แรกเริ่มเดิมทีนั้น พระคัมภีร์ปฐมกาลส่วนที่เขียนก่อน (คือปฐมกาลบทที่หนึ่ง ข้อที่ 26-27)
เขียนไว้ว่า พระเจ้าก็ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้คล้ายพระองค์ ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง
ทำให้นักวิชาการที่ศึกษาไบเบิลหลายคนตีความข้อความนี้ว่า Elohim หรือพระเจ้าเอง
ต้องมีทั้งความเป็นชายและหญิงอยู่ในตัวด้วย

1

เบื่อเรื่องวุ่นวายของมนุษย์กันไหมครับ

ถ้าเบื่อ ลองไปยุ่งเรื่องพระเจ้ากันดูบ้างไหม เผื่อว่าจะยกระดับจิตวิญญาณตัวเองขึ้นสู่ระดับโลกุตระ แล้วจะได้หายเบื่อความวุ่นวายของมนุษย์ไปได้บ้าง

ไม่หรอกครับ – เราจะไม่พูดกันถึงเหล่าเทพเจ้า ไม่ว่าจะกรีกหรืออินเดีย เพราะเหล่าเทพเจ้าพวกนั้นยุ่งวุ่นวายกระทำกามกรีฑาและยกพหลพลพยุหเสนาไปรบราฆ่าฟัน ฆ่าลูกฆ่าพ่อ ฆ่าพี่ฆ่าน้องกันอีนุงตุงนังไม่ผิดอะไรกับมนุษย์โลกเราหรอกครับ

อย่ากระนั้นเลย เราไปสำรวจตรวจตรา ‘พระเจ้า’ ในแบบที่เป็นเอกเทวนิยม หรือเป็นพระเจ้าแต่เพียงองค์เดียวดูกันดีกว่า และเพื่อให้สอดคล้องกับคอลัมน์นี้ เลยอยากชวนคุณไปดู ‘เพศ’ ของพระเจ้ากัน ว่าพระองค์เป็นเพศไหนกันแน่

และจะสงบราบคาบเยือกเย็นเป็นน้ำนิ่งใส แตกต่างจากความว้าวุ่นเว้าแหว่งของมนุษย์หรือเปล่า

ตามมาเลยครับ!

ศาสนจักรคาทอลิกบอกว่า พระเจ้านั้นเลยพ้นการแยกแยะเรื่องเพศแบบมนุษย์ไปแล้ว
พระองค์จึงไม่ใช่ทั้งผู้ชายหรือผู้หญิง แต่เป็นพระเจ้า

2

เวลาจะเริ่มเขียนอะไรถึงพระเจ้า (หรือพูดกลับข้างกันก็คือ เริ่ม ‘สร้าง’ พระเจ้าในตัวหนังสือ) สิ่งแรกที่ผมมักนึกถึงขึ้นมาเป็นเบื้องต้น ก็คือการที่พระเจ้าเริ่ม ‘สร้าง’ โลกและสรรพสิ่ง รวมทั้งมนุษย์ผู้บกพร่องเว้าแหว่งเหล่านี้ด้วย

ประโยคแรกๆ ในพระคัมภีร์เก่าอันถือเป็นมารดร (ทำไมต้องเป็นแม่-ซึ่งเป็นเพศหญิงด้วยล่ะนี่!) แห่งคัมภีร์ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ศาสนายูดาย คริสต์ หรืออิสลาม ก็ตามที ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลกก็คือ “In the beginning God created the heavens and the earth.” ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูภาษาฮีบรู เราจะพบว่าส่วนแรกของประโยค (คือ In the beginning God created) ในภาษาฮีบรูคือ B’reshit bara Elohim

