ย้อนกลับไป พ.ศ. 2556 ทุกคนคงจำปรากฏการณ์ความฮิตทะลุเพดานของหนังผีโรแมนติกคอเมดี้อย่าง พี่มาก..พระโขนง ได้เป็นอย่างดี เมื่อหนังทำรายได้ถล่มทลาย 598 ล้านบาท! ทุบสถิติแชมป์เก่าหนังไทยรายได้สูงสุดอย่าง สุริโยไท (324 ล้านบาท) และกระจายความหลอนปนฮาได้ไกลถึง 13 ประเทศ

ใช่ว่าชาติไทยจะเป็นประเทศเดียวที่นิยมหนังผีแนวนี้ เพราะเมื่อวัดจากอันดับหนังสยองขวัญทำเงินสูงสุดทางฝั่งฮอลลีวูด หนังผีคอเมดี้อย่าง Ghost Buster (1984) สามารถทำรายได้ถึง 242 ล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้าหนังผีสุดคลาสิกอย่าง The Exorcist (1973: 232 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเป็นรองเพียงแค่ The Sixth Sense (1999 : 293 ล้านเหรียญสหรัฐ) เท่านั้น

สถิติทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงค่านิยมของคนดูต่อหนังผีสายตลกได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกประเภทของหนังผีคอเมดี้ออกมาเป็น ‘สยองขวัญ’ และ ‘ตลก’ ดูยังไงๆ ก็ไม่น่าจะเข้ากันได้อยู่ดี

อะไรคือเบื้องหลัง และกลไกที่ทำให้ประเภทของหนังทั้ง 2 ชนิดที่ต่างกันสุดขั้วมาคลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างกลมกล่อม จนกลายเป็นสูตรสำเร็จของหนังผีในปัจจุบัน

The Momentum ชวน 4 ผู้กำกับหนังสยองขวัญไทย มาขุดคุ้ยหาคำตอบของสูตรสำเร็จที่ว่า!

ทำไมหนังผีต้องตลก

มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เชื่อว่าสาเหตุที่หนังผีไทยมักอบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะเพราะมันคือ เสน่ห์แบบไทยๆ

“ชาติเราเป็นชาติที่ไม่ค่อยซีเรียส มีอารมณ์ขันสูง ผีหลอกคนก็ไม่ได้หลอกจริงจัง บางครั้งเวลาที่เราแกล้งหลอกผีใส่เพื่อน เราก็มักจะตลกที่ได้เห็นหน้าเหวอๆ ของคนถูกหลอก”

สอดคล้องกับความเห็นของ ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่เชื่อว่าคนไทยเป็นมนุษย์บันเทิง ไม่เคยซีเรียสกับอะไรทั้งสิ้น เป็นประเทศเดียวในโลกที่เฮฮาปาจิงโกะ สังสรรค์ได้ตั้งแต่งานบุญจนกระทั่งงานศพ

“ความตลกและความน่ากลัวเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมานานแล้ว เช่น เวลาเข้าบ้านผีสิง เรากลัว เราตะโกน โวยวาย กรี๊ดกร๊าด เราเห็นเพื่อนตกใจ แต่เราก็ยังหัวเราะกันได้”

แม้แต่เจ้าตัวเองยังยอมรับว่า เขาก็แอบขำเวลาได้เห็นคนโดน ‘ผีบุปผา’ หลอก

ยุทธเลิศมองว่าสาเหตุที่หนังผีมักจะมาเป็นแพ็กเกจควบคู่กับความฮาเพราะถือเป็นสูตรสำเร็จของมันการใส่มุกตลกลงไปในหนังก็เพื่อทำให้คนดูรู้สึกผ่อนคลาย และเขาเชื่อว่า หนังผีจะบันเทิงก็ต่อเมื่อคนได้หัวเราะกับความน่ากลัว เหมือนกับคนดู บุปผาราตรี แล้วตกใจจนต้องระเบิดเสียงหัวเราะ

“คนไทยเป็นมนุษย์บันเทิง ไม่เคยซีเรียสกับอะไรทั้งสิ้น
เป็นประเทศเดียวในโลกที่เฮฮาปาจิงโกะ
สังสรรค์ได้ตั้งแต่งานบุญจนกระทั่งงานศพ”
ยุทธเลิศ สิปปภาค

หวาดผวาเคล้าเสียงหัวเราะ

โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้อยู่เบื้องหลังหนังผีอย่าง ชัตเตอร์, แฝด และหนังผีตระกูลแพร่ง มองว่าการดูหนังผีเปรียบเสมือนการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมของคนทั้งโรง เพราะโดยธรรมชาติของ ‘หนังผี’ หรือ ‘หนังตลก’ เป็นหนังที่ทำให้คนมีอารมณ์ร่วมกันโดยอัตโนมัติ ยิ่งเวลาที่ดูหนังผีแล้วทุกคนขำพร้อมๆ กัน ระดับความตลกก็จะยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก หรือบางครั้งเวลาที่ตัวละครในหนังถูกผีตามหลอกมาทั้งคืน เมื่อยามเช้ามาถึง พอมีคนดูสักคนถอนหายใจดังเฮือกขึ้นมา คนอื่นๆ ก็อาจจะหลุดขำกันทั้งโรง เพราะทุกคนรู้สึกไม่ต่างกัน มันเป็นเสน่ห์ของความรู้สึกร่วมแบบแปลกๆ ที่มีเฉพาะหนังประเภทนี้

ด้าน โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับหนังสุดสยองอย่าง ลองของ มองว่า หนังผีสายตลกเป็นเรื่องของจิตวิทยา ที่บางทีเมื่อคนเรากลัวมากๆ ก็จะขำออกมา บางครั้งอาจหัวเราะที่ตัวเองกลัว หรือบางทีก็หัวเราะเพื่อทำการข่มความกลัวของตัวเอง เช่น ตอนเด็กๆ ทุกๆ คนอาจจะเคยวิ่งหนีสิ่งที่เราคิดว่าเป็นผี กับเพื่อนหรือพี่น้อง แล้วพอเราหยุดพักมองหน้ากัน ก็มักจะหลุดขำออกมา

“ไอ้การหัวเราะนี่เอง เปรียบเสมือนกลไกในการป้องกันตัว เพื่อเป็นการคลีนความกลัวในตัวเรา”

หากหนังผีเรื่องใดน่ากลัวจนเกินไป โขมมองว่าอาจทำให้คนดูรู้สึกขยาดเกินกว่าจะตีตั๋วเข้าไปชม ดังนั้นหนังผีเลยต้องมีมุกตลกบ้าง เพื่อให้คนดูได้พักหายใจ

“บางครั้งเวลาที่ตัวละครในหนังถูกผีตามหลอกมาทั้งคืน
เมื่อยามเช้ามาถึง พอมีคนดูสักคนถอนหายใจดังเฮือกขึ้นมา
คนอื่นๆ ก็อาจจะหลุดขำกันทั้งโรง”
ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

บุปผาราตรี ต้นตำรับหนังผีสูตรไฮบริด?

หนัง บุปผาราตรี (2546) ถือเป็นความสำเร็จของการเบลนด์ความตลกและความสยองขวัญแบบไทยๆ ได้อย่างลงตัวก่อนขยายยาวไปสู่ บุปผาราตรี เฟส 2 (2548) บุปผาราตรี 3.1 และ บุปผาราตรี 3.2 (2552) แล้วแวะพักส่งไม้ผลัดให้คนดูหัวเราะปนสยองไปกับ พี่มาก..พระโขนง (2556) ก่อนจะกลับมาไล่หลอกหลอนผู้คนอีกครั้งใน บุปผาอาริกาโตะ (2559) จนมีการยกให้ ‘ซีรีส์บุปผาฯ’ เป็นหนึ่งในหนังที่มีอิทธิพลต่อหนังผีสายตลกในปัจจุบัน

“ผมไม่ใช่ผู้บุกเบิกการใส่ความตลกลงไปในหนังผี หนังผีทุกเรื่องก่อนหน้านี้ก็มีความตลกในตัวเองอยู่แล้ว แต่หนังของผมอาจจะแตกต่างจากหนังผีสมัยก่อนตรงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่น จังหวะตลก หรือภาษาต่างๆ ที่ใช้ในหนัง หากย้อนกลับไปดู บุปผาราตรี ดีๆ จะพบว่ามู้ดของหนังมีกลิ่นอายของ นางนาก (2542) สมัยพี่อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร เลยนะ”

ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้ตัดสายสะดือ ‘ผีบุปผา’ เชื่อว่าหนังผีของตัวเองไม่ได้ต่างไปจากหนังผีสมัยก่อน และตัวเขาเองก็ไม่ใช่ผู้บุกเบิกแนวทางนี้แต่อย่างใด เพราะแม้แต่หนังผีในอดีตอย่าง แม่นาก ก็ยังมีมุกเณรถีบกันให้พอเป็นกระษัย เพียงแต่คนดูอาจจะไม่ทันสังเกต

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ บุปผาราตรี เป็นที่จดจำของหนังผีสายฮา เขามองว่าอาจเป็นเพราะสไตล์หนังที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งภาษาที่ตัวละครใช้ และแนวทางการเสียดสีจิกกัดสังคม เมื่อทุกอย่างถูกผสมรวมกัน มันจึงกำเนิดเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวแบบ บุปผาราตรี

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ยุทธเลิศ มองว่า บุปผาราตรี ก็คือหนังผีไทยธรรมดาๆ เรื่องหนึ่งที่ผ่านการพัฒนาก็เท่านั้น

“อารมณ์หนังผีไทยเป็นอย่างไร บุปผาราตรี ก็เป็นเช่นนั้น”

ตราบเท่าที่ลมหายใจของความสยองขวัญยังคงอยู่ เสียงหัวเราะของความตลกและหนังผีไฮบริดก็คงอยู่คู่กันไปตราบนานเท่านาน

“บางทีก็หัวเราะที่ตัวเองกลัว
หรือบางทีก็หัวเราะเพื่อทำการข่มความกลัวของตัวเอง”
ก้องเกียรติ โขมศิริ

Source
https://th.wikipedia.org
http://www.imdb.com
http://www.boxofficemojo.com

Tags: , , , , , , ,