ท่ามกลางทะเลข้อมูลข่าวสาร ประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นทุกชั่วโมงแบบเรียลไทม์ และการกำหนดวาระข่าวสารของสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่เน้นพาดหัวเพื่อยักยอกยอดคลิกจากผู้อ่านมากกว่านำเสนอเนื้อหาสาระและอธิบายปรากฏการณ์

Photo: Chaiwat Subprasom, Reuters/profile 

เพจ ‘สรุป’ ที่สร้างโดยอดีตนักศึกษาด้านวิศวกรรม 3 คน ที่ปัจจุบันคนหนึ่งเป็นด็อกเตอร์ที่หันมาเรียนกฎหมาย คนหนึ่งทำธุรกิจสตาร์ทอัพ อีกคนที่เราได้คุยด้วยเป็นวิศวกรด้านไอที ทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่น กลับทำหน้าที่ตรงนั้นด้วยการหยิบประเด็นร้อนที่มีความซับซ้อน เช่น การปิดตัวของ Ensogo, กรณี Brexit สหราชอาณาจักรจะอยู่หรือไปจากอียู (ก่อนผลโหวตจะออกมาว่า บ๊าย…บาย) และความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับรัสเซียที่กำลังเป็นประเด็นร้อนตอนนี้ว่าจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ถกเถียงในวงสังคมมาอธิบาย ชี้แจง วิเคราะห์ ให้เห็นทั้งภาพกว้างและลึกผ่านภาษา วิธีการย่อยข้อมูล ที่ง่ายต่อการเข้าใจ

ในโลกที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป จำนวนยอดไลก์สเตตัสนับหมื่น แชร์นับพัน และจำนวนคนติดตามนับแสน เพจสรุปคือปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจที่สื่อมวลชนกระแสหลักควรเก็บมาพิจารณา

ไม่ใช่แค่ค่าความนิยม แต่หมายความรวมถึง ‘บทบาท’ และ ‘หน้าที่’

“พอสื่อนำเสนอข่าวออกมาเป็นชิ้นๆ
ทำให้คนรับสารไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้
คนก็จะเกิดความไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่
แล้วเขาควรจะมีท่าที ความเห็น หรือควรคิดกับเรื่องนั้นๆ ยังไง
เพราะฉะนั้นประเด็นของเพจ ‘สรุป’ คือ ทำยังไงให้คนเข้าใจ

คุณบอกว่าในการเลือกประเด็นจะถามตัวเองว่า เขียนแล้วมีประโยชน์ต่อคนอ่านหรือเปล่า อะไรคือประโยชน์ของคนอ่าน

ประเด็นหลักๆ ของเราคือ ข่าวต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่สื่อนำเสนอมักจะมาเป็นชิ้นๆ แล้วบางอันก็จะมีความซับซ้อนในตัวเอง เช่น ข้อกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการดีเบตกัน พอสื่อนำเสนอข่าวออกมาเป็นชิ้นๆ ทำให้คนรับสารไม่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้ คนก็จะเกิดความไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่ แล้วเขาควรจะมีท่าที ความเห็น หรือควรคิดกับเรื่องนั้นๆ ยังไง เพราะฉะนั้นประเด็นของเพจ ‘สรุป’ คือทำยังไงให้คนเข้าใจ ไม่ใช่แค่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องเข้าใจว่า โอเค เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ตรงนี้แหละคือประโยชน์ที่เราจะนำเสนอให้คนอ่าน

ถ้าเราเขียนแล้วคนเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้น ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ที่เขาจะได้รับ แล้วเราก็จะสบายใจถ้าคนอ่านคิดว่าเขาเข้าใจแล้ว

คิดว่าสื่อกับสังคมมีส่วนเกี่ยวข้องและส่งผลต่อกันมากน้อยแค่ไหน

สื่อกับสังคมเหมือนเป็นสามีภรรยากัน อยู่ร่วมกัน และมีอิทธิพลต่อกันและกันด้วยนะ ไม่ใช่สื่อจะมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างเดียวทางเดียว แต่สังคมมีอิทธิพลต่อสื่อด้วย เพราะว่าบางทีมันก็แยกยากว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอเป็นเพราะว่าสื่ออยากนำเสนอ หรือสื่อแค่นำเสนอสิ่งที่สังคมอยากจะรู้

