คุณเป็นผู้ชายที่หมั่นไส้ทอมหรือเปล่า?

เคยสงสัยไหมว่าทำไม?

ผู้ชายบางคนแค่หมั่นไส้ไม่พอ ยังลงมือทำร้ายและข่มขืนทอม

แต่ทำไมเราถึงไม่เห็นผู้หญิงหมั่นไส้หรือทำแบบนั้นกับเกย์และกะเทย

The Momentum พบคำตอบของคำถามข้างต้นในงานเสวนาและรณรงค์สาธารณะ ‘“แก้ทอม-ซ่อมดี้” เป็นความรุนแรง #เลิกเหอะ’ ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนสเถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้ชายเกลียดทอม เพราะ ‘ทอม’ คุกคามความเป็นชาย

“เส้นทางความรุนแรงของผู้หญิงมัน ‘ลึก’ ผู้ชายที่เป็นเกย์จะไม่ถูกกระทำความรุนแรงโดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศเหมือนกับผู้หญิงที่เป็น ‘ทอม’ โดน และถ้าว่ากันถึงที่สุด มันคือความรุนแรงต่อ ‘ผู้หญิง’”

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นสาเหตุที่ผู้ชายหมั่นไส้เวลาเห็นทอมว่ามีที่มาจาก ‘วัฒนธรรมนิยมชาย’ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหลักของสังคม

“วันนี้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงที่อยู่ในเพศภาวะที่คุกคามความเป็นชาย (ทอม) ทั้งๆ ที่โดยตัวเขาเองไม่ได้คุกคามใครแน่ๆ แต่ ‘ความเป็นทอม’ ไม่มากก็น้อย มันไปคุกคาม ‘ความเป็นชาย’ ที่อยู่ในวิธีคิด ในเลือดเนื้อ ของผู้ชายที่ถูกสร้างขึ้น

“ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนมีวัฒนธรรมนี้ แต่หมายถึงวัฒนธรรมหลักที่สถาปนาอยู่ในตัวตนของเราทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ เด็ก คิดคล้ายกัน คือคิดว่าผู้หญิงต้องทำอย่างนี้ ผู้ชายต้องทำอย่างนี้

“เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่เกิดมาเป็นทอม ถ้ามึงซ่าเกินไป ก็ต้องโดน”

งานวิจัย การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาฯ ระบุว่า ในบางโรงเรียน นักเรียนหญิงที่มีลักษณะห้าวๆ คล้ายผู้ชายจะถูกรังเกียจ จนกระทั่งมีการตั้ง ‘กลุ่มเกลียดทอม’

‘เพราะความเป็นชายสูงส่งเกินกว่าที่ผู้หญิงจะอาจเอื้อม’ ผู้ฟังเสวนาคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ผู้ชายส่วนใหญ่เกลียดและหมั่นไส้เมื่อเห็นทอมที่พยายามทำตัวเสมือนเป็นชาย

หญิงรักหญิงกับ ‘จู๋’ ที่ถูกยัดเยียด

“มีผู้ชายจำนวนหนึ่งไปข่มขืนหรือ ‘ซ่อม’ ทอม เพราะคิดว่าต้องเจอ ‘ของจริง’ แล้วผู้หญิงที่เป็นทอมจะหาย

“ไอ้ความคิดที่ว่าอวัยวะเพศชายจะแก้ความเป็นทอมได้มันมาจากไหน?” รศ.ดร.กฤตยา ตั้งคำถามถึง ‘จู๋’ กับความเชื่อที่สามารถ ‘ซ่อม’ คนที่ (สังคมเชื่อว่า) ผิดปกติให้กลายเป็นปกติได้

เป็นความเชื่อผิดๆ ที่แฝงมากับวัฒนธรรมนิยมชาย

“และที่ผ่านมามีคดีข่มขืนจำนวนหนึ่งมีสาเหตุจากความเชื่อแบบนี้”

จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBT มีการตั้งข้อสังเกตว่า ‘หญิงรักหญิง’ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะเผชิญกับความรุนแรงทางเพศภายใต้มายาคติ ‘ของจริง’ ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาในสังคมชายเป็นใหญ่

อย่างนี้ต้องโดน…ข่มขืน

ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่ลงพื้นไปทำกิจกรรมให้คำปรึกษา แก้ปัญหา กลุ่มทอม-ดี้เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่าการถูกกระทำความรุนแรงและละเมิดทางเพศของทอม-ดี้เกิดขึ้นได้จากทั้งคนใกล้และคนไกล

“มีน้องคนหนึ่งที่ภาคเหนือเป็นดี้ มีแฟนทอม ถูกอาล่วงละเมิดทางเพศตลอด 4-5 ปี เพราะอ้างว่าจะได้ทำให้เธอเลิกชอบทอม ต่อมาน้องทนไม่ไหวเลยหนีจากบ้านมาใช้ชีวิตกับแฟน และโชคดีที่ยังไม่ท้อง ไม่งั้นชีวิตคงเปลี่ยนไปมากกว่านี้ แต่เพื่อนๆ ในกลุ่มหลายคนก็ยังเจอแบบนี้อยู่”

นอกจากนี้ ยังมีบางกรณีรุนแรงจนหลายคนอาจคาดไม่ถึง

“มีทอมสามคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ หนึ่งในสามถูกฆาตกรรมโดยทหารในพื้นที่ ก่อนฆ่า ทอมคนนั้นถูกข่มขืนก่อน อีกสองคนโดนรุมโทรมแล้วปล่อยไป ส่วนสาเหตุเท่าที่ทราบเพียงแค่ไม่ชอบพฤติกรรมของทอมที่มาจีบผู้หญิงที่ชอบ”

ทิพย์อัปสรเล่าว่า ทอมหรือดี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายส่วนใหญ่จะไม่กล้าไปแจ้งความ แต่จะเข้ามาคุยกับสมาคมของเธอเพื่อระบายและปรึกษาเพื่อหาทางออก

ขณะที่บทความ การกีดกัน ทำร้าย จนถึงฆ่าให้อาสัญต่อหญิงรักหญิง ทอม ดี้ ในสังคมไทย คือวัฒนธรรมความรุนแรง เลิกเหอะ!!! โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ให้ข้อมูลว่า มีกรณีการฆาตกรรม ‘ทอม’ ที่ปรากฏในข่าวอาชญากรรม 11 ราย โดยมีสาเหตุตั้งแต่ถูกจ้างวานฆ่าแล้วอำพรางศพเพราะมีแฟนเป็นผู้หญิง คู่รักหญิงรักหญิงถูกทำร้ายอย่างเหี้ยมโหดจนถึงชีวิต หรือการข่มขืนเพื่อสั่งสอนให้มีเพศสัมพันธ์ที่ ‘ถูกต้อง’

‘หญิงที่ดี’ วัฒนธรรมที่ปิดปากผู้หญิง

ประเด็นการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศทอมที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ทอมถูกล่วงละเมิดทางเพศจนท้อง แต่ที่น่าคิดก็คือผู้ละเมิด (ซึ่งเป็นชาย) จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบ และไม่คิดว่าเป็นความผิดบาป ขณะที่ทอมกลับมีความรู้สึกเหมือนผู้หญิงที่โดนกระทำ ซึ่งมักจะมีทางออก 3 ทาง คือเงียบ โทษตัวเอง และคิดว่าเป็นเพราะความซวยหรือโชคชะตา

“นี่คือตัวกดให้ผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศไม่พูด เหมือนเรากำลังละเมิด ‘วัฒนธรรมการเป็นผู้หญิงที่ดี’ ฉะนั้นเราลงโทษตัวเราเองก่อน โดยที่เราไม่พูดอะไร”

