ในโลกยุคใหม่ที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับวินาที เรื่องร้อนบนนิวส์ฟีดวันนี้ อาจไม่มีใครจดจำได้ในวันรุ่งขึ้น

ทุกสิ่งในโลกสมัยใหม่ล้วนมีอายุสั้น เปราะบาง เหมือนคลื่นในทะเลที่พร้อมจะเลือนหายครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อคลื่นลูกใหม่ซัดเข้าหาฝั่ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโลกที่เปิดกว้างทางโอกาสให้กับผู้คนมากกว่าทุกยุคทุกสมัย

ปัจจุบันอันโกลาหลและอนาคตที่ยากจะคาดเดา คือความท้าทายแห่งยุคสมัยที่ผู้คนต้องพบเผชิญ

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks ใช้เวลาหลังลาจอโทรทัศน์ในบทบาทพิธีกรรายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย ไปกับการเดินทางในประเทศต่างๆ จิบชา ใช้ชีวิตช้าๆ และอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ เพื่อมองย้อนอดีตแล้วครุ่นคิดถึงอนาคต ก่อนจะได้ผลิตผลเป็นหนังสือ FUTURE : ปัญญาอนาคต

“คุณจะสร้างอนาคตได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้ว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น แล้วจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ซึ่งคุณต้องเชื่อว่ามันมีอนาคตที่จะเดินไปข้างหน้า ถ้าไม่เชื่อคุณก็จะพาตัวเองย้อนกลับไปอดีตอยู่ร่ำไป”

ในวันที่หลายคนกลัวอนาคตจนไม่รู้ว่าจะพาตัวเองเดินไปในทิศทางไหน หนังสือเล่มนั้น และบทสนทนาของเขากับ The Momentum จะบอกให้คุณกล้าที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าสู่อนาคต

อนาคตที่ดีกว่า ที่มีเราเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง

ทราบมาว่าตอนนี้คุณกำลังมีหนังสือเล่มใหม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

หนังสือเล่มใหม่ของผมเกิดจากการเดินทางต่อเนื่องมาหลายปีไปตามเมืองสำคัญของโลก ได้สังเกตเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับสากลมันเปลี่ยนไปอย่างไร คล้ายๆ กับว่าไปดูอนาคตของเมืองเหล่านั้น แล้วที่ผ่านมาผมก็อ่านหนังสือประวัติศาสตร์หลายต่อหลายประเทศ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 100-150 ปี คนในอดีตก็มีความกลัวอนาคตอยู่ในทุกๆ ประเทศ

ผมก็จะเล่าเรื่องราวเหล่านี้เชื่อมโยงกันให้เห็นว่าในอดีตคนก็มีความกลัวอนาคต แล้วก็มีคนบางส่วนพยายามย้อนกลับไปหาความมั่นใจที่เคยมีมา ในขณะที่บางส่วน อย่างเช่น ลีกวนยู หรือเติ้งเสี่ยวผิง ก็ไม่ได้ย้อนกลับไปหาความมั่นใจในอดีต แทนที่จะวิ่งกลับไปหาอนุรักษ์นิยม กลับไปหาความรุนแรง กลับไปหาชาตินิยม ผู้นำแห่งศตวรรษที่ 20 กลับนำพาประเทศของตัวเองไปสู่อนาคตด้วยการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา นี่คือตัวอย่างของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์

เราทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกันที่กำลังเผชิญคลื่นลมอย่างรุนแรงในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รุ่นผมทำอะไรสำเร็จก็อาจจะเอ็นจอยกับชีวิตไปได้สัก 10 ปี แต่คนรุ่นใหม่อาจจะเอ็นจอยได้ 2 เดือน แล้วคุณก็ต้องกลับมาเผชิญความท้าทายใหม่

อนาคตที่คุณพูดถึงในหนังสือเล่มนี้จะเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร

สถานการณ์ตอนนี้เหมือนกัน เรากำลังเผชิญหน้าความท้าทายใหม่ แต่เป็นความท้าทายของศตวรรษที่ 21 เรามีทางเลือก 2 ทางคือ หนึ่ง วิ่งกลับไปหาของเดิม กับ สอง คือคุณต้องวางแผนว่าอนาคตที่จะเกิดขึ้นคืออะไร แล้วคุณต้องเตรียมการรับมือเพื่อจะพาตัวเองไปสู่ศตวรรษที่ 21 ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเหมือนคนที่เป็นรัฐบุรุษเขาเคยทำไว้ในอดีต

