กระบวนการสร้างปีศาจ หรือทำให้คู่แข่งฝ่ายตรงข้ามเป็นคนเลว ผ่านบทสุนทรพจน์ของผู้นำทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในเวทีทางการเมือง โดยเฉพาะฤดูการเลือกตั้ง

สิ่งที่เราเห็นได้ชัดในเวทีการเมืองสหรัฐฯ คือความพยายามของพรรคเดโมแครตในการทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็น ‘ปีศาจ’ ทางการเมือง (demonize) ผ่านการกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีหาเสียงต่างๆ ซึ่งมักได้รับการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์

บทความชิ้นนี้จะชี้ให้เห็น 8 วิธีการเขียนบทสุนทรพจน์ทางการเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้คู่แข่งขันฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นปีศาจทางการเมือง ผ่านการศึกษาสุนทรพจน์ 8 ชิ้น ของผู้นำทางการเมืองพรรคเดโมแครต ซึ่งได้ออกมาร่วมกันวาดภาพทรัมป์ ให้กลายเป็นปีศาจตัวร้ายตลอด 15 เดือนที่ผ่านมา

 

1. บารัก โอบามา: ชูไพ่ ‘โต้สโลแกนฝั่งตรงข้าม’

สโลแกนหาเสียงอันลือชื่อของทรัมป์ ที่ว่า ‘Make America Great Again’ เป็นวลีที่โด่งดังและถูกนำไปล้อเลียนอยู่บ่อยๆ และวิธีการพื้นฐานที่สุดในการทำลายเครดิตของทรัมป์ให้สิ้นซาก คือการโจมตีสโลแกนที่เขาพูดอยู่บ่อยๆ ด้วยบุคคลที่มีภาษีสูงๆ ในทางการเมือง

ในที่ประชุมใหญ่ของพรรค ประธานาธิบดีโอบามาย้ำถึงคุณสมบัติที่สุดเพียบพร้อมของฮิลลารี คลินตัน เพื่อกระทบทรัมป์โดยตรงว่า

“ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ไม่มีผู้ชายคนไหน หรือผู้หญิงคนไหน ไม่แม้กระทั่งผม หรืออดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่จะมีคุณสมบัติเพียบพร้อม เหมาะสมจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เทียบเท่าฮิลลารี คลินตัน”

โอบามายังโต้สโลแกนของทรัมป์ด้วยการบอกว่า“อเมริกายังคงเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ อเมริกายังคงเป็นชาติที่แข็งแรง และผมขอให้สัญญากับพวกคุณว่า จุดเด่นของเรา ความยิ่งใหญ่ในชาติของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโดนัลด์ ทรัมป์”

 

2. มิเชล โอบามา: ชูไพ่ ‘อนาคตของเยาวชนในชาติ’

หนึ่งในสุนทรพจน์ชิ้นสำคัญในการเลือกตั้งปี 2016 ที่ได้รับการกล่าวถึงว่าจับใจ และช่วยกวาดคะแนนนิยมได้ท่วมท้น คือสุนทรพจน์ของผู้ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในวันที่ 20 มกราคม 2017

มิเชลโจมตีทรัมป์อย่างอ้อมๆ ว่าเป็นคนโหดร้าย อันธพาล และไม่สามารถเป็นตัวแทนทางจิตวิญญาณของชาติได้ เธอย้ำว่าตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ได้แค่ถืออำนาจทางการเมือง แต่ยังถือเป็นแบบอย่างของเยาวชนในชาติ

“ในเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึง เมื่อเราเดินเข้าสู่คูหา นั่นคือการตัดสินใจของเรา นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเดโมแครตหรือรีพับลิกัน นี่ไม่ใช่เรื่องคุณเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ในเดือนพฤศจิกายน ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง และในการเลือกตั้งทุกๆ ครั้ง มันคือเรื่อง ‘ใคร’ ที่จะมีอำนาจในการหล่อหลอมเยาวชนในชาติของเราไปอีก 4 ปี หรืออีก 8 ปีข้างหน้า”

 

3. อลิซาเบธ วอร์เรน: ชูไพ่ ‘นักการเมืองจอมละโมบ’

