คุณเคยสังเกตเห็น ‘หัวนม’ คนอื่นไหมครับ

ต่อให้ไม่ได้อยากเห็นหัวนมใคร แต่ถ้ามีคนเปลือยร่างให้เห็นอยู่ตรงหน้า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หัวนมคือจุดเด่นอย่างหนึ่งของคน-ที่ดึงดูดสายตาของคนอื่นให้ต้องมอง

เวลามนุษย์เปลือยร่าง สิ่งที่โดดเด่นในร่างกายของเรามีไม่กี่อย่างนะครับ อย่างแรกก็คือใบหน้า อย่างที่สองก็คืออวัยวะเพศ และอย่างที่สามก็คือหัวนมนี่แหละครับ

ถ้าย้อนกลับไปก่อนทศวรรษสามศูนย์คุณอาจไม่เชื่อก็ได้ว่า สหรัฐอเมริกามีกฎหมายห้ามผู้ชายเปลือยอกเผยหัวนมให้คนเห็น

ใบหน้านั้นไม่ต้องพูดถึงว่ามันสำคัญอย่างไร แต่คำถามที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยเสมอมาก็คือ ทำไมอวัยวะเพศและหัวนมของมนุษย์จึงต้องโดดเด่นขนาดนั้นด้วย เพราะถ้าเปรียบเทียบมนุษย์กับสัตว์สี่เท้า เราจะเห็นว่าอวัยวะเพศของสัตว์สี่เท้าทั้งหลายจะ ‘หุบ’ อยู่ด้านในร่างกาย ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดนัก หรือจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อมองจากทางด้านหลังเท่านั้น แต่ในมนุษย์ซึ่งวิวัฒนาการมาเดินสองเท้าและสลัดขนบนร่างกายทิ้งไปจนเหลืออยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัตว์อื่นๆ เราจะเห็นว่านอกจากรักแร้ (ที่มองไม่ค่อยเห็นแล้ว) ร่างกายจะเหลือขนเอาไว้ที่ศีรษะ ที่อวัยวะเพศ และในคนอีกจำนวนมาก (โดยเฉพาะผู้ชาย) จะมีขนที่หน้าอก นม และลามไล่ลงมาที่สะดือจนถึงอวัยวะเพศด้วย

นักวิทยาศาสตร์บางราย (รวมถึงดาร์วินเองด้วย) พยายามอธิบายว่า ที่ร่างกายมนุษย์เป็นแบบนี้ เพราะเกิด ‘การคัดเลือกทางเพศ’ (Sexual Selection) ขึ้นมาควบคู่กับ Natural Selection โดย ‘ขน’ นี่แหละ เป็นตัวเสริมให้เกิดความโดดเด่นบนร่างกาย เพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามให้เห็นอวัยวะเหล่านี้ เป็นอวัยวะที่มีเอาไว้เพื่อการสืบเผ่าพันธุ์

เคยมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมมนุษย์ถึงต้องทำให้หัวนมเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเรื่องเพศ (sexualize หัวนม) ด้วย

บางทีคำตอบอาจอยู่ตรงที่…ก็หัวนมมันเกี่ยวกับเรื่องเพศจริงๆ นี่

หลายปีก่อน เคยมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Sexual Medicine บอกว่าการกระตุ้นหัวนมนั้น ทำให้สมองที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศถูกกระตุ้นไปด้วย เพราะฉะนั้นแม้จะสรุปไม่ได้ว่าหัวนมเป็นอวัยวะเพศอย่างหนึ่ง แต่สมองก็ตอบสนองต่อการกระตุ้นหัวนมด้วยการสร้างสารสื่อประสาทหรือฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความสุขขึ้นหลายแบบ เช่น ออกซิโทซิน (ซึ่งหลั่งออกมาตอนที่ลูกดูดนมแม่หรือตอนคลอด) แต่ที่สำคัญก็คือ การกระตุ้นหัวนมที่ทำให้สมองที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศทำงานนั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้หญิงนะครับ ในผู้ชายก็เกิดขึ้นด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หัวนมทั้งในหญิงและชายมีส่วนในการกระตุ้นทางเพศไม่แพ้อวัยวะเพศอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมผู้ชายถึงยังมีหัวนมเหลืออยู่ ทั้งที่เมื่อมองจากบางแว่นแล้ว เหมือนเป็นอวัยวะที่ไม่มีการใช้งานเลย

