‘วิกฤตเนื้อหา’ ที่มาจากความลวงและความเกลียดชังนั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของเฟซบุ๊กเอง

1.

ในที่สุด เฟซบุ๊กก็คงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเสียที

หลังจากปล่อยให้รัฐบาลเยอรมันขู่เข็ญอยู่เป็นนาน กับการปล่อยปละให้เนื้อหาปลอมและเฮตสปีชกินพื้นที่บนหน้าฟีดเฟซบุ๊กได้โดยเสรีมาพักใหญ่

ไม่ใช่ว่าเฟซบุ๊กไม่ทำอะไรเสียทีเดียว ในความเป็นจริงทั้งเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นอย่าง ทวิตเตอร์ ยูทูบ ไปจนถึงไมโครซอฟต์เอง ก็เคยลงนามให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ในการจัดการกับเนื้อหาประเภทดังกล่าวภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับรายงาน

แต่ 24 ชั่วโมงนั้นแทบไม่มีความหมาย เมื่อเทียบกับศักยภาพในการกระจายเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตของพวกเรา เปรียบเป็นการจุดไฟ ไฟก็ลามไปจนหมดทุ่งแล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลเยอรมันเลิกขู่ แต่ลุกขึ้นมาประกาศว่าจะร่างกฎหมายตั้งค่าปรับ ซึ่งอาจสูงถึง 50 ล้านยูโร สำหรับโซเชียลมีเดียที่ปล่อยให้มีเนื้อหาปลอมหรือปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง รวมถึงเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายประเภทอื่น ในที่สุดเฟซบุ๊กก็มีแววว่าจะขึ้นหน้าจอป็อปอัพเพื่อแจ้งเตือนเนื้อหาที่เข้าข่ายอย่างจริงจัง

แม้ไม่ใช่ฟีเจอร์ใหม่แกะกล่อง เพราะเฟซบุ๊กประกาศใช้การแจ้งเตือนแบบนี้มาแล้วหลายเดือน แต่ที่ผ่านมาผู้ใช้เฟซบุ๊กก็ไม่ค่อยได้เห็นการใช้จริงสักเท่าไร

แต่ต่อให้ไม่ถูกบังคับด้วยกฎหมาย เฟซบุ๊กเองก็น่าจะรู้แล้วว่า ‘วิกฤตเนื้อหา’ ที่มาจากความลวงและความเกลียดชังนั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของเฟซบุ๊กเอง

แม้จะดูไม่ยากว่าเป็นข่าวปลอม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเสียเวลาใคร่ครวญ

2.

คงไม่ต้องถามว่าทำไมจึงเป็นรัฐบาลเยอรมันที่ลุกขึ้นมาเป็นเดือดเป็นร้อนกับเรื่องนี้มากที่สุด นี่คือบาดแผลที่เยอรมันไม่ต้องการโดนสะกิด เพื่อทำให้แผลเป็นกลับมาเป็นแผลสดอีกครั้งแน่ๆ

มันไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าเยอรมันจะก้าวพ้นความเจ็บปวดของสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การเสี่ยงปล่อยให้กระแสชาตินิยมที่ดูเหมือนจะถูกจุดติดอีกครั้งกับคนกลุ่มเล็กๆ กลับมาเป็นกระแสหลัก ในขณะที่ประเทศกำลังรับมือกับปัญหาผู้อพยพ คงไม่เป็นผลดีกับใครแน่

โดยเฉพาะในวันที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ และทุกอย่างยังอยู่ในภาวะคาดเดาได้ลำบากแบบนี้

แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เยอรมันที่ควรเป็นกังวล เมื่อข่าวปลอมนั้นสามารถสร้างให้เกิดความขัดแย้ง จนถึงสามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ถ้ามันจะทำ

ไม่ว่ามันจะถูกสร้างขึ้นเพื่อหาผลประโยชน์ อย่างข่าวปลอมที่ปล่อยจากประเทศมาซิโดเนียในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกาที่ผ่านมา (เต้าข่าวสร้างความหวือหวาเพื่อรายได้โฆษณา) หรือเกิดจากความเข้าใจผิดเล็กน้อยที่ถูกนำมาขยายใหญ่ในที่สุด

กรณีคลาสสิกที่ได้รับการอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งก็คือ จอห์น แฮนสัน (John Hanson) เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของอเมริกา

เรื่องเริ่มต้นเมื่อมีใครสักคนหยิบรูปวุฒิสมาชิกของไลบีเรียซึ่งมีชื่อว่า จอห์น แฮนสัน เหมือนกันและเป็นชายผิวสี มาประกาศว่าแท้จริงแล้วนี่คือประธานาธิบดีผิวสีของอเมริกาที่ทุกคนหลงลืม