อย่างเช่น ข่าวดารา สื่อบอกว่าจะต้องทำข่าวดาราแบบนี้เพราะว่าสังคมอยากรู้ ซึ่งพอลงแล้วคนก็อาจจะอยากรู้จริงๆ เพราะคนก็มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องดารานักร้องที่ชื่นชอบอยู่แล้ว ก็เป็น demand-supply ที่ไปคู่กัน พอสังคมมีลักษณะที่อยากเสพรับสื่อแบบนี้มาก สื่อก็จะลงมาแข่งเพื่อแย่งพื้นที่ข่าวแบบนี้กันมากขึ้น พอเกิดการแข่งขันของสื่อในลักษณะการแย่งชิงผู้ชม ก็เลยเกิดการพยายามเล่นกับสีสันให้หวือหวาเกินจริงขึ้นไปอีก แทนที่สื่อควรจะเป็นคนนำเสนอข้อเท็จจริงว่าขอบเขตควรอยู่ตรงนี้ แล้วให้คนอ่านคนดูตัดสินเอง

ที่หนักกว่านั้นคือบางครั้งสื่อพยายามชี้นำด้วยการพาดหัวในลักษณะเล่นกับสีสันเพื่อให้คนเข้ามาดูมากขึ้น ทั้งๆ ที่ในเนื้อข่าวอาจไม่ได้มีอะไรมากขนาดนั้น ส่วนที่เป็นสีสันที่ดึงมาอาจเป็นแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งที่ไม่ได้มีอะไรที่อยู่ในเนื้อข่าว ขณะที่เรื่องราวทั้งหมดอาจจะเป็นคนละเรื่องก็ได้

ตรงนี้กลายเป็นว่าสื่อกับสังคมตอบสนองกันเอง เพราะสังคมก็อยากรู้ สื่อก็อยากขาย มันส่งผลกันเองด้วย ก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าจะไปจบที่ตรงไหน มันเหมือนงูกินหาง

พอสื่อนำเสนอสิ่งที่มีปัญหา สังคมก็จะโทษว่าสื่อนำเสนอสิ่งที่มีปัญหา แต่สื่อก็จะโทษว่าสังคมต้องการเรียกร้องให้สื่อทำในลักษณะแบบนี้

Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile

เพราะสื่อมีปัญหา เลยทำเพจ ‘สรุป’ ออกมา?

เราไม่ได้ทำเพราะต้องการแก้ปัญหานี้ หรือไม่ใช่เราเห็นปัญหานี้แล้วลงมาทำ เริ่มแรกเราทำเพราะอยากแชร์วงสนทนาเรื่องราวและสถานการณ์ต่างๆ ที่คุยกับเพื่อนในกรุ๊ปไลน์มากกว่า

ส่วนการเกิดขึ้นของเพจ ผมว่าน่าจะเป็นในลักษณะนี้มากกว่า คือพอมีปัญหาอะไรสักอย่างเกิดขึ้นก็จะเกิดช่องว่างทางการตลาด พอถึงจุดหนึ่งก็จะมีใครสักคนมาแก้ปัญหานี้ หรือพยายามอุดช่องว่างตรงนั้น อาจไม่ใช่เพจสรุปก็ได้ แต่เผอิญมันมาบรรจบตรงนี้พอดี ซึ่งแนวทางของเราก็ยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาแก้ปัญหาหรือจะมาช่วยเพิ่มปัญหาก็ยังไม่รู้ (หัวเราะ)