ปี 1936 รัฐนิวยอร์กถึงได้ยกเลิกการห้ามผู้ชายเปลือยอกโชว์หัวนมในที่สาธารณะ ทำให้หัวนมของผู้ชายเป็นของที่ ‘โชว์ได้’ ขึ้นมาในทันที

โดยทั่วไปในปัจจุบัน เราอาจคิดว่าหัวนมของผู้ชายเป็นสิ่งที่เปิดเผยได้ แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนทศวรรษสามศูนย์คุณอาจไม่เชื่อก็ได้ว่า สหรัฐอเมริกามีกฎหมายห้ามผู้ชายเปลือยอกเผยหัวนมให้คนเห็น (ไม่ต้องพูดถึงผู้หญิงหรอกนะครับ)

เรื่องนี้ กลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่โตขึ้นมา เมื่อมีผู้ชาย 4 คนไปเที่ยวเกาะโคนีย์ในนิวยอร์ก แล้วเดินถอดเสื้อบนชายหาดที่อากาศร้อน ปรากฏว่าถูกตำรวจจับ ทำให้ผู้ชายหลายพันคนลุกขึ้นมาประท้วง

แต่ใช่ว่าประท้วงปุ๊บแล้วผู้ชายจะเดินถอดเสื้อโชว์หัวนมกันได้หราทันทีนะครับ เพราะเรื่องนี้ตราไว้ในกฎหมายเลยว่า ไม่มีใครโชว์หัวนมได้ทั้งนั้น การประท้วงจึงกินเวลานานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จ

ในปี 1934 คลาร์ก เกเบิล นักแสดงชายสุดหล่อ (ของยุคนั้น) เล่นหนังเรื่อง It Happened One Night โดยการโชว์หัวนมให้เห็นในหนังอเมริกันเป็นครั้งแรก เรียกว่าเป็นเรื่องที่ร่ำลืออื้อฉาวกันไปเลยทีเดียวที่ได้เห็นหัวนมชายหนุ่มโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ ซึ่งก็ดูเหมือนมีแนวโน้มที่ดีว่ารัฐจะอนุญาตให้ผู้ชายโชว์หัวนมได้แล้วใช่ไหมครับ

แต่ไม่เลย เพราะในปีรุ่งขึ้น คือปี 1935 รัฐนิวเจอร์ซีย์ก็จับผู้ชาย 42 คนที่ไม่ใส่เสื้อในเมืองแอตแลนติกซิตี้ ถือเป็นการจับกุมขนานใหญ่ จนมาถึงปี 1936 รัฐนิวยอร์กถึงได้ยกเลิกการห้ามผู้ชายเปลือยอกโชว์หัวนมในที่สาธารณะ ทำให้หัวนมของผู้ชายเป็นของที่ ‘โชว์ได้’ ขึ้นมาในทันที

ผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจหลักในสังคม หัวนมผู้หญิงทำให้ผู้ชายปั่นป่วนรัญจวนใจ
การปิดหัวนมผู้หญิง (ซึ่งเป็นการโยนความผิดและภาระเอาไว้ที่ผู้หญิง)
จึงช่วย ‘รักษาความสงบ’ ในสังคมได้ระดับหนึ่ง

แล้วหัวนมผู้หญิงล่ะ?

หัวนมผู้หญิงซับซ้อนกว่าหัวนมผู้ชายไปอีกขั้นนะครับ อย่างหนึ่งเพราะผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจหลักในสังคม หัวนมผู้หญิงทำให้ผู้ชายปั่นป่วนรัญจวนใจ การปิดหัวนมผู้หญิง (ซึ่งเป็นการโยนความผิดและภาระเอาไว้ที่ผู้หญิง) จึงช่วย ‘รักษาความสงบ’ ในสังคมได้ระดับหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งหัวนมผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวพันกับการเลี้ยงดูลูก (หรือสมาชิกใหม่ในสังคม) ด้วย ดังนั้นหัวนมจึงไม่ใช่ของที่ควรเอามาเปิดเผยแผ่หราให้คนอื่นเห็น แต่ก็เกิดขบวนการที่เรียกว่า Topfreedom หรืออิสรภาพของร่างกายท่อนบนขึ้นตลอดมา จนทำให้หลายรัฐหรือหลายประเทศอนุญาตให้ผู้หญิงเปลือกอกในที่สาธารณะได้

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ที่ฮือฮามากในระยะหลัง คือการรณรงค์ที่เรียกว่า Free the Nipple หรือปลดปล่อยหัวนมให้เป็นอิสระ