จากสถิติคดีอาชญากรรม พ.ศ.2556-2557 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการรับแจ้งผู้หญิงที่ถูกทำร้าย 28,714 ราย และมีเพียง 13% หรือ 3,673.5 รายเท่านั้นที่จับกุมได้

“แล้วมีผู้หญิงอีกจำนวนเท่าไรที่ไม่ได้แจ้งความ หรือกรณีของทอมจำนวนไม่น้อยที่ถูกทำร้ายแล้วไม่แจ้งความ” รศ.ดร.กฤตยา โยนคำถามใหญ่ให้ใครหลายคนฉุกคิด
Hate Crime อาชญากรรมจากอคติและความเกลียดชัง

จากกรณีฆาตกรรมหมู่ใน Pulse ผับเกย์ที่เมืองออร์แลนโด จนมาถึงกรณีข่มขืนและละเมิดทางเพศทอม-ดี้ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คำถามคือความรุนแรงเหล่านี้มีสาเหตุจากอะไร

“Hate Crime” รศ.ดร.กฤตยา เฉลย

“มันคืออาชญากรรมที่เกิดจากอคติและความเกลียดชัง เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องรู้จักกันมาก่อนก็ทำร้ายคนคนหนึ่งได้ หรือคุณอาจจะรู้จักและรักกันมาก่อน แต่พออีกคนเป็นแบบนี้ เช่น ลูกกลายเป็นดี้ ทอม เกย์ ฯลฯ แล้วรู้สึกรับไม่ได้ ก็ลงโทษ”

หลังพูดจบ ภาพบนจอสไลด์แสดงสถิติคดี Hate Crime ในอเมริกา ระบุว่า กลุ่ม LGBT เป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกทำร้ายสูงกว่าคนผิวดำและคนยิวถึง 2 เท่า

รศ.ดร.กฤตยา บอกว่าความรุนแรงจากอคติและความเกลียดชังแบบนี้ มันฆ่าคนได้ง่ายๆ และที่สำคัญยังไม่มีการพูดคุยและจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบในสังคมไทย

เพราะทุกคนคือ ‘มนุษย์’

“ไม่ว่าใครก็ตามไม่มีสิทธิ์จะไป ‘ซ่อม’ ใคร”  รศ.ดร.กฤตยา บอกว่าคนทุกคนไม่ว่าทอม ดี้ เกย์ ตุ๊ด ผู้ชาย หรือเพศอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน

“ฉะนั้นไอ้วัฒนธรรมที่คิดจะไปซ่อม ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงคนอื่น เป็นวัฒนธรรมที่เราต้องไม่ยอมรับ คนทุกคนไม่ว่าจะมีเพศภาวะแบบไหน จะเป็นมาตั้งแต่เกิด หรือมาเลือกเองทีหลัง เป็นสิทธิส่วนบุคคล เราต้องเคารพ ไม่มีสิทธิ์ไปแทรกแซง

“คนที่เป็นพ่อแม่ก็ดี ผู้บังคับบัญชาก็ดี ครูก็ดี ไม่มีสิทธิ์จะไปแทรกแซงหรือทำร้ายคนอื่น แต่ตอนนี้บางคนคิดว่าพวกเขามีอำนาจที่จะไป ‘ซ่อม’ ได้

“ที่สำคัญวัฒนธรรมที่แย่มากที่สุดในประเทศไทยก็คือ คนทำผิดเหล่านี้มักไม่ถูกลงโทษ ลอยนวลอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่แก้ภาวะเหล่านี้ คนที่ทำผิดก็จะทำผิด เพราะคิดว่าทำได้ แล้วก็ยังทำอีก ดังนั้นเราต้องสร้างกระบวนการทางกฎหมายให้มีการลงโทษอย่างชัดเจน เพื่อให้เห็นว่าทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้”

นี่คือสิ่งที่พึงกระทำต่อคนทุกเพศ เพราะถึงที่สุดแล้ว…

“เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน” รศ.ดร.กฤตยา กล่าว