริญญาตรี สาขาศิลปะ ที่ The Cooper Union ในปี 2540 แล้วจึงกลับมารับราชการทหาร การเติบโตในช่วงวัยหนุ่ม ของเขาจึงเหินห่างบรรยากาศและเงื่อนไขแบบ ‘ไทยๆ’         

“ตอนที่เริ่มเขียนหนังสือใหม่ๆ เป็นช่วงที่กลับมาทำความรู้จักกับสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง เป็นการทำความรู้จักโดยที่ไม่เกรงใจสังคมเท่าไหร่” เขายิ้มหรี่ตา “แต่พออยู่ที่นี่มาสักพักหนึ่ง เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากขึ้น ไม่ได้มีแรงขับที่อยากจะเขียนเยอะๆ แบบในยุคแรก แต่ต้องการที่จะใช้เวลากับงานมากขึ้น หรือศึกษาอะไรบางอย่างที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เราคุ้นชิน”

งานเขียนของเขาในยุคเฟื่องฟูมีทั้งงานเรื่องสั้น นวนิยาย และความเรียง ซึ่งหลายส่วนวิพากษ์สังคม พฤติกรรมผู้คน มาพร้อมกับความจัดจ้านทางภาษาและลีลาการจิกกัดมีชั้นเชิง ซึ่งนั่นอาจเป็นภาพแทนวัยหนุ่มของปราบดาที่เราต้องตั้งคำถามไปว่า เขินบ้างไหมเมื่อย้อนมองตัวเองในวัยนั้น

“เขินๆ บางอย่างก็ทึ่ง บางอย่างก็เขิน บางทีเรากลับไปอ่านงานเก่า เราก็ทึ่งในความมีพลังของมัน ซึ่งเดี๋ยวนี้เราไม่มีแล้ว เหมือนกับวัยที่เด้งออกมาจากเตียงตอนเช้าแล้วอยากพุ่งออกไปทำโน่นทำนี่ เมื่อเทียบกับเดี๋ยวนี้ เป็นวัยที่นอนกลิ้งอยู่สักประมาณสองชั่วโมง (หัวเราะ) ค่อยลุก”

ทดลอง

แต่ถึงจะพูดอย่างนั้น ปราบดา หยุ่น ยังคงมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานเขียน งานแปล งานออกแบบ และงานภาพยนตร์ ซึ่งหลายคนยังจับตามอง เตรียมลุ้นผลลัพธ์จากบทบาทที่ไม่ชินตา บ้างก็เป็นการทดลองทักษะใหม่ๆ ที่เขาเพิ่งเริ่มเรียนรู้ ผลตอบรับมีทั้งเชิดชูและวิพากษ์เจ็บๆ

แล้วการเขียนหนังสือของเขาในวัยนี้ยังเป็นงานทดลองหรือไม่

“คำว่าทดลอง หลายคนอาจจะนึกว่าเป็นการทดลองทางภาษา อย่างการเล่นคำ แต่สำหรับเรา การทดลองมันมีหลายมิติ เนื้อหาก็ทดลองได้ การนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างออกไปจากที่คุ้นชิน หรือต่างไปจากสิ่งที่ตัวเราเองสนใจมันก็เป็นความท้าทาย ซึ่งสำหรับเราถือว่าเป็นการทดลองเหมือนกัน”

งานเขียนของเขาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหากไม่นับรวมงานแปลวรรณกรรม กลับเน้นหนักไปทางความเรียง และ non-fiction เช่น ตื่นบนเตียงอื่น ซึ่งสำรวจความคิดทางปรัชญาและธรรมชาติ และ ดอกไม้ที่ไม่สวย ที่เขียนถึงมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไปไกลกว่าขอบเขตศิลปะที่เขาศึกษามาโดยตรง         

“เราไม่แน่ใจว่าในมุมของคนอ่านจะรู้สึกยังไง แต่เราก็คิดว่ายังเป็นงานทดลองอยู่ เพราะว่าเราพยายามที่จะเขียนหรือนำเสนอสิ่งที่เราไม่ได้ถนัด พยายามศึกษาเพิ่มเติม พลิกแพลงเนื้อหาหรือวิธีเขียนไปในแต่ละงานด้วย ไม่ให้มีสูตรสำเร็จมากเกินไป เพราะตัวเราไม่ค่อยโอเคกับการทำงานด้วยความเคยชิน”

เวลา

ปราบดามีประสบการณ์ทำงานทั้งการเป็นหุ้นส่วนผู้ก่อตั้งร้านหนังสือ Bookmoby ในอดีต เคยดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และยังได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (APPA) ในเวลาต่อมา (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2013-2017) อีกทั้งปัจจุบันเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่นและไต้ฝุ่นสตูดิโอ และกำลังขมักเขม้นทำงานกำกับภาพยนตร์เรื่องที่สองในชีวิต (ภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Motel Mist)

เวลาที่เขาจัดสรรให้งานเขียนคงมีไม่มากนักอย่างวันก่อน เขาพยักหน้าตอบรับหนักแน่นด้วยรอยยิ้ม         