นักการเมืองมักมาพร้อมภาพพจน์ว่าถูกครอบงำในเชิงผลประโยชน์ และดูเหมือนจะเป็นผู้รับใช้นายทุนบรรษัทต่างๆ มากไปกว่ารับใช้ประชาชน แต่นักการเมืองรายหนึ่งที่โลดแล่นในเวทีการเมืองไม่นานนัก และมีแต่ภาพความบริสุทธิ์ โปร่งใส รวมถึงพยายามตรวจสอบนายทุนอย่างเข้มข้นคือ อลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren)

เธอใช้ภาพพจน์ความเป็นนักตรวจสอบชี้ให้เห็นพฤติกรรมการทุจริตทางการเงินของทรัมป์ในแวดวงธุรกิจ ประโยคเด็ดที่สุดของเธอซึ่งได้รับเสียงปรบมืออย่างถล่มทลายก็คือ

“ชายคนหนึ่ง (โดนัลด์ ทรัมป์) ซึ่งไม่สนใจชีวิตของใคร นอกจากตัวเขาเอง ชายผู้ซึ่งคับแคบ อันตราย จอมละโมบ ผู้ซึ่งพยายามหาเงินให้ได้มากๆ โดยไม่สนใจว่าใครจะได้รับความเดือดร้อนจากวิธีการหาเงินอย่างผิดๆ เพื่อสร้างกำไรให้ตัวเอง คนประเภทนี้ คนแบบนี้ จะไม่มีทางได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เด็ดขาด”

 

4. เบอร์นี แซนเดอร์ส: ชูไพ่ ‘อนาคตของประเทศ’

แม้ว่าเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) จะไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีอย่างที่คาดหวัง แต่ในการเลือกตั้งรอบนี้เขาได้กลายเป็นตำนานไปแล้ว เพราะสามารถดึงดูดผู้เลือกตั้งวัยรุ่นให้ออกมาร่วมรณรงค์ทางการเมืองได้หลายล้านคน และเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฮิลลารีไม่สามารถทำและเทียบเท่าได้

แน่นอนว่ามีผู้สนับสนุนของเบอร์นีจำนวนมากที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนใจหันไปสนับสนุนฮิลลารี แต่หลังจากฟังสุนทรพจน์ท่อนนี้ อาจมีหลายคนเริ่มเปลี่ยนใจ

“ถ้าคุณไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญขนาดไหน ถ้าคุณคิดว่าจะนั่งอยู่ที่บ้านเฉยๆ โดยไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ หยุดคิดสักนิดถึงผู้พิพากษาในศาลสูงที่ทรัมป์ถืออำนาจของประธานาธิบดีในการเลือกมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีความหมายถึงอิสรภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง สิทธิที่เท่าเทียมกัน และอนาคตของชาติเรา”

สำหรับความสำคัญของศาลสูงที่เบอร์นีพูดถึง อาจพิจารณาได้จากตัวอย่างต่อไปนี้ เมื่อปีก่อนศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษาให้คู่รัก LGBT สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ 50 รัฐทั่วประเทศ

คำถามก็คือ สมมติเรามีผู้พิพากษาในศาลสูงที่สมาทานอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมจำนวนหลายๆ คนตามฉบับรีพับลิกัน คำพิพากษาก็คงไม่ออกมาก้าวหน้าเช่นนี้!

 

โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นชายผู้ซึ่งคับแคบ อันตราย จอมละโมบ ผู้ซึ่งพยายามหาเงินให้ได้มากๆ โดยไม่สนใจว่าใครจะได้รับความเดือดร้อนจากวิธีการหาเงินอย่างผิดๆ เพื่อสร้างกำไรให้ตัวเอง คนประเภทนี้ คนแบบนี้ จะไม่มีทางได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เด็ดขาด

 

5. ลิน-มานูเอล มิแรนดา: ชูไพ่ ‘ความสุดโต่งระหว่างผู้สมัครสองคน’