ถ้าให้มองย้อนกลับมาคิดว่าอะไรคือปัญหาของสื่อ

โอเค มันมีความขัดแย้ง มีสื่อเลือกข้าง สื่อสีสัน แล้วเกิดความขัดแย้งของสังคมสองฝ่ายที่ดีเบตกันมาตลอด คนกลุ่มหนึ่งในสังคมก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับเนื้อหาแบบนี้ แล้วก็รู้สึกว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นเหรอ จะต้องเลือกฝ่ายหนึ่งหรือต้องเลือกอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้นหรือเปล่า แล้วเขาสามารถเลือกที่จะไม่เลือกได้ไหม ถ้าอย่างนั้นแล้วสื่อไหนที่จะนำเสนอสิ่งที่ว่าได้

พอเรามาลองทำตรงนี้ โดยตอนที่เราทำเราก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นสื่อนะ เพราะเราไม่ได้มาจากสายสื่อ เราเป็นเหมือนประชาชนทั่วไปที่เป็นเพื่อนกับคนอ่าน อยู่ข้างคนอ่าน โดยพยายามสรุปสิ่งที่สื่อต่างๆ นำเสนอว่า เรื่องนั้นมันเป็นยังไงกันแน่ เราก็เลยรวบรวมมาทำเป็น ‘สรุป’

“ผมมองว่าการที่คนยุคนี้จะเสียเวลาอ่านอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นต้นทุนแล้วนะ
เขาจะต้องเปิดเน็ต 4G แล้วเสียเวลาอ่าน กลายเป็นต้นทุนในชีวิต
คนก็เลยรู้สึกว่าถ้าอ่านแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา ก็เป็นเรื่องเสียเวลา”

ในฐานะประชาชนคิดว่าสื่อที่ดีควรเป็นแบบไหน

เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะ เพราะผมก็ไม่ได้เรียนสื่อสารมวลชน และไม่ได้รู้คอนเซปต์ของสื่อสารมวลชน แต่ว่าถ้ามองจากมุมของผู้บริโภคที่ต้องการเสพสื่อ เราอยากได้สื่อที่เป็นกลาง แล้วก็ให้ความเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเที่ยงตรง และไม่เอนเอียง หมายความว่าสื่อเป็นสื่อจริงๆ ไม่เลือกข้าง และบอกเราตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ใส่สีตีไข่เพิ่ม และสื่อสารให้เราเข้าใจได้ โดยที่เราไม่ต้องลงทุนลงแรงในการอ่านมากจนเกินไป

ผมมองว่าการที่คนยุคนี้จะเสียเวลาอ่านอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นต้นทุนแล้วนะ เขาจะต้องเปิดเน็ต 4G แล้วเสียเวลาอ่าน กลายเป็นต้นทุนในชีวิต คนก็เลยรู้สึกว่าถ้าอ่านแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา ก็เป็นเรื่องเสียเวลา

“สื่อต้องตระหนักว่าทุกวันนี้คุณไม่ใช่ไทยรัฐแล้ว ไม่ใช่เดลินิวส์แล้ว
แต่คุณคือคนฟีดข่าวให้เฟซบุ๊ก
แล้วเมื่อข่าวที่นำเสนอไม่ต่างกัน ตัวตนของคุณจะอยู่ตรงไหน
แล้วยอดขายรายได้ของคุณจะกลับมายังไง
คำถามคือสปอนเซอร์เขาจะมาลงโฆษณาให้คุณหรือจะมาลงโฆษณากับเฟซบุ๊กดี”

พูดกันมาสักพักแล้วว่าเทคโนโลยีทำให้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ประเด็นนี้คิดเห็นอย่างไร

เอาจากที่สังเกตความเคลื่อนไหวของเพจและในฐานะที่เป็นคนอ่านด้วย ผมเห็นเลยว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปจริงๆ เพราะเมื่อก่อนคนอาจจะรับหนังสือพิมพ์สักฉบับสองฉบับ ฟังข่าวจากวิทยุคลื่นนั้นคลื่นนี้ หรือดูทีวีช่องนั้นช่องนี้ แต่ยุคนี้เกือบทุกคนมีมือถือ เข้าถึงสื่อได้ และเกือบทุกคนใช้เฟซบุ๊กแล้วมีฟีดข่าวที่คนนั้นคนนี้แชร์มา วันนี้ข่าวเดินเข้ามาหาเรา โดยที่เราไม่ต้องเดินไปหา พอข่าวประเดประดังเข้ามา คนก็เลือกได้ว่าจะรับข่าวจากไหน โดยไม่ต้องเสพจากสื่อเดียวไปตลอด ตรงนี้แหละที่ผมมองว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น สื่อจำเป็นต้องปรับตัว