ทีนี้ผมพูดถึงในระดับนโยบายที่จะทำให้ประเทศดีขึ้นได้ แต่โชคร้ายคือไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะทำแบบนี้ได้ ถ้ารัฐบาลไม่มีบริการหลังการขาย หรือถ้าไม่มีนโยบายที่ไม่ถูกต้อง แล้วปัจเจกชนรุ่นอย่างพวกเราจะทำยังไง คุณจะอยู่ยังไงกับโลกสมัยใหม่ที่ความท้าทายมันเกิดขึ้นในระดับวินาที ผมพูดเรื่องราวเหล่านี้ในหนังสือ ซึ่งปกติไม่ค่อยพูดชัดขนาดนี้ แต่ผมรู้สึกว่าไอ้รอบนี้ความท้าทายมันมาเร็วมาก แล้วเราทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกันที่กำลังเผชิญคลื่นลมอย่างรุนแรงในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รุ่นผมทำอะไรสำเร็จก็อาจจะเอ็นจอยกับชีวิตไปได้สัก 10 ปี แต่คนรุ่นใหม่อาจจะเอ็นจอยได้ 2 เดือน แล้วคุณก็ต้องกลับมาเผชิญความท้าทายใหม่ ฉะนั้นคุณต้อง invent ตัวเองตลอดเวลา สร้างสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นความเหนื่อยยากมาก แล้วคุณก็จะประสบความล้มเหลวอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน เพราะจะมีคนที่ทำสำเร็จแล้วเดินผ่านคุณไป เราจะอยู่ในยุคที่วุ่นวายโกลาหลมาก ถ้าเราไม่สามารถวางตำแหน่งตัวเองได้อย่างถูกต้อง เราจะไม่สามารถชนะคลื่นที่พัดเข้ามาหาเรา ที่เลวร้ายกว่าคือเราจะไม่มีความสุข

เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะพูดในหนังสือคือ พูดถึงสิ่งที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ พูดถึงปรากฏการณ์ทั้งหมด เพื่อให้คุณเห็นว่าคุณอยู่ในช่วงเวลาไหนของประวัติศาสตร์ แล้วคุณจะรับมืออย่างไร ผมก็จะพาเดินทางไปตามเมืองต่างๆ สนทนากับผู้คน ไปดูบ้านเมือง ยกกรณีตัวอย่างเมืองที่เขานำหน้าไปแล้วว่าเขาปรับตัวอย่างไร ซึ่งมีหลายสเกล ถ้าเป็นขนาดเล็กก็แค่ร้านบาแก็ตร้านเดียว โรงแรม 2 ห้อง ขนาดใหญ่ก็เช่นดีไซเนอร์ที่สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้ประเทศอังกฤษอย่าง พอล สมิธ (Paul Smith) หรือคนทำแอนิเมชันที่เปลี่ยนแปลงแพตเทิร์นวิธีคิดของการทำแอนิเมชันของญี่ปุ่นได้ทั้งอุตสาหกรรม ก็จะมีกรณีตัวอย่างเหล่านี้

ทำไมถึงเลือกต่างประเทศ ทำไมถึงไม่เลือกประเทศไทย

หนังสือมันชื่อ Future แต่ตอนนี้เมืองไทยไม่ค่อยมี ผมพูดเรื่องอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่เราหาไม่ค่อยเจอในประเทศไทย ผมว่าเราคิดกันไม่ออก หลายต่อหลายเรื่องตอนนี้ถ้าเราไม่หลอกตัวเอง ก็เหมือนเรากำลังเดินไปถึงประตูบานหนึ่ง มีทางเลือกคือเราจะเดินไปสู่ทางออก หรือเราจะเอาหัวชนประตูที่ปิดอยู่ ผมคิดว่าผมเดินไปสู่ทางออกดีกว่า แล้วก็พากันไปให้เห็นว่ามันมีทางออก อย่าเอาหัวไปชนประตูกันเลย ไปต่างประเทศเพื่อให้เห็นว่าที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความเจ็บปวดมาก่อนเรา เขาฟื้นฟูตัวเองจากธุลีได้ยังไง ของเรายังมีความสุขกันดีอยู่นะ แต่ว่าอย่าเอาหัวไปชนประตู ช่วยเอาไปคิดเรื่องใหม่ๆ ที่มันสร้างสรรค์หน่อย จะได้ไปกันต่อได้