ทีนี้พอเราจะดู ‘เพศ’ ของพระเจ้า ก็เลยต้องดูที่ ‘เพศ’ ของคำกริยาที่ใช้นะครับ เพราะภาษาฮีบรูก็มีเพศเหมือนกัน (แบบเดียวกับที่เราคุ้นเคยในภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน หรือเยอรมัน ในปัจจุบันนี่แหละ) หากพิจารณาเพศของคำกริยาในประโยคดังกล่าวแล้ว เราจะพบว่ามีเรื่องน่าสนใจอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรกก็คือ-คำว่า created หรือ bara ที่ปรากฏอยู่นั้น เป็นคำกริยาที่เอาไว้ใช้กับประธานที่ ‘ไม่มีเพศ’ (nongendered) เพราะฉะนั้นเอาเข้าจริงก็เลยยังบอกไม่ได้หรอกนะครับว่า พระเจ้าในทัศนะของผู้เขียนที่ใช้ภาษาฮีบรูนั้นเป็นเพศหญิง ชาย หรืออะไร

ทีนี้ไปดูเรื่องที่สองกันครับ-ก็กับคำเดิมนั่นแหละ คือคำว่า bara คำนี้เป็นคำกริยาที่นักวิชาการด้านภาษาบอกว่า โดยทั่วไปแล้วจะใช้กับประธานที่เป็น ‘พหูพจน์’ ไม่ได้ใช้กับประธานที่เป็นเอกพจน์

ตรงนี้เลยก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาเป็นการใหญ่ เพราะคนทั่วไปเชื่อว่าพระเจ้านั้นเป็นหนึ่งเดียว มีพระเจ้าแต่เพียงองค์เดียว แล้วทำไมพอย้อนไปดูรากในภาษา ถึงได้ใช้กริยากับประธานที่เป็นพหูพจน์กันเล่า

เมื่อสงสัยแบบนี้ เลยต้องย้อนไปดูที่ตัวประธานของประโยค ซึ่งในที่นี้ก็คือคำว่า Elohim ซึ่งแปลว่า พระเจ้า นั่นแหละครับ เขาบอกว่า สมัยก่อนโน้น คำว่า Elohim เป็นคำนามแบบพหูพจน์ เหมือนคำว่า gods หรือ deity คือหมายถึง ‘เทพ’ แบบรวมๆ ทั้งวงศ์วานว่านเครือ คล้ายๆ เทพเจ้าของกรีกของอินเดียอะไรแบบนั้น แต่ถ้าเป็นภาษาฮีบรูยุคใหม่ (Modern Hebrew) คำนี้มักจะนำมาใช้ในลักษณะที่เป็นเอกพจน์ ไม่ใช่พหูพจน์ ซึ่งแสดงให้เราเห็นความ ‘เปลี่ยนแปลง’ หรือการ ‘บิดผัน’ ของภาษาที่นำมารับใช้แนวคิดเรื่องพระเจ้าที่เปลี่ยนจากพหุเทวนิยมมาเป็นเอกเทวนิยม

ทีนี้สมมุติว่าเราตัดเรื่องพหูพจน์เอกพจน์ออกไปก่อน เพราะว่าเรื่องพระเจ้าจะเป็นเทพองค์เดียวผู้สร้างโลก หรือเป็น ‘หนึ่งในเทพ’ หลายๆ องค์ของยุคสมัยนั้นที่ลุกขึ้นมาบอกมนุษย์ว่าพระองค์เป็นเทพองค์เดียวก็ตามที (งงไหมครับ) ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเพศของพระองค์ แต่อยากชวนมาดูคำลงท้ายว่า -im ซึ่งเขาบอกว่า การลงท้ายคำแบบนี้เป็นการบ่งบอกถึง ‘เพศชาย’ (ถึงจะเป็นเพศชายที่เป็นพหูพจน์ก็เถอะ!) เพราะฉะนั้น พระเจ้าอาจเป็นเพศชายมาแต่เดิมก็ได้

แต่ช้าก่อน!

นักวิชาการอีกสายหนึ่งแย้งว่า ถ้าไปดูภาษาฮีบรู เราจะพบว่า ‘เพศชาย’ (ในไวยากรณ์น่ะนะครับ) ไม่ได้ใช้แค่กับผู้ชาย หรือสิ่งมีชีวิตที่มีเพศเป็นชาย (masculine gender) เท่านั้น แต่ยังใช้กับของทั่วๆ ไปที่ไม่มีชีวิต โดยเฉพาะของที่อยู่ในธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ก้อนดิน จักรวาล ดวงดาว ฯลฯ ด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาพิจารณาก่อนว่า มนุษย์เห็น ‘พระเจ้า’ เป็นอะไร เป็นสิ่งมีชีวิต หรือเป็นสิ่งที่ ‘พ้นไปจากการมีชีวิต’ ซึ่งหากเป็นแบบแรก แปลว่ามนุษย์คิดว่าพระเจ้าเป็นผู้ชายแน่ๆ แต่ถ้าเป็นแบบที่สอง ก็ยังฟันธงไปไม่ได้หรอกนะครับ ว่าพระเจ้าเป็นเพศอะไร หรือที่สุด พระเจ้าอาจเป็น nongendered being ก็ได้

