ในเกมกีฬานอกเหนือจากประเด็นเรื่องชาติพันธุ์และสีผิวที่ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ละเอียดอ่อนยิ่งกว่า

เรื่องที่ว่าคือประเด็นของรสนิยมทางเพศ ที่เป็นดัง ‘คำสาป’ ของเกมกีฬา โดยเฉพาะในหมู่นักกีฬาชายที่กลายเป็นเรื่องร้ายแรงราวกับว่าไปฆ่าไปแกงใครมา

ทั้งที่มันก็แค่เรื่องมุมมองของความรักที่แตกต่าง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

การฆ่าตัวตายของนักฟุตบอลดาวรุ่งอังกฤษที่เป็นเกย์

ในอดีตวงการกีฬาเคย ‘ฆ่า’ นักกีฬารักร่วมเพศคนหนึ่งให้ตายทั้งเป็น จัสตินัส โซนี หรือ “จัสติน” ฟาชานู นักฟุตบอลชาวอังกฤษเชื้อสายไนจีเรีย ที่เคยเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองของวงการฟุตบอลเมืองผู้ดี และเป็นเจ้าของสถิตินักฟุตบอลผิวสีคนแรกที่ย้ายทีมด้วยเงินค่าตัวกว่า 1 ล้านปอนด์ ในการย้ายจาก นอร์วิช ซิตี้ มาอยู่กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ในปี 1981 โดยคนที่ตัดสินใจดึงตัวเขามาคือ ไบรอัน คลัฟ ปรมาจารย์ลูกหนังคนหนึ่งของยุค ซึ่งเป็นการการันตีว่าเด็กคนนี้ ‘มีของ’

มองๆ แล้ว จัสตินน่าจะมีอนาคตที่ดีและไปได้ไกลในวงการนี้ และมีโอกาสจะเป็นนักเตะผิวสีคนแรกๆ ที่จะได้ก้าวเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษในยุคที่นักเตะผิวสียังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก เพราะเล่นในตำแหน่งกองหน้าที่เป็นตำแหน่งขวัญใจโดยธรรมชาติของแฟนบอลอยู่แล้ว

แต่ทุกอย่างกลับเป็นในทางตรงกันข้าม เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ ‘คลัฟจี้’ (ชื่อเล่นของ คลัฟ) ที่เคยอบอุ่นกลายเป็นความเย็นชา เมื่อมีข่าวลือหนาหูว่าจัสตินมักจะไปเที่ยวไนต์คลับและบาร์ของหนุ่มประเภทสอง

เรื่องนี้ทำให้คลัฟผิดหวังและไม่เข้าใจ จนสุดท้ายมีการพูดคุยกัน โดยในหนังสืออัตชีวประวัติของเขามีการเปิดเผยรายละเอียดการพูดคุยว่า

“แกจะไปที่ไหน ถ้าอยากได้ขนมปัง? ผมถามเขา ก่อนยกตัวอย่างว่า ก็ต้องไปร้านขนมปังใช่ไหม แล้วถ้าอยากจะได้ขาแกะสักขาจะไปที่ไหน? ร้านขายเนื้อ แล้วอย่างนั้นทำไมแกถึงไปคลับบ้าๆ พวกนั้น?”

คลัฟ ส่งตัวจัสติน ให้เซาแธมป์ตันยืมไปใช้งานในฤดูกาลต่อมา ก่อนจะขายขาดให้แก่ น็อตต์สเคาน์ตี้ และชีวิตนักฟุตบอลก็มีแต่ดำดิ่งหลังจากนั้น ทั้งด้วยอาการบาดเจ็บทางร่างกาย และอาการบาดเจ็บทางใจ

ในปี 1990 จัสตินออกมายอมรับผ่านสื่อในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Sun ว่าเขาเป็นเกย์ และเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่เปิดเผยเรื่องนี้ ยิ่งทำให้สังคมต่อต้านหนัก ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลัง

และสุดท้ายหลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทำชำเราเด็กชายคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา จัสติน ฟาชานู ตัดสินใจยุติเรื่องทุกอย่างด้วยความตายในเช้าวันที่ 3 พ.ค. 1998

หนึ่งชีวิตของเขาแลกมาด้วยการที่สังคมตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกันอย่างร้ายกาจบนโลกใบนี้

โดยเฉพาะบนโลกกีฬา ที่ความจริงแล้วไม่ควรมีกำแพงใดมาขวางกั้น ไม่ว่าจะเชื้อชาติ สีผิว หรือแม้แต่เรื่องเพศ

ความเป็นเกย์ในโลกกีฬายุคใหม่ควรปิดหรือเปิด?

