เหล่าผู้หญิงเองที่ไปติดกับดักสังคมชายเป็นใหญ่
มองว่า  ผ.ผัว คือเหรียญโอลิมปิกของชีวิต
ไม่ว่าผัวนั้นจะทุเรศทุรังขนาดไหน
ผู้หญิงก็ยังหวง ผ.ผัว ยิ่งกว่าจงอางหวงไข่
และนั่นยิ่งทำให้สถานะของผู้หญิงดูน่าเวทนา

พล็อตเมโลดราม่าคลาสสิกของเกือบทุกสังคมเกี่ยวกับเรื่องผัว-ผัว เมีย-เมียคือ ชูการ์แดดดี้สูงวัยกับสวีตฮาร์ตอายุคราวลูกที่สร้างความขุ่นเคืองให้กับภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

พล็อตแสนคลาสสิกที่ตามมาคือ ภรรยาตามกฎหมายคงความเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว และไม่กระทำสิ่งที่เรียกว่า ‘เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ’

ส่วนสวีตฮาร์ทผู้สะพรั่งไปด้วยความสดความสาวก็ถูกตราหน้าว่าเป็นนักขุดทอง เป็น gold digger เป็นสตรีชนชั้นล่างที่ทำทุกวิถีทางเพื่ออัพเกรดตนเองให้มาอยู่แถวหน้าของสังคมพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์ศฤงคาร

คำพิพากษาเชิงศีลธรรมที่สังคมมอบให้กับตัวละครเหล่านี้คือ

ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายคือ ผู้งดงาม สูงส่ง

สวีตฮาร์ตนักขุดทองคือผู้หญิงที่ยอมอยู่กับชายชราเพราะเงิน และในสายตาอันคับแคบของเหล่าชนชั้นกลางผู้ไม่รู้โลกอะไรกว้างไปกว่าความรักในหนังฮอลลีวูดที่บูชารักโรแมนติกเป็นสรณะจะกรีดร้องด้วยเชื่อว่าไม่มีคนดีๆ ที่ไหนยอมแลกความรักกับเงิน

ส่วนชูการ์แดดดี้ส่วนใหญ่ลอยพ้นเหนือคำพิพากษา แถมยังดูสูงค่าเพราะเป็น ‘อะไรที่’ ผู้หญิงพากันตบตี แย่งชิง และเคลมความเป็นเจ้าของ

แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะเหล่าผู้หญิงเองที่ไปติดกับดักสังคมชายเป็นใหญ่ มองว่า  ผ.ผัว คือเหรียญโอลิมปิกของชีวิต ไม่ว่าผัวนั้นจะทุเรศทุรังขนาดไหน ผู้หญิงก็ยังหวง ผ.ผัว ยิ่งกว่าจงอางหวงไข่ และนั่นยิ่งทำให้สถานะของผู้หญิงดูน่าเวทนา

ผู้หญิงจำนวนมากต้องตกอยู่ในทุกขเวทนาหากรู้ว่า ผ.ผัวมีเมียน้อย หรือนอกใจ คำถามคืออะไรที่ทำให้ผู้หญิงต้องทุกข์ขนาดนั้น? สมมุติว่า ผ.ผัวของตัวไปมีเมียน้อย สองสามคน แต่ยังดูแลเมียหลวงไม่ขาดตกบกพร่องทุกประการ ยังจะทุกข์ใจอยู่ไหม?

บ้างก็บอกว่า ถึงอย่างไรก็ทุกข์ เพราะรู้สึกถูกหยามน้ำหน้า ถูกหมิ่นเกียรติ บ้างก็ว่า จู๋ของฉัน ฉันไม่ต้องแชร์กับใคร ฉันขยะแขยง นึกภาพจู๋ของผัวเราไปเข้าๆ ออกๆ อยู่ในมดลูกและช่องคลอดคนอื่นแล้วทำใจไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ผู้ชายก็ทำใจไม่ได้ หากจินตนาการถึงจู๋ของชายอื่นๆ ที่จะเข้าๆ ออกๆ ผ่านช่องคลอดของภรรยาตนเอง

