ทีมแคมเปญหาเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน ประกาศเมื่อวานนี้ว่า สำหรับกิจกรรมสุดท้ายของแคมเปญจะจัดขึ้นในค่ำวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ หรือในคืนประกาศผลการเลือกตั้ง จะจัดขึ้นที่ Javits Center ในแมนแฮตตัน มหานครนิวยอร์ก

อาคารดังกล่าวเป็นกระจกทั้งหลัง ทั้งหมดนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสุนทรพจน์ที่จะกล่าวในค่ำคืนนั้นของฮิลลารี

ไม่ว่าเธอจะได้รับชัยชนะหรือเผชิญกับความพ่ายแพ้ก็ตาม

Photo: Brian Snyder, Reuters/profile

วลี A Glass Ceiling กับการต่อสู้ของผู้หญิงในอเมริกา

A Glass Ceiling หรือเพดานกระจก คือวลีสำหรับเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นถึงกำแพงหรือเพดานที่กีดกันความก้าวหน้าของผู้หญิง หรืออุปสรรคที่มองไม่เห็นที่ทำให้ผู้หญิงยังไม่สามารถก้าวไปสู่จุดสูงสุดในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกับเพศชาย

วลีนี้มักใช้เพื่อแสดงถึงการต่อสู้ของผู้หญิง และคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเป็นหลัก อาจกล่าวต่อไปได้ว่า ในทางการเมือง ‘ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ’ ถือเป็นเพดานกระจกที่สูงที่สุดในทางการเมืองที่ไม่เคยมีผู้หญิงคนใดเดินไปถึงมาก่อน หรือทำลายเพดานกระจกนั้นให้แตกละเอียดลงไปได้ เห็นได้จาก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 44 คนก่อนหน้านี้ที่เป็นผู้ชายทั้งหมด โดย 43 คนเป็นชายผิวขาว และ 1 คนเป็นชายผิวสี

นี่เป็นที่มาให้ทีมหาเสียงของฮิลลารีเลือกอาคารดังกล่าวสำหรับแสดงสุนทรพจน์ เพื่อประกาศชัยชนะหรือตอบรับความพ่ายแพ้ในทางการเมือง

และเมื่อย้อนดูสุนทรพจน์ของฮิลลารีก่อนหน้านี้ก็จะพบว่า เธอพยายามอย่างมากที่จะทำให้วลีว่าด้วย ‘เพดานกระจก’ และ การชูไพ่ ‘ประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรก’ กลายเป็นหนึ่งใน ‘สาร’ หลักของการหาเสียงนับตั้งแต่เธอลงเลือกตั้งในปี 2008

เพราะวลีดังกล่าวช่วยให้ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของเธอไม่ใช่เพียงของเธอคนเดียว แต่เป็นชัยชนะและความพ่ายแพ้ร่วมกันของ ‘ผู้หญิงทุกคน’

Photo: Brian Snyder, Reuters/profile

สุนทรพจน์ 3 ชิ้น ชูไพ่ ‘ผู้หญิงที่ทำลายเพดานกระจก’

สุนทรพจน์ชิ้นแรก: ในปี 2008 เธอกล่าวสุนทรพจน์หลังพ่ายแพ้ต่อโอบามา ด้วยประโยคที่ว่า

“ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถทำลายเพดานกระจกที่สูงที่สุด ที่ยากที่สุด ในทางการเมืองได้ในเวลานี้ ขอบคุณทุกคน อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นรอยร้าวของกระจกถึง 18 ล้านร้อยร้าวแล้ว (18 ล้านเสียงคือ คะแนนเสียงที่เธอได้รับในการเลือกตั้งขั้นต้นปี 2008) และก็เริ่มมีแสงส่องผ่านมาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้ช่วยเติมเต็มความหวังและความมั่นใจให้กับพวกเราว่า เส้นทางนี้จะง่ายขึ้นในครั้งต่อไป”

***ซาราห์ เฮอร์วิตซ์ (Sarah Hurwitz) ผู้เขียนสุนทรพจน์ชิ้นนี้ ถูกจ้างให้มาเป็นผู้เขียนบทสุนทรพจน์ของ มิเชล โอบามา จนถึงปัจจุบัน

สุนทรพจน์ชิ้นที่สอง: 13 มิถุนายน 2015 ในงานเปิดตัวแคมเปญหาเสียงสำหรับลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 ทีมหาเสียงตัดสินใจจัดงานขึ้นที่สวนสาธารณะ Roosevelt Gardens ในงานดังกล่าว ฮิลลารีเริ่มต้นบทสุนทรพจน์ด้วยการเชื่อมกับวลี ‘เพดานกระจก’ อีกครั้ง ด้วยการบอกว่า