นักวิเคราะห์ไบเบิลบางคน (เช่น Michael Coogan ที่เขียนหนังสือ God and Sex: What the bible Really Says) ชวนเราไปพิจารณา ‘เพศ’ ของพระเจ้าที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ปฐมกาล แต่ต้องบอกกันก่อนนะครับว่าพระคัมภีร์ฉบับปฐมกาลนี้ไม่ได้เขียนโดยคนคนเดียว มีการเขียนกันหลายครั้งหลายคนในหลายยุคสมัย ก่อนจะเอามารวมกันไว้จนกลายเป็นพระคัมภีร์อย่างที่เราเห็น

ทีนี้เมื่อเขียนกันหลายคนในหลายยุคสมัย (เชื่อกันว่าบางช่วงตอนเขียนห่างกันหลายร้อยปีก็มี) ก็ย่อมมีความขัดแย้งแตกต่าง มีการเสริมเติมบางอย่างเข้าไปภายหลัง เช่น เรามักจะเชื่อตามพระคัมภีร์ที่บอกว่า พระเจ้าสร้างอดัมก่อนแล้วค่อยสร้างอีฟจากซี่โครงของอดัม แต่เขาบอกว่า การเขียนเรื่องอดัมกับอีฟนี้เป็นสิ่งที่เขียนขึ้นภายหลัง แรกเริ่มเดิมทีนั้น พระคัมภีร์ปฐมกาลส่วนที่เขียนก่อน (คือปฐมกาลบทที่หนึ่ง ข้อที่ 26-27) เขียนไว้ว่า พระเจ้าก็ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้คล้ายพระองค์ ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง ทำให้นักวิชาการที่ศึกษาไบเบิลหลายคนตีความข้อความนี้ว่า Elohim หรือพระเจ้าเอง ต้องมีทั้งความเป็นชายและหญิงอยู่ในตัวด้วย ดังนั้น พระเจ้าจึงไม่ใช่เพศชายหรือหญิงอย่างที่หลายคนในปัจจุบันมักจะคิดอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาพระเจ้าของชาวคริสต์ เราจะพบว่า ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเจ้าเป็นพระตรีเอกานุภาพ คือมีสามองค์ประกอบรวมกันเป็นหนึ่ง ได้แก่ พระบิดา พระบุตร และพระจิต ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยกันละนะครับว่าพระบิดากับพระบุตรต้องเป็นเพศชายแน่ๆ แต่คำถามก็คือ-แล้วพระจิตล่ะ เป็นเพศไหน

ถ้าย้อนกลับไปดูภาษากันอีกรอบเราจะพบว่าพระจิต (หรือพระวิญญาณ) คือคำว่า Spirit หรือ Ruach ในภาษาฮีบรูโบราณนั้นเป็นเพศหญิง แต่ถ้ามาดูพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษ (ที่แปลมาจากฮีบรูอีกทีหนึ่ง) ไม่ว่าจะเป็นฉบับไหนก็ตาม (มีฉบับ King James, New American Standard, New American, New Revised Standard) ทุกฉบับใช้สรรพนามเรียกพระจิตว่า He คือเป็นเพศชายหมด (เว้นแต่ฉบับ King James ที่ใช้ว่า It เพื่อแสดงความเป็นกลางทางเพศบ้างบางครั้งสลับกับ He) เพราะฉะนั้นเราจึงจะเห็นการ ‘ตีความ’ บางอย่าง ซ่อนอยู่ในการแปลด้วย เป็นการตีความที่เกี่ยวพันกับอำนาจทางเพศที่เห็นได้ชัดเจน

