“ในโลกนี้มีทั้งความงดงามและความอับอาย” เป็นประโยคที่ซิกมุนต์ บาวมัน (Zygmunt Bauman) นักปรัชญา นักสังคมศาสตร์ชาวโปล ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมามักหยิบยกมากล่าว เมื่อเล่าถึงประสบการณ์ของตนเอง เขาหมายถึงความงดงามของชีวิต ความคิด และความอับอายจากอำนาจ

ซิกมุนต์ บาวมัน เป็นเจ้าของผลงานหนังสือแนวปรัชญาคนหนึ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (Pope Francis) ทรงติดตาม บุคคลทั้งสองเคยพบเจอกันเมื่อปี 2016 ที่เมืองอัสซีซี อิตาลี นักปราชญ์วัยชราเคยกล่าวชื่นชมสมเด็จพระสันตะปาปา ด้วยประโยคเปรียบเทียบว่า พระองค์คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเคยตรัสกับพระสหาย 2-3 ครั้งว่า พระองค์ปรารถนาจะมีชีวิตแบบ ‘หนู’ ที่อยู่แต่ในบ้านของตนเอง และไม่ต้องสุงสิงกับใคร โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เหมือนช่วงหนึ่งในปี 1975 ที่พระองค์ทรงโปรดและคุ้นเคย ระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิการเจ้าคณะแขวงคณะเยสุอิตในต่างจังหวัดของอาร์เจนตินา

ตอนนั้นเคยมีคนแนะนำให้พระองค์เสด็จไปพักผ่อนที่ทะเล แต่เพราะสถานการณ์ในประเทศไม่ค่อยสงบ พระองค์จึงทรงอยู่แต่ในที่ประทับ หรือแม้แต่ช่วงที่พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล ต้องเดินทางไปกรุงโรม พระองค์ก็เสด็จต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่เคยทรงโปรดที่จะประทับอยู่ในเมืองหลวงนานๆ

ตกค่ำเมื่อแล้วเสร็จจากภารกิจ พระองค์มักเสด็จกลับในทันที หรือไม่ก็ในวันรุ่งขึ้น ช่วงฤดูร้อนก็เช่นกัน เวลาปฏิบัติหน้าที่ของสมเด็จพระสันตะปาปาไม่เคยเปลี่ยนแปลง บทบาทและความรับผิดชอบที่หนักมักส่งผลให้พระองค์บรรทมหลับไม่ค่อยสนิท

พระองค์ไม่โปรดทีวี ทรงเหลือเพียงอย่างเดียวที่พอพึ่งได้ นั่นคือการอ่านหนังสือ

ห้องสมุดของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสไม่ได้มีเฉพาะหนังสือแนวปรัชญาหรือศาสนาเท่านั้น หากยังมีหนังสือนิยายคลาสสิกอย่าง I Promessi sposi (The Betrothed) ของอเลสซานโดร มันโซนี (Alessandro Manzoni) ซึ่งพระองค์ทรงอ่านแล้วไม่ต่ำกว่าสามรอบ นอกจากนั้น ยังมีงานเขียนของดังเต (Dante) ดอสโตเยฟสกี (Dostoyevsky) บรูซ มาร์แชลล์ (Bruce Marshall) และโดยเฉพาะผลงานของ ฮอร์เก ลูอิส บอร์เกส (Jorge Luis Borges) พระองค์ทรงใช้เวลาเพลิดเพลินกับหนังสือเหล่านี้ในยามว่างจากภารกิจหรือการสวดมนต์

 

ในช่วงทศวรรษ 1970s แบร์กอกลิโอ (สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส) ไม่ได้เป็นทั้งวีรบุรุษหรือผู้ร่วมสมคบคิดในเหตุการณ์ความวุ่นวายของอาร์เจนตินา