แน่นอน มีคนที่เชื่อข่าวนี้

ไม่เพียงเชื่อว่าแฮนสันเป็นประธานาธิบดีคนแรก แต่เว็บไซต์ข่าวปลอมบางแห่งเล่นเรื่องราวไปไกลขนาดที่ว่าสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีผิวสีมาแล้วถึง 7 คน (รวมถึงทอมัส เจฟเฟอร์สัน, อับราฮัม ลินคอล์น และดไวต์ ไอเซนฮาวร์)

แม้จะดูไม่ยากว่าเป็นข่าวปลอม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเสียเวลาใคร่ครวญ ที่สำคัญ ข้อมูลไม่น่าเชื่อแบบนี้แหละที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ดูจากนิสัยการฟอร์เวิร์ดไลน์ของคนไทยกันเองก็ได้

นี่จึงเป็นเรื่องราวของความลวงที่หลายคนเรียกว่า ความจริงทางเลือก ซึ่งกำลังสร้างให้เกิดประวัติศาสตร์ทางเลือก ในแบบใครอยากเขียนอะไรก็เขียน

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ทางเลือกก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว แต่ในโลกที่ความขัดแย้งพร้อมจะกลายเป็นความรุนแรง ประวัติศาสตร์ทางเลือกแบบนี้ก็อาจมีต้นทุนสูงเกินกว่าที่จะแลกด้วยความเพิกเฉยของเรากันเอง

ความเจ็บปวดกว่านั้นอยู่ตรงที่ว่า ความลวงไม่ได้เกิดจากผู้สร้างเนื้อหาที่เป็นผู้ใช้เท่านั้น แต่หลายครั้งมันเกิดจากสื่อกระแสหลักที่ขาดความรับผิดชอบด้วย  นั่นเป็นเหตุผลให้บรรณาธิการเว็บไซต์วิกิพีเดียในอังกฤษลงคะแนน ‘แบน’ การอ้างอิงเนื้อหาจากสื่อเดลีเมลของอังกฤษ ที่พวกเขาเห็นว่าขาดความน่าเชื่อถือในที่สุด

วูดดี อัลเลน เคยกล่าวไว้ว่ามันอาจไม่มีอะไรเลยที่ดำรงอยู่ในความเป็นจริง และเราต่างเป็น ‘ตัวละครในความฝันของใครสักคน’

3.

ในหลายครั้ง (หรือทุกครั้ง) ความพยายามที่จะแก้ไขเนื้อหาปลอม ไม่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและกว้างเท่าตัวเนื้อหาปลอมเอง

นั่นทำให้เราต้องหันมาหาเครื่องมือการกรองเนื้อหา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการค้นหาแบบแต่ก่อนเท่านั้น แต่เพื่อควบคุมเนื้อหาไม่ให้มันถูกปล่อยออกมามั่วๆ ด้วย ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า มันขัดต่อความเชื่อที่มีต่อเนื้อหาซึ่งมีผู้ใช้เป็นผู้สร้าง และเราเคยคิดว่าการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติน่าจะดีที่สุด ระบบการตรวจสอบโดยผู้ใช้ด้วยกันเองจะทำงาน และเราจะจัดการกันเองได้

แต่ธรรมชาติของความจริงอาจซับซ้อนกว่าที่เราคิด อย่างที่ เควิน เคลลี (Kevin Kelly) ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารไวร์ด (Wired) บอกไว้นั่นแหละ “ความจริงไม่ได้ถูกบงการโดยผู้มีอำนาจอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเครือข่ายของผู้ใช้ ในทุกความจริงมีความจริงด้านกลับ (Counterfact) และทุกความจริงและความจริงด้านกลับเหล่านั้นดูไม่ต่างกันบนโลกออนไลน์”

ไม่เพียงแค่สับสนหรอก ในหลายครั้ง ความจริงด้านกลับ ความจริงทางเลือก หรือข่าวปลอม ก็อาจน่าเชื่อถือกว่าข่าวจริง และข่าวจริงบางครั้งก็ฟังดูคล้ายข่าวปลอม

“ผู้นำตุรกีกล่าวหาเนเธอร์แลนด์เป็นนาซี” “ทรัมป์ตีมึนไม่ยอมจับมือกับนายกเยอรมัน” คุณคิดว่านี่เป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมกันล่ะ?

วูดดี อัลเลน เคยกล่าวไว้ว่ามันอาจไม่มีอะไรเลยที่ดำรงอยู่ในความเป็นจริง และเราต่างเป็น ‘ตัวละครในความฝันของใครสักคน’

บางที นั่นอาจเป็นความจริงเดียวที่เหลืออยู่ก็เป็นได้

ภาพประกอบ: Karin Foxx
ขอบคุณข้อมูลจาก:

Tags: ,