“และสำหรับสถานที่ที่เรามาพบกันในวันนี้ …แน่นอนว่า มันไม่มีเพดานใดกั้นขวางเราอยู่”

เธอยังย้ำในช่วงท้ายของสุนทรพจน์ด้วยว่า “ฉันอาจจะไม่ได้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในการแข่งขันปีนี้ แต่ฉันจะเป็นประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา รวมถึงเป็นประธานาธิบดีที่เป็นคุณย่าแล้วคนแรกด้วย”

หรืออีกท่อนที่พยายามเชื่อมโยงตัวเองในฐานะผู้หญิงที่เป็นหมุดหมายสำคัญในทางการเมือง เช่น “นี่คือชาติของเรา ชาติที่ซึ่งผู้เป็นพ่อสามารถบอกกับลูกสาวของเขาได้ว่า ใช่แล้ว คุณสามารถเป็นทุกอย่างที่คุณอยากจะเป็นได้ แม้กระทั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

สุนทรพจน์ชิ้นที่สาม: 26 กรกฎาคม 2016 ในที่ประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต หลังได้รับทราบผลอย่างเป็นทางการว่า ฮิลลารีได้เป็นตัวแทนของพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอส่งคลิปถ่ายทอดสดจากนิวยอร์กมาในที่ประชุมพรรค เพื่อแสดงการตอบรับเป็นตัวแทนพรรคอย่างไม่เป็นทางการ คลิปดังกล่าวไล่เรียงภาพถ่ายประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ชาย 44 คนก่อนหน้า ก่อนจบด้วยเสียงกระจกแตก และตัดภาพกลับมาเป็นการปรากฏกายของฮิลลารีในชุดสีแดงเพลิง และเธอได้กล่าวสุนทรพจน์ในค่ำคืนประวัติศาสตร์ว่า

“ฉันไม่อยากจะเชื่อจริงๆ ว่า เราได้ทำลายเพดานกระจกที่สูงที่สุดในทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณทุกคนที่ทำให้เรื่องยากที่สุดกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ มันคือชัยชนะของพวกคุณ และค่ำคืนนี้ก็เป็นของพวกคุณ และถ้ามีเด็กผู้หญิงคนไหนที่กำลังชมคลิปนี้อยู่ ขอให้ฉันพูดอะไรสักนิด

“ฉันอาจจะได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ แต่หนึ่งในพวกคุณคือประธานาธิบดีคนถัดไป”

Photo: Brian Snyder, Reuters/profile

พลังการเขียนสุนทรพจน์ ฮิลลารี = ตัวแทนผู้หญิงอเมริกัน

สุนทรพจน์ทั้ง 3 ชิ้น ตั้งแต่สุนทรพจน์ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในปี 2008 สุนทรพจน์ประกาศเริ่มต้นแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2015 และสุนทรพจน์ตอบรับเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 2016 บอกกับเราว่า ไม่ว่าในค่ำคืนวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ฮิลลารีจะชนะหรือพ่ายแพ้ (อีกรอบ) การเลือกสถานที่ซึ่งเป็นอาคารกระจกทั้งหลังมีนัยสำคัญทั้งสิ้น เพราะถ้าแพ้เลือกตั้ง เธอก็คงจะสื่อสารกับคนอเมริกันว่า

“เรายังทำลายอุปสรรคที่กีดขวางผู้หญิงไม่สำเร็จ แต่เราจะพยายามทำกันต่อไป”

แต่ถ้าชนะ เธอก็คงจะบอกว่า “เราได้ทำลาย A Glass Ceiling หมดสิ้นแล้ว ในวันนี้ผู้หญิงสามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดในทางการเมืองได้สำเร็จแล้ว”

นัยสำคัญไปกว่านั้น คือสุนทรพจน์ชิ้นนี้ไม่เพียงผูกติดกับตัวฮิลลารีเท่านั้น กล่าวคือ ทีมหาเสียงของเธอได้พยายามอย่างมากเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนนั้น ไม่ใช่เพียงชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฮิลลารี แต่ถือเป็นชัยชนะและความพ่ายแพ้ร่วมกันของผู้หญิงที่ไม่สามารถเดินไปสู่จุดสูงสุดในทางการเมืองได้

วิธีการเขียนบทสุนทรพจน์ในรูปแบบนี้ คือหนึ่งในหลักการสำคัญที่นักเขียนบทสุนทรพจน์หลายคนพยายามทำให้ได้ ไปให้ถึง กล่าวคือ พยายามที่จะใช้พลังของการเล่าเรื่อง ขยายเรื่องเล่า จากเรื่องเล็กๆ ของคนคนเดียวไปสู่เรื่องที่ใหญ่โตกว่านั้น โดยที่เรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก หรือเป็นจุดร่วมที่คนจำนวนมากเห็นตรงกัน

ซึ่งในกรณีของฮิลลารี เธอได้พยายามถือไพ่ ‘ประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา’ และ ‘ชัยชนะของฉันคือชัยชนะร่วมกันของผู้หญิงทุกคน’ มาโดยตลอด

Photo: Brian Snyder, Reuters/profile

เอา ‘ความเป็นผู้หญิง’ มาหากินในทางการเมือง!?

