จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) นำทีมโดย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ ในขณะนั้น ได้ทำการบุกรื้อบ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2559

จนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ในปัจจุบันซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม. ได้มีแผนในการรื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนอีก 37 หลังคาเรือน ภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยให้เหตุผลว่ากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬและแนวกำแพงเมืองเป็นโบราณสถานแล้ว และมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะพร้อมด้วยพิพิธภัณฑ์เพื่อแสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวิถีชีวิตของพื้นที่บริเวณรอบกรุงรัตนโกสินทร์ต่อไป

ทั้งนี้นายจักกพันธุ์ยังได้กล่าวย้ำว่า “การที่ชุมชนจะอยู่คู่กับโบราณสถานนั้นสามารถดำเนินการได้ แต่ชุมชนไม่สามารถอยู่ในโบราณสถานได้”

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านในชุมชนป้อมฯ ยังคงยืนยันที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ พร้อมยกระดับชุมชนให้มีความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต อีกทั้งยังพร้อมเปิดกว้างหาก กทม. จะมีการจัดสรรพื้นที่บางส่วนไปเป็นสวนสาธารณะ โดยทางชุมชนได้ยื่นขอเจรจากับ กทม. ไปแล้วถึง 4 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด

ปมปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 25 ปีนี้ มีความเป็นมาอย่างไร และจะมีทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้หรือไม่

The Momemtum จะพาผู้อ่านไปหาคำตอบในประเด็นนี้กัน

กฎหมายเวนคืน การไล่รื้อชุมชน กับทางออกที่เป็นไปได้

สืบเนื่องมาจาก แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ถนนราชดำเนิน และพื้นที่บริเวณต่อเนื่อง ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ที่มีสาระสำคัญกล่าวถึงความต้องการอนุรักษ์และบูรณะพื้นที่ประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นพื้นที่หนึ่งในแผนนั้น นำมาสู่ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ที่มีหลักใหญ่ใจความกล่าวถึงการเวนคืนที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬเพื่อนำมาจัดทำสวนสาธารณะความว่า

“โดยที่เป็นการสมควรกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อจัดทำสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ”

ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม. หลายยุคจึงได้พยายามที่จะรื้อถอนชุมชนโดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.ฎ. มาแล้วหลายครั้ง และเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ก็เกิดประเด็นปลุกความสนใจ เมื่อ กทม. ได้เข้ารื้อถอนบ้านเรือนจำนวน 12 หลังที่ยินยอมให้รื้อถอนเพราะได้รับเงินชดเชยคืนเต็มจำนวนแล้ว ส่วนบ้านที่เหลืออีกจำนวน 37 หลัง จะได้รับเงินชดเชยคืนเต็มจำนวนก็ต่อเมื่อเจ้าบ้านยินยอมให้การรื้อถอนดำเนินไปจนเสร็จสิ้น

แต่กระนั้น ด้วยความรักและหวงแหนในท้องถิ่นที่อยู่อาศัยกันมาหลายช่วงอายุคน การย้ายออกจากพื้นที่ของชาวบ้านจึงเป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก ชาวบ้านจึงได้ต่อรองกับ กทม. เพื่อเจรจาหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่

ในยุคของ ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ทาง กทม. ได้ร่วมสร้างข้อตกลงกับชุมชนป้อมฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่าง กทม. กับชุมชน โดยได้มอบหมายให้ รศ. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร เป็นผู้ศึกษาวิจัยพื้นที่ชุมชน ประวัติศาสตร์ความเป็นมา ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อหาแนวทางที่จะเป็นไปได้ในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่ร่วมที่เป็นทั้งของชุมชน และ กทม. เพื่อให้โครงการของรัฐประสบผลสำเร็จสูงสุด และเกิดประโยชน์กับชุมชน จนได้ข้อสรุปเสนอผ่าน แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ซึ่งสามารถตีความ พ.ร.ฎ. ปมปัญหาได้ 2 แนวทาง คือ

1. ยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมายเวนคืน

เพราะอำนาจกฎหมายที่ กทม. ใช้ในการเวนคืนที่ดินคือ พ.ร.ฎ. ซึ่งเป็นเพียงประกาศกำหนดเขตพื้นที่เวนคืนเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้เวนคืนที่ดินได้ แต่ กทม. ได้พื้นที่ส่วนหนึ่งมาจากการทำสัญญาซื้อขายกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนั้น กทม.  จึงไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปตามแผนของ พ.ร.ฎ. หากแต่สามารถพัฒนาพื้นที่ได้โดยอิสระตามที่เห็นว่าเหมาะสม

2. มีสถานะเป็นกฎหมายเวนคืนแล้ว   

หากมองในมุมนี้ สิ่งที่นักวิจัยเสนอมาทั้งหมดตอบรับกับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ฯ เป็นอย่างดี เพราะทั้งบ้านไม้โบราณ ชุมชนชานกำแพงพระนครแห่งสุดท้ายในเมืองไทย และแหล่งกำเนิดลิเกแห่งแรกของเมืองไทย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะปรับให้ชุมชนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอยู่คู่ไปกับสวนสาธารณะที่ กทม. ต้องการจะสร้างขึ้น

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในกิจกรรม ‘แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬ’ ว่า ชุมชนป้อมฯ เป็นชุมชนที่มีชีวิตมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ กทม. กลับกำหนดนโยบายว่าเขตโบราณสถานต้องไม่มีคนอยู่ อยากจัดการพื้นที่ตรงนี้ให้สวยงามแบบ ส.ค.ส. ที่มีแต่ปูน มีแต่ป้อม แต่ไม่มีคนอยู่อาศัย หากมองในมุมของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ คงไม่มีใครอยากจะมาดูแต่ห้างสรรพสินค้า นักท่องเที่ยวย่อมอยากเข้ามาสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนที่เต็มไปด้วยบ้านไม้โบราณ ต้นกำเนิดศิลปวัฒนธรรมอย่างลิเก และหัตถกรรมท้องถิ่นอย่างการทำกรงนกเขาชวา และการปั้นเศียรพ่อแก่ต้นฉบับของไทยอยู่แล้ว  พร้อมกล่าวว่าประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นปมปัญหาของชุมชนป้อมฯ นี้ สามารถแก้ไขได้

“สิ่งที่ชาวบ้านแพ้ในศาลปกครอง คือแพ้ในตัวกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายที่แก้ไขได้ การกำหนดว่าพื้นที่ไหนจะเวนคืนเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารในการเวนคืนแต่จะกำหนดตรงไหนเป็นเรื่องนโยบาย เหมือนกรณีพื้นที่เขตป่าสงวนกับอุทยานแห่งชาติซึ่งกำหนดโดย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติให้อำนาจ ครม. กำหนดว่าตรงไหนเป็นเขตอุทยานฯ ขอย้ำว่านโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ที่ชาวบ้านผิด คือผิดจากนโยบายของ กทม. เนื่องจากการกำหนดพื้นที่ตรงนั้นเป็นเรื่องของการออกกฤษฎีกา ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องการทำให้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่ ในยุคผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เคยเซ็นหนังสือเป็นหลักฐานไว้แล้วว่าให้อยู่ได้ พอเปลี่ยนผู้ว่าฯ ก็เปลี่ยนนโยบาย แปลว่านโยบายเปลี่ยนได้”

ชุมชนป้อมฯ ไม่ใช่โบราณสถาน และสวนสาธารณะสะท้อนวิธีคิดที่ล้มเหลวของ กทม.

ใครที่ผ่านไปมาบริเวณป้อมมหากาฬและแนวกำแพงเมืองที่เลียบไปตามถนนมหาไชย หากสังเกตให้ดีก็จะพบกับป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่ติดเรียงกันมาตั้งแต่ตัวป้อมไปตลอดแนวกำแพงเมือง และในจุดประชาสัมพันธ์หลายจุดในกรุงเทพมหานคร ปรากฏข้อความบนผืนผ้าใบ ความว่า

“ขอบคุณที่คืนพื้นที่ป้อมมหากาฬ โบราณสถานอันล้ำค่าของทุกคน”

