‘เยิน’

คำเดียวสั้นๆ ที่อธิบายการเมืองอเมริกันในวันนี้ได้อย่างไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก

การดีเบตที่ไม่มีเนื้อหา และพาดหัวบทความของสื่ออย่าง เทเลกราฟ เมื่อไม่กี่วันก่อนที่ว่า ‘When Trump goes low, Obama goes lower’ (ล้อกับสุนทรพจน์ของ มิเชล โอบามา ในเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ว่า “When they go low, we go high.”) บอกได้ดีถึงความไร้หวังของประเทศที่เคยเป็นวัฒนธรรมแห่งความหวัง ไม่เพียงแต่ผู้สมัครทั้งคู่ที่มุ่งแต่โจมตีข้อเสียของอีกฝ่าย แต่ยังรวมถึงผู้สนับสนุนของทั้งคู่ที่เข้าตาจนกันหมด

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาตามโพลหรือไม่ สิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ ‘เสียงตรงกลาง’ ที่ถือเป็นเสียงตัดสินผลการเลือกตั้งนั้นจะโหวตให้กับผู้สมัครที่พวกเขารู้สึกว่า ‘น่ากลัว’ น้อยกว่าเป็นหลัก นอกเหนือไปจากเสียงของผู้สนับสนุนแต่ละพรรค รวมถึงเสียงของผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ ‘รังเกียจ’ ทรัมป์ และน่าจะเทคะแนนให้ฮิลลารี กับเสียงที่ทรัมป์จะได้รับจากคนผิวขาว ‘ผู้เจ็บปวด’

เจ็บปวดจากความจริงที่ว่าความฝันแบบอเมริกันของพวกเขา ไม่ได้มอบสิทธิ์ใน ‘ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข’ ให้แต่กับคนผิวขาวเท่านั้น และหลายครั้งคนผิวสีอื่นกลับทำได้ดีกว่า

ท่ามกลางการเมืองขาลงของอเมริกา คำถามก็คือ ความกลัว ความรังเกียจ ไปจนถึงความเจ็บปวดนี้ นับเป็น ‘อารมณ์’ หรือ ‘เหตุผล’ กันแน่?

หันไปมอง ‘อารมณ์’ ของตลาดหุ้น (Market Sentiment) ทั่วโลกที่พร้อมใจกันร่วง เมื่อผลโพลบอกว่าคะแนนของทั้งคู่กลับมาสูสีอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นปฏิกิริยาตอบกลับความกลัวต่อ ‘สิ่งที่ยังไม่รู้และคาดเดาไม่ได้’ ในกรณีที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดี ไม่ว่าจะเป็น นโยบายด้านเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ความระแวงที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรทรัมป์จะสร้างความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหม่ และหากคนอย่างทรัมป์มีรหัสกดปล่อยอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือ เสถียรภาพของโลกจะอยู่ในภาวะเอาแน่เอานอนไม่ได้เพียงใด

แม้ว่าการเลือกฮิลลารีจะไม่ทำให้โลกมีเสถียรภาพดีขึ้น หรือมีสันติภาพมากขึ้นสักเท่าไร แต่ประเด็นอยู่ที่มันมีทิศทางที่คาดเดาได้มากกว่า

ความกลัวต่อสิ่งที่ยังไม่รู้ซึ่งอาจฟังดูไม่เป็นเหตุเป็นผล และทำให้เราต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้มากเกินจำเป็น จึงเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักที่สุดในตัวมันเองเสมอ

อย่าลืมว่าความกลัวคือหนึ่งในปัจจัยหลักตามทฤษฎีวิวัฒนาการที่ทำให้เราอยู่รอดมาจนถึงวันนี้

 

กลับมาที่เมืองไทย

ผ่านไปหลายวันแล้ว แต่เรายังจำเช้าวันที่อะไรๆ ไม่เหมือนเดิมกันได้ไหม

สำหรับหลายคน สิ่งแรกที่ได้เจอในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม คือช่อดอกไม้สีขาว บนพื้นสีดำ พร้อมข้อความ ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’ หน้าแรกที่เจอเมื่อเปิดแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก

แต่นั่นไม่ใช่อย่างเดียวที่เฟซบุ๊กทำเพื่อร่วมถวายความอาลัยพร้อมกับคนไทย สิ่งที่มีน้ำหนักกว่านั้นมาก ก็คือการตัดสินใจของเฟซบุ๊กในการยอมเสียรายได้จำนวนไม่น้อยในการถอดโฆษณาทั้งหมดในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อแสดงความเคารพต่อความสูญเสียของพวกเรา

ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่เฟซบุ๊กทำอะไรแบบนี้ในระดับประเทศ เช่นเดียวกับที่ยูทูบไม่เคยยอมเปลี่ยนโลโก้ของตัวเองเป็นสีขาวดำ อย่างที่ได้เห็นกันในครั้งนี้