ผมคาดเดาว่าพอสื่อเยอะขึ้น การแข่งขันมากขึ้น แล้วสื่อยังนำเสนอข่าวในรูปแบบเดิมๆ โดยแชร์ข่าวบนเฟซบุ๊กเป็นโมเดลเดียวกัน ทีนี้สื่อมีหลายเจ้า ข่าวที่แชร์ก็เล่นสีสันเหมือนๆ กัน ข่าวเลยไม่เกิดความแตกต่าง พอข่าวกลายเป็นสินค้าที่เหมือนๆ กันแล้ว คนก็จะไม่สนใจอีกแล้วว่าเขาอ่านข่าวจากอะไร ไทยรัฐ หรือเดลินิวส์ คนแค่สนใจว่าเขาอ่านจากเฟซบุ๊ก เพราะมันคือข่าวเดียวกัน วิธีการนำเสนอเหมือนกัน มันไม่เกิดความต่าง ตรงนี้แหละที่ทำให้สื่อต้องตระหนักว่า ทุกวันนี้คุณไม่ใช่ไทยรัฐแล้ว ไม่ใช่เดลินิวส์แล้ว แต่คุณคือคนฟีดข่าวให้เฟซบุ๊ก แล้วเมื่อข่าวที่นำเสนอไม่ต่างกัน ตัวตนของคุณจะอยู่ตรงไหน แล้วยอดขายรายได้ของคุณจะกลับมายังไง สปอนเซอร์เขาจะมาลงโฆษณาให้คุณหรือจะมาลงโฆษณากับเฟซบุ๊กดี

ผมยังเข้าใจว่าโมเดลธุรกิจสื่อยังเหมือนเดิม แม้ว่าเขาจะเข้ามาอยู่บนโซเชียลมีเดีย เขาก็ยังขายโฆษณาอยู่ดี แต่ในเมื่อคุณผลิตสินค้าเดียวกันเหมือนกันทุกเจ้า แล้วผู้บริโภคเลือกได้ และถ้าสื่อยังเป็นอย่างนี้ต่อไป บางเจ้าอาจจะต้องปิดตัวเหมือนที่นิตยสารต้องปิดตัว…หรือเปล่า?

ผมคิดว่าสื่อแต่ละหัวอาจจะต้องมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง และต้องทำให้คนรู้สึกว่านี่คือความต่าง นี่คือการนำเสนอข่าวสารในแบบของเรา

คุณเป็นวิศวกรด้านไอทีใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นมาหกปี มองสื่อที่นั่นอย่างไร การนำเสนอข่าวของสื่อไทยกับสื่อญี่ปุ่นต่างกันไหม

ถ้าเอาความเห็นส่วนตัวของคนที่เสพทั้งสื่อไทย สื่อญี่ปุ่น และสื่อต่างประเทศนะครับ ผมว่าสื่อกระแสหลักของญี่ปุ่นทำข่าวเพื่อความเข้าใจ เมื่อเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง เวลาเขาจะดีเบต สื่อจะเตรียมชุดข้อมูลมา แล้วทำให้เข้าใจง่าย เช่น ทำเป็นรูปการ์ตูน ทำเป็นอินโฟกราฟิก แล้วก็ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาอธิบายให้ฟังว่าเรื่องนี้เป็นยังไง สังคมก็จะรับรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่สื่อเชิญมา