การร่วมเพศเป็นการเอาเข้าแล้วเอาออก ไม่ใช่การหักคา
ประกาศความเป็นเจ้าของอย่างนั้นไว้ชั่วชีวิต
ความพยายามจะจองจำจู๋และจิ๋มให้สถิตเสถียรที่เพียง
หนึ่งจู๋ และ หนึ่งจิ๋ม
จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของมนุษยชาติ

หากเป็นเช่นนี้แสดงว่า ความทุกข์ระทมแห่งการนอกใจ น่าจะเกิดจากการไปยึดมั่นถือมั่นว่า จู๋ของฉันต้องมีฉันได้ใช้คนเดียว จิ๋มของเมียฉันต้องมีแต่ฉันเท่านั้นที่ได้ใช้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งจู๋ ทั้งจิ๋ม ด้วยตัวของมันเองไม่มีความทรงจำ เช่น ถ้า ผ.ผัวของเราไปมีอะไรกับผู้หญิงอื่นโดยที่เราไม่รู้ เราก็สามารถใช้ ‘จู๋’ อันเดิมนั้นโดยไม่สามารถ detect ได้เลยว่า มันเพิ่งไปเที่ยวที่ ‘รู’ อื่นมาหมาดๆ – ความสำส่อนของทั้งจู๋และจิ๋มเป็นสิ่งที่ไร้หลักฐาน จับไม่มั่น คั้นไม่ตาย พิสูจน์ไม่ได้ – แต่ถ้าเรารู้แล้วเกิดความรังเกียจขึ้นมาว่า “ว้าย นี่ชั้นต้องใช้จู๋ร่วมกับคนอื่น อี๋”  จึงเป็นความปรุงแต่งทางจิตของเราเองล้วนๆ เพราะการร่วมเพศเป็นการเอาเข้าแล้วเอาออก ไม่ใช่การหักคา ประกาศความเป็นเจ้าของอย่างนั้นไว้ชั่วชีวิต ความพยายามจะจองจำจู๋และจิ๋มให้สถิตเสถียรที่เพียง หนึ่งจู๋ และ หนึ่งจิ๋ม จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของมนุษยชาติ

ด้วยเหตุดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า จริยธรรมผัวเดียวเมียเดียว จึงเป็นนวัตกรรมที่มนุษย์พยายามเคี่ยวกรำ ฝึกฝนตนเองให้ถือครองมันจนสำเร็จให้จงได้ (แต่คนทำได้มีน้อยมาก) และหากใครทำได้ สามารถครองคู่อยู่กินแบบผัวเดียวเมียเดียว ก็จะได้รับการยกย่อง เชิดชู  กลายเป็นต้นแบบ กลายเป็นแรงบันดาลใจ กลายเป็นคนที่ต้องไปปูที่นอนให้คู่บ่าว-สาวเพื่อเป็นสิริมงคล กลายเป็น rare item – แต่จริยธรรมผัวเดียวเมียเดียวนั้น ไม่ใช่ ‘บรรทัดฐานสากลโลก’

มีประชากรหนึ่งในสามของโลกที่อาศัยอยู่ในสังคมที่เป็น ผัวเดียวหลายเมีย – และมีหลายสังคมย่อยๆ ที่เป็นสังคมเมียเดียวหลายผัว หรือหลายผัวหลายเมีย – เราเรียกมันว่า plural marriage หรือการแต่งงานแบบพหุนิยม ซึ่งมีมากในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย หลายเผ่าของอเมริกันอินเดียน และคริสเตียนหลายนิกาย เช่นมอร์มอน

แต่แม้สังคมโลกหนึ่งในสามจะเป็นสังคมที่เป็นผัวเดียวหลายเมีย แต่จำนวนผู้ชายที่มีเมียหลายคนกลับเป็น ‘คนส่วนน้อย’ นั่นคือมีแค่ร้อยละ10 ถึงร้อยละ 25 ของผู้ชายในสังคมผัวเดียวหลายเมียที่มีเมียมากกว่าหนึ่งคน

อ้าว! ไหงเป็นงั้น ไหนว่าผู้ชายเห็นแก่ตัว ผู้ชายมักมากในกาม ผู้ชายชอบมีฮาเร็ม ผู้ชายกดขี่ผู้หญิง อยากมีเมียหลายคน แล้วในสังคมที่การมีเมียหลายคนถูกกฎหมาย ทำไมมีผู้ชายนิดเดียวที่มีเมียมากกว่าหนึ่งคน???