พูดถึงหนังสือ มีอยู่เล่มหนึ่งซึ่งไม่แน่ใจว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงอ่านหรือโปรดปรานหรือไม่ ชื่อเล่ม El Silencio จากปี 2005 เขียนโดยโอราซิโอ แบร์บิตสกี (Horacio Verbitsky) นักข่าวอาร์เจนตินา กล่าวหาพระองค์ว่ามีส่วนรู้เห็นและสมยอมกับรัฐบาลเผด็จการทหารของอาร์เจนตินา ในการลักพาตัว ทรมาน และสังหารผู้คนฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการพรากเด็กๆ ที่พ่อแม่ต้องโทษหายไปร่วม 500 คน ในช่วงปี 1976-1983 ระหว่างที่พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิการเจ้าคณะแขวง คณะเยสุอิตในอาร์เจนตินา

โรเบิร์ต ค็อกซ์ (Robert Cox) เป็นนักข่าวอังกฤษคนแรกที่เปิดโปงอาชญากรรมของรัฐบาลเผด็จการทหารในอาร์เจนตินาในปี 1976 และต้องโทษจำคุกเสียเองในปีถัดมา เขาเคยติดตามเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับอธิการเจ้าคณะแขวงมาโดยตลอด และได้บันทึกความเห็นส่วนตัวในวันที่ 17 มีนาคม 2013 ว่า ในช่วงทศวรรษ 1970s แบร์กอกลิโอ (สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส) ไม่ได้เป็นทั้งวีรบุรุษหรือผู้ร่วมสมคบคิดในเหตุการณ์ความวุ่นวายของอาร์เจนตินา แม้ว่าแบร์กอกลิโอจะเคยช่วยชีวิตพระคริสต์บางคน แต่เขาไม่เคยแสดงความเห็นต่อต้านเผด็จการ จึงน่าจะเป็นตราบาปที่ยังติดอยู่ในสำนึกของเขาระหว่างดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาไม่มากก็น้อย

 

พระสันตะปาปายุคใหม่ อำนาจที่เอื้อมถึง สัมผัสได้

ว่ากันว่า อำนาจต้องการระยะห่าง การที่ผู้ทรงอำนาจลดตัวลงใกล้ชิดฝูงชน จะทำให้สูญเสียประกายความสูงส่ง แต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสกลับทรงมีแนวคิดอีกแบบ ที่ลดช่องว่างระหว่างพระองค์และผู้คนในสังคม

ภายหลังได้รับเลือกเข้ามารับตำแหน่งสูงสุดในสำนักวาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้ยกเลิกระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับพระองค์ในสำนักวาติกัน พระองค์ทรงเดินจากที่ประทับซานตา มาร์ตาไปทรงงาน ซึ่งเป็นระยะทางเพียงไม่กี่ร้อยเมตร พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ ไม่เพียงที่สองฟากถนน หากรวมถึงภายในสำนักทรงงานด้วย พร้อมทั้งทรงแจ้งให้เป็นรับรู้โดยทั่วกันว่า พระองค์มิต้องการเป็นเหมือนเช่นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์อื่นๆ ที่ต้องเป็นคล้ายนักโทษของบาทหลวงเลขาฯ หากพระองค์ทรงปรารถนาจะพบใคร พระองค์จะทรงตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เอง

สไตล์ของพระองค์คือสไตล์การเมืองและสไตล์ผู้นำ มิใช่แค่เพียง ‘แฟชันเสื้อผ้า’ เหมือนที่นักวิจารณ์กล่าวถึง อำนาจของพระองค์เป็นรูปแบบอำนาจที่แตกต่าง ซึ่งไม่ได้ประดับไว้กับพระองค์ แต่พระองค์ทรงใช้มันให้เกิดประโยชน์ และไม่ใช่ประโยชน์แค่เพียงคริสตจักรเท่านั้น หากเป็นประโยชน์ของโลก “เรามีวิสัยทัศน์กว้างใหญ่แค่ไหน เรามีความฝันหรือไม่ เรากล้าหาญเพียงไหน” นั่นคือคำถามที่เป็นโจทย์ของพระองค์

