หลังจากที่ Motel Mist โรงแรมต่างดาว ภาพยนตร์เรื่องแรกของ คุ่น-ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ชื่อดัง (2545) เพิ่งฉายรอบ sneak preview ที่โรงภาพยนตร์สกาล่าไปแค่รอบเดียว ก็มีข่าวว่าถูกเลื่อนฉายอย่างไม่มีกำหนดทุกโรง โดยทางเพจ Motel Mist ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากฝ่ายผู้สร้างและทีมผู้ผลิตภาพยนตร์มีความเห็นไม่ตรงกันในส่วนเนื้อหา” ทำเอาหลายๆ คนหันมาจับตา ‘หนังนอกกระแส’ ที่กลายเป็นกระแสโด่งดังในเวลานี้

ล่าสุด ทางเพจ Motel Mist ได้ออกมาประกาศแล้วว่า “โรงแรมต่าวดาวพร้อมเปิดให้บริการอีกครั้งด้วยความยินดี” และย้ำว่าสภาพหนังยังสมบูรณ์ดี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากจะมีก็คือ การเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหาร พร้อมติดแฮชแท็ก #WeAreAllAlien #StrikeBack #RUReadyForDec15

นี่เป็นสัญญาณอันดีว่าเราจะได้ไปเยือนโรงแรมต่างดาวกันแล้วในวันที่ 15 ธ.ค. นี้!

และนี่คือบทสัมภาษณ์ คุ่น-ปราบดา หยุ่น ถึงวัยโพสต์หนุ่ม ที่เขาดันลุกขึ้นมาจับปากกาเขียนบทภาพยนตร์อีกครั้ง แต่ลงท้ายด้วยการกำกับและทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่หาทุน แคสต์นักแสดง ค้นพบความสุขตอนออกกอง เดินสายตามเทศกาลหนังมาแล้วหลายประเทศ ที่สำคัญปราบดายังพบว่าการทำหนังนั้นถูกจริตเขาเสียจนอยากทำเรื่องที่สองต่อทันที

เมื่อก่อนเคยคิดว่าไม่น่าจะทำหนังได้ เพราะไม่ชอบอยู่กับคนหมู่มาก
แต่พอได้ทำจริง ผมรู้สึกว่าการได้มากำกับหนังเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ที่ดี เหมือนหนังมันเป็นรางวัลที่ทำให้สามารถก้าวข้ามการเข้ากับคนหมู่มากไปได้

อะไรที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาทำหนังของตัวเอง

จริงๆ แล้วที่มาของหนังเรียกว่าเป็นอุบัติเหตุก็ได้ครับ เพราะ Motel Mist เป็นเรื่องที่ผมคิดและตั้งใจจะเขียนบทให้ผู้กำกับภาพยนตร์อีกคน แต่เขียนเสร็จแล้วเขาไม่เอา (หัวเราะ) พอเขาไม่เอาแล้ว เราเลยเสียดายตามประสาคนเขียนหนังสือแล้วไม่อยากทิ้งมันไป พอดีผมรู้จักคุณชนานันท์ โชติรุ่งโรจน์ ซึ่งเคยทำงานร่วมกับคนในแวดวงหนังอิสระไทยมาก่อน เขาก็ช่วยส่งต่อเรื่องย่อของ Motel Mist ไปให้กับ คุณทองดี-โสฬส สุขุม ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์หนังอิสระ เขารู้สึกว่าโปรเจกต์หนังของผมน่าจะเหมาะกับทรู ระหว่างขั้นตอนทั้งหมด ตั้งแต่รอผลการอนุมัติจนถึงวันที่แน่ใจว่าได้ทำแล้ว ผมก็ไม่ได้มีความพร้อมอะไรเลย (หัวเราะ) ไม่ได้มีความคาดหวังมากจนถึงกับทิ้งทุกสิ่งแล้วไปทุ่มเทให้ เพราะเข้าใจว่าการหาทุนทำหนังมันยากอยู่แล้ว แต่หลังจากทราบผลว่าได้ทำ เราก็เริ่มให้เวลากับมันอย่างเต็มที่ เริ่มคุยกับโปรดิวเซอร์ ตั้งทีมงานขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว พูดคุยกับนักแสดงที่เราสนใจ เตรียมงานโปรดักชันต่างๆ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร

คุณเอาพล็อตมนุษย์ต่างดาวมารวมกับโรงแรมม่านรูด พูดเรื่องสังคมวัฒนธรรมแบบไทยๆ ได้ยังไง