คำตอบง่ายมาก คือผู้ชายส่วนใหญ่ไม่มีปัญญาเลี้ยงเมียหลายคน

ผู้ชายที่มีที่ดิน มีแพะ มีวัว มีบ่อน้ำมัน มีเงินเยอะๆ ที่จะมีเมียได้หลายคนก็มีประมาณไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนประชากร ดังนั้นการจะมีเมียกี่คนไม่ได้ขึ้นอยู่กับความตะกละในกาม แต่อยู่ที่มีเงินเลี้ยงอ๊ะป่าว

ในสังคมผัวเดียวหลายเมีย ผู้ชายที่มีเมียแล้วจะเที่ยวไปหลอกฟันสาวๆ แล้วทิ้งด้วยข้ออ้างว่า ตัวเองมีเมียได้คนเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นหากไปฟันใครเข้า โอกาสที่จะไม่รับเขามาเป็นเมียก็ยากอยู่

โครงสร้างของรัฐชาติสมัยใหม่ไม่สอดคล้องกับระบบผัวเดียวหลายเมีย
เพราะหากปล่อยให้ดำเนินไป จะเกิดความเหลื่อมล้ำในการ ‘เข้าถึง’ การมีภรรยา
เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผู้ชายที่มั่งคั่งจะมีภรรยาเยอะแยะไปหมด
ส่วนผู้ชายที่ฐานะยากจนจะหาภรรยายากเย็น
หรือหาได้ก็เป็น ‘ของเหลือ’ ของบรรดาผู้ชายที่ร่ำรวย

มีประเทศอะไรบ้างที่มีระบบผัวเดียวหลายเมีย?

จอร์แดน ซีเรีย เยเมน อิรัก อิหร่าน อียิปต์ ซูดาน โมร็อกโก เป็นต้น

นักมานุษยวิทยาให้สรุปเหตุผลของการที่ในหลายสังคมต้องมี plural marriage ว่า

  • เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูกชายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
  • เพิ่มผลิตแรงงานให้กับครอบครัว – เผ่าของตัวเอง ไม่อย่างนั้นทำมาหากินแพ้เผ่าอื่น
  • เพื่อรับมือกับภาวะที่ในสังคมนั้นมีประชากรหญิงมากกว่าประชากรชาย
  • ขยายเครือข่ายทางอำนาจด้วยการสร้างพันธมิตรผ่านการแต่งงานเพื่อรักษาอำนาจของผู้นำ เช่น การแต่งงานกับลูกสาวของเผ่าที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นคู่แข่ง ก็ทำให้ศัตรูกลายเป็นญาติ
  • เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายในกรณีของชนเผ่าที่มีข้อห้ามเรื่องการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด

แล้วจริยธรรมผัวเดียวเมียเดียว ถูกสถาปนาให้เป็น ‘ความถูกต้อง’ ของโลกใบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

เพื่อจะตอบคำถามนี้อย่างรวบรัด ขอตอบอย่างง่ายและลดทอนความซับซ้อนของประวัติศาสตร์ว่าจริยธรรมของผัวเดียวเมียเดียว เกิดจาก

1. การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนอุดมการณ์ เสรีนิยมประชาธิปไตยและรัฐฆราวาส

นักชาตินิยมมองว่า การมีผัวเดียวหลายเมียเป็นทั้งวัฒนธรรมศักดินาที่กดขี่ผู้หญิง และเป็นทั้งคำสอนอันแสนล้าหลังของบางศาสนาที่ป่าเถื่อนที่อนุญาตให้มีเมียหลายคน

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ครอบครัวและชาตินิยมบางสำนักอธิบายว่า โครงสร้างของรัฐชาติสมัยใหม่ไม่สอดคล้องกับระบบผัวเดียวหลายเมีย เพราะหากปล่อยให้ดำเนินไป จะเกิดความเหลื่อมล้ำในการ ‘เข้าถึง’ การมีภรรยา เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผู้ชายที่มั่งคั่งจะมีภรรยาเยอะแยะไปหมด ส่วนผู้ชายที่ฐานะยากจน จะหาภรรยายากเย็น หรือหาได้ก็เป็น ‘ของเหลือ’ ของบรรดาผู้ชายที่ร่ำรวย สภาวะแห่งความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐชาติที่มองว่า สุภาพบุรุษทุกคนมีความเสมอภาค เคียงบ่าเคียงไหล่ เป็น ‘เพื่อนร่วมชาติ’ เสมอเหมือนกัน ดังนั้น ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน จะเป็นช่างไม้ หรือจะเป็นประธานาธิบดี ก็มีเมียได้แค่หนึ่งคนเหมือนกัน