สื่อญี่ปุ่นจะแข่งกันเพื่อทำให้คนเกิดความเข้าใจ เห็นได้ชัดเลยว่าเขาแข่งกันจริงๆ ต้องบอกก่อนว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่บ้าข้อมูล เป็นธรรมชาติของคนญี่ปุ่น ผมทำงานกับคนญี่ปุ่นมาหลายปีตั้งแต่ก่อนจะมาญี่ปุ่นอีก จะรู้เลยว่าคนญี่ปุ่นเป็นพวกบ้าข้อมูล ถ้าเราทำรายงานส่ง ถ้าตัวเลขไม่ชัดเจน ข้อมูลไม่แน่น ก็จะตีกลับมาหมด ให้ทำทุกอย่างใหม่ ถึงจะทำกลับไปแล้ว เขาก็จะถามว่าข้อมูลตรงนี้ๆ มาจากไหน ไม่พอยังขอข้อมูลดิบมาดูเพื่อเช็กอีกรอบว่าถูกต้องจริงไหม

สังคมที่หล่อหลอมคนมาแบบนี้ ทำให้สื่อเองต้องตอบสนองคนของเขาที่บ้าข้อมูล เพราะฉะนั้นสื่อเลยต้องแข่งกันนำเสนอข้อมูลเพื่อให้คนเข้าใจ ดังนั้นพอเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา สื่อแต่ละหัวก็จะมาแย่งข้อมูลแล้ว นี่คือความต่างที่ชัดเจนที่ผมเห็นระหว่างสื่อไทยกับสื่อญี่ปุ่น

ขณะที่คนไทยไม่อยากรู้ข้อมูลมาก แต่อยากรู้บทสรุป สังคมไทยคือรอดูว่าข้อสรุปคืออะไร ถ้าข้อมูลเยอะเกินไปจะไม่อ่าน…รึเปล่า?

“ถ้าให้เขียนสรุปประเทศไทยคงต้องพูดถึงประวัติศาสตร์กันเยอะ
และพูดถึงข้อขัดแย้งด้วย ซึ่งเร็วๆ นี้ก็คงไม่ได้เขียนแน่ๆ
และถ้าเขียนคงต้องใช้เวลาพอสมควร และน่าจะเกิดประเด็นโต้แย้ง
คือผมเองยังคิดอยู่นะว่าสังคมไทยเราพร้อม
ที่จะโต้แย้งถึงความเป็นมาของเราหรือยัง”

เท่าที่คุยกันมาเหมือนเราจะพูดกันถึงสื่อโดยอ้างถึงความเป็นสังคมไทยพอสมควร ก็เลยอยากถามต่อว่า ถ้าต้องเขียนสรุป ‘ประเทศไทย’ คุณจะเขียนออกมาแบบไหน

สังคมไทยมีหลายมิติมากเลย ถ้าจะให้สรุปประเทศไทยที่ฉันรู้จัก ก็อาจจะต้องเริ่มไล่ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ตามสไตล์ของเพจสรุปว่าเรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง

ผมว่าสังคมไทยทุกวันนี้ที่เราเห็นมันเป็นสังคมที่ถูกสร้าง ถูกออกแบบ หรือจงใจออกแบบสร้างขึ้นมาจากผู้ที่มีอำนาจ เป็นการออกแบบของชนชั้นนำ

ถ้าให้เขียนสรุปประเทศไทยคงต้องพูดถึงประวัติศาสตร์กันเยอะ และพูดถึงข้อขัดแย้งด้วย ซึ่งเร็วๆ นี้ก็คงไม่ได้เขียนแน่ๆ และถ้าเขียนคงต้องใช้เวลาพอสมควร และน่าจะเกิดประเด็นโต้แย้ง คือผมเองยังคิดอยู่นะว่าสังคมไทยเราพร้อมที่จะโต้แย้งถึงความเป็นมาของเราหรือยัง

อะไรคือกำแพงที่ทำให้เราโต้แย้งถึงความเป็นมาของตัวเองไม่ได้

อุปสรรคแรก ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องประวัติศาสตร์ เรามีมุมมองต่อประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน จะบอกว่าเราศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกันก็จริง แต่ว่าเรามีมุมมองไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ ถ้าจะให้เกิดการถกเถียงที่เข้าใจ ต้องรื้อความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่เราเข้าใจใหม่ ตรงนั้นเป็นโจทย์ที่ยากมาก แม้แต่นักประวัติศาสตร์เองก็น่าจะยากที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจ

แล้วที่พูดว่าเรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง จุดนี้ที่ว่าคือจุดไหน

จุดที่เรา…จะบอกว่ายังไงดี (นิ่งคิดนาน) ขออภัย…ผมพยายามนึกประเด็นที่มันไม่อ่อนไหวมากจนเกินไป

ผมว่าเรามาถึงจุดที่เรามีความเข้าใจไม่ตรงกัน ทั้งๆ ที่เราบอกว่าเราเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่เรามาอยู่ในจุดที่เรามีความเข้าใจไม่ตรงกัน เรามาอยู่ในจุดที่เกิดการโต้แย้งในหลายๆ อย่างจากพื้นฐานที่เราเข้าใจเรื่องต่างๆ ไม่ตรงกัน ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่หลายๆ เรื่องที่เห็นง่ายๆ เลยคือเมื่อเกิดข้อขัดแย้งที่เป็นเรื่องระหว่างคุณธรรมกับความถูกต้อง ฝ่ายหนึ่งยึดถือคุณธรรมว่าความดีต้องมาก่อน อีกฝ่ายยึดถือกฎระเบียบ ข้อกฎหมาย หรือหลักการต้องมาก่อน กลายเป็นสังคมที่เถียงกันคนละเรื่อง เพราะคุยกันบนพื้นฐานความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน คือเราไม่ได้มีแกนหลักที่ยึดมั่นร่วมกัน แต่ไม่มีฝ่ายไหนฝ่ายหนึ่งที่ชี้นำสังคมได้ชัดเจน

เรายังไม่มีข้อสรุปตรงนี้ โอเค มันสำคัญทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเราจะตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะใช้อะไรก็ยังเป็นข้อถกเถียง ผมว่าประเด็นนี้อ่อนไหวมาก

Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile

‘ความเข้าใจ’ เป็นคำหนึ่งที่คุณพูดอยู่เสมอในบทสนทนา เราจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องทำความเข้าใจ แล้วความเข้าใจจะนำไปสู่อะไร

ผมมองว่าความเข้าใจมันส่งผลต่อการตัดสินใจ พอเราเข้าใจผิด เราก็จะตัดสินใจผิด หรือพอเราไม่เข้าใจ ก็ยากที่เราจะตัดสินใจถูก

โดยส่วนตัวผมคิดว่าเราเข้าใจกันเองน้อย อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่มีเวลาที่จะทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ เราก็เลยคาดหวังว่าสื่อจะเป็นคนมาบอกเราว่าเรื่องนี้มันเป็นยังไง เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเราเลยเป็นสังคมที่เชื่อฟังสื่อ แต่ขณะเดียวกันสังคมที่เกิดความขัดแย้ง สื่อก็เกิดความขัดแย้งกันเองด้วย พอสื่อพูดมาแบบนี้ เราก็เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แล้วเราก็ดีเบตจากความเชื่อที่บิดเบี้ยวนั้น ทำให้การถกเถียงต่อจากจุดนั้นเป็นอะไรที่เละพอสมควร มันเหมือนกับพวกคุณคุยกันคนละเรื่อง เพราะว่าพวกคุณเข้าใจไม่ตรงกัน

สำหรับผม เพจสรุปเหมือนเป็นคนกลางที่มาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความเข้าใจกันใหม่ก่อนดีกว่าไหม ลำดับไล่เรียงว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ๆ พอถึงจุดหนึ่งหลังสร้างความเข้าใจให้ทุกคน เราก็จะโยนว่าต่อจากนี้เป็นเรื่องของคุณแล้วว่าจะตัดสินกับเรื่องนี้ยังไงต่อไป

ดังนั้นความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะเมื่อเราเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เราก็จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องด้วย

Tags: , , , ,