Photo: Mike Segar, Reuters/profile

กลางเดือนตุลาคม เกิดกระแสข่าวทีมงานสำหรับการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดีของฮิลลารี (Hillary Clinton’s Transition Team) ได้ทำการเสนอชื่อรองประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลฮิลลารี

ด้านไบเดน ออกโรงปฏิเสธทันทีว่า

“ผมจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือฮิลลารี ถ้าเธอได้รับชัยชนะ แต่ผมไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในแวดวงของการบริหารรัฐใดๆ แล้ว”

สำหรับทีมงานเพื่อการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดีของผู้สมัครทั้งสองคน ได้รับการประกาศแต่งตั้งมาล่วงหน้าแล้วอย่างน้อยราว 6 เดือน ก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประธานาธิบดีคนใหม่สามารถบริหารประเทศได้ทันทีที่ขึ้นสู่อำนาจ

ทำความรู้จัก White House Transition

งานศึกษาของ ‘มาร์ธา จอยนต์ คูมาร์’ (Martha Joynt Kumar) อาจารย์วิชารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเทาว์สัน รัฐแมริแลนด์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาบันประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือหลายเล่ม เช่น Managing the President’s Message: The White House Communications Operation, White House World: Transitions, Organization, and Office Operations และ Portraying the President: The White House and the News Media รวมถึงมีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโครงการถ่ายโอนอำนาจในทำเนียบขาว (White House Transition Project) ชี้ว่า ประเพณีของการเตรียมการเพื่อถ่ายโอนอำนาจระหว่างประธานาธิบดี เริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1952 ซึ่งประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นตำแหน่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลฝ่ายบริหาร เพื่อส่งมอบให้ผู้สืบทอดตำแหน่ง และการถ่ายโอนอำนาจก็มักเริ่มต้นก่อนการเลือกตั้งเสมอ

เพราะภายในระยะเวลาประมาณ 75 วัน ระหว่างการได้รับเลือกและเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (จัดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2560) ประธานาธิบดีคนใหม่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคลากรสำหรับทำเนียบขาว และรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวงต่างๆ

ในการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีหนึ่งหน ด้วยความที่มีกระทรวงมากถึง 15 กระทรวง (15 Executive Departments) และตำแหน่งงานประมาณ 7,000 ตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งที่ต้องผ่านการรับรองของวุฒิสมาชิกอีกกว่า 1,200 ตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนใหม่ รวมถึงทีมงานที่คอยช่วยเหลือ จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับงานเหล่านี้ วิธีการทำงานของแต่ละกระทรวง สถานภาพของนโยบาย ไปจนถึงต้องได้รับข้อมูลซึ่งจำเป็นต่อการใช้ตัดสินใจในฐานะประธานาธิบดี

จอห์น โปเดสตา (อดีตหัวหน้าสำนักงานทำเนียบขาวในยุคประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแคมเปญหาเสียงของฮิลลารี) ซึ่งถูกโอบามาดึงตัวมาเป็นผู้อำนวยการทีมงานของสำนักงานเพื่อการถ่ายโอนอำนาจของประธานาธิบดีในปี 2008 พูดถึงหน้าที่ของทีมงานดังกล่าวว่า มีหน้าที่ในการจัดหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเข้าใจได้ง่ายให้กับคณะผู้บริหารชุดใหม่ เช่น

“คุณอาจจะยกตัวอย่างโครงการหนึ่ง หน่วยงานรับผิดชอบ งบประมาณ แล้วบอกว่าความท้าทายคุณอยู่ตรงนี้ คุณจะเดินหน้าต่อไป และทำตามสัญญาที่โอบามาให้ไว้ ทั้งในช่วงหาเสียง ช่วงรอรับตำแหน่ง และช่วงแรกของการทำงานได้อย่างไร”

นอกจากนี้ ปฏิบัติการเพื่อการถ่ายโอนอำนาจ ยังรวมไปถึงการฝึกอบรมเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ในบริเวณทำเนียบขาวให้กับประธานาธิบดีคนใหม่อีกด้วย