ในแง่หนึ่ง การรณรงค์ที่ว่านี้คล้ายการประท้วงของผู้ชายในยุคสามศูนย์อยู่เหมือนกันนะครับ เพราะมันเริ่มต้นจากการที่ผู้หญิงคนหนึ่ง (ชื่อ Phoenix Feeley) ถูกจับ เนื่องจากเปลือยอกในนิวยอร์กเมื่อปี 2005 แต่ที่ไม่เหมือนผู้ชายที่ถูกจับในยุคสามศูนย์ก็คือ การจับกุมนั้นไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะรัฐนิวยอร์กอนุญาตให้ผู้หญิงเปลือยอกได้มาตั้งแต่ปี 1990 แล้ว ดังนั้นการจับกุมนี้จึงสร้างความขัดเคืองให้กับผู้หญิงโดยทั่วไป เพราะคล้ายกับว่ากฎหมายอนุญาตแล้ว แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายยังยึดถือตาม social norm (ที่เอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่าเป็น norm ของใคร) อยู่ดี จึงทำให้เกิดการจับกุมที่ผิดพลาดนี้ขึ้นมาได้

เรื่องนี้กลับข้างกันกับหัวนมผู้ชายและการประท้วงในยุคสามศูนย์นะครับ เพราะในยุคสามศูนย์นั้นมีกฎหมายอยู่จริงๆ แต่คนทั่วไป (หรือ social norm) เห็นว่าหัวนมผู้ชายไม่ใช่ของซีเรียสอะไรนักหนา จะเปิดเปลือยให้เห็นก็ได้ ส่วนหัวนมผู้หญิงกลับหัวกลับหางกันในทั้งสองมิติ

ประเด็นร้อนแรงขึ้น เมื่อในปี 2014 สเกาต์ วิลลิส (Scout Willis) ซึ่งเป็นลูกสาวของบรูซ วิลลิส และ เดมี มัวร์ รณรงค์เรื่องนี้ ด้วยการเดินเปลือยอกไปตามถนนในย่านอีสต์วิลเลจในนิวยอร์ก แล้วก็ถ่ายคลิปกับรูปมาเผยแพร่ในทวิตเตอร์กับอินสตาแกรม ปรากฏว่าเธอถูกอินสตาแกรมสั่งแบน

เธอบอกว่า ที่ทำอย่างนี้เพราะมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิด ‘บทสนทนา’ เกี่ยวกับร่างกายในเชิงบวก (Body Positivity) และความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality) สิ่งที่เธอทำ คือการท้าทาย ‘ไกด์ไลน์’ ของอินสตาแกรม และท้าทาย social norm ไปด้วยพร้อมกัน โดยตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึง sexualize หัวนมของผู้หญิงมากกว่าหัวนมของผู้ชาย (ดูแถลงการณ์ของเธอได้ ที่นี่

ในปัจจุบัน ประเด็นการถกเถียงเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การเปลือยอกในที่สาธารณะในทางกายภาพ แต่เลื่อนมาอยู่ที่การเปลือยหรือโชว์หัวนมในโลกออนไลน์ด้วย โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมที่เคร่งครัดในเรื่องภาพเหล่านี้ คนดังที่ลุกขึ้นมารณรงค์เรื่องนี้ยังมีอีกหลายคน เช่น ไมลีย์ ไซรัส ริฮานนา หรือเชลซี แฮนด์เลอร์ แม้กระทั่งวิลโลว์ สมิธ ก็ยังถูกแบนเพียงเพราะเธอโพสต์ภาพตัวเองใส่เสื้อที่มีลายพิมพ์เป็นภาพหัวนมผู้หญิง

‘ปัญหาหัวนม’ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความเหมาะสมเท่านั้น แต่ยังสร้างคำถามใหม่ๆ ให้กับสังคมในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากความ (ไม่) เท่าเทียมทางเพศด้วย เช่น คำถามว่าอะไรคือพื้นที่สาธารณะ และข้อห้ามในการเข้าใช้สื่อออนไลน์นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ (ของอเมริกา) หรือเปล่า รวมไปถึงปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ที่เข้ามาล่วงล้ำการแสดงออกส่วนบุคคลด้วย

นั่นทำให้ปัญหาหัวนมของผู้หญิงยุคใหม่ กลายเป็นเรื่องที่แหลมคมและซับซ้อนกว่าปัญหาหัวนมของผู้ชายในยุคสามศูนย์หลายเท่านัก

 

ภาพประกอบ: คุณเค

Tags: , ,