“คุณคิดว่าทำไมประชาชนในตูนิเซีย อียิปต์ และลิเบียถึงลุกฮือขึ้นปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลของพวกเขาในเหตุการณ์อาหรับสปริง” วิลเลียม ด็อบสัน นักข่าวผู้คร่ำหวอด อดีตบรรณาธิการวารสารทรงอิทธิพลอย่าง Foreign Affairs และ Newsweek ถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการสัมภาษณ์

“ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย อาทิ การปกครองแบบเผด็จการอันยาวนานหลายสิบปี การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร การว่างงาน ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ” เจ้าหน้าที่คนนั้นตอบ หยุดครู่หนึ่ง และกล่าวต่อไปว่า

“แต่ปัจจัยที่สำคัญมากๆ คือคอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์”

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังขยายความต่อไปว่า “มันคือโลกในศตวรรษที่ 21!  ประชาชนล้วนตระหนักถึงเสรีภาพและประชาธิปไตย… เมื่อประกอบกับปัจจัยต่างๆ ที่ผมกล่าวถึงแล้ว ทุกสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นไปไม่ได้ มันก็กลับกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ขึ้นมาทันที” อย่างไรก็ดี ข้าราชการจีนคนนี้ก็ย้ำกับนักข่าวด้วยความมั่นใจว่าเหตุการณ์แบบอาหรับสปริงจะไม่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน

“ที่นี่ เราไม่มีเฟซบุ๊ก”

 

บทสนทนาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่มีชื่อแปลกๆ สะดุดหูว่า The Dictator’s Learning Curve หรือ เส้นแห่งการเรียนรู้ของเผด็จการ อันเป็นผลจากการเดินทางไปค้นคว้าวิจัยในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ จีน รัสเซีย เวเนซุเอลา อียิปต์​ เพื่อศึกษาทำความเข้าใจว่าระบอบเผด็จการสมัยใหม่ทำงานอย่างไร ผู้เขียน – วิลเลียม ด็อบสัน – ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจคือ ระบอบเผด็จการสมัยใหม่นั้น มีความแนบเนียน ช่ำชอง เก่งกาจ และซับซ้อนมากขึ้นในการสืบทอดและรักษาอำนาจของตนให้ยาวนาน มีการใช้เครื่องมือและเทคนิคหลากหลายชนิดในการควบคุมประชาชน

เวลาเรานึกถึงระบอบเผด็จการ เรามักมีภาพของเผด็จการที่คร่ำครึ เชยๆ มีพฤติกรรมราวกับไดโนเสาร์ที่ไม่ยอมปรับตัวแบบประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งมักชวนให้ขบขันน่าล้อเลียนมากกว่าน่าหวั่นเกรง แต่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าเกาหลีเหนือนั้นเป็นเผด็จการแบบโบราณที่รอวันสูญพันธุ์ ในความเป็นจริงประเทศเผด็จการส่วนใหญ่ไม่มีใครเอาเกาหลีเหนือเป็นแบบอย่าง เพราะมันไม่ใช่โมเดลของเผด็จการที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลเผด็จการส่วนใหญ่ฉลาดกว่านั้น พวกเขาไม่ได้ตัดขาดตัวเองจากโลก แต่เรียนรู้และปรับตัวเพื่อจะอยู่รอดได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ผันผวน

หากเรานิยามระบอบเผด็จการแบบเข้าใจง่ายที่สุด ด็อบสันบอกว่า มันคือระบอบที่คนส่วนใหญ่ถูกควบคุมบงการโดยคนจำนวนน้อยหยิบมือเดียว หัวใจคือการผูกขาดอำนาจให้กระจุกตัวกับชนชั้นนำไม่กี่คน โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าคัดค้านหรือตั้งคำถาม เครื่องมือในการควบคุมก็มีตั้งแต่การใช้กำลังอำนาจดิบเพื่อให้กลัว การใช้กฎหมายเพื่อให้เชื่อฟัง รวมถึงการแจกจ่ายผลประโยชน์เพื่อให้ยอมสวามิภักดิ์ แต่ในบรรดาเครื่องมือทั้งหมด ผู้นำเผด็จการสมัยใหม่พบว่าไม่มีอะไรทรงพลังไปกว่าการควบคุมข้อมูลข่าวสาร!

