อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ (R. Murray Schafer เกิด 1933) นักประพันธ์เพลงชาวแคนาเดียน น่าจะถือได้ว่าเป็นศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของโลกเลยทีเดียว แต่ด้วยความที่คีตนิพนธ์ที่เขาประพันธ์ขึ้นนั้นช่างแปลกประหลาดเสียเหลือเกิน นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผลงานของเขาจำกัดความนิยมเฉพาะให้หมู่ศิลปินด้วยกันเอง จะว่าไปเชฟเฟอร์มีผลงานทั้งหนังสือ ภาพวาดจิตรกรรม เป็นนักพูด นักรณรงค์กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นนักการศึกษาที่พยายามจะทำลายกำแพงของการเรียนรู้ในสถาบันตามแบบอย่างที่เคยเป็นมา นอกเหนือไปจากนี้ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ อาจจะจัดได้ว่าเป็นศาสดาหรือผู้นำทางความคิด และการประกอบพิธีกรรมโดยมีสานุศิษย์เชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งที่เชฟเฟอร์วางแนวทางไว้อย่างมั่นคง

ในช่วงแรกๆ ของการสร้างสรรค์ศิลปะ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ คนนี้นี่เองที่เป็นผู้ให้กำเนิดแนวความคิดของ ‘ภูมิทัศน์ทางเสียง’ (Soundscape) ขึ้นในวงการดนตรีและศิลปะสมัยใหม่  แม้ว่าเชฟเฟอร์จะไม่ได้มีความสนใจทางด้านเทคโนโลยีหรือวิศวกรรมการบันทึกเสียงมากนัก ดังจะเห็นว่า แทบจะไม่มีผลงานซีดีบันทึกเสียงซาวด์สเคปในนามของ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ เองเลย แต่สิ่งที่เชฟเฟอร์วางรากฐานให้ไว้คือตำราคลาสสิกที่ชื่อ The Soundscape : Our Sonic Environment and the Tuning of the World ที่นักศึกษาดนตรีและวิศวกรรมเสียงในต่างประเทศจะต้องมีในครอบครอง ซาวด์สเคปตามแนวทางของเชฟเฟอร์นอกจากจะให้ความสนใจในสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติวิทยา และชีวิตสัตว์ประเภทต่างๆ ในฐานะแหล่งกำเนิดเสียง เขายังให้ความสนใจในสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี ตลอดจนวิถีชีวิตและศาสนาความเชื่อต่างๆ ที่ส่งผลให้แต่ละสังคม แต่ละพิกัดภูมิศาสตร์ แต่ละภูมิภาคของโลก มีรูปแบบของภูมิทัศน์ทางเสียงแตกต่างจากกันโดยสิ้นเชิง

ตำราของเชฟเฟอร์เล่มนี้เป็นการเรียนรู้ในระดับปรัชญามากกว่าเทคโนโลยี การศึกษาเสียงตามแบบของเชฟเฟอร์ไม่ได้บ่งบอกการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มากมายนัก  แท้จริงแล้วเราเรียนรู้เสียงต่างๆ ก็ด้วยการฟัง การได้ยิน และรู้จักแหล่งที่มาของเสียงนั้นๆ อาทิ การที่เราสามารถจดจำเสียงของสัตว์ประเภทต่างๆ ได้ จดจำสภาพแวดล้อมของชุมชนที่แตกต่างกันได้ หยั่งรู้ถึงมลภาวะทางเสียง (อันอาจจะเกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่) ตระหนักได้ว่าเสียงบางชนิดก็อาจจะกำลังสูญหายไปตลอดกาล ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่เชฟเฟอร์ได้ชี้แนะให้เราใช้ความเข้าใจในศาสตร์ของเสียงตามแนวคิด Deep Listening อันเป็นการเข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ทั้งความหมายในรูปลักษณ์ทางกายภาพและทางนามธรรม และสามารถเชื่อมโยงความหมายนั้นกับสังคม โลก ผู้คน ทุกชีวิต และธรรมชาติที่เราดำรงอยู่ได้นั่นเอง ปัจจุบันกลุ่มนักนิยมฟังเสียงกำหนดให้วันที่ 18 กรกฏาคมอันเป็นวันคล้ายวันเกิดของ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ ให้เป็นวันฟังเสียงแห่งโลก (World Listening Day) ทั้งมีคลิปภาพยนตร์สั้นชื่อ Listen ที่ทางการประเทศแคนาดาผลิตไว้ เพื่อแนะนำให้เราเข้าใจแนวความคิดภูมิทัศน์ทางเสียงนี้ด้วย

