Photo: Neil Hall, Reuters/profile

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ เจอกับความท้าทายและอุปสรรคตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน ในวันที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ชาวสหรัฐฯ หลายแสนคนออกมาเดินขบวนประท้วงเขาในเมืองต่างๆ ซึ่งลามไปถึงหลายประเทศทั่วโลก ทั้งประเด็นเรื่องสิทธิสตรี การยอมรับความหลากหลายในสังคม และนโยบายทางการค้าของทรัมป์ ไม่นับภาพที่ถูกเผยแพร่โดยสื่อต่างชาติว่าคนมาร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเขาน้อยมาก เมื่อเทียบกับอดีตประธานาธิบดีคนก่อนๆ

ทรัมป์ออกมาตอบโต้สื่อต่างๆ ที่เผยแพร่ภาพคนมาร่วมงานว่า พวกเขารายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง ทีมสื่อของทรัมป์ตอบโต้ว่า “จำนวนคนมาร่วมพิธีสาบานตนมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา”

มากไปกว่านั้นทรัมป์ยังเจอกับการต่อต้านของผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งผู้นำประเทศคนแรกที่เขาจะเดินทางไปเยือนในสัปดาห์นี้คือ เทเรซา เมย์ ยังออกมาแสดงความเห็นว่า ทัศนคติบางอย่างของทรัมป์ต่อผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่ ‘รับไม่ได้’ และเธอไม่กลัวถ้าจะต้องพูดสิ่งนี้กับทรัมป์ แต่อย่างไรก็ตามหน้าที่ของเธอคือการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม ยิ่งโดยเฉพาะหลังจากอังกฤษตัดสินใจออกจากตลาดร่วมของสหภาพยุโรป

เทเรซา เมย์ ยังออกมาแสดงความเห็นว่า ทัศนคติบางอย่างของทรัมป์ต่อผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่ ‘รับไม่ได้’ และเธอไม่กลัวถ้าจะต้องพูดสิ่งนี้กับทรัมป์

Photo: Chris Wattle, Reuters/profile

ผู้หญิงทั่วโลกลุกฮือต่อต้านทรัมป์

ผู้หญิงหลายแสนคนออกมาประท้วงต่อต้าน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐฯ ตามเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งชิคาโก ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก เดนเวอร์ และบอสตัน หลังจากทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2017

นักเคลื่อนไหวสตรีเหล่านี้กล่าวหาทรัมป์ว่า คำพูดและพฤติกรรมของเขานั้นสะท้อนทัศนคติเกลียดชังผู้หญิง และอ้างว่ามีมวลชนมาร่วมขบวนทั่วประเทศเกือบ 5 ล้านคน เช่น ในเมืองลอสแอนเจลิสนั้น กลุ่มผู้ประท้วงใช้ชื่อว่า ‘Sister March’ กว่า 750,000 คน ออกมารวมตัวกันอย่างคับคั่งบนท้องถนน ตำรวจระบุว่าเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดกว่าการเดินขบวนสนับสนุนผู้อพยพเมื่อปี 2006 ที่มีคนมาร่วมขบวนกว่า 500,000 คน

ด้าน บิล เดอ บลาซิโอ (Bill de Blasio) นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์กนั้นระบุว่ามีคนออกมาเดินขบวนกว่า 400,000 คน แต่ผู้ประท้วงหลายกลุ่มอ้างว่ามีคนออกมาถึง 600,000 คน

ส่วนในเมืองชิคาโกนั้นมีคนมาร่วมขบวนกว่า 125,000 คน ทำให้จากตอนแรกที่กลุ่มผู้ประท้วงตั้งใจจะเดินพาเหรดรอบเมือง ต้องเปลี่ยนเป็นการชุมนุมปกติแทน

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ และสะท้อนถึงความแบ่งแยกในสหรัฐฯ ได้ชัดเจน ที่เริ่มส่อเค้าลางมาตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016

Photo: Romeo Ranoco, Reuters/profile

ด้านทรัมป์ออกมาทวิตตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงเหล่านี้ว่า “เห็นการประท้วงเมื่อวานนี้ แต่ยังรู้สึกพึงพอใจที่เราเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง! …ทำไมคนพวกนี้ไม่ออกมาเลือกตั้งล่ะ?”

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประท้วงลามไปนอกสหรัฐฯ ทั้งในซิดนีย์ ลอนดอน โตเกียว และเมืองอื่นๆ ทั่วยุโรปและเอเชีย อย่างชาวฟิลิปปินส์ที่รวมตัวกันประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ที่คาดว่ามีทั้งหมดประมาณ 670 กลุ่มทั่วโลก และคาดว่าจำนวนผู้ประท้วงทั้งหมดทั่วโลกมีประมาณ 4.6 ล้านคน โดยวัดจากการลงทะเบียนเข้าร่วมประท้วงในออนไลน์

ขบวนประท้วงยังไม่ได้ต่อต้านทรัมป์แค่ประเด็นเรื่องสิทธิสตรี แต่ยังแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อนโยบายของทรัมป์ในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องผู้อพยพชาวเม็กซิกัน มุสลิม นโยบายต่อเรื่องคนพิการ และสิ่งแวดล้อม

ป้ายประท้วงต่อต้านทรัมป์นั้นล้วนมีข้อความเจ็บแสบทั้ง “เราต้องการผู้นำที่แท้จริง ไม่ใช่นักทวิตไร้สาระ” (“We need a real leader, not a creepy tweeter”) หรือกลุ่มผู้ประท้วงที่สวมหมวกหูแมว และมีข้อความว่า ‘Pussy Hats’ เพื่อสื่อถึงตอนที่ทรัมป์เคยพูดดูถูกผู้หญิงในรายการทีวีเมื่อปี 2005