The Momentum สอบถามไปยังนักโบราณคดี ในประเด็นที่ว่าชุมชนป้อมมหากาฬจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้หรือไม่

ผศ. ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ไว้ 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 ตามกฎหมายแล้ว พื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬนี้ไม่ใช่พื้นที่โบราณสถาน ส่วนที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมีเฉพาะ ‘ตัวป้อมมหากาฬ’ และ ‘ตัวกำแพงเมือง’ เท่านั้น

“พื้นที่ชุมชนที่ชาวบ้านอยู่อาศัยไม่ใช่โบราณสถาน ชุมชนเขาไม่ได้ตั้งอยู่บนโบราณสถาน โบราณสถานก็คือตัวป้อม และตัวกำแพงเมือง แต่ในขณะเดียวกันชุมชนตั้งอยู่บริเวณใกล้กับโบราณสถาน สิ่งที่ภาครัฐพยายามยัดเยียดให้กับชุมชนก็คือ การพยายามบอกว่าชุมชนนี้รุกล้ำโบราณสถาน แต่ถ้าไปดูแนวเขตที่มันขึ้นทะเบียน ชุมชนมันไม่ได้อยู่บนโบราณสถานนะ มันแยกตัวออกมานอกแนวเขตที่วางเลย เพราะชาวบ้านไม่ได้ไปตั้งบ้านบนป้อมตั้งบ้านบนกำแพงเมือง แค่เขาตั้งบ้านอยู่บนพื้นที่ที่เป็นรอยต่อระหว่างโบราณสถานกับแนวคลอง ซึ่งเป็นที่ที่เขาเรียกว่า ชานพระนคร”

และประการที่ 2 การตั้งถิ่นฐานของคนไทยในบริเวณที่เรียกว่า ‘ชานพระนคร’ มีมานานนับพันปีแล้ว สามัญชนส่วนใหญ่ไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ในเมือง แต่จะอาศัยอยู่ตามพื้นที่ที่เป็นขอบของเมืองหรือว่าชานพระนคร เพราะเป็นรอยต่อของการเดินทางจากนอกเมืองเข้าไปในตัวเมือง ส่วนภายในเมืองจะเป็นพื้นที่ของวัด วัง และที่อยู่อาศัยของขุนนางเจ้านาย

“สามัญชนเขาก็อยู่กันอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว มันมีร่องรอยของการอยู่อาศัยริมคูน้ำคันดิน กำแพงเมืองแบบนี้ ตั้งแต่สมัยทวารวดีมานานนับพันปี แล้วก็อยู่สืบทอดกันลงมา เพียงแต่ผมคิดอีกอย่างว่าเขาพยายามอ้างว่าชุมชนนี้มันตั้งรุกรานโบราณสถานก็เพราะว่าเป็นเรื่องของภูมิทัศน์ เพราะโดยความเชื่อของคนในปัจจุบันก็คือโบราณสถานจะต้องถูกจัดภูมิทัศน์ ต้องให้เห็นเด่นเป็นสง่า”

และ ผศ. ดร.ประภัสสร์ ยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ที่ชุมชนป้อมมหากาฬจะอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ เพราะหลายประเทศก็มีการปรับปรุงพัฒนา โดยมุ่งให้ชุมชนกับโบราณสถานสามารถอยู่ร่วมกันได้

“ถ้าในกรณีอย่างนี้ถามว่าอยู่ได้ไหม ผมว่าก็อยู่ได้ เพราะว่าทั่วโลกอยู่กันหมด ชุมชนนี้ก็น่าจะถือว่าเป็นชุมชนโบราณชุมชนหนึ่งด้วยซ้ำไป ถ้าเกิดคุณจะมาขึ้นทะเบียนให้ที่นี่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมก็ย่อมได้ เพราะว่ามันมีหลักฐานการอยู่อาศัยสืบเนื่องกันมาไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วอายุคน ซึ่งพอพูดอย่างนี้ ฝ่ายทางกฎหมายเขาก็จะพูดกันเรื่องกรรมสิทธิ์ต่อว่านี่เช่าสิทธิ์เขามา 2-3 ทอดแล้ว แต่ผมเชื่อว่าในบ้านเมืองที่เขาเจริญแล้ว เรื่องพวกนี้เขามักจะเอามาเป็นประเด็นรอง ในเมื่อหลักฐานก็เห็นแล้วว่าชุมชนนี้มันเต็มไปด้วยวัฒนธรรม ร่องรอยของการอยู่อาศัยที่สืบทอดกันลงมา ธรรมชาติของวัฒนธรรมจะอยู่ในบริเวณชายขอบพระนครอย่างนี้ มันเป็นลักษณะที่เรายืนยันได้ว่ามันมีมาแล้วเป็นพันปีในดินแดนไทย แล้วทำไมมันจะอยู่ไม่ได้”