สมัยเรียนจบใหม่ๆ ผมเคยนึกถึงพล็อตหนังที่เกี่ยวกับโรงแรมม่านรูดไว้บ้าง เพราะชอบความลึกลับของโรงแรมม่านรูดที่มันมีห้องอยู่ติดกัน แต่ก็ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าแต่ละห้องมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง แม้เราจะคิดว่าโรงแรมม่านรูดเป็นที่ที่คนส่วนใหญ่เข้าไปทำกิจกรรมทางเพศ แต่จริงๆ มันเป็นที่ที่ใช้ทำอะไรก็ได้ อาจจะเข้าไปทำเรื่องต้องห้าม เป็นปริศนา หรือเป็นเรื่องลึกลับ โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างเดียว

ผมเลยเขียนพล็อต Motel Mist ขึ้นมา โดยเพิ่มความสนใจใหม่ๆ เข้าไป เช่น การกดขี่ ความแปลกแยก ความไม่เป็นธรรม ซึ่งมันสะท้อนความเป็นไปในสังคมเราอยู่แล้ว อย่างตัวละครหลักก็เป็นเด็กผู้หญิงที่ถูกเสี่ยพาเข้าไปในโรงแรมแล้วถูกทรมาน ถูกทำร้าย แต่ความจริงคือเขาเข้าไปล้างแค้นให้กับเพื่อนที่เคยถูกเสี่ยทำร้ายมาก่อน เนื้อเรื่องเลยมีความเป็นหนังเฟมินิสต์ แนวล้างแค้น

ส่วนเรื่องความแปลกแยก ผมมองว่ามันไม่ได้มีแค่เรื่องปัจเจกบุคคล แต่มันยังมีเรื่องสังคมด้วย เช่น บางครั้งคนในสังคมอาจทำอะไรเหมือนๆ กันเยอะมาก แต่มีคนอีกกลุ่มที่เขาไม่ได้รู้สึกเหมือนกับคนส่วนใหญ่ของสังคม พวกเขาเหมือนเป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นการสะท้อนความแปลกแยกแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน

ช่วงนั้นเราจะไม่อยากนอน อยากจะทำให้งานมันเสร็จลุล่วง
เหมือนสารมันหลั่งออกมาตลอดเวลา ทำงานแล้วรู้สึกเต็ม รู้สึกดี

ถามตรงๆ แทนคนดูเลยแล้วกัน คิดว่า Motel Mist เป็นหนังไทยที่ดูยากหรือเปล่า

มันขึ้นอยู่กับคนดูว่าคาดหวังอะไรจากมันมากกว่า เพราะสำหรับผม ผมคิดว่ามันไม่ใช่หนังดูยากในแบบที่คนทั่วไปจะคิดว่าหนังอาร์ตต้องดูยาก เพราะการเล่าเรื่องมันค่อนข้างเล่าตรงๆ ไม่ได้สลับซับซ้อนหรือแฝงอะไรไว้มาก Motel Mist มีพล็อตหนังที่ชัดเจน แล้วการแสดงก็ค่อนข้างเป็นการแสดงแบบภาพยนตร์ทั่วไป ถ้าคนดูมีความคาดหวังว่าหนังกำลังจะบอกอะไรบางอย่าง พอถึงตอนจบเขาอาจจะต้องกลับไปคิดเอง เพราะมันเป็นหนังที่ทิ้งปมเอาไว้โดยที่ไม่ได้เฉลยอะไรมาก

ประสบการณ์กำกับหนังเรื่องแรกเป็นยังไงบ้าง จากที่เคยเขียนหนังสือ เขียนบทหนัง แต่พอกำกับจริงน่าจะได้เห็นอะไรที่ลึกขึ้น

เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีความมั่นใจ แต่เมื่อถ่ายทำจบแล้วเป็นประสบการณ์ที่รู้สึกดีมาก ตอนเขียนหนังสือ เราคือคนควบคุมทุกอย่าง แต่ภาพยนตร์มันต้องทำงานร่วมกับคนเยอะ เราอาจจะมีภาพสมบูรณ์ในหัว แต่เมื่อถึงวันจริงที่กองถ่ายมันมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้เราต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นตัวหนังคัตสุดท้ายที่ออกมาฉาย มันไม่เคยเป็นหนังแบบที่เราคิดเอาไว้ในตอนแรกเลย ผมว่าการทำหนังเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เมื่อเสร็จแล้วเราต้องยอมรับว่าได้ทำมันอย่างเต็มที่แล้วในช่วงเวลานั้น