Photo: Reuters Photographer, Reuters/profile

การถ่ายโอนอำนาจระหว่าง ประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ และผู้ว่าการรัฐ บิล คลินตัน (1992-1993)

อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน เขียนเล่าไว้ในบทที่ 29 ของหนังสือ My Life ที่เขาเขียนหลังลงจากอำนาจว่า หลังได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เขามีภารกิจต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การคัดเลือกคณะรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว ร่วมประชุมกับทีมงานระดับสูง และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลบุชในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ เริ่มทำความรู้จักกับผู้นำต่างประเทศ ไปจนถึงทำความรู้จักกับผู้นำในรัฐสภาและวุฒิสภา พร้อมทั้งเตรียมการผลักดันนโยบายที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน

บิล คลินตัน อธิบายถึงความสำคัญของทีมงานเพื่อการถ่ายโอนอำนาจว่า

“อันที่จริงแล้ว เราได้เตรียมการแผนการถ่ายโอนอำนาจอย่างเงียบๆ มาตั้งแต่หลายสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมี เจอรัลด์ สเติร์น รองประธานบริษัท อ็อกซิเดนทัลปิโตรเลียม มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการ”

การดำเนินงานของทีมดังกล่าวนั้นจะต้องพยายามอย่างมากเพื่อ “ไม่ทำให้ดูเหมือนว่าเราชนะการเลือกตั้งอยู่แล้ว เราจึงเตรียมงานกันอย่างเงียบๆ ภายในสำนักงานชั้นที่ 13 ของอาคารธนาคารวอร์เทิร์น ในเมืองลิตเติลร็อก โดยไม่มีการปิดป้ายหน้าห้อง และไม่แจ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ในสมุดโทรศัพท์”

เมื่อบิลได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี ในวันต่อมาเขาพบกับทีมถ่ายโอนอำนาจที่ตัวเองได้เตรียมการไว้ทันที

“บ่ายวันพุธ ผมได้พบกับคณะกรรมการถ่ายโอนอำนาจและได้เอกสารโครงสร้างชุดแรก”

และในวันที่สามหลังเลือกตั้งเขาก็ได้ประกาศแต่งตั้งทีมงานชุดดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อประสานงานระหว่างทีมงานของ ‘ว่าที่ประธานาธิบดี’ (ในสหรัฐฯ เรียกว่า President-Elect) และทำเนียบขาว ดังที่พบว่า

“ถึงวันศุกร์ ผมได้แต่งตั้ง เวอร์นอน จอร์แดน เป็นประธาน และวอร์เรน คริสโตเฟอร์ เป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการถ่ายโอนอำนาจ ซึ่งทางทำเนียบขาวและที่ลิตเติลร็อกก็ออกมาขานรับเป็นอย่างดี เพราะทั้งคู่เป็นที่ยอมรับนับถือจากทีมหาเสียงของเรา”

ทีมงานเพื่อการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดีชุดนี้เจองานหนักขนาดไหนน่ะหรือ ประโยคต่อไปนี้อาจพอตอบคำถามได้เป็นอย่างดี

“ในสัปดาห์ที่สองของการถ่ายโอนอำนาจ มีคนให้ความสนใจส่งประวัติเข้ามาสมัครมากกว่า 3,000 คนต่อวัน และโทรศัพท์อีกหลายร้อยสายต่อวัน ผู้ที่โทรเข้ามาฝากข้อความไว้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสภาคองเกรสและผู้ว่าการมลรัฐ นอกจากนี้ยังมีคนที่ให้ความช่วยเหลือในการหาเสียงจำนวนมากที่อยากจะเข้ามาทำงานกับเรา”

Photo: Jason Reed, Reuters/profile

การถ่ายโอนอำนาจระหว่าง ประธานาธิบดีบุช และวุฒิสมาชิกโอบามา (2008-2009)