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงต้องการเปลี่ยนแปลงคริสตจักรเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก และพระองค์ทรงเริ่มจากคริสตจักรก่อน นั่นคือความแตกต่างจากสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ

 

การเมืองคริสตจักร การเมืองโลก

วิกฤตผู้ลี้ภัยของโลกเป็นประเด็นที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงตรัสไว้แต่เริ่มแรก สะท้อนให้เห็นการขับเคลื่อนคริสตจักรสู่การเมือง คริสตศาสนาเพื่อคนทุกชนชั้น พระองค์ตรัสกับชาวคาทอลิก “จงเป็นผู้รับใช้” และตรัสกับนักการเมือง “จงสร้างสะพาน”

(“จงสร้างสะพาน” เป็นประโยคที่วาบในความคิดของนักวิจารณ์การเมือง เมื่อคราวที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเดินทางไปเยือนพระองค์ที่สำนักวาติกัน ประโยคเก่าของทรัมป์ที่เคยกล่าว “จงสร้างกำแพง” ช่างบาดอารมณ์ขันยิ่งนัก)

ฤดูร้อนปี 2014 ผู้ลี้ภัยชาวแอฟริกันนับร้อยคนจมน้ำตายบริเวณชายฝั่งของเกาะลัมเปดูซา นักการเมืองของยุโรปแทบทุกประเทศพากันเบือนหน้า แต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสกลับเสด็จไปยังเกาะของอิตาลี คล้ายเป็นการประจานกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ครั้งนั้นพระองค์ทรงใช้ซากเรือเป็นธรรมาสน์สวดส่งวิญญาณผู้เสียชีวิต ขณะเดียวกันก็ทรงให้โอวาทปลอบขวัญผู้รอดชีวิต

 

พระองค์มิต้องการเป็นเหมือนเช่นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์อื่นๆ ที่ต้องเป็นคล้ายนักโทษของบาทหลวงเลขาฯ หากพระองค์ทรงปรารถนาจะพบใคร พระองค์จะทรงตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เอง

 

การป่าวร้องของพระองค์ในครั้งนั้นแทบไม่ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก แต่ในกรุงโรม มีการรับผู้ลี้ภัยผู้รอดชีวิตร่วม 100 คนจากลัมเปดูซาเข้าไว้ในความอนุเคราะห์ แม้ไม่ใช่ทางออก แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น

หรือกรณีความขัดแย้งในซีเรีย ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้โอวาทต่อหน้าคริสตชนนับพันคนในกรุงโรม ขอให้สันติสุขบังเกิดแล้ว หลังจากนั้นพระองค์ยังทรงส่งสาส์นถึงวลาดิเมียร์ ปูติน ขอให้ยุติการแทรกแซงทางการทหารในดามัสกัส คนจำนวนมากในซีเรียเชื่อว่า จดหมายของสมเด็จพระสันตะปาปามีส่วนช่วยยับยั้งสงครามที่จะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าผลลัพธ์หลังจากนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่เชื่อกัน ทว่าอย่างน้อยพระองค์ก็ทรงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของโลก

 

เรื่องเพศในทัศนะของคริสตจักรยุคใหม่

เมื่อต้นปี 2016 ทรงสั่งพิมพ์คำสอน ‘Amoris laetitia’ (ความปีติแห่งรัก) ฉบับใหม่ ความหนาราว 185 หน้า ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และเพศ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวต่อคริสตจักร