“ความหมายของศตวรรษที่ 21 และการมีชีวิตอยู่คือ คุณต้องหาสมดุลให้เจอ เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนมันไม่ได้ให้สมดุลกับชีวิตของคุณ ถ้าคุณจัดสมดุลไม่ได้ วิ่งตามอย่างเดียว ตามเท่าไรก็ตามไม่ทัน”

ในเมื่อศตวรรษที่ 21 มีความท้าทายมากมาย คุณคิดว่าโจทย์ที่ท้าทายที่สุดคืออะไร

เรารู้กันดีว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน แต่ทั้งหมดนี้มันมาด้วยความเร็วมาก คุณจะอยู่กับสปีดที่เร็วขนาดนี้ของความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ถ้าคุณปรับรับได้ คุณก็จะอยู่กับมันได้ แต่ถ้าคุณปรับรับไม่ได้ คุณก็จะทรมานน่าดูเลย เพราะมันเปลี่ยนเร็วเกินกว่าสปีดของมนุษย์ปกติจะรับไหว นี่คือเหตุผลว่าทำไมมนุษย์ถึงโหยหากาแฟดริป หรือชีวิตสโลว์ไลฟ์ เพราะทุกอย่างมันเร็วจนเราสูญเสียระดับความเร็วที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตของเราไป

ฉะนั้นความหมายของศตวรรษที่ 21 และการมีชีวิตอยู่คือ คุณต้องหาสมดุลให้เจอ เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนมันไม่ได้ให้สมดุลกับชีวิตของคุณ ถ้าคุณจัดสมดุลไม่ได้ วิ่งตามอย่างเดียว ตามเท่าไรก็ตามไม่ทัน วันนี้เถียงกันเรื่องทศกัณฑ์ พรุ่งนี้อาจจะเป็นเรื่องหนุมาน นางสีดาก็ได้ มันเปลี่ยนเร็วมาก แล้วเราก็ต้องไปเสียเวลาเถียงกันในเรื่องที่มันจะเปลี่ยนเร็ว ดีเบตกันไม่กี่วันก็ล้าสมัยทันที ซึ่งคุณต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้

ในอดีตไม่น่าจะต้องเผชิญกับความท้าทาย หรือบริบทสังคมที่รุนแรงเท่าปัจจุบัน แต่ทำไมเราถึงควรจะมองย้อนกลับไปดูกรณีตัวอย่างในอดีต

เพราะมันไม่มีอนาคตให้คุณดู อนาคตยังไม่เกิด สิ่งที่จะช่วยคุณคิดได้ดีที่สุดคือคุณต้องย้อนกลับไปดูอดีต ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากจะเป็นโดราเอมอน แล้วชวนโนบิตะนั่งไทม์แมชชีนไปดูอนาคตว่าเป็นอย่างไร แล้วค่อยมาแอบเล่าให้คุณฟังว่าต้องปรับตัวแบบนี้สิ แต่เราทำไม่ได้ ที่ทำได้แน่นอนที่สุดคือการกลับไปดูว่าคนในอดีตเขารับมือกับความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่อย่างไร ไปศึกษาแพตเทิร์นวิธีคิด

มันไม่มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จหรอกว่า ดูอันนี้สิ แล้วเราจะเปลี่ยนได้เหมือนเขา เราเรียนรู้บทเรียนจากเขาได้ แต่ถึงเวลาลงมือปฏิบัติเราต้องทำเอง เราไม่สามารถไปคุยกับคนใดคนหนึ่ง ร้านใดร้านหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วจะสามารถทำตามเขาได้เลย เพราะถ้าทำอย่างนั้นได้คนก็จะสำเร็จกันหมด แล้วมันก็ไม่มีอนาคตให้คุณดู โชคร้ายจริงๆ ที่คุณดูได้แต่อดีต

คุณต้องเชื่อว่ามันมีอนาคตที่จะเดินไปข้างหน้า ถ้าไม่เชื่อคุณก็จะพาตัวเองย้อนกลับไปอดีตอยู่ร่ำไป

เท่าที่สังเกต คุณคิดว่าอะไรคือจุดร่วมของกรณีตัวอย่างต่างๆ ที่สามารถสร้างอนาคตจากอดีตได้

ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องเชื่อว่ามันมีอนาคต อดีตมันคือการสั่งสมของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของตัวคุณเอง องค์กรคุณ หรือประเทศของคุณ คุณย้อนกลับไปดูได้ แต่คุณจะสร้างอนาคตได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้ว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น แล้วจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ซึ่งคุณต้องเชื่อว่ามันมีอนาคตที่จะเดินไปข้างหน้า ถ้าไม่เชื่อคุณก็จะพาตัวเองย้อนกลับไปอดีตอยู่ร่ำไป เพราะการพาตัวเองย้อนกลับไปในอดีตมันให้ความรู้สึกปลอดภัย กลับไปนอนบนที่นอนเก่าๆ ผ้าเช็ดตัวผืนเดิม บ้านหลังเก่า ซึ่งมันไม่ได้พาเราไปไหน

การสร้างอนาคตมันยาก เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คุณต้องดั้นด้นไป ตอนโคลัมบัสออกเรือ เขาก็ไม่รู้หรอกนะว่าจะไปโผล่ที่ไหน ซึ่งสมัยก่อนอนาคตเป็นเรื่องน่ากลัวกว่าตอนนี้อีก วันนี้คุณยังสามารถเสิร์ชอะไรล่วงหน้าได้ ในอดีตน่ากลัวแต่ทำไมคนยังวิ่งไปข้างหน้า แสดงว่าคนเหล่านั้นเห็นว่ามันมีอนาคต คนที่ยังย่ำอยู่กับที่แล้วพาตัวเองย้อนกลับไป หรือประเทศที่ยังย่ำอยู่กับที่แล้วพาตัวเองย้อนหลังกลับไป แสดงว่าประเทศนั้นมองไม่เห็นอนาคตว่าจะไปยังไง

อะไรคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมองเห็นอนาคตได้ไม่ชัดเจนนัก

เราก็เหมือนทุกสังคมแหละ เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหญ่หลายต่อหลายเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกัน นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่าให้ประเทศไทยได้รับเกียรติประเทศเดียวเลย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนอังกฤษถึงโหวต leave ออกจาก EU แล้วพอโหวตออกมาแล้ว ก็ตกใจกันว่าแล้วจะเดินต่อไปยังไง เพราะการโหวต leave คือการกลับไปอยู่ในอดีต อเมริกาก็เจอปัญหานี้ เขาถึงมีทางเลือกแค่ฮิลลารีกับทรัมป์ไง นี่คือความกลัวอนาคต ถ้ามหาอำนาจในอดีตอย่างอังกฤษก็กลัวอนาคต มหาอำนาจปัจจุบันอย่างอเมริกาก็กลัว ประเทศไทยก็ไม่ได้วิเศษอะไรกว่าเขา เราก็กลัวอนาคต เลยพยายามที่จะโอบกอดอดีตไว้แล้วไม่วิ่งไปข้างหน้า นี่เป็นธรรมดาโลก

เมื่อโลกเกิดความเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ คุณคิดว่าจะทำยังไงไม่ให้คนรุ่นใหม่เดินไปชนฝาประตู

ผมก็จะบอกว่าฉะนั้นคนรุ่นใหม่อย่าไปเชื่อคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่เพียงลำพังว่ามันต้องกลับไปสู่อดีต ไปสู่ good old days อย่างเดียว เพราะก็ยังมีคนรุ่นเก่าที่เขาพยายามพาประเทศเขา องค์กรเขา หรือตัวเขาเองเดินไปข้างหน้า วันที่เติ้งเสี่ยวผิงต้องการจะปฏิรูปประเทศจีนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ก็ไม่ใช่ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จะเห็นด้วย แต่เติ้งไม่เชื่อ เติ้งก็เลยพาประเทศไปข้างหน้าได้ วันที่สิงคโปร์จะยืนขึ้นมาตั้งประเทศ ก็ไม่ใช่ว่าคนเห็นด้วยกับลีกวนยูทั้งหมด

วันนี้เราก็ยืนอยู่ในจุดปัจจุบันซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างอดีตกับอนาคต คนรุ่นใหม่มีอนาคตที่ต้องเดินต่อไป แต่ว่าในชีวิตจริงคือคนรุ่นเก่ากำลังกุมอำนาจการตัดสินใจของประเทศเอาไว้ ถ้าคุณไม่นำพาตัวเองไปต่อด้วยการสร้างตัวเองขึ้นมา อำนาจการตัดสินใจและวิธีคิดจะเป็นของคนรุ่นเก่า ถามว่าคนรุ่นเก่าเอาตัวเองยังไม่ค่อยจะรอดแล้วจะมากำหนดอนาคตได้อย่างไร คุณมีทางเลือกทางเดียวคือคุณต้องลงมือกำหนดอนาคตของตัวเอง