แม้ไม่สามารถระบุตัวเลขผู้ประท้วงได้อย่างแม่นยำ แต่สำนักข่าว Reuters รายงานว่า จำนวนผู้ประท้วงในกรุงวอชิงตันรอบๆ ทำเนียบขาว และ National Mall เมื่อวันที่ทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนั้นเกิน 200,000 คนอย่างแน่นอน

Photo: Neil Hall, Reuters/profile

ทรัมป์กับการเจอผู้นำประเทศผู้หญิงคนแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีกำหนดการเข้าพบนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ และ เทเรซา เมย์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ไว้ว่า

“ฉันได้พูดเอาไว้แล้วว่า การแสดงความคิดเห็นต่อผู้หญิงของทรัมป์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเขาต้องขอโทษต่อบางความเห็นของเขา

“เมื่อฉันนั่งลงข้างๆ เขา ฉันคิดว่าข้อความที่จะสะท้อนเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงได้ดีที่สุด ก็คือการที่ฉันจะนั่งอยู่ตรงนั้นในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้หญิง

“และเมื่อใดที่ฉันพบว่ามีสิ่งใดไม่เหมาะสม ฉันไม่กลัวที่จะพูดกับเขา”

ทรัมป์ได้ประกาศว่า ต้องการทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับอังกฤษ
แต่แนวคิด America First ที่สะท้อนออกมาในบทสุนทรพจน์ของทรัมป์นั้น
เริ่มทำให้อังกฤษไม่แน่ใจว่า จะได้มิตรทางการค้า หรือเจอกับนโยบายกีดกันจากสหรัฐฯ กันแน่

Photo: Henry Romeo, Reuters/profile

ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ และ Brexit

นอกจากประเด็นเรื่องสิทธิสตรีที่จะถูกพูดถึงในการพบปะกันระหว่างสองผู้นำประเทศมหาอำนาจ อีกประเด็นที่ทั่วโลกต้องจับตามองคือ อนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ หลังจากชาวอังกฤษตัดสินใจโหวตออกจากสหภาพยุโรป โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษอย่างเปิดเผย จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เราอาจจะเห็น ‘ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษ’ ระหว่างอังกฤษกับอเมริกา

แต่อังกฤษเริ่มรู้สึกไม่แน่ใจต่อทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เทเรซา เมย์ ประกาศว่า เธอจะใช้โอกาสนี้พูดคุยกับทรัมป์ถึงความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรัมป์ประกาศว่าจะใช้นโยบาย ‘America First’ และจะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไว้ แม้เธอจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของทรัมป์ต่อผู้หญิงก็ตาม

ด้าน เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) หัวหน้าพรรคแรงงานออกมาแสดงความสงสัยต่อนโยบาย America First ของทรัมป์เช่นกันว่า “มันไม่มีสัญญาณอะไรที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ ในบทสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งของทรัมป์เลย ออกจะไปทางตรงกันข้าม เขาพูดแต่อเมริกาต้องมาก่อน และอเมริกาเท่านั้น” เจเรมี คอร์บิน ให้สัมภาษณ์กับ Sky News

“ผมคิดว่าการที่ทรัมป์อยู่ดีๆ อยากจะหันมากระชับความสัมพันธ์กับอังกฤษ และเสนอข้อตกลงการค้ากับอังกฤษ แต่ไม่ได้นำพาไปสู่ความสัมพันธ์ที่พัฒนา ผมว่าเมย์จะต้องระมัดระวังอย่างมาก”

ตั้งแต่ผลโหวต Brexit ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ เทเรซา เมย์ พยายามจะกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ นอกสหภาพยุโรปให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นจุดยืนของอังกฤษว่า อังกฤษยังต้องการเป็นมหาอำนาจ และยังต้องการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ


Photo: Henry Romeo, Reuters/profile

เธอจึงจะใช้โอกาสนี้ปรึกษากับทรัมป์ถึงภารกิจของนาโต้ การปราบปรามการก่อการร้าย และการแก้ปัญหาสงครามในซีเรีย

ด้านหนังสือพิมพ์ของอังกฤษต่างพาดหัวต่อการมาของทรัมป์แตกต่างออกไป อย่าง Telegraph ที่เรียกเทเรซา เมย์ ว่า ‘My Maggie’ โดยสื่อถึงอดีตนายกรัฐมนตรี มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ที่สมัยนั้นเธอมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ในช่วงปี 1980

หรืออย่าง The Mail on Sunday ที่พาดหัวกระแนะกระแหนทรัมป์ว่า “ถอนคำพูดดูถูกผู้หญิงของคุณด้วย ท่านประธานาธิบดี”

อังกฤษต้องหันไปร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น หลังจากรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจจะนำประเทศออกจากตลาดร่วมอียู ในขณะที่หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า โลกอาจจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ที่ใกล้ชิดมากกว่าเดิมในยุค Brexit เพราะทรัมป์ได้ประกาศว่า ต้องการทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับอังกฤษ แต่แนวคิด America First ที่สะท้อนออกมาในบทสุนทรพจน์ของทรัมป์นั้น เริ่มทำให้อังกฤษไม่แน่ใจว่า จะได้มิตรทางการค้า หรือเจอกับนโยบายกีดกันจากสหรัฐฯ กันแน่

Cover: Shannon Stapleton, Reuters/profile
อ้างอิง:
     – http://uk.reuters.com/article/uk-usa-trump-women-idUKKBN1550DU
– http://uk.reuters.com/article/uk-usa-trump-women-cities-factbox-idUKKBN15600B
– http://www.bbc.com/news/world-us-canada-38707722

Tags: , ,