การประกอบพิธีแต่งงานทางศาสนาครั้งที่ 2 ให้กับคู่สมรสที่ผ่านการหย่าร้าง จากเดิมที่เคยเป็นข้อห้าม ได้มีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์เสียใหม่ในปี 1982 ในยุคสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 (1978-2005) ให้เป็นการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉัน ‘พี่ชายและน้องสาว’ นั้น มาถึงยุคสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เพิ่มเติมการตรวจสอบการตัดสินใจในการประกอบพิธีกรรมมากขึ้น ถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจตามมา ไม่ว่าผลกระทบต่อบุตรธิดาของทั้งสองฝ่าย หรือความมั่นคงในความสัมพันธ์ของคู่สมรสใหม่ ซึ่งทางคริสตจักรพร้อมให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือ

ประเด็นคนรักเพศเดียวกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า เกย์และเลสเบียนไม่ควรถูกคุกคาม “หากใครสักคนร้องหาพระเจ้าด้วยความศรัทธา ให้ถามตัวเราเองว่า เราเป็นใครกันที่ไปตัดสินเขา”

ครั้งที่เสด็จไปเยือนประเทศบราซิลเมื่อสามปีที่แล้ว พระองค์ทรงเคยตรัสว่า การเป็นเกย์หรือเลสเบียนไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ใจไม่เปิดกว้างยอมรับ คริสตจักรพร้อมจะอ้าแขนพวกเขาให้เข้ามาใกล้ชิดพระเจ้า และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพ ทว่าการประกอบพิธีกรรมการสมรสทางศาสนา คริสตจักรยังคงสงวนท่าทีไว้เช่นเดิม

ล่าสุด ต่อคำถามเรื่องการผ่อนปรนให้ชายที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วสามารถบวชหรือเป็นบาทหลวงได้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบาทหลวง ซึ่งเคยเป็นกฎข้อห้ามของคาทอลิกมายาวนานเกือบ 900 ปี สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงตอบความกังขาข้อนี้ว่า “เราต้องทบทวนดูว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ทบทวนดูว่าพวกเขาเหล่านั้นมีภารกิจอะไรบ้าง อย่างเช่น การไปปฏิบัติภารกิจในชุมชนที่ห่างไกล” ทว่าพระองค์ก็ทรงย้ำว่า ชายพรหมจรรย์ไม่ใช่ทางออกเดียวหรือดีที่สุด

 

การมีส่วนร่วมในวิกฤติผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

เป็นที่รับรู้กันว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงโปรดจะเสด็จไปยังสถานที่ที่มีสถานการณ์ซับซ้อน ไม่ปกติ การเสด็จเยือนประเทศเมียนมาร์และบังกลาเทศในช่วงนี้ก็เช่นกัน เพราะสำหรับสำนักวาติกันแล้ว ทั้งสองประเทศนี้นับเป็นพื้นที่มีปัญหา

ทหารเมียนมาร์ปฏิบัติการ ‘กวาดล้าง’ ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม หลังจากที่ทหารของฝ่ายโรฮิงญาโจมตีกองกำลังของฝ่ายรัฐ เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพหนีตายออกจากเมียนมาร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านบังกลาเทศ ความจริงแล้ว แผนการเดินทางของประมุขคริสตจักรนิกายคาทอลิกเกิดขึ้นก่อนความขัดแย้งรอบใหม่นี้จะปะทุ ครั้นพอกำหนดการออกมา ทำให้ทุกคนเชื่อว่าจุดประสงค์หลักของพระองค์คือการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและวิกฤต

 

“หากใครสักคนร้องหาพระเจ้าด้วยความศรัทธา ให้ถามตัวเราเองว่า เราเป็นใครกันที่ไปตัดสินเขา”

 

และคำถามที่ตามมาหลังจากนั้นคือ พระองค์จะทรงมีท่าทีอย่างไร จะทรงเชื่อคำแนะนำของคริสตจักรคาทอลิกในพื้นที่หรือไม่ว่าไม่ควรใช้คำว่า ‘โรฮิงญา’ ในขณะที่รัฐบาลเมียนมาร์มีทัศนะว่าโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย และมีชื่อเรียกว่า ‘เบงกาลี’ เพราะมีพื้นเพจากบังกลาเทศ แต่จะว่าไป สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสมิใช่ใครที่ทรงฟังแล้วเชื่อตามง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน พระองค์ทรงเคยเหน็บแนมผู้นำตุรกีมาแล้ว เมื่อคราวที่ทรงเรียกการสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียนว่า ‘ฆาตกรรมล้างเผ่าพันธุ์’ และเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ พระองค์ยังเคยตรัสถึง “พี่น้องชาวโรฮิงญาของเรา” มาก่อน