มาร์ธา จอยนต์ คูมาร์ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการถ่ายโอนอำนาจในทำเนียบขาว ยังเสนออีกว่า การถ่ายโอนอำนาจระหว่างประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และนายบารัก โอบามา ถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดีที่ราบรื่นและประสบความสำเร็จครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การถ่ายโอนอำนาจของสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ถือเป็นประธานาธิบดีที่เริ่มต้นการถ่ายโอนอำนาจล่วงหน้าถึง 1 ปี ซึ่งต่างจากประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่มักเริ่มต้นการถ่ายโอนอำนาจในช่วงไม่กี่เดือนก่อนพ้นตำแหน่ง โดยคำสั่งการของบุชในประเด็นดังกล่าว ได้นำไปสู่การรวบรวมข้อมูล และการประมวลข้อมูลที่สำคัญอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานสำคัญต่างๆ ในรัฐบาลต่างได้ร่วมกันจัดลำดับความสำคัญของงาน และรูปแบบการทำงานของหน่วยต่างๆ เพื่อให้ประธานาธิบดีคนใหม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง ผลของความพยายามที่จะให้การเปลี่ยนผ่านดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้รัฐบาลบุชได้มีโอกาสสื่อสารกับบรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 หลังการเลือกตั้งขั้นต้นจบลงในทันที ซึ่งทำให้ทีมงานของผู้สมัครชิงตำแหน่งแต่ละคนได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งทีมงานเพื่อการถ่ายโอนอำนาจ ก่อนหน้าวันเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นเวลานาน

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การถ่ายโอนอำนาจระหว่างบุชและโอบามาเป็นไปอย่างราบรื่น คือโอบามาได้ดึงตัว จอห์น โปเดสตา มานั่งตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานเพื่อการถ่ายโอนอำนาจ ทั้งนี้ก็เพราะโปเดสตาถือเป็นผู้ที่รู้จักการทำงานในสถาบันประธานาธิบดีเป็นอย่างดีในฝ่ายพรรคเดโมแครต เพราะเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานทำเนียบขาวในรัฐบาล บิล คลินตัน มาก่อน ปัจจุบันโปเดสตานั่งตำแหน่งประธานกรรมการแคมเปญหาเสียงของฮิลลารี

ในแง่นี้จึงประเมินได้ว่า หากฮิลลารีได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี การเปลี่ยนผ่านอำนาจระหว่างฮิลลารีและโอบามาจึงน่าจะเกิดความราบรื่นอย่างมาก เพราะได้ทีมงานที่มีความใกล้ชิดกันและมีประสบการณ์สูงเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างการเตรียมการเพื่อถ่ายโอนอำนาจที่ถูกหยิบยกมาวิจารณ์รุนแรงขณะนี้คือ ล่าสุดวิกิลีกส์ได้แฮ็กอีเมลของโปเดสตาในปี 2008 ออกมา ซึ่งพบว่า ขณะที่ผลการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน ยังไม่ออก แต่ Citigroup หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวอลล์สตรีทได้ส่งอีเมลถึงโปเดสตา โดยไล่เรียงรายชื่อบุคคล (list) ที่เหมาะสมจะเป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลโอบามา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม หรือราว 1 เดือนก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะออกมา และหลายรายชื่อในอีเมลที่หลุดออกมาก็ได้กลายเป็นรัฐมนตรีจริงๆ ด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหมือนการแฉไปด้วยว่า

อำนาจที่อยู่เบื้องหลังระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของอเมริกาคือ นายทุน!!’

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดีเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งหลายเดือน ก็เพราะรัฐบาลบุชได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมาธิการแห่งชาติว่าด้วยการโจมตีของผู้ก่อการร้ายต่อสหรัฐฯ ให้ปรับปรุงระบบตรวจสอบประวัติของบุคลากรเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ โดยรวบรวมและจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามความมั่นคง เพื่อที่รัฐบาลชุดใหม่จะได้รับมือกับวิกฤติดังกล่าวได้ทันท่วงที

