เชื่อหรือไม่ มนุษย์เราผลิตขยะกันมากถึง 2.11 พันล้านตันต่อวัน!

ในปี 2009 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจไว้ว่า ในหนึ่งปี โลกใบนี้จะมีขยะมากกว่า 2.11 พันล้านตันต่อวัน หรือหากเปรียบเทียบปริมาณขยะทั้งปีจะพบว่าพวกมันมีน้ำหนักมากถึง 7.7 แสนล้านตันเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทย จากการเปิดเผยข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษในหัวข้อปริมาณขยะตลอดทั้งปี 2558 พบว่า คนไทยสร้างขยะเฉลี่ยประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อวัน หรือประมาณ 77 ล้านตันต่อปี

นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “งบประมาณส่วนใหญ่ของสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครใช้ไปกับการกำจัดขยะ มีการคำนวณไว้ว่าขยะทุกๆ 1 กิโลกรัม ทางกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ 2 บาท โดยประมาณการแล้วเราใช้งบในการกำจัดขยะถึง 6 พันล้านบาทต่อปี เราจึงพยายามส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันลดปริมาณขยะลง”

ซึ่งหากข้อมูลเป็นไปตามนี้จริงๆ นั่นแสดงว่าในปี 2558 ที่ผ่านมา เราจะต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะทั้งหมดไปมากกว่า 1.54 แสนล้านบาท เราเชื่อว่าคุณก็คงคิดไม่ต่างกันว่า หากสามารถลดปริมาณขยะได้ งบประมาณในการกำจัดขยะเหล่านั้นก็จะลดลงตามไปด้วย และนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้พัฒนาระบบสาธารณูปโภค หรือระบบอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ ที่ดีให้กับประชาชน เราก็คงจะได้เมืองที่น่าอยู่ขึ้นไม่ใช่น้อย
แต่มันจะไม่เป็นเช่นนั้น ตราบใดที่เรายังคงมุ่งทิ้งขยะลงแต่ในถัง โดยหลงลืมที่จะทำการคัดแยกมูลฝอยที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่าง ‘ขยะรีไซเคิล’

แยกขยะ และรีไซเคิล หนทางในการลดปริมาณขยะทางอ้อม

ได้ยินคำว่า ‘ขยะ’ ใครก็คงไม่เห็นค่ามัน เพราะนำไปใช้ประโยชน์ต่อก็ไม่ได้ ซึ่งวิธีในการกำจัดขยะในปริมาณเยอะคงหนีไม่พ้นการฝังกลบ หรือรูปแบบการทำลายอื่นๆ และแน่นอนว่าใช้งบประมาณในการดำเนินการค่อนข้างสูง ดังนั้นหากเราสามารถคัดแยกขยะรีไซเคิลได้ตั้งแต่ต้นทาง ก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าในการช่วยลดปริมาณขยะ อีกทั้งยังสามารถแปรรูปขยะให้เกิด ‘ประโยชน์’ อีกทางหนึ่งได้ด้วย

จากการเปิดเผยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า ขยะในประเทศไทยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการคัดแยกและรีไซเคิลผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยศูนย์วัสดุรีไซเคิลชุมชน ธนาคารขยะรีไซเคิล ขายให้ผู้รับซื้อของเก่าหรือซาเล้ง และร้านรับซื้อของเก่า

จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้รับซื้อของเก่าเป็นกลุ่มอาชีพที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการคัดแยกขยะของประเทศไทยตั้งแต่ต้นทางและนำขยะกลับเข้ามาสู่ระบบรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ในเชิงการตีความของสังคมไทยแล้ว กลุ่มบุุคคลเหล่านี้ที่มาพร้อมกับยานพาหนะคู่ใจอย่าง ‘ซาเล้ง’ มักจะถูกตีตราให้เป็นชนชั้นที่อาจจะต่ำต้อยกว่า ทั้งๆ ที่พวกเขาถือเป็นฟันเฟืองหลักที่ช่วยให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะได้โดยที่อาจจะไม่รู้ตัว

พวกเราต้องการปลุกกระแสสังคมให้เห็นถึงความสำคัญในการคัดแยกขยะ
และนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ โดยหวังว่าจะช่วยจุดประกายชุมชนและสังคมเกี่ยวกับการรีไซเคิล
และช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนเก็บของเก่าหรือซาเล้ง

 

‘พลิกโฉมรถซาเล้ง’ เปลี่ยนภาพลักษณ์คนเก็บของเก่า ปรับมุมมองการแยกขยะให้ใกล้ตัวมากขึ้น