แต่ประมุขคริสตจักรนิกายคาทอลิกจะแสดงบทบาทอะไรได้มากในประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และคาทอลิกเป็นชนส่วนน้อย โฆษกของสำนักวาติกันกล่าวยืนยันว่า การเสด็จเยือนเมียนมาร์ครั้งนี้จะไม่ถูกวิกฤตในพื้นที่กลบจุดมุ่งหมายเดิม ที่พระองค์ทรงต้องการจะหยิบยื่นความช่วยเหลือประเทศยากจน และส่งสัญญาณให้กับบรรดาโบสถ์คาทอลิกเล็กๆ

ตรงกันข้ามกับการเสด็จเยือนบังกลาเทศ ที่ใครหลายคนมองว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสควรที่จะตรัสหรือให้โอวาทเกี่ยวกับความอยุติธรรมที่ชาวโรฮิงญาได้รับ

การเสด็จเยือนบังกลาเทศของสมเด็จพระสันตะปาปาไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้บ่อย ที่ผ่านมามีเพียงสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เท่านั้นที่เคยเสด็จมา ในประเทศซึ่งมีชาวคาทอลิกอยู่เพียง 375,000 คนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 160 ล้านคน ตามหมายกำหนดอย่างเป็นทางการ พระองค์จะเสด็จไปยังเมืองหลวงดักกา เพื่อพบปะกับคริสตชนและเหล่าญาติของชาวโรฮิงญาที่นั่น

ส่วนที่พักชาวโรฮิงญาในคูตูปาลองซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของโลกนั้น ไม่ปรากฏอยู่ในโปรแกรม

 

 

อ้างอิง:
www.n-tv.de
www.domradio.de
www.zeit.de
www.welt.de
diepresse.com
de.radiovaticana.va
www.katholisch.de

 

 

ที่มาภาพ:
ภาพหน้าแรก โดย Alessandro Bianchi / Reuters
ภาพหน้าใน โดย Tony Gentile / Reuters

 

FACT BOX:

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
ฮอร์เก มาริโอ แบร์กอกลิโอ (Jorge Mario Bergoglio) เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1936 ในบัวโนส ไอเรส เป็นบุตรชายของครอบครัวที่มีพื้นเพจากอิตาลี
ในวัย 21 ปี แบร์กอกลิโอได้ปฏิญาณตนเป็นนักบวชคณะเยสุอิต และศึกษาต่อด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยมาซิโม ซาน โฮเซ รวมทั้งที่ประเทศเยอรมนี จากนั้นเข้ารับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงในปี 1969 ก่อนได้รับการอภิเษกเป็นมุขนายกผู้ช่วยแห่งบัวโนส ไอเรส และมุขนายกเกียรตินามแห่งเอากา กระทั่งได้สืบตำแหน่งเป็นอาร์ชบิชอปแห่งบัวโนส ไอเรสแทนในปี 1998 ต่อมาในปี 2001 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในหลายหน่วยงานของสภาปกครองโรมัน
ภายหลังการสละตำแหน่งของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เมื่อปี 2013 พระคาร์ดินัลฮอร์เก แบร์กอกลิโอ อัครมุขนายกแห่งบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินาก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 มีพระนาม ‘ฟรังซิส’ เป็นพระองค์แรก และนับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกเช่นกันที่มาจากทวีปอเมริกาและคณะเยสุอิต

Tags: , , , ,