ในแง่นี้ รัฐบาลบุชจึงได้อำนวยความสะดวกให้กับประธานาธิบดีคนใหม่ ด้วยการเปิดให้มีการตรวจสอบประวัติบุคลากรในตำแหน่งระดับสูง เพื่อให้กระบวนการเสนอชื่อบุคลากรในฝ่ายบริหารดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว

นอกจากนั้น ยังได้จัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ในบริเวณทำเนียบขาวให้กับประธานาธิบดีโอบามา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2009 หรือหนึ่งสัปดาห์ก่อนร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งด้วย

Photo: Jason Reed, Reuters/profile

การถ่ายโอนอำนาจระหว่าง ประธานาธิบดีโอบามา และ ทรัมป์-ฮิลลารี ในปี 2016

ทรัมป์ชิงประกาศรายชื่อผู้ที่จะมารับหน้าที่ในการถ่ายโอนอำนาจตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม หรือก่อนการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันจะเริ่มขึ้น โดยเขาได้เลือก คริส คริสตี (Chris Christie) ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ เข้ามานั่งตำแหน่งประธานกรรมการ เพื่อการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดี

คริสตีถือเป็นตัวละครสำคัญในแคมเปญหาเสียงของทรัมป์มาอย่างยาวนานในฐานะตัวเชื่อมระหว่างทรัมป์กับบรรดาผู้นำพรรครีพับลิกัน

โดยที่ก่อนหน้านั้น สื่อมวลชนวิเคราะห์กันว่า ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้น่าจะเป็น จาเรด คัชเนอร์ (Jared Kushner, ลูกเขยของทรัมป์/สามีของอิวานกา) มากกว่า เพราะเขาได้มอบหมายให้ลูกเขยช่วยเตรียมการสำหรับการถ่ายโอนอำนาจ

อย่างไรก็ตาม คัชเนอร์อาจจะไม่เหมาะสมในตำแหน่งนี้ เพราะขาดประสบการณ์ในทางการเมือง จึงทำให้ต้องเปลี่ยนผู้มารับตำแหน่ง

ฝั่งฮิลลารีได้ประกาศจัดตั้งทีมงานเพื่อการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดีในราวเดือนสิงหาคม โดยฮิลลารีได้ดึงตัว เคน ซาลาซาร์ (Ken Salazar) อดีตรัฐมนตรี และวุฒิสมาชิกรัฐโคโลราโดเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการเพื่อการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดี โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ฮิลลารีสามารถสร้างทีมสำหรับบริหารประเทศได้ทันทีเมื่อขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง โดยทีมดังกล่าวแยกเป็นเอกเทศจากแคมเปญหาเสียงที่บรูกลิน อีกทั้งยังมีสมาชิกคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ในทางการเมืองและเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ทอม โดนิลอน (Tom Donilon, อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในรัฐบาลโอบามา) เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม (Jennifer Granholm, อดีตผู้ว่าการรัฐมิชิแกน) นีรา แทนเดน (Neera Tanden, The President of the Center for American Progress) และ แม็กกี วิลเลียมส์ (Maggie Williams, The Director of Harvard’s Institute of Politics)

ในขณะที่ต้นเดือนสิงหาคม ทำเนียบขาวยังได้เตรียมการเพื่อจัดการบรรยายสรุปเกี่ยวสถานภาพนโยบายด้านความมั่นคง และข้อมูลลับที่มีความจำเป็นต่อการใช้ตัดสินใจของประธานาธิบดีแก่ทีมงานทรัมป์และฮิลลารีด้วย โดยโฆษกทำเนียบขาวยังย้ำว่า ปฏิบัติการเพื่อการถ่ายโอนอำนาจที่เกิดขึ้นถือเป็นทั้งกฎหมายและประเพณีที่มีไว้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจระหว่างประธานาธิบดีเป็นไปอย่างราบรื่น