“ลดน้อยถอยลงไปเยอะครับ เมื่อก่อนเขียนทุกวัน จะเรียกว่าตลอดเวลาก็ได้นะ เมื่อก่อนก็มีงานที่เกี่ยวข้องเยอะกว่าสมัยนี้ เช่นมีคอลัมน์ตามนิตยสารรายปักษ์ รายเดือน รายสัปดาห์ ยุคแรกๆ เราจะมีงานแบบนั้นเยอะ ซึ่งมันทำให้เราต้องเขียน พอเราไม่ได้ทำงานแบบนั้นแล้ว แต่ทำงานอื่นไปด้วยหลายอย่าง เช่น งานออกแบบ งานแทรกต่างๆ ก็ลดทอนเวลาในการเขียนลงไป ตอนนี้เขียนเมื่อตั้งใจจะเขียน”

แล้วยังสนุกกับงานเขียนหรือเปล่า เขาลังเลก่อนตอบ         

“เอ้อ… ก็สนุก แต่ว่า เรามีความอยากที่จะเขียนน้อยลง ชอบคิดเรื่อง ชอบคิดพล็อต ชอบคิดประเด็น แต่ว่าความอยากที่จะเขียนมันออกมาจริงๆ มีน้อยลง”

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ต้องห่วง ปราบดาบอกว่า หากเป็นไปได้ ภายในงานหนังสือเดือนตุลาคมปีนี้ จะมีผลงานเขียนเล่มใหม่ในสายฟิกชันออกมาให้อ่านกัน

“ไม่ได้เขียนฟิกชันมานานเหมือนกันครับ น่าจะเกิน 5 ปี ซึ่งนานมาก สิ่งที่กำลังเขียนก็มีความเชื่อมโยงกับความสนใจช่วงหลังๆ ของเรา ซึ่งก็คือวิทยาศาสตร์และปรัชญา”

แม้นับรวมๆ แล้ว หนังสือรวมเล่มของปราบดาจะมีสัดส่วนจำนวน fiction กับ non-fiction ไม่แตกต่างกันนัก แต่ปราบดาบอกว่าเขาชอบงาน fiction มากกว่าแน่นอน

“เพราะมันไม่มากำหนดกรอบคิดของคนอ่านมากเท่ากับงาน non-fiction เนื่องจากว่า non-fiction ที่ดีก็คืองานเขียนที่ต้องมีประเด็นตรงไปตรงมา ต้องมีบทสรุปที่ชัดเจน แต่ว่างาน fiction สำหรับเรามันเปิดกว่า เรารู้สึกว่าการที่คนอ่านได้ตีความเองในหลายๆ เรื่อง มันมีประโยชน์มากกว่าการที่เขาจะได้อ่านอะไรที่เป็นการเทศนา หรือเป็นการกำหนดวิธีคิดให้กับคนอย่างชัดเจนเกินไป”

เดินทาง

ถึงแม้แรงดลใจให้ผลิตผลงานใหม่ๆ จะมีน้อยลง แต่ผลงานโดดเด่นในอดีตของเขาอย่างความน่าจะเป็นก็มีโอกาสได้เดินทางข้ามภาษา (โดยการแปลของ มุ่ย ภู่พกสกุล) และเดินทางข้ามทวีปสู่ประเทศอังกฤษ ในชื่อ The Sad Part Was พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Tilted Axis ในเดือนมีนาคม ปี 2017 หนังสือเล่มแปลนี้ได้รับเลือกจาก The Guardian ให้เป็นหนังสือที่น่าจับตามองในปี 2017 และกำลังจะได้รับการพิมพ์ซ้ำ

“ที่จริงต้องบอกว่าเครดิตแทบทั้งหมดน่าจะมาจากคนแปล คุณมุ่ย เพราะว่าเราเองไม่ได้ผลักดันด้านนั้นเลย ไม่ได้กระตือรือร้นจะแปลงานของตัวเองเป็นภาษาอังกฤษแล้วนำไปเสนอต่างประเทศ แต่คุณมุ่ยเขาเลือกเล่มนี้เพื่อเป็นผลงานแปลของเขา และหลังจากนั้นเขาก็เป็นคนไปบุ๊กแฟร์ เพื่อจะคุยกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ทำให้สำนักพิมพ์สนใจพิมพ์งานของเรา ขั้นตอนทั้งหมดแทบจะไม่เกี่ยวกับเราเลย ต้องขอบคุณเขาที่ทำให้งานเราไปถึงจุดนั้นได้”

แต่ปราบดากลับไม่คิดว่าชื่อของเขาจะโด่งดังในระดับสากลได้ง่ายนัก

“การ ‘โกอินเตอร์’ ในงานวรรณกรรมมันยาก มันต้องผ่านขั้นตอนที่ค่อนข้างจะซับซ้อนกว่างานทัศนศิลป์ประเภทอื่น เพราะว่าการเสพศิลปะด้วยภาพ เป็นสิ่งที่ง่ายกว่า สากลกว่า วรรณกรรมมีภาษาเป็นกำแพงอยู่ ซึ่งมันยากที่จะข้าม ต่อให้เราได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ได้พิมพ์ในประเทศอังกฤษแล้วก็ตาม มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระจายไปทั่วโลก แล้วกลายเป็นงานที่คนทั่วโลกได้อ่าน ยังต้องผ่านอะไรอีกมากมาย”