18 ปีต่อมา โลกเปลี่ยนไปจากเดิมมากครับ เรื่องรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายในหลายวงการ

เราได้เห็นคนมีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยที่กล้าจะก้าวออกมาบอกเล่าว่าเขาไม่เป็นอย่างภาพที่เห็น

ในวงการกีฬาเองก็มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้นักกีฬาที่มีรสนิยมรักร่วมเพศนั้นเป็นที่ยอมรับ และไม่จำเป็นต้องอยู่อย่างหลบซ่อนในเงามืดอีกต่อไป

ล่าสุดมีการทำสำรวจออนไลน์ในอังกฤษ โดยสถานีวิทยุ BBC Radio 5 live ได้สอบถามผู้ฟังจำนวน 4,000 คนว่า พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร หากสโมสรที่ติดตามอยู่เซ็นสัญญากับผู้เล่นที่เป็นเกย์

ผลสำรวจออกมาค่อนข้างชัดเจนครับว่า เรื่องพวกนี้ ‘ไม่ใช่เรื่อง’ ที่จะมาคิดเล็กคิดน้อยแล้ว โดย 82% ไม่ติดใจ

แต่ก็ยังมีอีก 8% ที่ระบุว่า หากมีการเซ็นสัญญานักเตะที่เป็นเกย์ พวกเขาจะเลิกติดตามทีม ซึ่งตัวเลขนี้เองที่ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการกีฬาอังกฤษอย่าง เกร็ก คลาร์ก ประธานสมาคมฟุตบอล (เอฟเอ) ลังเลที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องนี้

คลาร์กกลัวว่าหากมีการเปิดเผยตัวตนแล้ว นักกีฬาเหล่านั้นจะกลายเป็น ‘เป้า’ ให้แฟนกีฬาบางส่วนเล่นงาน

บางครั้งอาจจะหนักข้อกว่านักกีฬาผิวสีด้วยซ้ำไป

ในผลการสำรวจยังเปิดเผยด้วยว่า 47% ของแฟนกีฬา และ 50% ของแฟนฟุตบอล ระบุว่า เคยได้ยินการด่าทอเหน็บแนมเรื่องรสนิยมทางเพศในระหว่างการแข่งขัน และ 71% คิดว่าสโมสรควรจะมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องรสนิยมทางเพศที่แตกต่างว่าไม่ใช่เรื่องผิด

กรณีของคลาร์ก สะท้อนให้เห็นว่าแม้โลกกีฬาจะพัฒนาขนาดไหนในทางการแข่งขัน แต่ในทางจิตใจแล้วยังห่างไกลจากความเป็นกีฬาที่แท้จริง โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีอำนาจที่ยังเป็นคน ‘หัวเก่า’ ที่ไม่กล้าจะเปิดที่ทางให้นักกีฬาที่น่าเห็นใจเหล่านั้น

มุมมองดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัญหาและมีการตอบโต้พอสมควร โดย คริส ซัตตัน อดีตคู่หู ‘SAS’ ของ อลัน เชียเรอร์ ตำนานกองหน้าอังกฤษยุคก่อน ยอมรับว่าผิดหวังกับคำพูดของคลาร์ก ที่ปล่อยให้คน 8% ที่ไม่มีเหตุผลนั้นสามารถกำหนดทิศทางในเรื่องนี้

“การเปิดเผยตัวตนไม่ใช่ปัญหาในที่ทำงาน และการทำงานในสโมสรฟุตบอลก็ไม่ได้ต่างอะไรจากที่อื่น” ซัตตันกล่าวตอบโต้คลาร์กผ่านรายการ Afternoon Edition

ขณะที่ คีแกน เฮิร์สต์ นักรักบี้วัย 28 ปี ที่ยอมรับและภูมิใจกับการเป็นนักรักบี้เกย์ของทีมเวกฟิลด์ ใน Super League ถามกลับคลาร์กด้วยคำถามง่ายๆ แต่ตอบยาก

“แล้วเมื่อไรที่นักกีฬาเหล่านี้ควรจะเปิดเผยตัวตน?”