โดยเฉพาะเฟซบุ๊กนั้น น่าจะเห็นข้อมูลที่มี ‘นัยสำคัญ’ มาตั้งแต่ก่อนวันสวรรคตแล้ว และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้มีเพียงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ข้อมูลที่สำคัญกว่านั้นก็คืออารมณ์ความรู้สึก ซึ่งแน่นอนว่าเฟซบุ๊กเก็บได้แบบเรียลไทม์ หากพูดง่ายๆ นาทีนี้ไม่มีใครเข้าใจเราเท่าเฟซบุ๊กอีกแล้ว

อารมณ์ของความรัก อาวรณ์ของความสูญเสีย และอาทรของการแบ่งปันความเศร้าโศก

นี่คือข้อมูลที่สื่อดั้งเดิมต่อให้มีข้อมูลวงในแค่ไหนก็ไม่มีวันรวบรวมและประมวลผลได้อย่างเฟซบุ๊ก ผู้ไม่เพียงรู้ว่าเราหลับและตื่นกี่โมง กินอะไร เที่ยวแบบไหน ไปจนถึงคิดและรู้สึกอย่างไร แต่อาจตอบคำถามที่หลายครั้งเราตอบตัวเองไม่ได้แน่ชัด หรือบางครั้งก็ไม่สามารถแม้แต่จะถามขึ้นมา เราเปลี่ยนไปแค่ไหนในช่วงที่ผ่านมา หรือยังเป็นเราคนเดิมที่ไม่เปลี่ยนไปสักเท่าไร

มีก็แต่เฟซบุ๊กที่รู้ ไม่เพียงรู้ว่าเราคือใคร แต่รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร

ไม่เพียงรู้ว่าเราแต่ละคนรู้สึกอย่างไร แต่รู้ว่าโลกทั้งใบกำลังอยู่ในอารมณ์แบบไหน

 

หากเปรียบเป็นคน เฟซบุ๊กก็คงไม่ต่างจากนักสถิติและนักมานุษยวิทยาในคนคนเดียว สิ่งที่คนคนนี้ถืออยู่ในมือนั้นมีมูลค่ามหาศาล และสิ่งที่คนคนนี้ตัดสินใจทำน่าจะบอกให้คนไทยรู้ว่า ความสูญเสียของพวกเรานั้นมี ‘น้ำหนัก’ ไม่น้อย

แต่เฟซบุ๊กไม่ใช่คน มันคือสิ่งที่คนสร้างขึ้น และตัวมันเองจะไม่มีมูลค่าขนาดนี้หากไม่มี ‘ปริมาณ’ ผู้ใช้ และไม่สามารถเก็บข้อมูลทางอารมณ์ของเราได้

นักวิทยาศาสตร์รู้มาพักใหญ่แล้วว่า อารมณ์นั้นจำเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจของมนุษย์ (ส่วนนักสังคมวิทยาก็รู้ว่า นิสัยอารมณ์ของบรรพบุรุษเราอย่างความขี้นินทานั้นมีผลอย่างมากต่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์) แต่ความสนุกในปัจจุบันอยู่ตรงที่วิทยาศาสตร์นั้นก้าวหน้าจนถึงขั้นที่เราสามารถตรวจจับการทำงานสมองแล้วเริ่มเห็นภาพว่าสมองแต่ละส่วนทำงานร่วมกันอย่างไร และส่วนไหนทำงานอย่างไรสำหรับการรับรู้อารมณ์แต่ละแบบ

อดคิดไม่ได้ว่าในเมื่อมนุษย์ไม่เคยคลี่คลายความขัดแย้งได้ด้วยความคิดเชิงตรรกะ (บรรพบุรุษของเราใช้กำลังตัดสินมาตั้งแต่เรายังเป็นสัตว์สี่เท้า) เป็นไปได้หรือไม่ว่าวันหนึ่งเมื่อวิทยาศาสตร์คลี่คลายการทำงานของอารมณ์ได้อย่างปรุโปร่ง เราจะสามารถออกแบบระบบหรือพัฒนาอัลกอริทึมที่ช่วยบริหารจัดการอารมณ์ของสังคมมนุษย์ เพื่อใช้สำหรับการสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย

บางทีสิ่งที่เราต้องการสำหรับอนาคตอาจไม่ใช่หุ่นยนต์ที่มีความเป็นมนุษย์อย่างที่เราพูดกัน แต่เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถเข้าใจเราได้ดีกว่าพวกเรากันเอง และส่งข้อมูลกลับมาพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเราอีกที ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์หรือมนุษย์ เราต่างก็ต้องการการอัพเดต (หรืออัพเกรด) ด้วยกันทั้งนั้น

นี่คือเรื่องสนุกของศตวรรษที่ 21 หากเราจะยังถกเถียงกันด้วยเหตุผล เราก็ต้องไปให้ถึงเหตุผลเหนือเหตุผล อย่างเช่นอารมณ์ที่ติดตัวเรามาหลายร้อยล้านปี บวกกับการมองหาโอกาสจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มากกว่าจะติดกับพล็อตหนังประเภทปัญญาประดิษฐ์ยึดครองโลกแบบเดิมๆ

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai