ดวงจันทร์เป็นบริวารของโลกที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย สวยงาม และมีความเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนหลายท้องที่อย่างลึกซึ้ง เมื่อมีข่าวว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้า (14 พ.ย.) จะเกิดปรากฏการณ์ ‘ซูเปอร์มูน’ หรือดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุด หลายคนจึงปักหมุดในปฏิทินเพื่อตั้งตารอชม พร้อมกับอดสงสัยไม่ได้ว่า…

‘ซูเปอร์มูน’ คืออะไร? และเกิดขึ้นได้ยังไง?

ทำไม ‘ซูเปอร์มูน’ ถึงน่าสนใจ

รูปที่ 1
เป็นการเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะเกิดซูเปอร์มูน (ขวา)
และดวงจันทร์ปกติ (ซ้าย), https://en.wikipedia.org/wiki/Supermoon

ปรากฏการณ์ ‘ซูเปอร์มูน’ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 นั้นมีความพิเศษกว่าซูเปอร์มูนครั้งที่ผ่านมา เพราะดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากเป็นพิเศษด้วยระยะห่างจากโลกเพียง 356,509 กิโลเมตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลก 384,402 กิโลเมตร

ส่วนครั้งต่อไปที่จะเกิดซูเปอร์มูนแบบนี้คือ เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.  2577

พูดง่ายๆ ว่าถ้าพลาดครั้งนี้ต้องรออีก 18 ปีเลยทีเดียว!

‘ซูเปอร์มูน’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

รูปที่ 2 ลักษณะของดวงจันทร์ที่ขึ้นอยู่กับวิถีการโคจร,
http://coolsciencedad.blogspot.com/

ปฏิทินกิจกรรมของหลายๆ ศาสนามีการกำหนดวันสำคัญตามลักษณะเสี้ยวของดวงจันทร์ที่ปรากฏ อย่างคืนวันเพ็ญที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธอยู่หลายวัน

เสี้ยวของดวงจันทร์ที่แตกต่างกันในแต่ละคืนนั้น เกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรไปรอบๆ โลก เราจึงเห็นดวงจันทร์ทำมุมกับดวงอาทิตย์ในแต่ละคืนต่างกันออกไป ทำให้ลักษณะเสี้ยวที่ปรากฏมีความแตกต่างกัน (ดังรูป 2) ระยะเวลาจากเดือนมืดจนถึงเดือนมืดครั้งต่อไปคือ 29.53 วัน หรือเกือบหนึ่งเดือน

ความน่าสนใจคือ ดวงจันทร์ไม่ได้โคจรรอบโลกเป็นวงกลม แต่เป็นวงรี โดยโลกจะอยู่เยื้องจุดศูนย์กลางวงรีไปเล็กน้อย จุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า ‘Perigee’

รูปที่ 3 Perigee คือจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด,
http://scienceline.ucsb.edu/getkey.php?key=3389

ในแต่ละเดือน ดวงจันทร์อาจเข้ามาใกล้โลกที่สุดในขณะที่ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ หรือข้างแรม แต่เมื่อดวงจันทร์เข้าใกล้โลกที่สุดในขณะที่เป็นคืนวันเพ็ญ จะทำให้ดวงจันทร์ปรากฏให้เห็นใหญ่กว่าคืนวันเพ็ญทั่วๆ ไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า ซูเปอร์มูน (Supermoon)

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘ซูเปอร์มูน’ และคืนวันเพ็ญ

เป็นความจริงที่แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง แต่บางคนคิดไปไกลว่า ดวงจันทร์สามารถส่งผลต่อน้ำในร่างกายมนุษย์และส่งผลต่อระดับฮอร์โมนจนถึงอารมณ์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่

การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบพบว่า ระดับฮอร์โมนหรืออารมณ์ของมนุษย์ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเชิงสถิติเลย

ความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานพอบอกเราได้ว่าแรงที่ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงนั้นส่งผลกับร่างกายมนุษย์น้อยมากเสียจนถือว่าไม่ส่งผลอะไรเลยก็ได้

เพราะร่างกายมนุษย์เรามีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับน้ำในมหาสมุทร (เราไม่เคยสังเกตเห็นเลยว่าดวงจันทร์ส่งผลให้ระดับน้ำในสระเปลี่ยนแปลง ดังนั้นดวงจันทร์จะส่งผลต่อน้ำในร่างกายของคนเราเท่าไรกันเชียว)

ดังนั้นเรามาชมปรากฏการณ์ซูเปอร์มูนวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ด้วยความสบายใจกันเถอะครับ!

ป.ล. ท่านใดที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถมารับชมปรากฏการณ์นี้พร้อมกับผมได้ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล จ.เชียงใหม่ นะครับ ผมจะบรรยายความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ รวมทั้งเรื่องของการไปเยือนดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโลด้วย

 

อ้างอิง:
– http://earthsky.org/?p=190918
– https://science.nasa.gov/news-articles/2016-ends-with-three-supermoons