ต้องรอให้เลิกเล่นกีฬาก่อน เหมือน ร็อบบี้ โรเจอร์ส กองกลางทีมชาติสหรัฐฯ (ที่ประกาศเป็นเกย์และเลิกเล่นทันที ก่อนจะหวนคืนวงการในเวลาต่อมา) หรือ โธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ อดีตกองกลางทีมชาติเยอรมันชุดฟุตบอลโลก 2006

หรือจะอ้าแขนกว้างๆ และโอบกอดพวกเขาตั้งแต่วันนี้

กีฬา มิตรภาพ และการยอมรับความแตกต่างทางเพศ

จากต่างแดน ผมนึกย้อนกลับมาถึงแผ่นดินเรา

เท่าที่อยู่ในแวดวงกีฬามา 1 รอบวงชีวิต เรื่องราวของนักกีฬารักร่วมเพศผ่านเข้าหูมาน้อยมากครับ เท่าที่เห็นและเคยได้ยิน ทั้งหมดจะเป็นเรื่องราวของนักกีฬาหญิง มีทั้งคนที่มีชื่อเสียง (บางคนเป็นระดับฮีโร่ของชาติที่พอรู้ก็ช็อกมาก) และไม่ได้มีชื่อเสียง

และเท่าที่รู้ นักกีฬาเหล่านั้นก็ใช้ชีวิตการเล่นกีฬาอย่างปกติ รสนิยมทางเพศไม่มีปัญหาต่อการเล่นกีฬา และพวกเขาก็ไม่ได้ทำตัวเองให้มีปัญหาด้วย

เพียงแต่สำหรับนักกีฬาชายนั้นแตกต่างออกไปครับ สถานะและการยอมรับทางสังคมนั้นยากกว่า ด้วยเพราะความคิดที่ว่ากีฬาเดิมเป็นกิจกรรมของชายชาตรี จะมีชายเหนือชายมาเล่นด้วยนั้นเป็นเรื่องไม่น่ายินดีต้อนรับสักเท่าไร

แต่ท่ามกลางนักกีฬานับร้อยพัน หากจะมีชายรักชายปะปนอยู่บ้าง ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก

มันเป็นไปตามธรรมชาติและสังคมโลกในยามนี้

ที่ผ่านมาวงการกีฬามีเพียงความพยายามที่จะให้การสนับสนุนหรือผลักดันนักกีฬาที่มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างเหล่านี้ให้เปิดเผยตัวตน ซึ่งมองแล้วคล้ายเป็นการเอาเปรียบกันไปสักหน่อย

มันคงจะดีกว่าไหมหากโลกกีฬาทั้งใบจะเปิดใจและยอมรับพวกเขาด้วยความเข้าใจ ไม่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวหรือเป็นเสมือน ‘คำสาป’ ในมุมมืด

และมันคงจะดีกว่าใช่ไหมถ้าเรายังส่งยิ้ม จับมือ ตบไหล่ แล้วโอบกอด

ทำเหมือนที่เราเคยทำในวันก่อน

หาก ‘มิตรภาพ’ ยังเหมือนเดิม ‘มิตรเพศ’ ก็ควรเหมือนเดิม

และคำสาปเรื่องเพศนี้ก็ควรถูกลบออกไปจากวงการกีฬาสักที

 

FACT BOX:

ผลสำรวจจากแฟนกีฬา 11 ประเภทของ BBC Radio 5 live
– ถ้าจะมีนักกีฬาจากทีมคู่แข่งย้ายมาร่วมทีมรัก (12%) แฟนกีฬาจะรู้สึกแย่มากกว่า ทีมเซ็นสัญญากับผู้เล่นที่เป็นเกย์ (8%)
– แฟนกีฬา 7% จะเลิกติดตามทีมรักหากเซ็นสัญญาผู้เล่นที่เป็นเกย์
– 15% ของแฟนกีฬาคิดว่าการมีนักกีฬารักร่วมเพศในทีม จะทำให้เพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ รู้สึกไม่สบายใจ
– 50% ของแฟนฟุตบอลระบุว่า พวกเขาเคยได้ยินคำด่าทอเรื่องรักร่วมเพศ
– 57% ของแฟนกีฬา เชื่อว่านักกีฬารักร่วมเพศควรจะเปิดเผยตัวตน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้คนอื่นกล้าที่จะเปิดเผยตัวตน