เหตุใดการควบคุมข้อมูลข่าวสารจึงสำคัญ มันสำคัญเพราะหากควบคุมข้อมูลข่าวสารสำเร็จ ผู้นำรัฐบาลก็สามารถควบคุมความรับรู้ ควบคุมความคิด และควบคุมความจริงในสังคม และนั่นก็เท่ากับควบคุมพฤติกรรมของคนให้นิ่งเฉยและสยบยอมได้นั่นเอง หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งได้ว่า หากควบคุมข่าวสารสำเร็จก็แทบไม่ต้องกังวลกับการควบคุม (การประท้วงที่จะเกิดขึ้นบน)​ ท้องถนนอีกต่อไป  ผู้นำระดับสูงคนหนึ่งของจีนให้สัมภาษณ์ไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าคุณทำให้คนไม่คิดแม้แต่จะตั้งคำถามกับรัฐบาลได้ คุณก็ปกครองได้ตลอดไป เพราะประชาชนไม่รู้แม้กระทั่งว่าในประเทศมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง หรือต่อให้พวกเขารู้ ก็ไม่มีใครกล้าพูดถึงปัญหาเหล่านั้น เพราะราคาที่ต้องจ่ายให้กับการพูดความจริงมันสูงเกินไป

ในปัจจุบัน ไม่มีพื้นที่การสื่อสารใดที่ผู้นำเผด็จการทุ่มเทเวลาและทรัพยากรเพื่อจะควบคุมให้เชื่องและอยู่หมัดเท่ากับอินเทอร์เน็ต

ทำไมการควบคุมอินเทอร์เน็ตและพื้นที่การสื่อสารออนไลน์จึงสำคัญ และกลายเป็นสมรภูมิของการต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชนที่เข้มข้นที่สุด คำตอบคือ เพราะการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์นั้นมีความลื่นไหล เปิดกว้าง และรวดเร็วมากที่สุด เป็นช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย กว้างขวาง และมีส่วนร่วมได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อดั้งเดิมและเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ นายทุนเจ้าของทีวีและหนังสือพิมพ์ต่างกลัวการถูกปิดกิจการ จึงมักพร้อมที่จะเซ็นเซอร์ตนเองและยอมเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลอย่างศิโรราบ ในขณะที่โลกไซเบอร์นั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของผูกขาด และโลกออนไลน์ทำให้ประชาชนทุกคนกลายเป็นสื่อมวลชนได้ด้วยตนเอง

ด้วยเหตุนี้ ระบอบเผด็จการทุกแห่งทั่วโลกจึงรู้สึกว่าโลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่รัฐควบคุมได้ยากที่สุด ท้าทายการผูกขาด ‘ความจริง’ ของรัฐมากที่สุด โลกออนไลน์ทำให้รัฐเผด็จการสูญเสียความสามารถในการบงการความคิดของประชาชน ฉะนั้นจึงน่ากลัว ฉะนั้นจึงต้องถูกควบคุม

ในปี 1989 ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลาย เมื่อเกิดการประท้วงของนักศึกษาจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เรียกร้องให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิรูปการเมือง สิ่งที่รัฐบาลจีนทำคือตัดสัญญาณถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ CNN และหลังจากนั้นก็ห้ามนักข่าวต่างประเทศจำนวนหนึ่งไม่ให้เข้าประเทศ ในปัจจุบัน การทำเช่นนี้ไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะโซเชียลมีเดียทำให้ประชาชนทุกคนสามารถกลายเป็นนักข่าวสมัครเล่นที่สามารถเปิดโปงพฤติกรรมคอร์รัปชันอื้อฉาวของเจ้าหน้าที่รัฐได้แบบเรียลไทม์ ชาวจีนในหลายท้องถิ่นใช้โซเชียลมีเดียเปิดโปงความไร้ประสิทธิภาพและพฤติกรรมกดขี่ข่มเหงของข้าราชการ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจีนจึงหันมาควบคุมโลกออนไลน์อย่างเข้มข้น ควบคุมช่องทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และบริการโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่อาจมีข้อความที่มีทัศนะแตกต่างจากรัฐ เซ็นเซอร์ข้อความที่ทำให้รัฐรู้สึกอับอายขายหน้า หรือทำให้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์สั่นคลอน

รัฐบาลจีนสถาปนาตนเองเป็นบิ๊กบราเธอร์แบบในนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่กิจวัตรประจำวันของรัฐคือควบคุมสอดส่องประชาชนของตน ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเท่าที่รัฐอยากให้รับรู้ จากผลการสำรวจขององค์กรที่ทำงานด้านเสรีภาพอินเทอร์เน็ต พบว่าในปี 2559 จีนเป็นประเทศที่มีการแทรกแซงควบคุมอินเทอร์เน็ตโดยรัฐเข้มงวดที่สุดในโลก

รัสเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อื้อฉาวในเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนด้านข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดี วลาดีเมียร์ ปูติน ให้ความสำคัญกับการควบคุมอินเทอร์เน็ตมากกว่าช่องทางอื่นๆ เพราะรัฐควบคุมทีวีและหนังสือพิมพ์อยู่ในกำมือได้เบ็ดเสร็จ เหลือแต่อินเทอร์เน็ตที่ยังเป็นพื้นที่ท้าทายอำนาจรัฐและเปิดโปงการคอร์รัปชันของผู้นำรัฐบาล โดยเฉพาะเหตุการณ์ช่วงการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมปี 2554 เมื่อมีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งบางคนได้พบเห็นการโกงการเลือกตั้งของพรรครัฐบาลและเก็บบันทึกภาพในโทรศัพท์มือถือไว้ได้ แล้วนำมาลงยูทูบ

ภายในไม่กี่นาที วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อไปตามช่องทางสื่อสารออนไลน์ต่างๆ ราวกับไฟลามทุ่ง สารพัดกลโกงของรัฐบาลที่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานคาหนังคาเขากระตุ้นความไม่พอใจของชาวรัสเซียหลายหมื่นคนให้ออกมาประท้วงบนท้องถนนในกรุงมอสโคว์ กลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลปูตินตระหนักใน ‘พลังของอินเทอร์เน็ต’ จนหันมาควบคุมอย่างจริงจัง

ในเวเนซุเอลา รัฐก็ตระหนักและตระหนกในพลังของพื้นที่ออนไลน์ รัฐดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อทำให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจ เริ่มจากการที่รัฐตั้งตนเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่เสียเอง โดยแต่งตั้งอดีตผู้บัญชาการตำรวจหน่วยสืบราชการลับมาเป็นผู้อำนวยการสอดส่องการสื่อสารในโลกออนไลน์ของประชาชน ในปี 2010 รัฐสภาเวเนซุเอลายังได้ผ่านกฎหมายห้ามผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโพสต์ข้อความที่มีลักษณะก่อให้เกิด ‘ความวิตกกังวลหรือความไม่สงบในหมู่สาธารณชน’ ซึ่งมีความคลุมเครือและเปิดช่องให้รัฐตีความได้ตามอำเภอใจ ผลก็คือข่าวสำคัญๆ ที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนแต่รัฐมองว่าทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูไม่ดี ได้แก่ ข่าวเงินเฟ้อ สารพิษรั่วไหลในโรงงานอุตสาหกรรม และอาหารขาดแคลน ถูกเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด

ฉะนั้นในปัจจุบัน โลกการสื่อสารในอินเทอร์เน็ตที่เคยถูกมองว่าเป็นพรมแดนใหม่ของการสื่อสารของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน จึงกลายมาเป็นพื้นที่ที่ถูกรัฐเข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวด ผลการสำรวจพบว่า ปัจจุบันประชากรสองในสามของโลก (ราว 67%) อาศัยอยู่ในประเทศที่การวิจารณ์รัฐบาล กองทัพ หรือชนชั้นนำที่ปกครองประเทศเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และ 35% ไม่มีแม้กระทั่งเสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตลดลงทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากในโลกถูกฟ้องร้อง ตั้งข้อหา และถูกคุมขังโดยรัฐบาลของตน เพียงเพราะโพสต์ แชร์ หรือไลก์ข้อความที่รัฐบาลไม่พึงพอใจ

ในห้วงที่ผ่านมา พบว่าหลายประเทศผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจกับรัฐบาลอย่างครอบจักรวาลในการสอดส่องการสื่อสารออนไลน์และเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้อย่างไม่มีขีดจำกัดในนามของความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ดี งานวิจัยกลับพบว่าจุดประสงค์หลักที่แท้จริงของการควบคุมการสื่อสารในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียนั้นมุ่งไปที่การปราบปรามคนที่เห็นต่างจากรัฐ และเพื่อปกปิดความล้มเหลวและการคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจรัฐเป็นสำคัญ

ในโลกยุคปัจจุบันที่สื่อกระแสหลักอย่างทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ถูกรัฐควบคุมได้โดยง่าย โลกออนไลน์จึงกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญของเสรีภาพประชาชน สำหรับรัฐ เดิมพันของการควบคุมพื้นที่ออนไลน์คือ การกล่อมเกลาความรับรู้ของประชาชนให้เชื่อว่าทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดีภายใต้ระบอบปัจจุบัน หากกล่อมเกลาไม่สำเร็จ ก็อาจนำไปสู่สภาวะที่ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาล อันจะส่งผลให้การครองอำนาจเกิดความสั่นคลอน

รัฐเผด็จการทุกที่จึงกลัวโลกออนไลน์ด้วยเหตุฉะนี้เอง

ภาพประกอบ: pengbox

Tags: ,