สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการประชันความงามเป็นชีวิตจิตใจแล้ว พรุ่งนี้ (26 พ.ย. 60) อาจนับเป็นวันสำคัญระดับชาติขนาดที่ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่างมานั่งลุ้นติดหน้าจอทีเดียว เพราะเป็นวันประกวด Miss Universe 2017 และวันที่จะได้ทราบกันแล้วว่าตัวแทนจากประเทศใดจะเป็นผู้คว้าตำแหน่ง Miss Universe คนที่ 66 ไปครอง

แม้หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับการจัดประกวดในทำนองนี้ เพราะมองว่าการให้ความสำคัญกับลักษณะทางกายภายนอกเป็นเรื่องตื้นเขินหรือสร้างบรรทัดฐานความงามที่เป็นพิษ แต่หากดูจากคำที่เรามีในภาษาแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่าการตัดสินรูปลักษณ์ผู้อื่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติมนุษย์โดยสมบูรณ์ ดังจะเห็นว่าภาษาส่วนมากมักมีศัพท์และสำนวนที่ใช้สื่อความรู้สึกว่าอะไรสวยหรือไม่สวยอย่างภาษาไทยเองก็มีคำเช่น งาม ไฉไล อัปลักษณ์ และ ขี้เหร่ หรือภาษาอังกฤษก็มีคำอย่าง beautiful และ ugly

ทั้งนี้ เวลาที่เราจะพูดถึงคนที่หน้าตาดีเราก็มักกล้าพูดชมได้โดยไม่เคอะเขินอะไร สวยก็บอกว่าสวย แต่ถ้าต้องพูดถึงคนที่ไม่ได้หน้าตาดีมาก ครั้นจะให้บรรยายว่าอัปลักษณ์หรือหน้าตาดูไม่ได้ก็คงทำร้ายจิตใจกันไปหน่อย หลายครั้งคนจึงเลือกพูดอ้อมๆ หรือใช้คำรื่นหู (euphemism) เพื่อไม่ให้หักหาญน้ำใจกันเกินไป วันนี้ เราไปดูสำนวนที่เราอาจได้ยินคนอาจเลือกใช้บรรยายคนหน้าตาธรรมดาๆ กัน เผื่อถ้าได้ยินเข้าจะได้รู้ว่าเขากำลังจะสื่ออะไร

ฟังเสียงคำว่า euphemism >>>

 

Not much to look at

สำนวนแรก คือ not much to look at แปลตรงตัวหน่อยได้ความประมาณว่าไม่ได้มีอะไรน่าดูชมมากมาย ถือเป็นการพูดแบบอ้อมๆ ว่า หน้าตาไม่ดี นั่นเองเช่น Liza might not be much to look at, but she’s a really nice person. ก็จะหมายถึง ถึงลิซ่าจะไม่ได้หน้าตาสะสวยแต่ก็เป็นคนนิสัยดีมากนะ สำนวนนี้จะใช้บรรยายสิ่งที่ไม่ใช่คนก็ได้ เช่น I have to admit that my house is not much to look at. คือ ต้องยอมรับว่าบ้านผมก็ไม่ได้สวยอะไร

 

Plain

อีกคำหนึ่งที่อาจได้ยินคือ plain คำนี้โดยทั่วไปหมายถึง เรียบๆไม่มีสิ่งประดับตกแต่งอะไรรกหูรกตา เช่น a plain dress ก็จะหมายถึงชุดเรียบๆ ไม่มีอะไรหวือหวา หรือ plain yogurt ก็จะหมายถึง โยเกิร์ตเปล่าๆ ไม่มีธัญญาหารหรือผลไม้เจือปน แต่ถ้านำมาบรรยายผู้หญิง จะหมายถึง หน้าตาเรียบๆ  ไม่มีอะไรโดดเด่นเตะตาหรือที่หลายคนเรียกหน้าตาบ้านๆ เช่น Mindy is nice, but if I have to be honest, she’s rather plain. ก็จะหมายถึง มินดี้ก็เป็นคนน่ารักอยู่หรอกนะ แต่ถ้าให้พูดตรงๆ ก็เป็นคนที่หน้าตางั้นๆ หรือเราอาจจะพูดว่า She’s a plain Jane. ก็ได้เช่นกัน แปลว่า ก็เป็นผู้หญิงหน้าตาธรรมดาๆ คนหนึ่ง

 

No oil painting

ถ้าเราข้ามไปเกาะอังกฤษ สำนวนที่อาจได้ยินคือ no oil painting อันนี้หมายถึง หน้าตาไม่ได้สวยสดงดงามเหมือนในภาพวาดน้ำมัน พูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ ไม่สวยนั่นเอง ส่วนใหญ่มักใช้พูดขำๆ แต่ถือเป็นสำนวนที่ฟังดูใจร้ายพอสมควร เช่น She is no oil painting, but she has a great sense of humor. ก็จะหมายถึง ถึงเธอไม่ได้สวย แต่เป็นคนที่มีอารมณ์ขัน

 