นี่คือการปลุกระดมมวลชนของคนรุ่นใหม่ให้ออกมากำหนดอนาคตตัวเอง คนรุ่นผมทำอะไรไม่ได้ รุ่นผมคือกลางใหม่กลางเก่า บอกแต่ว่าคุณกำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ บอกในสิ่งที่อยู่ข้างหน้าให้คุณได้เห็น ผมไม่มีสูตรสำเร็จที่จะบอกหรอกว่าคุณต้องเดินตามที่ผมบอก ไม่มีใครมีปัญญาคิดได้ขนาดนั้น

ถ้าคุณอยากเป็นเหมือนเดิม คุณทำได้อย่างเดียวคือคุณต้องเปลี่ยน มันดูย้อนแย้งนะ แต่เป็นจริงตามนั้น

มีกรณีตัวอย่างของการโอบกอดอดีตไว้ หรือย้อนกลับไปหา good old days แล้วประสบความสำเร็จไหม

คุณยกตัวอย่างให้ผมฟังหน่อยสิว่ามีไหมล่ะ เท่าที่ระลึกได้ไม่มีนะ อย่างน้อยมันก็ต้องมีการปรับตัว ภาษิตโบราณเขาเลยบอกว่าถ้าคุณอยากอยู่ที่เดิม ถ้าคุณอยากเป็นเหมือนเดิม คุณทำได้อย่างเดียวคือคุณต้องเปลี่ยน มันดูย้อนแย้งนะ แต่เป็นจริงตามนั้น เพราะถ้าคุณอยากรักษาสถานภาพเดิมไว้ รักษาคุณภาพชีวิตเท่าเดิม มีกาแฟดีๆ กินเหมือนเดิม แต่คุณทำเหมือนเดิมทุกอย่าง คุณจะไม่ได้แบบนั้น คุณจะไม่เหลืออะไร ดังนั้นคุณต้องลงมือทำบางอย่าง เปลี่ยนตัวเองไปข้างหน้า เพื่อให้คุณรักษาสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันไว้ได้ นี่คือข้อความที่ชัดเจนที่สุดที่พูดกันมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมันเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว

คุณมองเห็นข้อดี มีความหวังอะไรของคนรุ่นใหม่ยุคนี้บ้าง

เขามีความอยากที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง แต่บางทีอาจไม่รู้ว่าภูมิทัศน์ที่เดินไปข้างหน้าเป็นยังไง หรือไม่รู้ว่าปัญหาที่เจออยู่คืออะไร มันเลยเป็นการเดินทางที่อันตรายหน่อย ทีนี้ถ้าเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ส่วนหนึ่ง คนรุ่นกลางใหม่กลางเก่าอย่างผมเป็นสะพานเชื่อมเพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นประสบการณ์ในอดีต เพื่อให้คุณเห็น สรุปบทเรียน แล้วคุณค่อยใช้พลังงานที่รุ่นคุณมีมากเพื่อเดินต่อไป ผมก็อยากฝากความหวังไว้กับรุ่นพวกคุณให้สร้างอนาคต ผมจะได้อยู่ในอนาคตที่มันสวยงาม ถ้ารุ่นคุณไม่สร้างแล้วใครจะสร้าง

คุณอยากให้ใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้บ้าง

ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ได้อ่าน จะได้เห็นว่าจะไปสู่อนาคตได้อย่างไร จริงๆ ก็อยากให้คนรุ่นกลางใหม่กลางเก่า และคนรุ่นเก่าได้อ่านด้วย จะได้รู้ว่าเรากำลังเผชิญปัญหาอะไรในปัจจุบัน จะได้ไม่ไปตัดสินอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ จะได้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในสายธารประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งระหว่างรุ่น ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ในประเทศไทย จะได้เห็นว่าเราไม่ได้แปลกแยกออกไปจากสังคมโลก เราอยู่ในส่วนหนึ่งของสายธารประวัติศาสตร์ที่มันกำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง นั่นก็เป็นผลพวงของพัฒนาการของเทคโนโลยี สังคม วัฒนธรรม ทุกมิติทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การที่เราทะเลาะเบาะแว้งกันเองบางส่วน ก็เพราะเราไม่รู้ว่าเราอยู่ในสายธารประวัติศาสตร์ที่มันใหญ่กว่านั้น ผมอยากจะฉายภาพเล็กๆ ให้ดู อย่างน้อยก็น่าจะทำให้คนรุ่นต่างๆ ได้สบายใจกันขึ้น จะได้มีปัญญาใหม่ๆ ที่ไม่ต้องเอาหัวไปชนประตู

