หลังจากร่วมลุ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากันมาหลายเดือน วันนี้เมื่อผลการเลือกตั้งยืนยันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ลงสมัครจากพรรครีพับลิกันคว้าชัยชนะ และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ก็ได้สร้างความรู้สึกหลากหลายให้กับคนอเมริกันและคนทั่วโลกที่เฝ้ารอผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งแปลกใจ กังวล และสมหวัง ปะปนกันไป เนื่องจากคืนก่อนวันเลือกตั้ง โพลทุกสำนักต่างคาดการณ์ว่า ฮิลลารี คลินตัน ผู้ลงสมัครจากพรรคเดโมแครตจะกวาดชัยชนะไปได้ จนหลายฝ่ายค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าชาวอเมริกันจะได้ผู้หญิงเป็นผู้นำประเทศเป็นครั้งแรก แต่ในวันนี้… ชัดเจนแล้วว่าผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามโพลสำรวจ แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะไปได้ในโค้งสุดท้าย?

Photo: Joshua Roberts, Reuters/profile

โพลสำรวจไม่แม่นยำ หรือทรัมป์มาวินในโค้งสุดท้าย?

หากยึดตามสำนักข่าว CNN การเลือกตั้งครั้งนี้มี ‘รัฐสนามรบ’ (Battleground States) 6 รัฐ ได้แก่ แอริโซนา ฟลอริดา เนแบรสกา นิวแฮมป์เชียร์ เนวาดา และนอร์ทแคโรไลนา โดยทรัมป์สามารถคว้าชัยชนะไปได้ในรัฐสนามรบสำคัญถึง 5 รัฐ ยกเว้นเพียงแค่รัฐเนวาดาเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้ทรัมป์สามารถเอาชนะฮิลลารีได้ในท้ายที่สุด ซึ่งผิดจากการคาดการณ์ของโพลสำรวจหลายสำนัก ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าโพลสำรวจนั้นไม่แม่นยำ หรือมีปัจจัยสำคัญอะไรที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจเลือกทรัมป์ในช่วงสุดท้าย The Momentum ได้สัมภาษณ์ อาจารย์อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเลือกตั้ง ถึงข้อสงสัยที่คาใจของหลายๆ คน ซึ่งอาจารย์อรรถสิทธิ์ได้อธิบายกับเราว่า “โพลสำรวจที่พากันออกมาคาดการณ์ว่า ฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนำ ไม่ได้หมายความว่าเธอจะชนะ เพราะคะแนนไม่ได้นำขาด และปกติแล้วทุกโพลสำรวจจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่ประมาณ 3-5% ดังนั้นการที่ผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจ”

นอกจากเราจะยึดตามโพลสำรวจไม่ได้ 100% แล้ว อาจารย์อรรถสิทธิ์ยังชี้ให้เห็นว่า ‘ข้อความ’ ของทรัมป์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชัดเจน “ถ้ามองจากมุมคนรณรงค์หาเสียง ทรัมป์สามารถสร้างเมสเสจหรือข้อความได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้หาเสียงกับทุกคน เราหาเสียงกับคนที่จะทำให้เราชนะ ซึ่งทรัมป์สามารถสร้างข้อความที่ตรงใจอย่าง ‘Make America Great Again’ (ทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง) ที่ทำให้กลุ่มคนที่เบื่อผู้นำสไตล์อ่อนโยนอย่าง บารัก โอบามา หันมาเลือกทรัมป์ที่มีบุคลิกดุดันกว่า”

การสร้างข้อความที่โดนใจ เลือกกลุ่มเป้าหมายได้ตรง มาในจังหวะพร้อมกันกับที่พรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 2 สมัย ซึ่งอาจารย์อรรถสิทธิ์อธิบายว่า เมื่อพรรคใดพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งไปแล้ว 2 สมัย เมื่อถึงสมัยที่สามคนมักจะโหยหาความเปลี่ยนแปลง ซึ่งครั้งนี้พรรครีพับลิกันก็ตอบโจทย์คนอเมริกันกลุ่ม Working Class ที่กำลังเผชิญกับภาวะการแย่งงานจากคนต่างชาติ เศรษฐกิจประเทศที่ถดถอย จนโหยหาผู้นำที่หันกลับมาหวงแหนผลประโยชน์ของคนในชาติมากกว่าทำให้สหรัฐฯ เป็นดินแดนของทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของ Exit Poll  ที่ชี้ว่า ชายและหญิงผิวขาวเกินครึ่งเลือกทรัมป์

Photo: Reuters Staff, Reuters/profile

Change ที่ไม่ใช่ Obama Change

คืนก่อนวันเลือกตั้ง ทรัมป์ได้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายที่รัฐมิชิแกน ฐานเสียงของฮิลลารี และได้ย้ำกับชาวมิชิแกนว่า “We are going to have real change, not Obama change” ซึ่งสุดท้ายทรัมป์ก็สามารถชนะในรัฐที่เป็นฐานเสียงของฮิลลารีได้

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ใครในสหรัฐฯ ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เคยเป็นข้อความหาเสียงของโอบามา?

ผลสำรวจสะท้อนว่า ทรัมป์สามารถชนะใจคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่ามหาวิทยาลัย คนที่อาศัยอยู่นอกเมืองและชนบท โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เนื่องจากคนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้งในสมัยของโอบามา ซึ่งกลายเป็นคะแนนเสียงมหาศาลที่ทำให้ทรัมป์คว้าชัยชนะเหนือฮิลลารี ที่มีกลุ่มสนับสนุนหลักเป็นคนเชื้อชาติละติน หรือเอเชียในสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งครั้งนี้เธอจะกวาดชัยชนะได้มากขึ้นในกลุ่มคนผิวขาวที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอกับเสียงสนับสนุนมหาศาลของทรัมป์ที่ต้องการนโยบายที่เปลี่ยนไปจากสมัยของโอบามา สอดคล้องกับผู้สื่อข่าวการเมืองของ CNN ที่ให้ความเห็นว่า ข้อความ ‘Real Change’ ของทรัมป์ ทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้พลิกความคาดหมาย และทำให้สุนทรพจน์ที่ทรัมป์เคยพูดไว้ว่า เขาจะทำให้ทุกคนในชาติตกตะลึง และสุดท้ายเขาก็ทำสำเร็จได้ตามที่ออกตัวไว้

จริงอยู่ว่าข้อความระหว่างหาเสียงเป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้ชะตาผลการเลือกตั้ง

แต่สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจที่ถดถอย ปัญหาการแย่งงานจากการอพยพย้ายที่อยู่อาศัย สงครามระหว่างเชื้อชาติและศาสนาเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระแสชาตินิยมกลับมาอีกครั้ง และสะท้อนออกมาในผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้