อีกด้านหนึ่ง เสียงวิจารณ์หลั่งไหลมาไม่น้อยทีเดียวสำหรับการหาเสียงด้วยการชูไพ่ความเป็นผู้หญิงเช่นนี้ เหมือนที่ทรัมป์โจมตีฮิลลารีมาตลอดว่า “เอาแต่ชูไพ่ความเป็นผู้หญิง เอาแต่ชอบใช้ความเป็นผู้หญิงมาหาเสียง”

จนฝั่งฮิลลารีตอบโต้ว่า “ทรัมป์ชอบโจมตีแคมเปญของฉันว่า ชอบใช้ความเป็นผู้หญิงมาหาเสียงกับพวกคุณ เอาแบบนี้แล้วกัน ถ้าการสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประกันสุขภาพที่ดีสำหรับผู้หญิง ถ้าการสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสวัสดิการสำหรับผู้หญิงที่ลางานไปคลอดลูก ถ้าการสู้เพื่อให้ผู้หญิงมีรายได้ในงานต่างๆ ทัดเทียมกับผู้ชาย เท่ากับเป็นการใช้ความเป็นผู้หญิงมาหาเสียงในทางการเมือง …ถ้าเป็นเช่นนั้น Deal me in”

Photo: Carlos Barria, Reuters/profile

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ดูเหมือนการชูไพ่ความเป็นผู้หญิงเข้ามาหาเสียงในทางการเมือง ยิ่งทำให้ฮิลลารีมีสถานะเป็นต่อทรัมป์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากคลิปเสียงละเมิดทางเพศผู้หญิงของทรัมป์หลุดออกมานั่นเอง จนนักวิเคราะห์บางรายบอกว่า ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ฮิลลารีจะใช้ความเป็นผู้หญิงมาหาเสียง แล้วมีพลังในทางการเมืองมากเท่ากับช่วงเวลานี้ เมื่อผสมกับสุนทรพจน์โจมตีทรัมป์จาก มิเชล โอบามา ก็ยิ่งทำให้ทรัมป์เสื่อมมนต์ในทางการเมือง

นอกจากนี้ นักวิชาการ และนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อย ยังได้ออกมาตั้งข้อสังเกตกับสุนทรพจน์และวิธีการนำเสนอภาพลักษณ์ของฮิลลารีทำนองว่า

“มันไม่น่าจะใช่ชัยชนะของผู้หญิงทุกคนที่สามารถทำลายอุปสรรคได้หมดแล้วนะ เพราะมันเป็นแค่ชัยชนะของผู้หญิงผิวขาว ชนชั้นกลาง ผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำแบบฮิลลารีไงล่ะ”

และ

“ถึงฮิลลารีจะได้เป็นประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิงคนแรก แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะส่งผลอะไรกับการขจัดอุปสรรคที่กีดขวางผู้หญิงให้หมดไปได้”

หรือ

“เวลาที่บิลล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง ก็ไม่เห็นฮิลลารีออกมาปกป้องผู้หญิงนะ เห็นแต่เข้าข้างบิล แล้วจะบอกว่าเธอจะเป็นประธานาธิบดีที่จะสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงได้อย่างไร”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกใช้อาคารกระจกทั้งหลังเป็นสถานที่ประกาศชัยชนะหรือตอบรับความพ่ายแพ้ในค่ำวันที่ 8 พ.ย. มีจุดมุ่งหมายสำคัญในทางการเมืองเพื่อให้ฮิลลารีสามารถเชื่อมโยงชัยชนะและความพ่ายแพ้ของตัวเองเข้ากับผู้หญิงทั้งประเทศ ทั้งยังปักหมุดหมายในฐานะผู้หญิงที่สามารถทำลาย A Glass Ceiling หรือ ‘เพดานกระจก’ ที่สูงที่สุดในทางการเมืองลงไปได้

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง ‘สาร’ ทางการเมืองชุดนี้ ยังคงเป็นคำถามอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะข้อวิพากษ์ที่ว่า

“มันไม่น่าใช่ชัยชนะร่วมกันของผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้?”