Not a pretty sight

อีกสำนวนหนึ่ง (ที่ฟังดูไม่ถนอมน้ำใจเท่าไหร่) ก็คือ not a pretty sight คำว่า sight ในสำนวนนี้หมายถึง ภาพหรือสิ่งที่เราเห็น ดังนั้น ทั้งสำนวนจึงแปลได้ว่า ไม่ใช่ภาพที่น่าดู เช่น ถ้าตอนเช้าเราตื่นขึ้นมาแล้วสภาพดูไม่ได้ ไม่ได้ผมเผ้าเป๊ะตั้งแต่วินาทีที่ลืมตาตื่นเหมือนนางในวรรณคดีหรือบียอนเซ เราก็อาจพูดว่า I know that I’m not a pretty sight when I wake up. สำนวนนี้จะใช้อธิบายสิ่งอื่นที่ไม่ใช่คนก็ได้ เช่น Are you sure you want to come into my room? It’s not a pretty sight. ก็จะหมายความว่า อยากเข้ามาแน่นะ สภาพห้องเรานี่ไม่ได้น่าดูเลยนะ

 

Great personality

บางครั้งถ้าไม่อยากพูดว่าใครหน้าตาไม่ดี กลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ได้ก็คือเลี่ยงไม่พูดเรื่องรูปลักษณ์แล้วหันเหความสนใจไปพูดข้อดีอื่นๆ ของคนคนนั้นไปเลย เช่น ถ้าเราถามเพื่อนถึงคนที่เพื่อนเพิ่งไปออกเดทมาด้วยว่าสวยไหม แล้วเพื่อนไม่อยากบอกว่าหน้าตาไม่ดี เพื่อนก็อาจเลือกพูดว่า She has a great personality. ก็จะหมายถึง เฮ้ย เขานิสัยดีมากเว้ย

 

Not exactly…

อีกวิธีที่หลายคนใช้เลี่ยงไม่พูดอะไรแรงๆ ออกไปตรงๆ ได้ก็คือพูดสิ่งที่ตรงข้ามกันนั่นเอง เช่น แทนที่จะพูดว่าอัปลักษณ์ ก็อาจพูดว่าไม่ได้สวยหรือหล่อเสียทีเดียว ในภาษาอังกฤษสามารถใช้สำนวน not exactly ได้ เช่น James is not exactly handsome. ก็จะหมายถึง เจมส์นี่จะหล่อก็ไม่เชิง สำนวนนี้ไม่ได้ใช้ได้แต่กับเรื่องความงามเท่านั้น แต่ใช้พูดถึงเรื่องอื่นๆ ก็ได้ เช่น He was not exactly happy to have to see his ex-girlfriend. ก็จะหมายถึงว่า ไม่ชอบใจนักที่จะต้องมาเจอแฟนเก่า

 

Aesthetically challenged

ในยุคนี้ แนวคิดเรื่องความถูกต้องทางการเมือง (political correctness – PC) ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนจึงต่างระวังคำพูดคำจากัน เพราะไม่อยากหรือกลัวจะไปทำร้ายจิตใจใครโดยไม่ตั้งใจ เช่น คำว่า retarded ที่แต่ก่อนใช้เรียกผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา (เทียบเคียงได้กับคำว่า ปัญญาอ่อน ในภาษาไทย) แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นคำไม่สุภาพ จึงมีการคิดคำว่า mentally challenged มาใช้แทน ให้ภาพว่ามีอุปสรรคหรือความท้าทายด้านสติปัญญาที่ต้องเอาชนะ แทนที่จะมองว่าเป็นความบกพร่องหรือด้อยกว่าคนอื่น

แต่หลายคนก็อ่อนไหวต่อประเด็นต่างๆ เสียจนใครพูดอะไรก็ทำร้ายจิตใจได้ไปหมด ขนาดคำว่า fat หรือ อ้วน ยังถือว่าเสียดหู จึงทำให้มีผู้ที่ล้อเลียนคนกลุ่มนี้และคิดคำตลกๆ ในทำนองเดียวกับ mentally challenged ขึ้นมา เช่น แทนที่จะใช้คำว่า fat ก็จะพูดว่า horizontally challenged หรือมีอุปสรรคแนวขวาง แทน หรือแทนที่จะพูดว่า short หรือเตี้ย ก็จะพูดว่า vertically challenged หรือมีอุปอุปสรรคแนวดิ่ง เป็นต้น

ในทำนองเดียวกัน คำว่า ugly ก็มีผู้คิดคำ PC ให้ นั่นคือ aesthetically challenged แปลได้ทำนองว่า มีอุปสรรคด้านความงาม นั่นเอง ดังนั้น ถ้าได้ยินใครใช้คำนี้บรรยายคนอื่นเข้า ก็แปลว่าเขากำลังพูดติดตลกว่าคนคนนั้นหน้าตาไม่ดีนั่นเอง

ฟังเสียงคำว่า aesthetically >>>

 

ทั้งนี้ ที่นำสำนวนเหล่านี้มาเสนอไม่ใช่เพราะอยากให้เอาไปฝึกปรือหรือนำไปใช้เรียกคนรอบข้างแต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้เห็นว่ามีการใช้แบบนี้ในภาษาอยู่ เผื่อถ้าได้ยินคนพูดเข้า จะได้บอกได้ว่าเขากำลังพยายามสื่ออะไร

 

บรรณานุกรม
Longman Dictionary of Contemporary English
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
American Heritage Dictionary of the English Language

Tags: , , , ,