ในวงการบรอดเวย์ไม่มีใครไม่รู้จัก ลิน-มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) เพราะเขาคือผู้สร้างสรรค์ ผู้ประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง ละครเพลง ‘Hamilton the Musical’ ซึ่งเป็นละครเพลงที่ปฏิวัติวงการบรอดเวย์ วัดความสำเร็จได้อย่างดี จากการกวาดรางวัล Tony Awards ไปถึง 11 สาขา ละครเพลงเรื่องนี้เป็นนวัตกรรมในวงการละคร ที่ผู้นำทางการเมืองสหรัฐฯ พยายามที่จะไปแสดงตนว่าตัวเองได้มาชมแล้ว

มิแรนดาประกาศรับรองฮิลลารี พร้อมกับจัดรอบการแสดงพิเศษของละครเวที เพื่อทำการระดมทุนไปใช้ในการหาเสียง สุนทรพจน์ที่เขากล่าวหลังการแสดงจบลง ได้ถูกแชร์ซ้ำในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก

“คุณจะไปโหวตให้กับคนคนหนึ่งที่ผลิตซ้ำความกลัวให้กับคุณตลอดเวลา และแสวงหาผลประโยชน์จากความกลัวของคุณ หรือคุณจะไปโหวตให้กับคนคน หนึ่งที่สร้างความหวังให้กับคุณได้

“คุณจะไปโหวตให้กับคนคนหนึ่งที่ต้องการสร้างกำแพงกั้นขวางความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาติ ระหว่างคนในชาติ หรือคุณจะไปโหวตให้กับคนคนหนึ่งที่พยายามสร้างสะพาน เพื่อให้คนเรียนรู้จะอยู่ร่วมกัน

“วันนี้คุณได้ฟังสุนทรพจน์จากประธานาธิบดี 4 คนแรกของอเมริกาไปแล้ว ในลำดับต่อไปขอเชิญฟังสุนทรพจน์จากประธานาธิบดีคนที่ 45 ของเรา”

 

6. พ่อกัปตันคาน: ชูไพ่ ‘ความเสียสละและการเอาชีวิต’

สุนทรพจน์ที่ลือลั่นอย่างมากในที่ประชุมพรรคเดโมแครต รองจากสุนทรพจน์ของฮิลลารี คลินตัน คือสุนทรพจน์ ‘พ่อของกัปตันคาน’

ครอบครัวคาน (​Khan) เป็นมุสลิม-อเมริกัน ที่อพยพจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ ครอบครัวนี้สูญเสียลูกชายในสงครามอิรักจากระเบิดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว พ่อของกัปตันพูดด้วยความเดือดดาลว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ ลูกชายของเขาสละชีวิตเพื่อชาติ แต่มาวันนี้ทรัมป์มีนโยบายขับไล่ผู้อพยพออกจากประเทศ เขาโจมตีรุนแรงว่า

“ทรัมป์ไม่เคยเสียสละอะไรเพื่อใครเลย! ไม่เคยเลย! โดนัลด์ ทรัมป์ คุณถามคนอเมริกันว่าจะไว้ใจคุณไหมสำหรับอนาคตของประเทศนี้ ให้ฉันได้ถามคุณหน่อย คุณเคยอ่านรัฐธรรมนูญของอเมริกาบ้างไหม”

พ่อของกัปตันคาน หยิบรัฐธรรมนูญออกจากกระเป๋าเสื้อ พร้อมชูขึ้นมาระหว่างกล่าวสุนทรพจน์

“ผมยินดีเป็นอย่างมากที่จะให้คุณยืมรัฐธรรมนูญฉบับที่ผมถืออยู่ ในเอกสารชิ้นนี้ มองดูที่ตัวอักษร เสรีภาพและความเท่าเทียม ภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมาย”

 

7. ไมเคิล บลูมเบิร์ก: ชูไพ่ ‘ทรัมป์คือภัยพิบัติและหายนะ’