ในปัจจุบัน มีศาสนาคริสต์บางนิกายที่เชื่อมั่นเต็มร้อยว่า ทั้งพระบิดา พระบุตร และพระจิต ต้องมีเพศชายอย่างแน่นอน บางนิกายสอนกันว่า พระเจ้านั้น ‘แต่งงาน’ กับผู้หญิงด้วยนะครับ (ใช่แล้ว-นิกายเหล่านั้น, พระจะแต่งงานได้) แต่เป็นผู้หญิงศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า Heavenly Mother คือเป็นมารดรแห่งสวรรค์ เป็นแม่ของสาวกทั้งปวง

เรื่องนี้ทำให้บางคนวิจารณ์ว่าเป็นการจำลองรูปแบบครอบครัวของมนุษย์ในอุดมคติ แล้วเอาครอบครัวแบบนี้ไปครอบขังพระเจ้าเอาไว้ ทำให้พระองค์ต้องมีรูปแบบชีวิตในแบบที่มนุษย์เป็น ทั้งนี้ก็เพื่อย้อนกลับมาเป็น ‘แบบและเบ้า’ ให้กับมนุษย์อีกต่อหนึ่ง

ในบางนิกาย เช่น โรมันคาทอลิก เคยมีการถกปัญหาแบบปุจฉาวิสัชนาทางศาสนาที่เรียกว่า The Catechism of the Catholic Church (หรือ CCC) ในปี 1992 ในสมัยของพระสันตะปาปาจอห์นพอลที่สอง แน่นอน-คำถามเรื่อง ‘พระเจ้าเป็นเพศไหน’ ก็เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญที่ท้าทายศาสนจักรคาทอลิกด้วย     กับเรื่องนี้ ศาสนจักรคาทอลิกบอกว่า พระเจ้านั้นเลยพ้นการแยกแยะเรื่องเพศแบบมนุษย์ไปแล้ว พระองค์จึงไม่ใช่ทั้งผู้ชายหรือผู้หญิง แต่เป็นพระเจ้า ซึ่งนั่นย่อมแปลว่า แม้จะเรียกว่าเป็นพระบิดา และพระบุตร แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทั้งพระบิดาและพระบุตรเป็นผู้ชายนะครับ ทว่าเป็นบางสิ่งที่ ‘พ้น’ ไปจากการแบ่งเรื่องเพศแล้ว

ถ้าเพศของพระเจ้าไม่สำคัญขนาดนั้น ก็แล้วทำไมเพศของมนุษย์ถึงสำคัญขนาดนี้ด้วยเล่า

3.

พอพูดถึงเรื่องเพศของพระเจ้า ขุดค้นข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วไม่ได้ข้อสรุปเสียทีว่าพระเจ้าเป็นเพศอะไรกันแน่ ก็เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า-แล้วจะไปค้นหาเพศของพระเจ้าหาอะไร มันมีประโยชน์อะไรกันหรือที่จะต้องรู้หรือกำหนดให้ได้เลยเชียวว่าพระเจ้ามีเพศอะไร

ผมว่านี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ และนำย้อนกลับมาหามนุษย์ในโลกนี้อีกทีหนึ่งนะครับ

เพราะถ้าเพศของพระเจ้าไม่สำคัญขนาดนั้น ก็แล้วทำไมเพศของมนุษย์ถึงสำคัญขนาดนี้ด้วยเล่า

ในโลกโลกุตระ บางทีเพศของพระเจ้าอาจไม่สำคัญเลยก็ได้ แต่เป็นโลกโลกียะของเรานี่เอง ที่ยื่นมือเข้าไปยุ่มย่ามกำหนดเพศและบทบาททางเพศให้พระเจ้า

ถ้าเราตั้งคำถามกันได้ว่า-มีประโยชน์อะไรที่จะต้องรู้หรือกำหนดให้ได้-ว่าพระเจ้ามีเพศอะไร

เราก็น่าจะตั้งคำถามทำนองเดียวกันกับความพยายามกำหนดเพศของคนอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมรอบตัวเราได้เช่นเดียวกัน

 

ภาพประกอบ: คุณเค

Tags: , ,