เราได้ทีมงานทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นอกจากน้องๆ จะเป็นนักแสดงหน้าใหม่แล้ว เราเองก็เป็นผู้กำกับหน้าใหม่ด้วย ฉะนั้นทุกๆ หน้าที่ในกองถ่ายเราถือว่าตัวเองใหม่สุด ทีมงานเบื้องหลังทั้งหมด ทุกคนมีประสบการณ์มากกว่าเรา แม้กระทั่งพี่ที่เป็นคอนทินิว ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ เวลาถ่ายทำเขาก็มีประสบการณ์เยอะกว่า เขาเคยร่วมงานกับผู้กำกับแบบพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มาแล้ว เวลาฟังคอมเมนต์แล้ว บางทีก็รู้สึกว่าเขากำกับดีกว่าเราอีก (หัวเราะ) มันเลยเหมือนเป็นบทเรียนที่ทำให้เรารู้เกี่ยวกับการทำงานด้านนี้ไปพร้อมกับได้เรียนรู้ตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เคยคิดว่าคงจะชอบหรือไม่ชอบ แต่วันหนึ่งเมื่อได้เข้าไปมีประสบการณ์จริง คำตอบมันอาจจะไม่เหมือนกับที่เราเคยคิดไว้

ดูเหมือนว่าคุณจะติดใจการทำหนังไปแล้ว และอยากทำเรื่องสองต่อทันที

ใช่ๆ ตอนนี้พยายามจะทำต่อ เพราะรู้สึกว่ามันถูกจริตกับเราจริงๆ อีกอย่าง เรามีความสุขตอนที่ได้ออกกอง ซึ่งหลายๆ คนก็แปลกใจ (หัวเราะ) เมื่อก่อนเคยคิดว่าไม่น่าจะทำหนังได้ เพราะไม่ชอบอยู่กับคนหมู่มาก แต่พอได้ทำจริงก็รู้สึกว่ามันคือความท้าทาย ซึ่งผลมันก็ดีมาก ผมรู้สึกว่าการได้มากำกับหนังเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ที่ดี เหมือนหนังมันเป็นรางวัลที่ทำให้สามารถก้าวข้ามการเข้ากับคนหมู่มากไปได้

เราอาจจะเป็นคนที่มีความซาดิสม์กับการทำงานในแง่ที่ชอบทำงานเยอะๆ เป็นช่วงเวลา เราไม่ได้เป็นคนขยันแบบทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่ถ้าเป็นงานที่ชอบและรู้ระยะเวลาการทำงานที่แน่นอน ซึ่งงานหนังมันเพอร์เฟกต์ในแง่นี้ เพราะมันทำงานหนักแค่ช่วงเวลาเดียว เสร็จแล้วได้พัก ช่วงนั้นเราจะไม่อยากนอน อยากจะทำให้งานมันเสร็จลุล่วง เหมือนสารมันหลั่งออกมาตลอดเวลา ทำงานแล้วรู้สึกเต็ม รู้สึกดี

คุณมองเรื่องรายได้ เรื่องอาชีพ และการมีชีวิตอยู่ในฐานะคนทำหนังอิสระยังไงบ้าง

ในแง่อาชีพ มันยากมากสำหรับหลายคน ยกเว้นคนที่เขาทำเป็นระบบสตูดิโอหรือมีการันตีบางอย่างว่าจะมีรายได้ที่ชัดเจน แต่สำหรับหนังที่กลุ่มคนทำหนังอิสระทำ มันเกือบจะเข้าข่ายทำงานศิลปะและมีความยอมโง่อยู่นิดหนึ่ง (หัวเราะ) ภาพข้างนอกเราอาจจะเห็นว่าหนังอินดี้ได้เดินทางไปเทศกาลหนังต่างประเทศ ได้รางวัล ฯลฯ แต่ความเป็นจริงในแง่ของความเป็นอาชีพมันก็ยังยาก สำคัญสุดคือการหาเงินทำหนัง ทุกวันนี้ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ รายได้จากการฉายก็ไม่ได้ดี พูดจริงๆ เลย ทำหนังสือรวยกว่า การทำหนังเนี่ย บางทีลงทุนไปสิบล้าน ถึงเวลาฉายอาจจะได้กลับมาห้าแสน

แต่ข้อดีคือ เท่าที่ได้รู้จักคนในวงการหนัง เขาทำเพราะรักหนัง หรือหลงใหลในเสน่ห์อะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำหนัง เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้คนยอมจะทำงานหนัก โดยได้มาซึ่งสิ่งตอบแทนที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งมันไม่ได้ดีหรอกนะในแง่ของระบบหรือในแง่ของความเป็นอาชีพ เพราะมันควรจะได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับสิ่งที่ทำ