คุณคิดว่าในอนาคต 5-10 ปีต่อจากนี้ โลกจะเดินไปในทิศทางไหน

มันยากมากที่จะพยากรณ์ได้ขนาดนั้น แต่เอาง่ายๆ แค่บางมิติที่คุยกันแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ เช่น ในอนาคตธุรกิจจะมีขนาดเล็กลง อาจจะมีธุรกิจที่ใหญ่และครองโลกอยู่สัก 10 บริษัท คุณโค่นเขาไม่ลงหรอก Google, Apple, Amazon หรือ Alibaba จะใหญ่อยู่แบบนั้น แต่มันจะสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ ขึ้นมาให้โลกเต็มไปหมด แล้วแพลตฟอร์มเหล่านี้จะทำให้คนตัวเล็กๆ ในอนาคตสามารถทำมาค้าขายกันเองได้ มันจะเชื่อมคนตัวเล็กๆ เข้าหากัน คุณจะอยู่ได้ด้วยธุรกิจที่มีขนาดเล็กลง เทคโนโลยีจะรองรับเสียจนคุณทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตัวเองได้ ทุกอย่างจะเป็นยูนิตย่อยๆ ไปหมด คุณต้องเตรียมตัวดีไซน์ชีวิตเพื่อที่จะอยู่แบบนั้น คุณอาจจะอยู่บ้านแล้วทำงานของคุณเองกันหมดก็ได้

อีกเรื่องคือผู้คนจะอายุยืนขึ้น คุณภาพการรักษาพยาบาลกับคุณภาพอาหารการกินจะทำให้คนอายุยืนขึ้นในอนาคต พออายุยืนขึ้นคุณต้องดีไซน์แล้วว่าคุณจะมีชีวิตส่วนที่เหลือยังไง คุณจะไม่ได้เกษียณเร็วเหมือนเมื่อก่อน คุณอาจจะต้องทำงานยาวขึ้น ผมกำลังจะทำหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The 100 Years Life เขาบอกว่าในอนาคตคนที่เกิดในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจะมีอายุเฉลี่ยถึง 100 ปี ฉะนั้นวิธีคิดที่จะทำงานถึง 60 แล้วเกษียณ คุณจะไม่เกษียณ คุณจะเหลืออีก 40 ปีที่คุณยังมีชีวิตอยู่ ท่านผู้มีเกียรติครับ คุณต้องไปดีไซน์ 40 ปีของคุณนะว่าจะมีชีวิตอยู่ยังไง

เข้าใจว่าที่คุณเขียนหนังสือเล่มนี้เพราะต้องการให้คนมีความหวัง แล้วตัวคุณเองมีความหวังต่ออนาคตอย่างไร

ผมเขียนเพราะผมมีความหวัง และไม่อยากให้คนหมดหวัง ผมไม่อยากให้ย้อนกลับไปในอดีต และผมไม่อยากให้กลับไปทำซ้ำๆ ความผิดพลาดในอดีต ซึ่งทุกสังคมเคยมีและเคยเป็นมา ผมพยายามยกตัวอย่างคนที่กล้าหาญ คนที่ฟันฝ่านำพาศตวรรษที่ 20 ไปสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ ทีนี้เมื่อเราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เรามีความจำเป็นต้องฟันฝ่าเพื่อให้คนรุ่นต่อไปเขาไปต่อได้

ผมเขียนทั้งหมดนี้เพื่อยืนยันว่าเรามีความหวังและไปต่อได้

FACT BOX:

Future : ปัญญาอนาคต

หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา โดยสำนักพิมพ์ openbooks ที่จะฉายภาพใหญ่ของโลกและอนาคตที่เดินทางมาถึงแล้ว เพื่อให้ผู้อ่านเตรียมรับมือและความสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโลกภายใน เพราะผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อโลกภายในเปลี่ยน ความคิดจิตใจเปลี่ยน เราจึงจะสามารถเปลี่ยนโลกภายนอกได้ โดยในแต่ละบทจะทำให้ผู้อ่านค่อยๆ ทบทวนตัวเองในทางหลักการและเล่ากรณีศึกษาของผู้ที่ผ่านการทำงานจริงมาก่อน และพาผู้อ่านเดินทางย้อนเวลาไปมาเพื่อทบทวนประวัติศาสตร์และสร้างปัญญาสู่อนาคต

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/openbooks2