อ้าว – นึกว่ากฎหมายให้มีเมียคนเดียวเป็นกฎหมายที่ปกป้องผู้หญิง?

อย่าลืมว่าในยุคสร้างชาติ ผู้หญิงเป็นแค่มดลูกของชาติ ดอกไม้ของชาติ แม่พิมพ์ของชาติ พยาบาลของชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่านักชาตินิยมเขาเป็นเฟมินิสต์ ในสายตานักชาตินิยม เขาเอาผู้หญิงออกจากครัวมาเรียนหนังสือ ไม่ใช่เพื่อให้ผู้หญิงเป็นพลเมืองเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชาย แต่เพื่อให้ผู้หญิง เป็นแม่ เป็นเมีย ที่ถูกอัพเกรด มีทักษะที่เป็นคุณต่อการสร้างชาติ และดูแลเยาวชนของชาติได้ดีขึ้น เพื่อความวัฒนาสถาพรของชาติเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อตัวผู้หญิงเอง ไม่ใช่เพื่อสร้างผู้หญิงที่ independent

2. ลัทธิอาณานิคม

ระบบผัวเดียวหลายเมียเป็นข้ออ้างหนึ่งที่ทำให้เจ้าอาณานิคมทั้งหลายมองว่า พวกเขามีหน้าที่นำ civilization มายังคนป่าเถื่อน ฮาเร็มของเจ้าผู้ครองนครทั้งในตะวันออกกลาง เอเชีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกดขี่ผู้หญิง ล้าหลัง สกปรก สะท้อนความมักมากในกามของคนเมืองร้อน ฯลฯ

กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวของไทยก็เป็นผลผลิตของ ‘นักชาตินิยม’ เช่นกัน การเปลี่ยนกฎหมายลักษณะผัวเมีย เป็นสิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลคณะราษฎรทำหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

ดังนั้นคนที่สะดีดสะดิ้งเรื่องผัวเดียวเมียเดียว พึงขอบคุณคณะราษฎรและการปฏิวัติสยามให้มาก โดยเฉพาะ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้มาก และโปรดรู้ด้วยว่าหนึ่งในคนที่เขียนหนังสือสั่งสอนเรื่องจริยธรรมครอบครัวแบบที่คนไทยชั้นกลางสะดิ้งกันทุกวันนี้คือ หลวงวิจิตรวาทการ

ถามว่าในสมัยที่การมีผัวเดียวหลายเมียในสยามเป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้น ชายไทยทุกคนต่างมีเมียมากมายใช่หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ – เพราะไพร่ส่วนใหญ่ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจจะเลี้ยงเมียได้หลายคน จึงมีแต่ขุนนางและชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีเมียมากมายก่ายกอง

โอว…คนเหล่านั้นนิสัยไม่ดี จึงเมียหลายคนใช่หรือไม่?

คำตอบคือ ไม่ เพราะการแต่งงานและการเอาผู้หญิงมาเป็นเมียมากมายก่ายกองมีเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจรองรับ เช่น แต่งงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับหัวเมืองประเทศราชเพื่อคานอำนาจกับมหาอำนาจอื่น เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า การมีเมียคนเดียว หลายคน มีผัวคนเดียว หลายคน นั้นเกิดจากปัจจัยเรื่องปากท้อง เรื่องอำนาจ เรื่องการเมือง มากกว่าปัจจัยเรื่องความมักมากในกาม