เรารู้สึกว่ามันเป็นช่วงชีวิตที่เข้มข้นมากทั้งในแง่ความคิดและประสบการณ์
ไม่ว่าจะเพลงที่เราฟัง หนังที่เราดู ความสนใจในศิลปิน หรือการใช้ชีวิต
มันเป็นวัยที่มีพลัง แล้วเป็นวัยที่ความถูกหรือความผิดไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่มันเหมือนเป็นการทดลอง และเราเชื่อในการทดลองแบบนี้
เราไม่เชื่อในวัยที่ประสบความสำเร็จแล้ว

คิดว่าปราบดา หยุ่น แก่หรือยัง

ในความรู้สึกมันเหมือนเดิมเลย เหมือนตอนอายุ 20 ต้นๆ แต่อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์และการทำงานที่ผ่านมานาน เรามีสิ่งที่ได้เรียนรู้ เหมือนขัดเกลามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้ใหญ่ไปโดยปริยาย แต่เวลาอยากทำงาน คิดงาน ในเรื่องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรม มันจะย้อนไปสู่ความสนใจตอนเป็นวัยรุ่น

ถ้าย้อนไปตอนที่เราชอบฟังเพลงช่วงอายุ 12-13 นักดนตรีทุกคนแก่หมด  ฉะนั้นเวลาชื่นชมหรือหมกมุ่นกับศิลปินคนไหน เราจะรู้สึกว่าเขาเป็นไอดอลที่อายุมากกว่า แต่ทุกวันนี้ไอดอลที่ชอบมันเด็กกว่าเราหมดแล้ว

ผมมองเด็กวัยรุ่นทุกยุคเหมือนกันคือเป็นวัยของความน่าตื่นเต้น แล้วผมเป็นคนชอบวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับวัยรุ่น คงเพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นช่วงชีวิตที่เข้มข้นมากทั้งในแง่ความคิดและประสบการณ์ ไม่ว่าจะเพลงที่เราฟัง หนังที่เราดู ความสนใจในศิลปิน หรือการใช้ชีวิต มันเป็นวัยที่มีพลัง แล้วเป็นวัยที่ความถูกหรือความผิดไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่มันเหมือนเป็นการทดลอง และเราเชื่อในการทดลองแบบนี้ เราไม่เชื่อในวัยที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือวัยที่ค้นพบแล้วว่าฉันจะเป็นคนแบบนี้ เราชื่นชอบวัยที่ทุกอย่างมันยังงงๆ มันสับสน แต่ขณะเดียวกันมันก็มีพลังของวัยเยาว์ ฉะนั้นความสนใจมันก็เลยยังวนเวียนอยู่ ถึงแม้จะแก่แล้ว แต่ก็ยังสนใจเด็กอยู่ (หัวเราะ)

Photo: Motel Mist

คุณคิดว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม ถ้าได้เจอ คุณอยากจะบอกอะไรกับเขา

ถ้าให้เดาก็น่าจะคุยกันไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว แต่อาจจะสนใจว่ามนุษย์ต่างดาวจะสื่อสารยังไงมากกว่า ตอนนี้เราไม่ค่อยเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวตาโตๆ แล้วก็ลักพาตัวมนุษย์ไป แต่สนใจในเชิงความแตกต่างทางชีวิต และลิมิตความเข้าใจของมนุษย์ว่ามีแค่ไหน เวลาดูหนังหรือจินตนาการเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว เรามักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอเลียนที่เราเห็นคนตีความทุกวันนี้ บางทีก็ออกมาหน้าตาเหมือนสัตว์ แต่ถ้ามนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริง มันน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่านี่คือสิ่งมีชีวิตของโลกอื่น มันยังมีปริศนาอีกเยอะมากที่เราเล่นกับมันได้ในเชิงความคิด ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็พยายามจะสะท้อนแบบนี้เหมือนกัน

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน HAMBURGER MAZAGINE ฉบับที่ 59 วันที่ 23-29 พ.ย. 2559

เรื่อง: เก้า มีนานนท์ ภาพ: ณัฐพล วุฒิเพ็ชร์ สไตล์: ชนิตตนัณฑ์ ณรงค์ฤทธิ์ธำรง

 

DID YOU KNOW?

ปราบดารู้มาจากทีมงานเบื้องหลังอีกทีว่า ช่วงเวลา 6-8 โมงเช้า คือ ‘ไพรม์ไทม์’ ของโรงแรมม่านรูดที่มีคนเข้ามาใช้บริการเยอะที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาก่อนเข้างาน และคนที่บ้านจะเข้าใจว่าออกไปทำงานแต่เช้า หรือบางทีก็มีลูกค้าผู้หญิงขับเข้าไปคนเดียว แล้วรีเควสต์พนักงานให้เข้ามานอนด้วย