ขณะที่ถ้าอยู่ในบริเวณป้อมมหากาฬ จะสังเกตเห็นสวนหย่อมขนาดเล็กรอบๆ ป้อม สวนส่วนนี้คือพื้นที่เฟสแรกที่ถูกเวนคืนจากรัฐ ซึ่งเดิมทีเป็นตลาดสำคัญของย่านนี้ในอดีต และจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนนี้ไม่มีประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดที่ล้มเหลวของ กทม.

“ชุมชนนี้เฟสแรกที่เขาเวนคืนไป คือบริเวณด้านทิศเหนือของชุมชน ซึ่งปัจจุบันถูกจัดให้เป็นสวนสาธารณะ ถามว่าทุกวันนี้สวนสาธารณะตรงนั้นได้ใช้ประโยชน์อะไรไหม มีใครเข้าไปใช้บริการหรือเปล่า มันไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย แล้วมันก็รกร้างลงไปทุกวันๆ แสดงให้เห็นแล้วว่าคุณเอาพื้นที่ของเขาเวนคืนแล้วไปทำสวนสาธารณะมันก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย แล้วคุณจะมาเอาพื้นที่อีกส่วนไปทำเป็นสวนสาธารณะอีกก็แสดงว่ามีประเด็นซ่อนเร้นบางอย่างหรือเปล่า

“ผมเชื่อว่าการสร้างสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มันเป็นพื้นที่ที่ล้มเหลว เพราะว่าคนเข้าถึงแล้วใช้งานได้ไม่คุ้มค่า ล้มเหลวตั้งแต่วิธีคิดจนถึงการออกแบบ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของคนที่ทำหน้าที่บริหารแต่ไม่ใช่คนที่อยู่อาศัยจริง

“ดังนั้นการรักษาพื้นที่นี้ไว้ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมย่อมดีกว่าการนำไปเป็นพื้นที่โล่งๆ ไร้ประโยชน์แน่นอน”

มหากาฬโมเดล เสียงประชารัฐ ที่มองไกลกว่าการพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ

‘มหากาฬโมเดล’ คือแนวคิดที่ชุมชนป้อมมหากาฬร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมสถาปนิกสยามฯ กลุ่มสถาปนิกผังเมืองจิตอาสา อาสาสมัครที่ทำเรื่องการสื่อสาร ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ ร่วมวางแผนออกแบบกันขึ้นมาเสนอต่อภาครัฐ เพื่อต่อรองให้ชุมชนสามารถอยู่อาศัยภายในพื้นที่เดิมได้อย่างสอดรับกับแผนการพัฒนาเมือง ด้วยการดึงศักยภาพของชุมชนออกมาในรูปแบบของ ‘การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม’ ด้วยการสานต่อแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ของ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ

เช่น ลิเกทรงเครื่องพระยาเพชรปาณี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดลิเกแห่งแรกในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 การผลิตเครื่องดนตรีไทย ตลอดจนศิลปหัตถกรรมต่างๆ เช่น การปั้นเศียรพ่อแก่ การทำกรงนกเขาชวา ที่ดำเนินชีวิตเคียงคู่สืบมากับบ้านไม้โบราณที่ปลูกขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีอยู่หลายต้น เรียกได้ว่า ชุมชนป้อมมหากาฬแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีเรื่องเล่ายาวนานมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สืบทอดลมหายใจมาจวบจนปัจจุบัน