ในรัฐชาติสมัยใหม่ ครอบครัวแบบหญิงชาย และผัวเดียวเมียเดียว เป็นโครงสร้างทางครอบครัวที่สอดคล้องกับโครงสร้างทางการเมืองของรัฐชาติมากที่สุด และรัฐก็ควบคุม ดูแล พลเมืองผ่านการ ‘ลงทะเบียน’ กับรัฐผ่านสถาบันครอบครัวแบบนี้ ใครไม่ทำตามนี้ก็จะมีปัญหา เช่น การเป็นลูกนอกสมรส การเป็นเมียนอกสมรส ย่อมไม่มีสิทธิในมรดก กฎเกณฑ์เรื่องการใช้นามสกุล การทำธุรกรรมต่างๆ ล้วนอิงอยู่กับเอกสารที่อิงกับกฎหมาย ‘ครอบครัว’ แบบผัวเดียวเมียเดียว

และนั่นทำให้เราเรียกการแต่งงานในรัฐฆราวาสว่า civil marriage – นั่นหมายความว่า คุณจะไปแต่งงานต่อหน้าหลวงพ่อ ไปรดน้ำสังข์ ไปทำพิธีฮินดู หรืออะไรมาก็แล้วแต่ การแต่งงานนั้นไม่ valid ในสายตาของ ‘รัฐ’ จนกว่าคุณจะได้ ‘จดทะเบียน’ กับรัฐ ว่าคุณแต่งงานโดยการรับรู้ของรัฐแล้ว ซึ่งเราเรียกมันว่า ‘ทะเบียนสมรส’ นั่นเอง

อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่า ผัวของเราต้องเป็นของเรา
เมียของเราต้องเป็นของเรา
เพราะตราบใดที่เราไม่สามารถจับของใคร
มาเสียบคาฝังแน่นคงทนถาวรได้ในกันและกัน
ของของเราย่อมไม่ใช่ของของเราเสมอไป

อ่านถึงตอนนี้ ขอให้จับคู่แบบนี้ว่า

ผัวเดียวหลายเมีย คู่กับ รัฐโบราณ ล้าหลัง ไม่เป็นประชาธิปไตย

ผัวเดียวเมียเดียว คู่กับ รัฐชาติสมัยใหม่ คุ้มครองผู้หญิงที่เป็นภรรยาตามกฎหมาย ประชาธิปไตย รัฐฆราวาส

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนถึงประมาณทศวรรษที่ 1990s

ปัจจุบันในสังคมอย่างสังคมอเมริกา ดีเบตว่าด้วยครอบครัว ผัวเมีย ขยับไปที่ การเปลี่ยนกฎหมายจากผัวเดียวเมียเดียวไปเป็น plural marriage คือวาระที่ต้องผลักดันหลังจากประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

พวกเขาให้เหตุผลว่า ทำไมเราต้องยอมให้ ‘รัฐ’ มาตัดสินชี้ถูกชี้ผิดว่า คนเราควรมีเมียกี่คน มีผัวกี่คน เพศอะไร จะมีกี่ผัวกี่เมียนั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นไลฟ์สไตล์ เป็นชอยส์ของใครก็ของใคร ถ้าในโลกนี้มีคนที่ไม่ชอบเป็นเมียคนเดียว ชอบที่จะอยู่แบบมีสามีหนึ่งคนแล้วมีเมียสี่ห้าคนอยู่ด้วยกัน และเป็นเพื่อนที่ดูแลกัน แล้วมันผิดตรงไหน?

หรือผู้หญิงบางคนอาจจะมีสามีสองคนสามคน เพราะนั่นคือวิถีทางของพวกเขา แล้วทำไมกฎหมายจะไม่ยอมให้เขาทำล่ะ – นอกจากจะไม่ยอมแล้ว ยังอาจผิดกฎหมาย อาจถูกลงโทษด้วย

พอขยับมาตรงนี้ทำให้สถานะทางอุดมการณ์ของคนที่สนับสนุนผัวเดียวเมียเดียวกลายเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม! ทั้งๆ ที่เมื่อร้อยปีที่แล้ว คนที่สนับสนุนผัวเดียวเมียเดียวคือพวกหัวก้าวหน้าไปเลยหรือเปล่า?

ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะในกลุ่มคนที่เชียร์กฎหมายหลายผัวหลายเมียก็กลุ่มเคร่งศาสนาจัดๆ ในหลายนิกายด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น เวลาดูดีเบตพวกนี้ก็ต้องดูว่าเป็นดีเบตของฝั่งอนาคิสต์หรือฝั่งศาสนา

หลายคนกังวลว่า การอยู่แบบผัวเดียวหลายเมียที่อิงอยู่กับหลักศาสนานั้นค่อนข้างน่ากลัว เช่น ในบางกรณีของมอร์มอนที่ทั้งมีการบังคับแต่งงาน ทั้งความสัมพันธ์แบบ incest หรือการบังคับแต่งงานกับเจ้าสาวที่เด็กมากๆ

เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เรียกร้องเรื่อง plural marriage ต้องเรียกร้อง polyandry หนึ่งเมียหลายผัวควบคู่ไปกับหนึ่งผัวหลายเมีย เพื่อความเสมอภาค และตอกย้ำความสำคัญของ consent หรือความยินยอมพร้อมใจ มิใช่การขู่บังคับ

อีกประเทศหนึ่งที่พยายามจะแก้กฎหมายกลับมาเป็น plural marriage  คือ คาซัคสถาน เนื่องจากผู้หญิงจำนวนมากเลือกเป็นอนุภรรยาของชายผู้มั่งคั่งมากกว่าจะเป็นเมียหนึ่งเดียวของชายผู้ยากจน แต่นั่นทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลทางกฎหมาย เสียโอกาสเรื่องทรัพย์สิน มรดก สิทธิต่างๆ ที่ภรรยาพึงมี – ดังนั้นหากแก้กฎหมายก็จะช่วยให้ผู้หญิงมีสถานะการสมรสที่ถูกต้อง ได้รับการคุ้มครองสถานะของเธอตามกฎหมายในฐานะภรรยา ผู้สนับสนุนการแก้กฎหมายนี้ยังอ้างว่า คาซัคสถานมีผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง การมีผัวเดียวเมียเดียวทำให้ผู้หญิงอีกเยอะมากหมดโอกาสที่จะแต่งงาน เพราะฉะนั้น การให้ชายร่ำรวยมีเมียได้หลายคนจึงเป็นทั้งการคุ้มครองผู้หญิง เกิดการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาเชิงประชากรที่ไม่สมดุลกัน

อ่านกันมาขนาดนี้แล้วก็คงเห็นว่าศีลธรรมของการครองเรือนนั้นไม่ได้มีชุดเดียวเป็นสากลโลก และผัวเดียวเมียเดียวไม่ใช่ความถูกต้องที่สุดในจักรวาลใบนี้ ทว่าเป็นประดิษฐกรรมทางสังคมการเมืองอย่างหนึ่งนั่นเอง

ส่วนใครจะปวารณาตัวไว้กับศีลธรรมชุดใด ก็เลือกเอาตามความเหมาะสม และหากไม่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ก็รับผิดชอบกันเอาเอง เพราะทุกคนก็โตจนมีผัว มีเมียได้แล้ว ขออย่างเดียว อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่า ผัวของเราต้องเป็นของเรา เมียของเราต้องเป็นของเรา เพราะตราบใดที่เราไม่สามารถจับของใครมาเสียบคาฝังแน่นคงทนถาวรได้ในกันและกัน – ของของเราย่อมไม่ใช่ของของเราเสมอไป – และหากวันหนึ่งมันจะโบยบิน ก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตของเราจะดับสูญตามไปด้วย สิ่งที่ควรทำคือรีบหาใหม่ ถ้ายังอยากมี

ส่วนคนที่ขี้เผือกเรื่องศีลธรรมแทนคนอื่น เพลาๆ ลงบ้างก็ดี

ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:

 

FACT BOX:

  • ผลสำรวจของ Gallup Survey พบว่าในปี 2001 มีคนสนับสนุนระบบผัวเดียวหลายเมีย 7% แต่ในปี 2015 ตัวเลขผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 16%
  • รอสส์ โดทัต (Ross Douthat) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ ทำนายว่า ผัวเดียวหลายเมียในอเมริกาน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในปี 2040
  • จิลเลียน คีแนน (Jillian Keenan) เฟมินิสต์ที่สนับสนุน polygamy โดยเรียกมันว่า polyamourous แปลว่าการมี ‘คู่’ มากกว่าหนึ่ง โดยความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย
Tags: , , , , , , , , , ,