ตัวตน

ในบรรดาผลงานเกือบสามสิบเล่มในช่วงเวลามากกว่าสิบปี ปราบดาจะแนะนำเล่มไหนให้กับผู้ที่เพิ่งมารู้จักชื่อของเขาในวันนี้

เขาหันไปมองหนังสือที่จัดเรียงแสดงอยู่บนชั้นครู่หนึ่ง

“คงเป็น ‘ความน่าจะเป็น’ นะ ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าตัวเองห่างออกมาจากความน่าจะเป็นพอสมควรแล้วในวัยนี้ แต่ว่าอย่างน้อย ‘ความน่าจะเป็น’ ก็เป็นหนังสือที่สะท้อนตัวตนของเรา เพราะว่ามันมาจากชีวิตจริงหลายเรื่อง

“ช่วงหลังๆ ที่เขียนหนังสือ เราใช้ชีวิตจริงบ้าง ใช้ประสบการณ์จริงบ้าง แต่ก็น้อยลง เพราะเมื่อชีวิตมันมีระบบแล้ว ทำงานแล้ว โตขึ้นแล้ว มันก็มีเรื่องอื่นๆ ต้องคิด ก็ไม่ค่อยได้เผชิญอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก วัตถุดิบที่เข้มข้น ซึ่งสามารถนำมาเขียนหนังสือได้นั้นมักจะมาจากช่วงวัยรุ่นและวัยเด็กที่กำลังเติบโตมากกว่า”

รางวัล

ตั้งแต่ซีไรต์จนถึงศิลปาธร ปราบดารู้สึกอย่างไรกับรางวัลต่างๆ ที่เขาได้รับ

“เราหนักใจกับการได้ทุกรางวัล ถ้าพูดตามตรง เราไม่ได้ยึดติดกับคำว่ารางวัลมาก แม้แต่งานที่เราชอบหรือคนที่เราติดตามผลงานอยู่เรื่อยๆ เราก็ไม่ได้สนใจเขาเพราะว่าเขาได้รางวัล ในฐานะคนทำงาน เราก็อยากให้คนอ่านอ่านหนังสือเพราะเขาเจอคุณค่าอะไรบางอย่างในงานของเรามากกว่า รางวัลมันมาพร้อมกับมายาคติบางอย่าง บางคนอาจจะคิดว่าคนที่ได้รางวัลแปลว่าเป็นคนที่น่ายกย่องเชิดชูโดยปริยาย ซึ่งจริงๆ แล้วรางวัลเป็นการตัดสินโดยกลุ่มคนเล็กๆ”

ปราบดาเว้นช่วง แล้วพูดต่อ

“แต่ว่าในความหนักใจ เราขอบคุณทุกครั้งที่ได้รางวัล เพราะว่าสำหรับเรา มันเป็นเหมือนกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ จากคนในแวดวงเดียวกัน”

เสรีภาพ

รางวัลสนับสนุนและให้กำลังใจการทำงาน แต่เสรีภาพก็สำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป ปราบดาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า

“การเข้าใจและยอมรับความหลากหลายว่ามีอยู่จริงในสังคม เป็นปัจจัยสำคัญของงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ แน่นอนว่างานศิลปะมีหลายแบบ มีแม้แต่งานศิลปะตามขนบและอยู่ในจารีต แต่การสร้างสิ่งใหม่ให้สังคมต้องมาจากการทดลองและต้องมีพื้นที่ที่ให้เสรีภาพในการแสดงออก ถ้าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่ต้องการพัฒนาตัวเองและให้โอกาสศิลปินได้ทำงานสร้างสรรค์ การปกครองที่กีดกั้นหรือลิดรอนเสรีภาพก็กีดกั้นลิดรอนโอกาสที่จะพัฒนาศิลปินและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของชาติไปด้วย

“แน่นอนว่าคนทำงานศิลปะที่ต้องการความเปิดกว้างและการแลกเปลี่ยนทางความคิดโดยไม่ต้องถูกบังคับหักห้ามด้วยกำลัง ย่อมอึดอัดภายใต้บรรยากาศที่ถูกควบคุมและไม่จริงใจเรื่องความยุติธรรม แต่ก็อาจจะเป็นแรงผลักให้ทำงานที่น่าสนใจได้เช่นกัน เพียงแต่เราไม่คิดว่าสังคมจำเป็นต้องถูกควบคุมอย่างไร้เหตุผลเพื่อให้ศิลปินได้ผลิตงานเข้มข้น เราอยากอยู่ในสังคมที่ทุกคนและทุกอาชีพมีโอกาสสร้างสรรค์อย่างเสรีมากกว่า”

 

 

ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

Tags: , , ,