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ตัวแทนกลุ่มมหากาฬโมเดล ได้กล่าวถึงแนวคิดในการก่อตั้ง ‘มหากาฬโมเดล’ ว่าเกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้จากหลากหลายสาขา เพื่อปรับใช้ในการพัฒนาชุมชนป้อมฯ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกรุงเทพฯ ที่สามารถมองเห็นตัวโบราณสถานอย่างป้อมมหากาฬ กำแพงเมือง และภูเขาทอง รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของการตั้งบ้านเมือง และที่สำคัญยังมีผู้คนอยู่ในพื้นที่ ควรค่าแก่การยกเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เหมาะแก่การสนับสนุนให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ใช่แค่การเที่ยวชมพื้นที่ที่ไร้ชีวิต ที่สำคัญต้องเห็นคุณค่าของ ‘คน’ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของสังคม และเป็นผู้ขับเคลื่อนพลวัตของเมืองให้ก้าวเดินไปข้างหน้า

“มหากาฬโมเดล มันเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการไล่รื้อในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราไปเสนอกับชาวบ้านว่าแทนที่ชาวบ้านจะต้องมาปิดประตู ปิดบ้าน คอยเช็กคนเข้านอกออกใน มาเปลี่ยนเป็นการเปิดชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้จะดีไหม เราก็ชวนชาวบ้านมาทำเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีภูมิปัญญาอะไรก็เอามาโชว์ จัดให้มีมัคคุเทศน์น้อยนำชมชุมชน โดยเข้าไปร่วมออกแบบชุมชนกับชาวบ้านว่าอยากให้เป็นไปในทิศทางไหน ชุมชนมีศักยภาพอะไรที่สามารถดึงมาใช้ได้บ้าง โดยที่เราไม่ได้ตีกรอบให้ใครต้องมาคิดเหมือนกัน เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ให้ช่วยกันคิด”

หลังจากเกิดเหตุการณ์ไล่รื้อชุมชนครั้งล่าสุดนั้น ก็มีคนจากหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกันคิดออกแบบหาทางแก้ปัญหาให้กับชุมชน เกิดการจัดโครงการ ‘Co-Creation Mahakan’ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระดมความคิด ในหัวข้อ ‘พื้นที่สาธารณะเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง’ เพื่อหาทางออกให้กับชุมชน โดยมีกลุ่มคนที่สนใจเข้าร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมสถาปนิกสยามฯ กลุ่มสถาปนิกผังเมืองจิตอาสา อาสาสมัครที่ทำเรื่องการสื่อสาร ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นต้น แล้วนำบทสรุปที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาให้ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่สามารถอยู่ร่วมกับการพัฒนาของเมืองได้

นอกจากนี้ยังมีหลากความเห็นจากกลุ่มนักวิชาหลายคนที่เสนอเพื่อพัฒนาชุมชนป้อมฯ ซึ่ง กทม. ควรรับฟังเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนากรุงเทพฯ ให้มีความทันสมัย แต่ก็ไม่หลงลืมชีวิตดั้งเดิมและรากเหง้าที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เช่น

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า “สิ่งที่ชุมชนนี้ต่างจากที่อื่นคือ การมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีรูปธรรมของวิถีชีวิต วิถีอาชีพ ประเพณีที่โดดเด่น นี่คือต้นทุนที่มีประโยชน์ที่ควรจะต้องมีการพูดคุยกันหลายฝ่าย  เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม”

เตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “เสนอให้ออกข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กทม. ที่จะทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์”

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ “จะให้ดีควรตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ในลักษณะ ‘สามประสาน’ คือตัวแทนสามภาคส่วน มีราชการ เอกชน ประชาสังคม ให้เป็นดุลยภาพกัน นี่ไง ‘ประชารัฐ’ ของงานศิลปวัฒนธรรม”

The Momentum ได้ถามกับ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ถึงแนวโน้มความสำเร็จของการต่อรองกับภาครัฐด้วยมหากาฬโมเดลว่ามีความเป็นไปได้ที่จะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด

“ถ้าพูดถึงแนวโน้มที่มหากาฬโมเดลจะไม่ถูกขับไล่ได้ไหม เอาตามจริงเราก็อยากให้เขายังอยู่ แต่ว่าโลกสมัยนี้ประชาชนไม่ค่อยมีเสียงเท่าไร มันก็อยู่ที่ว่าภาครัฐจะเห็นคุณค่าของมันไหม เราก็ทำได้แค่การเสนอคุณค่าซึ่งมันก็คือศักยภาพของชุมชน พยายามเชื่อมไปทุกทางที่เราทำได้ อย่างการพูดคุยกับ กทม. เราก็คุยกับเขาแล้ว เขาก็เริ่มที่จะรับฟังเรามากขึ้น ตอนนี้เราพยายามเสนอเรื่องไปยังรัฐบาล อยากนำเสนอโมเดลที่เราระดมความคิดกันมา เรารู้สึกว่าสิ่งที่พวกเราทำทั้งหมดมันมีความตั้งใจที่จะทำให้กับบ้านเมืองของเราจริงๆ”

ศานนท์ยังบอกเล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจที่แน่วแน่กับเราอีกว่า ไม่ได้มองมหากาฬโมเดลเป็นแค่โมเดลที่คิดกันขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดของชุมชน หากแต่มองไกลถึงการเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเก่าแก่ที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาพร้อมกับการพัฒนาของเมือง

“ชุมชนป้อมฯ มันแทบจะแทนที่วิสัยทัศน์ของการสร้างเมืองของบ้านเราได้เลยนะ จะเห็นว่าการออกแบบเมืองของเรามักจะใช้กฎหมายมาครอบ แล้วการพัฒนาต่างๆ ก็อยู่ภายใต้กฎหมายนั้น ไม่ได้มองว่าศักยภาพของพื้นที่มีอะไร แต่สิ่งที่เรามองคือการพยายามเสนอการสร้างเมืองให้มันเป็นไปตามศักยภาพ แล้วกฎหมายค่อยมาว่ากันทีหลัง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเรามีเรือแล่นบนคลองที่สวยมาก แต่เราก็ถมเป็นถนนเพื่อพัฒนาให้มันมีความทันสมัยขึ้นกลายเป็นเมือง เราไม่ได้พัฒนาเมืองขึ้นมาจากศักยภาพที่เรามี

“ชุมชนป้อมมหากาฬก็เป็นเคสคล้ายๆ กันตรงที่ว่าตัวแผนพัฒนาไม่ได้มองเลยว่าศักยภาพมีอะไร พอเรามีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้มันสะอาด เห็นว่าคนจนหรือคนที่อยู่กันในชุมชนแออัดแบบนี้ต้องเคลียร์ทิ้ง จึงเกิดการไล่เขาออกไปจากชุมชนที่เขาใช้ชีวิตกันมา แล้วก็สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทดแทน อย่างการสร้างตึกให้ดูทันสมัย การสร้างสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการสร้างความเหลื่อมล้ำ ทุกอย่างมันออกแบบมาให้สังคมเราเหลื่อมล้ำกันไปหมด

“ถ้าคนในป้อมต้องออกไปด้วยแนวคิดแบบนี้ มันก็คือความล้มเหลวหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกๆ พื้นที่ที่กำลังจะขยายความเจริญเข้าไป พื้นที่ที่มีศักยภาพอีกหลายแห่งต้องเจอเรื่องเดียวกัน ในอนาคตรถไฟฟ้าใต้ดินมาแน่นอน อย่างชุมชนนางเลิ้งต้องโดนแน่ๆ เรารับรู้กันว่าอย่างไรเสียเมืองมันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นศักยภาพซึ่งเป็นคุณค่าของชุมชนควรถูกนำมาใช้ไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง”

มหากาฬโมเดล คือแนวคิดที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชารัฐ’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ตั้งใจของชาวบ้านร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมมือกันด้วยความหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาชุมชนเก่าแก่ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่ร่วมไปกับการพัฒนาของเมือง  

คงต้องมาดูกันต่อไปว่าภาครัฐจะเปิดใจรับฟังเสียงเรียกร้องจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศนี้มากน้อยเพียงใด

อ้างอิง:

Tags: , , ,