ก่อนจะถึงวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม สำหรับการถ่ายโอนอำนาจ ถือเป็นกระบวนการที่ประธานาธิบดีโอบามาได้เซ็นผ่านกฎหมายเมื่อต้นปี ในกระบวนการนี้บังคับให้ทำเนียบขาวต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้สมัครที่ได้กลายเป็นตัวแทนพรรคแล้ว เช่น บรรยายสรุปให้เห็นข้อมูลลับที่มีความจำเป็นต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดี การสนับสนุนในเชิงงบประมาณ รวมถึงสถานที่ให้กับทีมงานถ่ายโอนอำนาจของผู้สมัครแต่ละคน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านดำเนินไปอย่างราบรื่น

หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ทั้งทรัมป์และฮิลลารีว่า เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลลับของประเทศ เช่น วุฒิสมาชิกแฮร์รี รีด (Harry Reid) ถึงกับแนะนำให้ทำเนียบขาวให้ข้อมูลปลอม (Fake Briefings) กับทรัมป์ เพื่อปกป้องข้อมูลลับที่สำคัญของชาติ

ด้านรีพับลิกันก็ไม่น้อยหน้า ออกมาประกาศเหมือนกันว่า ทำเนียบขาวไม่ควรให้ฮิลลารีเข้าถึงข้อมูลลับใดๆ พร้อมทั้งอ้างคำพูดของผู้อำนวยการ FBI ที่เคยวิจารณ์ว่า ฮิลลารีและทีมงานในสมัยเป็นรัฐมนตรีมีลักษณะที่ ‘extremely careless’ ต่อข้อมูลลับอย่างมาก

การเลือกตั้งจะจบลงในวันอังคารที่จะถึงนี้ ล่าสุดโฆษกทำเนียบขาวได้ประกาศแล้วว่า ประธานาธิบดีโอบามาได้เตรียมตัวและจัดกำหนดการที่จะพบปะกับว่าที่ประธานาธิบดี หรือ President-Elect ในวันพุธ (9 พ.ย.) หรือวันพฤหัสบดี(10 พ.ย.) ที่จะถึงนี้ หรือหลังประกาศผลเลือกตั้งเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเอง เหมือนที่ประธานาธิบดีบุชได้กำหนดให้มีการพบปะระหว่างตัวเขาและว่าที่ประธานาธิบดีโอบามาเป็นการภายในที่ทำเนียบขาวไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังการเลือกตั้งในปี 2008 เช่นเดียวกัน

ถ้าในวันพุธหน้าว่าที่ประธานาธิบดีที่เข้ามาพบปะกับโอบามาชื่อ ‘ฮิลลารี’ ต้องเรียกว่าแทบไม่มีอะไรที่น่าจับตา

แต่ถ้าว่าที่ประธานาธิบดีที่เข้ามาพบปะกับโอบามาชื่อ ‘ทรัมป์’ ก็ต้องเรียกว่าน่าจับตา เพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาโอบามาใช้วาทกรรม ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ ในการปราศรัยแทบทุกวัน

“ผมไม่ชอบเลยที่จะต้องกดดันพวกคุณสักเล็กน้อย แต่ชะตากรรมประเทศของเราได้วางอยู่บนบ่าของพวกคุณแล้ว ชะตากรรมของโลกใบนี้จะเกิดความไม่แน่นอนอย่างที่เคยเป็นมาก่อน และพวกคุณในนอร์ทแคโรไลนาร่วมกันออกไปเลือกตั้งเถอะ เพื่อจะผลักดันสิ่งต่างๆ ไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง”

ถ้าทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีขึ้นมา ก็ต้องน่าจับตากันดูว่าการถ่ายโอนอำนาจระหว่างประธานาธิบดี

จะมีหน้าตาเป็นเช่นไร!?

 

อ้างอิง:

ฐานข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการคิดและเขียนเรื่องถ่ายโอนอำนาจในสถาบันประธานาธิบดี มาจากวารสาร มากกว่าการเลือกตั้ง: การถ่ายโอนอำนาจในประเทศประชาธิปไตย จัดทำโดย สำนักงานสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รวมถึงงานค้นคว้าของ มาร์ธา จอยนต์ คูมาร์ ว่าด้วย ‘White House Transition Project’ อีกหลายชิ้น