เมื่อเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เอ็ม บี เค กรุ๊ป (MBK GROUP) จึงจับมือกับกรุงเทพมหานคร และภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันนำรถซาเล้งจำนวน 12 คันที่ใช้งานจริงจากบรรดาผู้ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขายมาปรับปรุง ตกแต่ง และทำการออกแบบใหม่ เพื่อเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้การคัดแยกขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายในการรณรงค์จัดการขยะอย่างยั่งยืน

นางสาวศิรฐา สุขสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นว่า “เอ็ม บี เค กรุ๊ป เล็งเห็นถึงปัญหาขยะที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น พวกเราจึงต้องการปลุกกระแสสังคมให้เห็นถึงความสำคัญในการคัดแยกขยะและนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ โดยหวังว่าจะช่วยจุดประกายชุมชนและสังคมเกี่ยวกับการรีไซเคิล และช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนเก็บของเก่าหรือซาเล้งในการเป็นฮีโร่กอบกู้โลกและเป็นนักรีไซเคิลตัวจริง พร้อมยกระดับงานเก็บของเก่าในฐานะอาชีพที่มีคุณค่าและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการลดปริมาณ-รีไซเคิลขยะของประเทศไทยด้วย”

หลังจากเปิดตัวโครงการรถซาเล้ง 12 คันที่ได้รับการตกแต่งจะถูกนำออกไปใช้งานจริง เช่น บัมเบิ้ลบีซาเล้ง ที่ทำด้วยโครงเหล็กสีเหลืองที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรถหุ่นยนต์จากภาพยนตร์ Transformers หรือ BAMBINO ซาเล้งที่ตกแต่งด้วยไม้ไผ่

นางสาวสิรินทร์ เจียมพิรุฬห์กิจ และนายอานนท์ พุ่มอิน ตัวแทนนิสิตผู้ร่วมเเปลงโฉมซาเล้งเล่าว่า “กลุ่มซาเล้งเป็นฟันเฟืองสำคัญของกระบวนการรีไซเคิล และทำให้ขยะมีค่าอีกครั้ง พวกเราเลือกเศษเหล็กเหลือใช้มาทำโครงสร้างของรถ โดยนำรูปลักษณะและความแข็งแรงมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับหน้าที่ของรถในแต่ละส่วน เช่น การนำเศษที่เหลือจากการตัดแผ่นเหล็กดำลายมาพับทำในส่วนพื้นรถที่ต้องรับน้ำหนัก กันน้ำ และทนแดด การใช้หน้าปัดเข็มไมล์รถยนต์มาทำเป็นไฟหน้ารถ หรือจานเบรกมาทำเป็นที่นั่งที่สามารถใช้คู่กับตะขอเกี่ยวของได้”

 

ด้าน รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “สมัยก่อนเวลาเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่มีใครนึกถึงนักออกแบบ แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เอง เห็นโอกาสเดียวกันกับซาเล้งว่าขยะสามารถสร้างประโยชน์ และสร้างสรรค์ออกมาเป็นศิลปะแบบกรีนดีไซน์ได้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือลดขยะอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมาก เช่น เศษจากการผลิตกระดุมนำมาบดทำเป็นพื้น เศษไม้ตัดต่อออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ เศษกันชนรถเป็นเก้าอี้นั่งในสวน ส่วนกากกาแฟก็พัฒนาเป็นกระเบื้องและผนัง”

แม้จะยังไม่สามารถวัดผลได้แบบเบ็ดเสร็จ 100% ว่ารถซาเล้งจำนวน 12 คันจะช่วยให้คนทั่วๆ ไปตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรีไซเคิลขยะ และมีมุมมองต่อคนเก็บขยะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แต่ก้าวเล็กๆ ในการมุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งนี้ ของ เอ็ม บี เค กรุ๊ป ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสรรค์เมืองของเราให้น่าอยู่มากขึ้น

 

นอกจากจะจัดทำแคมเปญพลิกโฉมรถซาเล้งให้ดูทันสมัยเพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์ในการรณรงค์การคัดแยกขยะแล้ว เอ็ม บี เค กรุ๊ป ยังจัดทำคลิปวิดีโอตอนสั้นเรื่อง ‘ทิ้งไว้ให้ใคร’ ที่สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของนักเก็บขยะมืออาชีพ ‘ป้าสมพร’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดแยกขยะ และหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่มีส่วนช่วยประเทศไทยในการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจผู้ประกอบอาชีพซาเล้งมากขึ้น

คลิกชมคลิปได้ที่นี่

 

Tags: , ,