หนึ่งในนักการเมืองซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบอย่างมากคนหนึ่งของคนอเมริกัน คือ ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) นายกเทศมนตรีตลอดกาลของมหานครนิวยอร์ก เขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ถึง 3 สมัย รวมระยะเวลากว่า 12 ปี สื่อมวลชนคาดการณ์ว่าเขาจะลงสมัครประธานาธิบดีหลายครั้งแล้ว แต่ในการเลือกตั้งรอบนี้ เขาหนุนฮิลลารีเต็มกำลัง ด้วยการโจมตีว่าการเลือกทรัมป์จะเป็นเหมือนภัยพิบัติครั้งใหญ่ของชาติ

“นโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์จะเป็นเหมือนภัยพิบัติในกระบวนการปฏิบัติ เขาจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจเล็กๆ สร้างอันตรายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของเรา คุกคามเงินเก็บออมหลังเกษียณของคนอเมริกันหลายล้านคน นำไปสู่หนี้เสียก้อนโตเกินประมาณ และทำให้การจ้างงานลดตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทั้งยังทำลายและบ่อนเซาะอิทธิพลของชาติเราที่มีต่อโลกใบนี้ และทำให้ชุมชนของเราปลอดภัยน้อยลง…

“ทรัมป์คือตัวเลือกที่เสี่ยง สะเพร่า สุดโต่ง และเราไม่สามารถเลือกตัวเลือกนั้นได้”

 

8. ฮิลลารี คลินตัน: ชูไพ่ ​‘จินตนาการถึงทรัมป์…’

ในบรรดาสุนทรพจน์จำนวนมากของฮิลลารีที่ส่งออกมาโจมตีทรัมป์ สื่อมวลชนยกย่องกันว่า สุนทรพจน์ว่าด้วยความมั่นคง ที่ร่างโดยอดีตแชมป์โต้วาทีเก่าอย่าง เจก ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของฮิลลารี คือสุนทรพจน์ที่โจมตีทรัมป์ได้อย่างเจ็บแสบที่สุด

“ได้โปรดจินตนาการถึงภาพทรัมป์นั่งในห้องสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วถืออำนาจในการตัดสินใจอันเกี่ยวเนื่องความเป็นความตายของชีวิตในนามชาติของเรา ได้โปรดจินตนาการถึงภาพทรัมป์ส่งสามีของคุณ หรือลูกของคุณสู่สนามรบ ได้โปรดจินตนาการว่า เขาไม่เพียงใช้ทวิตเตอร์ด่ากราดเพื่อกำจัดคนที่เห็นต่าง แต่เมื่อเขารู้สึกโกรธ สิ่งนี้จะเป็นคลังแสงทั้งหมดของอเมริกาที่เขาจะใช้… คุณจะยอมให้นิ้วของเขาอยู่ใกล้ปุ่มกดระเบิดนิวเคลียร์อย่างนั้นหรือ?”

ทั้งหมดนี้คือวิธีในการสร้างปีศาจทางการเมืองผ่านการเขียนบทสุนทรพจน์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปีศาจตนนี้จะยิ่งทรงพลังมากขึ้นทุกวัน แทนที่จะอ่อนแรงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์

ทำให้ชวนนึกถึงคำถามหนึ่งของเด็กธรรมศาสตร์ในวิชา TU101 เมื่อไม่นานมานี้ ที่ลุกขึ้นถาม ‘ปลื้ม-หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล’ ว่า

“ยังมีความจำเป็นอยู่ไหมที่นักการเมืองคนหนึ่ง ถ้าอยากชนะการเลือกตั้งต้องทำให้ตัวเองมีภาพลักษณ์ดูดี ไร้รอยเสื่อมเสียต่อหน้าสาธารณะชน?”

คุณปลื้มตอบทันควันว่า “หมดยุคนั้นแล้ว ดูโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวอย่างสิ”

คำตอบแบบนี้ ชวนคิดไปด้วยว่าวิธีการเขียนบทสุนทรพจน์แบบที่ไล่เรียงมา ทั้งหมดนี้ยังใช้แล้วมีพลังทางการเมืองอยู่อีกหรือไม่?วันเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คงพอตอบคำถามนี้ได้!

 

FACT BOX:

  • Hamilton the Musical ละครเพลงบรอดเวย์ฮิปฮอปที่พูดถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติของอเมริกา
Tags: , , ,