ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ชาวนิวยอร์กได้ของขวัญชิ้นใหม่ เป็นของขวัญที่มาในกล่องผูกโบว์ไว้ 3 ชั้น

ชั้นแรก คือความสะดวกสบายที่มากขึ้น เมื่อมีการเปิดใช้รถไฟใต้ดินสายใหม่ ‘Second Avenue’ ซึ่งถือเป็นโครงการเก่าเก็บที่เริ่มคิดกันมาร่วมร้อยปี

แม้ที่เสร็จจะเป็นเพียงส่วนแรกของโครงการ ซึ่งมากับเสียงบ่นถึงค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ทำให้มันมีต้นทุนต่อระยะทางแพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่อย่างน้อย ชาวนิวยอร์กก็จะได้เริ่มใช้รถไฟสายใหม่นี้เสียที พร้อมกับสาธารณูปโภคใหม่ที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต

โบว์ชั้นที่สองก็คือศิลปะสาธารณะ (Public Art) ที่สร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับเมือง ณ สถานีรถไฟใต้ดิน 3 แห่งซึ่งสร้างขึ้นใหม่ กับอีก 1 แห่งที่เป็นส่วนขยายจากของเดิมในแถบอัพเปอร์อีสต์ไซด์ (Upper East Side)

ในความหมายของศิลปะสาธารณะ ก็คือศิลปะที่ไม่จำกัดการเข้าถึงของผู้คน แต่มากกว่านั้น ศิลปะสาธารณะในปัจจุบันยังเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผู้คนและยกระดับเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในฐานะเมืองที่ผู้คนมีศิลปะอยู่ในหัวใจ และอยู่ในชีวิตประจำวัน

นิวยอร์กนั้นไม่เป็นสองรองใครในเรื่องศิลปะในสถานีรถไฟใต้ดินอยู่แล้ว และในฐานะที่เฝ้ารอกันมานาน เมื่อรถไฟใต้ดินสายใหม่เสร็จสิ้นพร้อมกับมีสถานีแห่งใหม่เปิดให้บริการ จึงไม่พลาดที่จะใช้พื้นที่นี้สำหรับการสร้างศิลปะใหม่ด้วยเช่นกัน

นั่นได้แก่งานในชื่อ ‘Elevated’ ที่สถานี 63rd Street ซึ่งอุทิศให้กับรถไฟยกระดับจากพื้นดินของนิวยอร์กที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว, งาน ‘Subway Portraits’ โมเสกภาพเหมือนขนาดใหญ่ที่สถานี 86th Street รวมถึง ‘Blueprint for a Landscape’ งานศิลปะเซรามิกสีน้ำเงินจัดจ้านที่ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคการลงสีกระเบื้องจากผู้เชี่ยวชาญในสเปนที่สถานี 96th Street

แต่ที่เราอยากพูดถึงมากที่สุด ก็คืองานศิลปะ ณ สถานี 72nd Street ที่มีชื่อว่า ‘Perfect Strangers’ โดย วิก มูนิซ (Vik Muniz) ศิลปินชาวบราซิล ซึ่งสะท้อนภาพผู้คน ‘ธรรมดา’ ที่เราจะพบเห็นในสถานีรถไฟใต้ดินของนิวยอร์ก

ผู้คนธรรมดาที่ว่านั้นก็มีตั้งแต่วัยรุ่นที่สวมหูฟัง เด็กชายในเสื้อทีมบาสเก็ตบอลนิวยอร์กนิกส์ คนส่งพิซซ่า ไปจนถึงตำรวจที่ยืนถือไอศกรีม ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้คนที่เจ้าของผลงานรู้จัก และตัวเขาเองและลูกชาย

รวมถึงภาพคู่สมรสชาวเกย์ ยืนจับมือกันในแบบธรรมดาเช่นกัน

 

ในความหมายของความธรรมดา มันคือศิลปะที่สะท้อนเรื่องราวของ LGBTQ ในแบบที่ไม่มีประเด็นทางการเมือง มันไม่โฉ่งฉ่าง ไม่เฉลิมฉลอง และไม่พยายามเรียกร้องอะไรเลย

ตรงกันข้าม มันคือการก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาแล้ว สำหรับศตวรรษที่ 21 LGBTQ ควรจะเป็นความธรรมดาได้เสียที

ไม่มีอะไรเป็นเรื่องใหญ่ มันก็แค่ชีวิตประจำวัน

นี่จึงเป็นเรื่องน่ารัก และเป็นความน่ารักของนิวยอร์ก เมืองที่อาจไม่จัดจ้านเหมือนยุค Roaring Twenties (1920s) หรือเปี่ยมปัญญาแบบที่เห็นจากภาพยนตร์โดยวูดดี้ อัลเลน หรือเต็มไปด้วยผู้คนในชุดดำเดินก้าวยาวๆ ในแบบฉบับวอลล์สตรีท แต่คือนิวยอร์กในศตวรรษใหม่ที่หลายคนรู้สึกเห็นพ้องกับสโลแกน I Love NY More Than Ever

นิวยอร์กที่เต็มไปด้วยความธรรมดานี่แหละ น่ารักที่สุด

นี่จึงเป็นโบว์ชั้นที่สาม อันหมายถึงความเปิดกว้างอย่างแท้จริงที่ลอยอยู่ในอากาศ (และใต้ดิน) ของมหานครนิวยอร์ก

อาจเหมือนกับหลายเรื่องในชีวิต หากเราจับขึ้นเวทีมันก็กลายเป็นเรื่องพิเศษ แต่หากต้องการให้มันกลายเป็นชีวิตประจำวัน ก็ต้องทำให้มันเป็นสิ่งธรรมดา

และหากโลกกำลังหันหลังกลับอย่างที่ใครเขาว่ากันจริงๆ อย่างน้อยก็ขอให้นิวยอร์กอยู่ยั้งยืนยงในความเปิดกว้าง และไม่มองความต่างเป็นเรื่องใหญ่

ไม่ว่าประโยคที่บอกว่า “If I can make it there, I’ll make it anywhere” เนื้อร้องคุ้นหูของเพลง New York, New York จะจริงหรือไม่ก็ตาม

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ หากจะถามว่าอะไรคือ ‘ความธรรมดาใหม่’ (New Normal) ที่เราอยากเห็น คำตอบก็อาจเป็น ‘ความธรรมดาในตัวมันเอง’ นั่นแหละที่ทำให้โลกนี้น่าอยู่ที่สุดสำหรับทุกคน

หรืออย่างน้อยก็สำหรับชาวนิวยอร์ก

Photo: Metropolitan Transportation Authority

Tags: , , , ,