ในด้านการประพันธ์ดนตรี เชฟเฟอร์มีผลงานมากมาย อย่างเช่นผลงานโอเปราที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 1980 และจัดแสดงครั้งล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้วชื่อ Apocalypsis โดยที่ใช้นักแสดงและนักดนตรีกว่า 1,000 คน อันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Luminato Festival 2015 ที่โทรอนโต แต่ผลงานชิ้นสำคัญคือการแสดงชุด Patria อันแบ่งเป็นเรื่องย่อยๆ 12 เรื่อง ที่เชฟเฟอร์ใช้เวลาค่อยๆ แต่ง ค่อยๆ จัดแสดง กินเวลาถึง 30 ปี ช่วงเวลาสามสิบปีนี้เองที่เชฟเฟอร์สะสมบารมีและเป็นที่ยอมรับจากบรรดาแฟนเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ อยากจะใช้คำว่าเชฟเฟอร์เองก็มี ‘ตบะ’ ที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นเช่นกัน

ด้วยแนวความเชื่อมั่นในแนวความคิดภูมิทัศน์ทางเสียงนี้ การแสดงในซีรีส์ Patria ค่อยๆ ย้ายออกจากโรงมหรสพมาสู่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การแสดงจากสองชั่วโมง ค่อยๆ ยาวขึ้นเป็นสิบชั่วโมง จนถึงหนึ่งสัปดาห์เต็ม การแสดงที่เคยแบ่งผู้ชมกับผู้แสดงออกจากกัน กลับหลอมรวมผู้ชมและผู้แสดงเข้าด้วยกัน ละครเพลงหรือโอเปราอันกลายมาเป็นประหนึ่งพิธีกรรม ผู้ชมและผู้แสดงจึงต่างได้รับการชำระล้างจิตใจจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงชุดนี้

แท้จริงเชฟเฟอร์แต่งให้ Patria เป็นเรื่องของการค้นหาตัวตนและคนรักข้ามภพข้ามชาติ ตัวละครหลักก็คือหมาป่า (พระเอก) กับเจ้าหญิงแห่งดวงดาว (นางเอก) ที่เสวยชาติภพเป็นอาริแอดนี (Ariadne) และสัตว์ประหลาดสามเขา (ผู้ร้าย) ที่ต่างก็ตายและกำเนิดใหม่ในคาแรกเตอร์ที่ต่างกันไปในแต่ละชาติภพ ตั้งแต่ปุถุชนคนธรรมดาจนไปถึงเทพกรีก เทพไอยคุปต์ ราชวงศ์ถังของจีน จนถึงจิตวิญญาณแห่งป่าเขา โดยในแต่ละเรื่องก็จะใช้ขนาดของวงดนตรี ชนิดของเครื่องดนตรี ตลอดจนนักแสดง นักร้อง นักเต้นที่แตกต่างกันไป  ขอยกตัวอย่างเช่นตอน ‘The Princess of the Stars’ (1981) ที่จัดแสดงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ณ ทะเลสาบฮาร์ดเลก ออนแทรีโอ แน่นอน ทั้งผู้ชม ผู้แสดง นักดนตรี ทีมงานสร้างอื่นๆ ทั้งหมดเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการแสดงข้ามวันข้ามคืน การแสดงชุดนี้นักร้องนักดนตรีจะซ่อนตัวอยู่ตามต้นไม้ชายฝั่ง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องเสียง

การแสดงเกิดขึ้นกลางทะเลสาบ ตัวละครจะเป็นหุ่นขนาดใหญ่ที่ทำจากโครงสร้างขนาดเบาติดตั้งบนเรือแคนู เคลื่อนที่โดยอาศัยการพายจากฝีพาย ความมหัศจรรย์ของโชว์นี้ก็คือเสียงดนตรีและเสียงร้องจะสะท้อนกังวานไปทั่วเวิ้งน้ำและป่าเขา ผนวกกับเสียงธรรมชาติของเหล่าสรรพสัตว์ในถิ่นที่อยู่จริงบริเวณนั้น ความหนาวเย็น ไอหมอก และจากเงาสลัวจนถึงแสงแดดที่กำลังจะค่อยๆ ส่องสว่างขึ้น ด้วยตำนานของเทพปกรณัมมีจุดมุ่งหมายปลุกสำนึกรักษ์ธรรมชาติ เหล่านี้รวมกันเป็นทิศทางใหม่ของสุนทรียะ แม้ว่าจะลำบากลำบนเพียงใด ก็มีบันทึกไว้ว่ามีผู้ชมการแสดงนี้ครั้งแรกถึง 5,000 คน เลยทีเดียว

เช่นนี้เองบรรดาผู้ที่นิยมชื่นชอบในผลงานของ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทุ่มแรงกายแรงใจในการติดตามชมผลงานการแสดงที่มักจะจัดขึ้นตามป่าตามเขา ดังนั้นในตอนจบของ Patria คือ ‘And Wolf Shall Inherit the Moon’ (1983) ที่ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ จึงกลายเป็นเสมือนพิธีกรรมประจำปีที่เหล่าสมาชิกนักนิยมเชฟเฟอร์จะกลับมารวมกัน เพื่อแสดง เพื่อบรรเลงดนตรี เพื่อร้องเพลง โดยกลับไปมีวิถีชีวิตแบบที่ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีไฟฟ้า พบปะสังสรรค์ในเชิงอภิปรัชญา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้แบ่งเป็นผู้ชม-ผู้แสดงอีกต่อไป ทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการนอบน้อมตนสู่วิถีแห่งธรรมชาติ

ปัจจุบันการแสดงในชุด And Wolf Shall Inherit the Moon พัฒนามาเป็น Wolf Project อันเป็นกิจกรรมประจำปีและจัดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ สมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มจะต้องผ่านการแนะนำจากสมาชิกเก่าซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นผู้คนในแวดวงดนตรีหรือนักอนุรักษ์ธรรมชาติ

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ เป็นศิลปินหัวแข็งและยืนหยัดในสิ่งที่ตนเองเชื่อ สิ่งที่ตนเองยึดถืออย่างมั่นคง บุคลิกภาพของเชฟเฟอร์แม้ในวัยชรามักจะต่อต้านกับกระแสหลักของสังคมอยู่เสมอๆ (เขาเก็บปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทุกๆ ใบไว้ในห้องน้ำ) เชฟเฟอร์ประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินใหญ่ระดับประเทศด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่ท้าทายสังคมเสมอมา ในหนังสือชีวประวัติบันทึกไว้ว่าเขาตาบอดหนึ่งข้างตั้งแต่ครั้งวัยเด็ก อันเป็นเหตุให้เพื่อนๆ ในชั้นล้อเลียนอยู่เสมอตลอดช่วงชีวิต  ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น เชฟเฟอร์ไปได้ไม่ดีนักกับการศึกษาในระบบ ความสามารถในการประพันธ์ดนตรีตลอดจนงานเขียนวิชาการต่างๆ ล้วนเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเองเกือบทั้งสิ้น นั่นน่าจะมีส่วนในการทำให้ผลงานของเชฟเฟอร์มีความแปลกประหลาดมหัศจรรย์เช่นที่กล่าวมา

เราสามารถรับฟังบทเพลงจำนวนมากของ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ อย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์ได้จากยูทูบแชนแนลของ Vancouver Chamber Choir ในเพลย์ลิสต์ชุด ‘Soundscapes of R. Murray Schafer’ ซึ่งทั้งหมดเป็นบทเพลงขับร้องประสานเสียง แต่จะแฝงไว้ด้วยวิธีการส่งเสียงที่แปลกประหลาดอย่างมากมาย รวมถึงตัวโน้ตดนตรีที่จะเป็นรูปภาพ หรือ Graphic Scores ซึ่งคอนดักเตอร์กับนักร้องจะต้องตีความและตกลงกันเพื่อที่จะหาวิธีในการเปล่งเสียงให้เหมาะสมกับผลงานศิลปะแนวใหม่ของ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ นี้

FACT BOX:

  • ชมตัวอย่างการแสดง ‘The Princess of the Stars’ โปรดักชันปี 2007 และการบรรเลงดนตรี ณ ทะเลสาบในชุด Music for a Wilderness Lake ได้ตามลิงก์
  • ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมถึงแนวปรัชญาทางเสียงของ อาร์. เมอร์เรย์ เชฟเฟอร์ ได้ทาง Asearn ประสบการณ์หูสู่อาเซียน อันเป็นนิทรรศการทาง Soundscape ที่จัดโดย มิวเซียมสยามเมื่อปีที่แล้ว
Tags: , , , , , , , , , ,